การเดินทางเป็นจุดเด่นสำคัญของย่าน ‘พระราม 2′ โดยเฉพาะผู้ใช้รถยนต์ส่วนตัว และรถโดยสารสาธารณะ เนื่องจากถนนขนาดใหญ่ สามารถเชื่อมต่อกับถนนสายอื่นได้สะดวก และใกล้ทางด่วนอย่าง ถนนกาญจนาภิเษก รวมทั้งยังมีตัวเลือกการเดินทางที่ค่อนข้างหลากหลาย

ปัจจุบันแม้ว่าจะมีการก่อสร้างถนนและทางด่วนหลายจุด แต่ล่าสุด โครงการขยายถนน 14 เลนบนถนนพระราม 2 ก็เสร็จเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เชื่อว่าจะช่วยรองรับปริมาณจราจรที่หนาแน่นในปัจจุบัน และคาดว่าจะเพิ่มสูงขึ้นในอนาคตได้
คืบหน้า 20% ทางด่วนบน ถ.พระราม 2
การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) กระทรวงคมนาคม ดำเนินโครงการทางพิเศษสายพระราม 3- ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันตก ตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2560 โดยโครงการดังกล่าวประกอบด้วยงานจ้างก่อสร้างจำนวน 5 สัญญา มีรายละเอียดดังนี้
– สัญญาที่ 1 เป็นทางยกระดับขนาด 6 ช่องจราจร มีจุดเริ่มต้นที่ กม.13+000 – 6+600 ของถนนพระรามที่ 2 ระยะทางรวมประมาณ 6.4 กิโลเมตร ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาผลการประกวดราคา คาดว่าจะได้ผู้รับจ้าง ลงนามในสัญญา และเริ่มก่อสร้างได้ในเดือนตุลาคม 2564
– สัญญาที่ 2 ก่อสร้างเป็นทางยกระดับขนาด 6 ช่องจราจร มีจุดเริ่มต้นที่ กม.6+600 ของถนนพระราม 2 ถึงบริเวณทางแยกต่างระดับดาวคะนอง ระยะทางรวมประมาณ 5.3 กิโลเมตร
กทพ. ได้ลงนามสัญญาจ้างก่อสร้างโครงการกับกิจการร่วมค้าซีทีบี (บริษัท ไชน่า ฮาร์เบอร์ เอ็นจิเนียริ่ง คัมปานี ลิมิเต็ด บริษัท ทิพากร จำกัด และบริษัท บุรีรัมย์ธงชัยก่อสร้าง จำกัด) ปัจจุบันอยู่ระหว่างการก่อสร้าง มีความก้าวหน้าสะสม ณ วันที่ 27 สิงหาคม 2564 อยู่ที่ 20.16% เร็วกว่าแผน 1.07%
– สัญญาที่ 3 เป็นงานก่อสร้างทางยกระดับขนาด 6 ช่องจราจร คร่อมตามแนวทางพิเศษเฉลิมมหานครช่วงดาวคะนอง-สุขสวัสดิ์-ราษฎร์บูรณะ ระยะรวมประมาณ 5 กิโลเมตร ขณะนี้อยู่ระหว่างพิจารณาผลการประกวดราคา คาดว่าจะได้ผู้รับจ้าง ลงนามในสัญญา และเริ่มก่อสร้างได้ในเดือนตุลาคม 2564
– สัญญาที่ 4 ก่อสร้างเป็นงานก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา ขนาด 8 ช่องจราจร มีความยาวช่วงสะพาน 450 เมตร สิ้นสุดที่ทางแยกต่างระดับบางโคล่ ระยะทางรวมประมาณ 2 กิโลเมตร กทพ. ได้ลงนามสัญญาจ้างก่อสร้างกับบริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) ปัจจุบันอยู่ระหว่างการก่อสร้าง มีความก้าวหน้าสะสม ณ วันที่ 27 สิงหาคม 2564 อยู่ที่ 45.10% เร็วกว่าแผน 0.01%
– สัญญาที่ 5 งานระบบจัดเก็บค่าผ่านทาง ระบบควบคุมจราจร และระบบสื่อสาร กทพ. ได้ปรับปรุงร่างขอบเขตของงานจ้างก่อสร้าง ให้ระบบจัดเก็บค่าผ่านทางเป็นระบบแบบไม่มีไม้กั้น (M-Flow) ตามนโยบายของกระทรวงคมนาคม ปัจจุบันอยู่ระหว่างการเตรียมการประกวดราคา
ทั้งนี้ กทพ. ได้พิจารณาปรับแผนงานการก่อสร้างในสัญญาที่ 1 และสัญญาที่ 3 ให้แล้วเสร็จและเปิดให้บริการได้เร็วขึ้น จากเดิมใช้เวลา 39 เดือน เป็น 34 เดือน เพื่อให้แล้วเสร็จใกล้เคียงกันในทุกสัญญา
โดยคาดว่าทางพิเศษสายพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพฯ ด้านตะวันตก จะสามารถก่อสร้างแล้วเสร็จพร้อมเปิดให้บริการได้ในปี 2567 และ กทพ. มีแนวทางในการลดผลกระทบจากกรณีที่สัญญาก่อสร้างแล้วเสร็จไม่พร้อมกัน โดยอาจพิจารณาเปิดให้บริการเป็นบางส่วนก่อน
ตัวเลือกการเดินทางในย่าน พระราม 2
– ทางรถยนต์: ถนนเส้นหลักของย่านนี้ก็คือ ถนนพระราม 2 เป็นถนนที่อยู่ทางใต้ของกรุงเทพฯ ทอดยาวไปทางฝั่งตะวันตกของประเทศ กินพื้นที่ทั้งในส่วนของกรุงเทพฯ และจังหวัดสมุทรสาครด้วย เชื่อมต่อกับถนนเส้นสำคัญอีกหลายสาย เช่น ถนนเอกชัย ถนนกาญจนาภิเษก ถนนบางขุนเทียน-ชายทะเล เป็นต้น
เนื่องจากเป็นถนนสำหรับการวิ่งรถระยะไกล ทำให้ลักษณะของถนนค่อนข้างกว้าง ช่องจราจรขนาดใหญ่ และแบ่งทิศทางการวิ่งของรถชัดเจน แต่มักมีการก่อสร้างบ่อยครั้ง และใช้เวลานานจึงทำให้การจราจรค่อนข้างติดขัด
ขยายถนนพระราม 2 เป็น 14 เลน เสร็จแล้ว
ทางหลวงหมายเลข 35 สาย ธนบุรี-ปากท่อ หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “ถนนพระราม 2” เริ่มต้นจาก กม.0+000 (จุดบรรจบถนนสุขสวัสดิ์) ผ่านจังหวัดสมุทรสาคร ไปบรรจบทางหลวงหมายเลข 4 (ถนนเพชรเกษม) ที่ กม.84+041 (อ.ปากท่อ จ.ราชบุรี) รวมระยะทาง 84 กิโลเมตร เป็นโครงข่ายทางหลวงเชื่อมโยงระหว่างภาค เป็นเส้นทางสายหลักจากกรุงเทพฯ มุ่งสู่ภาคใต้
via: กรมทางหลวง
เนื่องจากเส้นทางสายธนบุรี-ปากท่อ มีระยะทางสั้นกว่าทางหลวงหมายเลข 4 ประมาณ 40 กิโลเมตร ประชาชนส่วนใหญ่จึงนิยมใช้เส้นทางสายนี้แทนทางหลวงหมายเลข 4 ประกอบกับปริมาณการจราจรบนทางหลวงสายพระราม 2 มีปริมาณสูงมาก กรมทางหลวงจึงได้วางแผนดำเนินการบูรณะปรับปรุงทางหลวงสายดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่อง
via: กรมทางหลวง
ล่าสุด ดำเนินการก่อสร้างขยาย ตอน ทางแยกต่างระดับบางขุนเทียน-เอกชัย มีจุดเริ่มต้นที่ กม.9+800 ถึงจุดสิ้นสุดที่ กม.21+500 รวมระยะทาง 11.7 กิโลเมตร จากเดิม 10 ช่องจราจร (ไป-กลับ) เป็นมาตรฐานทางชั้นพิเศษ 14 ช่องจราจร (ไปกลับข้างละ 7 ช่องจราจร)
via: กรมทางหลวง
ผิวทางแอสฟัลท์คอนกรีต 2 ชั้น ผิวจราจรกว้างช่องละ 3.5 เมตร ไหล่ทางด้านนอกกว้างข้างละ 2.5 เมตร และด้านในกว้างข้างละ 1 เมตร มีเกาะกลางแบบร่อง (Depressed Median) กว้าง 4 เมตร รวมก่อสร้างสะพานกลับรถ จำนวน 2 จุด และติดตั้งไฟฟ้าแสงสว่างบนทางหลวง งบประมาณทั้งสิ้น 2,300,098,000 บาท
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าการก่อสร้างขยายถนนพระราม 2 แล้วเสร็จ แต่บนถนนเส้นนี้ยังมีงานก่อสร้างอื่น ๆ อีก หนึ่งในนั้นคือ การก่อสร้างทางยกระดับถนนพระราม 2 ระยะทาง 8.335 กิโลเมตร วงเงิน 10,477 ล้านบาท มีระยะเวลาสิ้นสุดสัญญาในวันที่ 11 สิงหาคม 2565
เดินหน้าโครงการมอเตอร์เวย์สาย 82 ช่วงเอกชัย-บ้านแพ้ว
อีกหนึ่งโครงการบน ถ.พระราม 2 กับโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 82 สายบางขุนเทียน-เอกชัย-บ้านแพ้ว พื่อแก้ไขปัญหาการจราจรบนทางหลวงหมายเลข 35 หรือถนนพระราม 2 และเชื่อมโยงโครงข่ายการเดินทางและการขนส่งสินค้าระหว่างกรุงเทพฯ และปริมณฑล ลงสู่ภาคใต้ของประเทศ โดยแบ่งการดำเนินงานออกเป็น 2 ระยะ คือ
ระยะที่ 1 ช่วงบางขุนเทียน-เอกชัย เชื่อมต่อกับทางพิเศษสายพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพฯ ด้านตะวันตกของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย
ระยะที่ 2 ช่วงเอกชัย-บ้านแพ้ว กรมทางหลวงอยู่ระหว่างเตรียมดำเนินการก่อสร้าง โดยใช้เงินทุนค่าธรรมเนียมผ่านทาง (กองทุนมอเตอร์เวย์)
สำหรับโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 82 สายบางขุนเทียน-เอกชัย-บ้านแพ้ว ช่วงเอกชัย-บ้านแพ้ว มีรูปแบบเป็นทางยกระดับบน ถนนพระราม 2 ขนาด 6 ช่องจราจรไป-กลับ
โดยมีจุดเริ่มต้นเชื่อมต่อกับโครงการระยะที่ 1 ช่วงบางขุนเทียน-เอกชัย บริเวณ กม. 20+295 ในอำเภอเมืองสมุทรสาคร และสิ้นสุดบริเวณ กม.36+645 ในอำเภอบ้านแพ้ว จังหวัดสมุทรสาคร ระยะทางรวม 16.4 กิโลเมตร โดยระบบเก็บค่าผ่านทางจะใช้เทคโนโลยีการจัดเก็บค่าผ่านทางอัตโนมัติแบบไม่มีไม้กั้น M-Flow
กรมทางหลวงมีแผนดำเนินงานก่อสร้างในส่วนของงานโยธาระยะที่ 2 ในช่วงปี 2564-2567 และงานติดตั้งระบบต่าง ๆ ในช่วงปี 2566-2567 โดยคาดว่าจะเริ่มเปิดให้บริการเต็มรูปแบบในต้นปี 2568
– ทางพิเศษ: ทางพิเศษที่อยู่ใกล้พื้นที่ย่านมากที่สุดก็คือ ทางพิเศษกาญจนาภิเษก หากต้องการใช้บริการก็ให้มุ่งหน้าไปทางสี่แยกที่ถนนพระราม 2 ตัดกับถนนกาญจนาภิเษก แล้ววนรถเพื่อเข้าสู่ด่านเก็บค่าผ่านทางพิเศษบางขุนเทียน 1 ซึ่งเป็นด่านที่ใช้บริการได้ง่ายที่สุด
– รถเมล์: มีป้ายรถประจำทางคอยให้บริการเป็นระยะๆ ตลอดแนวถนนเส้นพระราม 2 แม้ในบางช่วงป้ายรถประจำทางจะทิ้งระยะห่างค่อนข้างมาก แต่ก็ไม่ได้เป็นปัญหาต่อผู้โดยสารแต่อย่างใด โดยรถเมล์สายสำคัญได้แก่
รถเมล์สาย 17: ท่าข้าม-อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ
รถเมล์สาย 68: บางลำพู-สมุทรสาคร
รถเมล์สาย 76: แสมดำ-ประตูน้ำ
รถเมล์สาย 140: แสมดำ-อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ
รถเมล์สาย 141: แสมดำ-จุฬาฯ
รถเมล์สาย 172: หมู่บ้านนักกีฬา-บางขุนเทียน
รถเมล์สาย 529: แสมดำ-สถานีขนส่งผู้โดยสารจตุจักร
รถเมล์สาย 720: วงกลมกัลปพฤกษ์-พระราม 2
– วินมอเตอร์ไซค์: มีคิววินมอเตอร์ไซค์ขนาดใหญ่ตามแหล่งจับจ่ายใช้สอยแทบทุกแห่ง อย่างเช่นหน้าเซ็นทรัลพระราม 2 จะมีวินมอเตอร์ไซค์คอยให้บริการตั้งแต่เช้าจนกระทั่งเลยเวลาทำการของศูนย์การค้า หรือจะเป็นหน้าเดอะไบรท์ พระราม 2 แม้คิววินมอเตอร์ไซค์จะเล็กลงมาหน่อย แต่ก็เพียงพอกับความต้องการของผู้โดยสาร ส่วนใหญ่แล้วจะเป็นการใช้บริการเพื่อเข้าไปตามตรอกซอกซอยต่าง ๆ เพราะถ้าวิ่งทางไกลบนถนนเส้นหลักจะมีช่องทางอื่นที่สะดวกมากกว่า
– รถตู้: หน้าเซ็นทรัลพระราม 2 จะมีคิวจอดรถตู้คอยให้บริการอยู่ เป็นคิวรถขนาดใหญ่ที่มีรถจำนวนมากพอสมควร เส้นทางเดินรถก็มีให้เลือกหลากหลาย เช่น เซ็นทรัลปิ่นเกล้า สมุทรสาคร เพชรบุรี หัวหิน พระประแดง เป็นต้น ค่าโดยสารเริ่มต้นที่ 30 บาท ราคาค่าโดยสารอาจเปลี่ยนแปลงได้ สามารถตรวจสอบรายละเอียดเพิ่มเติมพร้อมซื้อตั๋วได้ที่คิวรถบริเวณด้านหน้าห้าง ใกล้ๆ กับสะพานลอยและป้ายรถประจำทาง
– รถสองแถว: มีรถสองแถวหลายสายวิ่งให้บริการอยู่ตามแนวถนนพระราม 2 รถสองแถวสีเดียวกันจะแบ่งย่อยการเดินรถอีกเป็นหลายเส้นทาง ก่อนใช้บริการจึงต้องตรวจสอบป้ายหน้ารถหรือสอบถามคนขับรถก่อนเสมอ ตัวอย่างของเส้นทางเดินรถที่ให้บริการอยู่ เช่น เดอะมอลล์ท่าพระ ซอยวัดกำแพง โรงพยาบาลนครธน เป็นต้น ค่าโดยสารเริ่มต้นที่ 8 บาทตลอดสาย ราคาค่าโดยสารอาจเปลี่ยนแปลงได้
Get the Guru View
อย่างแรกที่สังเกตเห็นก็คือ ย่านนี้ยังไม่มีโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าในอนาคตเหมือนกับพื้นที่ย่านอื่น ๆ แต่ก็มีตัวเลือกสำหรับการเดินทางค่อนข้างมาก ทั้งยังใช้บริการได้สะดวกสบายทุกช่องทาง ทำให้เหตุที่ยังไม่มีรถไฟฟ้านั้น ไม่ได้ส่งผลกระทบที่เลวร้ายต่อการเดินทางภายในพื้นที่ย่านแต่อย่างใด
หากไม่รู้จะเริ่มที่ไหนก็เริ่มที่ด้านหน้าของเซ็นทรัลพลาซา พระราม 2 ก็ได้ เพราะตรงจุดนี้เป็นเหมือนศูนย์กลางการเดินทางของย่านเลยทีเดียว มีทั้งคิววินมอเตอร์ไซค์ คิววินรถตู้ จุดจอดรับ-ส่งหลักของรถสองแถว รวมไปถึงป้ายรถประจำทางที่มีรถเมล์วิ่งให้บริการอยู่หลายเส้นทางด้วย
เจาะลึกทุกทำเลในกรุงเทพฯ ที่น่าสนใจ และหากคุณกำลังค้นหาบ้าน-คอนโดฯ ที่ใช่ สามารถเลือกชมรีวิวโครงการใหม่ ก่อนตัดสินใจซื้อบ้าน คอนโดฯ ทาวน์เฮ้าส์ ที่ตรงกับความต้องการของคุณ