การปล่อยเช่าอสังหาริมทรัพย์ให้ชาวต่างชาติ มีหนึ่งในขั้นตอนที่ต้องดำเนินการให้ถูกต้องตามกฎหมาย คือ การแจ้ง ตม.30 หรือ tm30 หากไม่ดำเนินการ มีความผิดตามกฎหมาย จึงเป็นหน้าที่ของเจ้าของบ้าน เจ้าของที่พักที่จะต้องทำความเข้าใจเกี่ยวกับกฎหมาย รวมถึงช่องทางการแจ้งและขั้นตอนการดำเนินการ
โดยปัจจุบันสามารถทำได้หลายช่องทาง แจ้งด้วยตนเองหรือมอบหมายให้ผู้อื่นมาแจ้ง แจ้งทางไปรษณีย์ลงทะเบียน หรือแจ้งลงทะเบียนออนไลน์บนเว็บไซต์และแอปพลิเคชัน
อ่านหัวข้อที่คุณสนใจ
- ตม.30 ออนไลน์ หรือ tm30 online คืออะไร
- วิธีการแจ้ง ตม.30 หรือ tm30
- วิธีการกรอกบัญชีรายชื่อคนต่างด้าวที่เข้าพักอาศัย (แบบ ตม.30)
ตม.30 หรือ tm30 คืออะไร
ตม.30 หรือ tm30 คือ การแจ้งที่พักของคนต่างด้าว ตามพระราชบัญญัติ คนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 มาตรา 38 ซึ่งได้กำหนดไว้ว่า เจ้าบ้าน เจ้าของบ้านหรือผู้ครอบครองเคหสถาน หรือผู้จัดการโรงแรมซึ่งรับคนต่างด้าวซึ่งได้รับอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราว เข้าพักอาศัย จะต้องแจ้งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ณ ที่ทำการตรวจคนเข้าเมืองซึ่งตั้งอยู่ในท้องที่ เคหสถาน หรือโรงแรมนั้นอยู่ ภายใน 24 ชั่วโมง นับแต่เวลาที่คนต่างด้าวเข้าพักอาศัย
ถ้าท้องที่ใดไม่มีที่ทำการตรวจคนเข้าเมืองตั้งอยู่ ให้แจ้งต่อเจ้าพนักงานตำรวจ ณ สถานีตำรวจในท้องที่นั้นในกรณีที่บ้าน เคหสถาน หรือโรงแรมที่คนต่างด้าวเข้าพักอาศัย ตามวรรคหนึ่งตั้งอยู่ในเขตท้องที่กรุงเทพมหานคร ให้แจ้งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ณ กองตรวจคนเข้าเมือง การแจ้งตามวรรคหนึ่งและวรรคสองให้เป็นไปตามระเบียบที่อธิบดีกำหนด
สัญญาเช่าคอนโด
ก่อนทำสัญญาเช่าคอนโด มีเรื่องที่ผู้เช่าต้องเช็กให้ละเอียด มีอะไรบ้างดูได้ที่นี่
ในการแจ้งที่พักคนต่างด้าวที่เข้าพักอาศัยในเคหะสถานซึ่งได้แก่ โรงแรมที่ได้รับอนุญาตตาม พระราชบัญญัติโรงแรมฯและเกสเฮ้าส์ แมนชั่น อพาร์ทเมนท์ สถานประกอบการหรือบ้านเช่าทั่ว ๆ ไป ให้เจ้าของเคหสถานดังกล่าว เจ้าของบ้านเช่า หรือผู้ประกอบการแจ้งตามแบบ ตม.30
กรณีที่ตั้งอยู่ในเขตกรุงเทพมหานคร ให้แจ้งที่ งานรับแจ้งที่พักอาศัย ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550 อาคารบี (ชั้น 2 ด้านทิศใต้) ถนนแจ้งวัฒนะ แขวงทุ่งสองห้อง เขตหลักสี่ กรุงเทพฯ (ตามวันและเวลาราชการ)
กรณีที่ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ต่างจังหวัด ให้แจ้ง ณ ที่ทำการตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดในเขตพื้นที่ ที่มีหน้าที่รับผิดชอบในการดำเนินการแจ้งที่พักของคนต่างด้าวตาม มาตรา 38 ดังกล่าวนั้น
สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองได้กำหนดรูปแบบและวิธีให้บริการเพื่อผู้มาขอรับบริการได้เลือกวิธีการที่เหมาะสมสำหรับการดำเนินการ ดังนี้
- นำเอกสารมาแจ้งด้วยตนเอง หรือมอบหมายให้ผุ้อื่นนำเอกสารมาแจ้ง หรือ
- แจ้งทางไปรษณีย์ลงทะเบียน หรือ
- แจ้งทางระบบเครือข่ายอินเตอร์เน็ต (Internet)
ปล่อยเช่าคอนโดให้ชาวต่างชาติต้องรู้อะไร
ก่อนจะปล่อยเช่าคอนโดให้กับชาวต่างชาติ ผู้ให้เช่าต้องรู้อะไรบ้าง ดูได้ที่นี่
วิธีการแจ้ง ตม.30 หรือ tm30
วิธีที่ 1 นำเอกสารมาแจ้งด้วยตนเอง หรือมอบหมายให้ผู้อื่นนำเอกสารมาแจ้ง
นำเอกสารมาแจ้งด้วยตนเอง หรือมอบหมายให้ผู้อื่นนำเอกสารมาแจ้ง ณ ที่ทำการตรวจคนเข้าเมืองในเขตพื้นที่ ที่คนต่างด้าวพักอาศัย (ตามวันและเวลาราชการ)
วิธีที่ 2 แจ้งทางไปรษณีย์ลงทะเบียน
1. กรอกแบบฟอร์มการแจ้ง พร้อมลงชื่อผู้แจ้งให้เรียบร้อย
2. ซองจดหมายขนาด 6.5 x 9 นิ้ว พร้อมติดแสตมป์ 10 บาท จ่าหน้าซองถึงตัวท่านเอง เพื่อส่งใบรับแจ้งของเจ้าหน้าที่คืน
3. นำเอกสารข้อ 1-2 ใส่ซองลงทะเบียน (เก็บใบลงทะเบียนไว้เป็นหลักฐาน) ส่งตามที่อยู่ ดังนี้
– กรณีที่พักอาศัยในเขตกรุงเทพฯ ส่งไปที่ งานแจ้งที่พักอาศัยบุคคลต่างด้าว กองกำกับการ 2 กองบังคับการตรวจคนเข้าเมือง 1 สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา เลขที่ 120 หมู่ 3 ถนนแจ้งวัฒนะ ซอย 7 แขวงทุ่งสองห้อง เขตหลักสี่ กรุงเทพฯ 10210
– ต่างจังหวัด ส่งไปที่ด่านตรวจคนเข้าเมืองทุกแห่ง ตามเขตพื้นที่ที่คนต่างด้าวพักอาศัย
วิธีที่ 3 แจ้งทางอินเตอร์เน็ต (Internet)
1. ลงทะเบียนขอใช้บริการแจ้งที่พักอาศัยทางระบบอินเตอร์เน็ตที่ www.immigration.go.th ในหน้าต่าง การแจ้งที่พักอาศัย เมื่อเจ้าหน้าที่ทำการตรวจสอบและอนุมัติแล้ว จะแจ้งรหัสผู้ใช้และรหัสผ่าน สำหรับเข้าใช้ระบบไปยัง e-mail ที่ลงทะเบียน
2. สามารถ Download แบบขอใช้บริการแจ้งที่พักอาศัยทางอินเตอร์เน็ตได้ที่ www.immigration.go.th
3. สามารถ Download คู่มือการแจ้งที่พักอาศัยทางอินเตอร์เน็ตและแบบ ตม.30 ในหน้า login เข้าระบบ หรือกดดูขั้นตอนการเข้าระบบแจ้งที่พัก
เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกให้กับสถานประกอบการ สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ได้พัฒนาระบบแจ้งที่พักให้สามารถใช้งานร่วมกับเครื่องอ่านหนังสือเดินทางในการแจ้งที่พักอาศัยของคนต่างด้าว
สามารถตรวจสอบรายละเอียดรุ่น และยี่ห้อของเครื่องอ่านหนังสือเดินทาง รวมทั้งดาวน์โหลด Driver เพื่อทำการติดตั้งโปรแกรมใช้งานเครื่องอ่านหนังสือเดินทาง และคู่มือการใช้งานระบบฯ ได้จากหน้าจอ Log in เข้าระบบแจ้งที่พักอาศัย ผ่านทางเว็บไซต์ www.immigration.go.th
วิธีการกรอกบัญชีรายชื่อคนต่างด้าวที่เข้าพักอาศัย (แบบ ตม.30)
กรณีมาแจ้งด้วยตนเองหรือแจ้งทางไปรษณีย์ลงทะเบียน
แบบการแจ้งรับคนต่างด้าวเข้าพักอาศัย สำหรับเจ้าบ้าน เจ้าของหรือผู้ครอบครองเคหะสถาน (ตม.30 หรือ tm30) ประกอบด้วยเอกสาร 2 ส่วน (2 แผ่น) ด้วยกัน
ส่วนที่ 1 เป็นการกรอกรายละเอียดข้อมูลของเจ้าบ้านฯ และที่ตั้งสถานที่ที่มีคนต่างด้าวเข้าพักอาศัย
ส่วนที่ 2 เป็นบัญชีรายชื่อคนต่างด้าวที่เข้าพักอาศัย
การกรอกรายละเอียดในแบบ ตม.30 หรือ tm30 ส่วนที่ 2 ขอให้ท่านดำเนินการกรอกให้ครบทุกช่อง โดยให้ดูจากหนังสือเดินทางของบุคคลต่างด้าวเป็นหลัก เนื่องจากรายละเอียดของบุคคลต่างด้าว ซึ่งบุคคลต่างด้าวเขียนให้ก่อนเข้าพักอาศัยมักไม่ถูกต้อง และการกรอกให้ใช้วิธีพิมพ์หรือเขียน ถ้าเป็นการเขียนให้เขียนเป็น BLOCK LETTER และมีข้อพึงระวังในการกรอกดังนี้
1. ชื่อคนต่างด้าว ต้องเว้นช่องว่างระหว่าง ชื่อตัว ชื่อกลาง ชื่อสกุล ให้เห็นชัดเจน
2. เลขที่หนังสือเดินทาง หากมีตัวหนังสือข้างหน้า หรือข้างหลังตัวเลขให้เขียนลงไปด้วย
3. ช่องบัตรขาเข้าเลขที่ ให้กรอกเลขที่บัตรขาเข้า (บัตร ตม.6) ซึ่งแนบอยู่ในหนังสือเดินทาง โดยกรอกเช่นเดียวกับ
4. การกรอกเลขที่หนังสือเดินทาง กล่าวคือ หากมีตัวหนังสือ ให้กรอกตัวหนังสือลงไปด้วย
5. วันเดินทางเข้า หมายถึง วันที่คนต้างด้าวเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรไทย สำหรับวันที่เข้าพัก ให้กรอกลงในแผ่นหน้าของใบแจ้งรับคนต่างด้าว เข้าพักอาศัย
พนักงานเจ้าหน้าที่จะตรวจสอบข้อมูลในแบบ ตม.30 หรือ tm30 เมื่อตรวจสอบแล้วพบว่ามีการกรอกข้อมูลอย่างถูกต้องครบถ้วนแล้ว พนักงานเจ้าหน้าที่ทำการรับแจ้งและฉีกแบบ ตม.30 ส่วนล่างให้ผู้แจ้งเก็บรักษาต่อไป
ข้อจำกัดความรับผิดชอบ: ข้อมูลนี้จัดทำขึ้นเพื่อเป็นข้อมูลทั่วไปเท่านั้น DDproperty by PropertyGuru ซึ่งอยู่ภายใต้การดูแลของบริษัท ออลพร็อพเพอร์ตี้ มีเดีย จำกัด ไม่สามารถรับรองหรือรับประกันเกี่ยวกับข้อมูล รวมทั้งไม่สามารถรับรองหรือรับประกันใด ๆ เกี่ยวกับความเหมาะสม สำหรับวัตถุประสงค์เฉพาะใด ๆ ของข้อมูล ตามขอบเขตสูงสุดที่กฎหมายอนุญาต แม้ว่าเราได้พยายามอย่างเต็มที่ เพื่อให้แน่ใจว่าข้อมูลที่ให้ไว้ในบทความนี้ถูกต้อง เชื่อถือได้ และครบถ้วน ณ เวลาที่เขียน แต่ข้อมูลที่ให้ไว้ในบทความนี้ไม่ควรนำไปใช้ในการตัดสินใจทางการเงิน, การลงทุนอสังหาริมทรัพย์ หรือทางกฎหมายทันที ผู้อ่านไม่ควรใช้ข้อมูลในบทความ แทนคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญที่ผ่านการฝึกอบรมซึ่งสามารถพิจารณาข้อเท็จจริงและสถานการณ์ส่วนตัวของคุณได้ ทั้งนี้ เราไม่สามารถรับผิดชอบใด ๆ หากคุณเลือกที่จะนำข้อมูลไปใช้เพื่อประกอบการตัดสินใจ