ประวัติความเป็นมาของย่าน

‘ดาวคะนอง’ อีกหนึ่งย่านเก่าแก่ทางฝั่งธนบุรีที่คาดการณ์กันว่ามีชุมชนมอญอยู่อาศัยมาตั้งแต่ต้นสมัยรัตนโกสินทร์ มีวัดดาวคะนองเป็นจุดศูนย์รวม จนขยายกลายเป็นชุมชนขนาดใหญ่ โดยย่านดาวคะนองอยู่ใกล้กับย่านตลาดพลู ย่านบุคคโล ย่านสำเหร่ ย่านบางคอแหลม ย่านบางปะกอก ย่านราษฎร์บูรณะ ย่านจอมทอง ซึ่งล้วนเป็นย่านชุมชนเก่าแก่ที่มีประชากรอยู่อาศัยหนาแน่น โดยในอดีตย่านดาวคะนองอาจเป็นชุมชนรอบนอกใจกลางเมือง แต่เมื่อเมืองขยายตัวและความเจริญกระจายสู่รอบนอกพื้นที่ ย่านดาวคะนองจึงถือเป็นชุมชนใกล้เมือง และเชื่อมต่อกับพื้นที่เมืองด้วยถนนสายสำคัญหลายสาย ไม่ว่าจะเป็น ถนนสมเด็จพระเจ้าตากสิน ถนนเจริญนคร มุ่งหน้าเข้าสู่ย่านสีลม สาทร ถนนมไหสวรรย์ แยกมไหสวรรย์ ถนนรัชดาภิเษก สะพานกรุงเทพ มุ่งหน้าเข้าสู่ย่านพระราม 3

Dao Khanong

ด้วยความเป็นชุมชนอยู่อาศัยมายาวนานและเชื่อมต่อกับพื้นที่เมือง ในด้านการคมนาคม ย่านดาวคะนองจึงมีรถเมล์สาธารณะให้บริการจำนวนมาก คนอยู่อาศัยในย่านนี้หากไม่ได้ขับรถส่วนตัว ยังมีรถสาธารณะเป็นทางเลือกในการเดินทางไปยังพื้นที่สำคัญทั่วกรุงเทพฯ และแม้ว่าย่านดาวคะนองจะไม่ได้มีรถไฟฟ้าผ่าน แต่มีรถสาธารณะหลายสายเชื่อมต่อไปยังรถไฟฟ้าบีทีเอสหลายสถานี ไม่ว่าจะเป็น BTS สถานีวงเวียนใหญ่ BTS สถานีตลาดพลู BTS สถานีโพธิ์นิมิตร หรือแม้แต่สถานีที่ใกล้เมืองมากๆ อย่าง BTS สถานีสะพานตากสิน ก็มีรถสาธารณะจากย่าวดาวคะนองไปถึง รวมถึง รถสาธารณะที่เชื่อมต่อไปยังรถโดยสารด่วนพิเศษ สายสาทร–ราชพฤกษ์ (บีอาร์ที) สถานีราชพฤกษ์ เพื่อเข้าเมืองฝั่งพระราม 3 สีลม สาทร ได้อย่างสะดวก

การอยู่อาศัยในย่านดาวคะนอง ส่วนใหญ่เป็นบ้านเก่าที่เกิดขึ้นมานานเกินกว่า 20 ปี ลักษณะบ้าน หากติดถนนใหญ่ จะเป็นอาคารพาณิชย์ที่คนทำการค้าขายด้านล่าง ร้านอาหาร ธุรกิจบริการ และอยู่อาศัยด้านบน และหากเข้าซอยจะเป็นหมู่บ้านจัดสรรเก่าที่บางส่วนก็มีการค้าขายด้านล่างและอยู่อาศัยด้านบน จึงกล่าวได้ว่า ย่านดาวคะนอง เป็นย่านอยู่อาศัยและการค้าท้องถิ่น ซึ่งหากวิเคราะห์การเดินทางที่สะดวก ประกอบกับการอยู่อาศัยแบบกึ่งทำการค้า และมีที่ดินพร้อมพัฒนาใหม่ๆ น้อยมาก ราคาที่ดินย่านดาวคะนองจึงขยับขึ้นต่อเนื่องตามกลไก โครงการจัดสรรใหม่ๆ ที่เกิดขึ้น จึงมีน้อยมาก ดังนั้น โครงการบ้านจัดสรรระดับกลางที่รองรับความต้องการของครอบครัวขยายของคนย่านดาวคะนองจึงขยับไปทางย่านสุขสวัสดิ์ เพราะมีตรอกซอกซอยและที่ดินให้พัฒนาอีกมาก หรือขยับไปทางฝั่งจอมทอง พระราม 2 แต่หากเป็นบ้านฝั่งพระราม 3 จะเป็นบ้านเดี่ยว ทาวน์โฮม และโฮมออฟฟิศระดับไฮเอนด์

นั่งจึงเป็นปัจจัยที่ทำให้ย่านดาวคะนองเริ่มเกิดตลาดคอนโดมิเนียม เป็นคอนโดมิเนียมราคาเริ่มต้นไม่เกิน 2 ล้านบาท ติดริมถนนสมเด็จพระเจ้าตากสิน เป็นทางเลือกรองรับกลุ่มครอบครัวขยายในย่านนี้ที่ยังต้องการอยู่อาศัยใกล้บ้านเดิม แต่เดินทางเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าได้สะดวก รวมถึง คนทำงานในย่านนี้ ซึ่งมีทั้งตลาดซื้ออยู่เองและซื้อลงทุนเพื่อปล่อยเช่า

Dao Khanong

ดาวคะนองในปัจจุบัน

ปัจจุบันย่านคะนอง ยังคงเป็นย่านอยู่อาศัยแบบกึ่งการค้า และถือเป็นย่านที่มีองค์ประกอบในการอยู่อาศัยที่ครบสมบูรณ์ ธุรกิจร้านค้า ร้านอาหาร ธุรกิจบริการ โรงพยาบาล ค้าปลีกขนาดใหญ่ในแบบดิสเคาน์สโตร์ ใกล้กับคอมมูนิตี้มอลล์หลายแห่ง ศูนย์การค้า ตลาดดาวคะนอง โรงเรียน วัดต่างๆ การเดินทางที่สะดวกทั้งรถสาธารณะ เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าได้สะดวก หรือจะเดินทางด้วยรถส่วนตัวก็สะดวกจากการเชื่อมต่อกับถนนหลายสายและใกลทางด่วนดินแดง-ดาวคะนอง ตลาดที่อยู่อาศัยมือสองย่านนี้จึงมีราคาสูงมาก

ขณะที่การขยายตัวโครงการใหม่ๆ ในย่านดาวคะนอง มีข้อจำกัดเรื่องที่ดินพร้อมพัฒนาหาได้ยากมาก โครงการบ้านจัดสรรระดับกลางเกิดใหม่ในย่านนี้ได้ยาก หรือแม้แต่โครงการบ้านระดับไฮเอนด์เกิดใหม่ในย่านนี้ก็ไม่มีเกิดขึ้นเลย เพราะไม่มีที่ดินพร้อมพัฒนาเลย มีเพียงการเกิดขึ้นของคอนโดมิเนียม แต่ซัพพลายเกิดใหม่ไม่ได้มีมากเหมือนกับย่านตลาดพลู ดังนั้น กลุ่มครอบครัวขยายของย่านดาวคะนองจึงเลือกที่อยู่อาศัยในพื้นที่ใกล้เคียงแทน เพราะยังสามารถเดินทางมาใช้ชีวิต ใช้บริการร้านอาหาร ธุรกิจบริการ ร้านค้าต่างๆ ในย่านนี้ได้อย่างสะดวก

Dao Khanong

อนาคตของดาวคะนอง

หากกล่าวถึงโครงการคมนาคมที่จะเกิดขึ้นในอนาคตในย่านดาวคะนอง มี 2 โครงการที่น่าสนใจ คือ 1. โครงการทางด่วนพระราม 3 – ดาวคะนอง – วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันตก ซึ่งคาดว่าจะเปิดให้บริการในปี พ.ศ. 2567 โดยเส้นทางนี้แม้จะไม่ได้เปิดหน้าดินใหม่มากนัก แต่ก็เพิ่มความสะดวกในการเดินทางให้กับคนย่านดาวคะนองและใกล้เคียงมากขึ้น อีกทั้ง เส้นทางดังกล่าวจะเชื่อมต่อกับโครงการทางยกระดับถนนพระราม 2 ช่วงบางขุนเทียน-เอกชัย 1 ที่อยู่ระหว่างดำเนินการ คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2565 จะช่วยให้การเดินทางจากย่านดาวคะนองออกไปทางพระราม 2 มุ่งหน้าไปทางตอนใต้ของไทยมีความคล่องตัวมากขึ้น

สำหรับโครงการที่ 2 คือ โครงการส่วนต่อขยายสายสีม่วงใต้ ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ ระยะทาง 23.6 กม. ซึ่งมุ่งจากเตาปูน มาทางรัฐสภาแห่งใหม่ ไปทางสามเสน บางขุนพรหม ผ่านฟ้า (ก่อนถึงถนนราชดำเนินนอก) ผ่านแยกสามยอด สะพานพุทธ วงเวียนใหญ่ และเข้าสู่พื้นที่ย่านดาวคะนอง ที่สถานีสำเหร่ อยู่ใกล้ตลาดสำเหร่ และโรงพยาบาลสมเด็จพระปิ่นเกล้า สถานีจอมทอง อยู่ระหว่างซอยสมเด็จพระเจ้าตากสิน 44 และคลองบางสะแก สถานีดาวคะนอง อยู่ระหว่างซอยสุขสวัสดิ์ 12 กับซอย 14 ยาวไปจนถึง บางปะกอก ราษฎร์บูรณะ พระประแดง และครุใน (ปากซอยสุขสวัสดิ์ 70) ซึ่งมีข่าวต่อเนื่องว่าภาครัฐจะเร่งดำเนินการประมูลภายในปี พ.ศ. 2563 แต่อาจใช้เวลานานกว่าจะเห็นภาพที่ชัดเจน

ใน 2 โครงการ โครงการที่มีความเป็นไปได้และคนย่านดาวคะนองจะได้อานิสงส์เร็ว จึงเป็นโครงการทางด่วนพระราม 3 – ดาวคะนอง – วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันตกมากกว่า

Get the Guru View

ย่านดาวคะนองจะยังเป็นย่านอยู่อาศัยแบบกึ่งค้าขายที่มีองค์ประกอบในการอยู่อาศัยที่สมูบรณ์ แต่การขยายตัวใหม่เป็นไปได้ยาก ยกเว้นโครงการส่วนต่อขยายสายสีม่วงใต้ ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ เกิดขึ้นได้เร็ว จะทำให้มีโอกาสเกิดการเปลี่ยนแปลงแบบพลิกโฉมได้ เช่น การกว้านซื้อตึกแถวเก่าที่อยู่ใกล้ตามแนวสถานี เพื่อรื้อทิ้งและสร้างคอนโดมิเนียม

ส่วนการเติบโตใหม่ที่คาดว่าจะส่งผลบวกในระยะเวลาอันใกล้ให้กับย่านดาวคะนอง จะอยู่ทางฝั่งพระราม 3 ที่จะมีโครงการเชิงพาณิชย์ คอมมูนิตี้มอลล์ ศูนย์การค้าเกิดใหม่เกิดขึ้นในเร็วๆ นี้

เจาะลึกทุกทำเลในกรุงเทพฯ ที่น่าสนใจ และหากคุณกำลังค้นหาบ้าน-คอนโดฯ ที่ใช่ สามารถเลือกชมรีวิวโครงการใหม่ และคำนวณสินเชื่อด้วยตนเองก่อนตัดสินใจซื้อบ้าน คอนโดฯ ทาวน์เฮ้าส์ ที่ตรงกับความต้องการของคุณ