ประวัติความเป็นมาของย่าน 

ย่านรามคำแหง อยู่บริเวณฝั่งตะวันออกของกรุงเทพฯ มีถนนรามคำแหงเป็นถนนสายหลักที่เกิดขึ้นมายาวนานตั้งแต่ยุคแรก ๆ ของการขยายเมือง ซึ่งปัจจุบันถนนรามคำแหงมีจุดเชื่อมต่อกับถนนสำคัญหลายสาย เช่น ถนนเพชรบุรี ถนนพัฒนาการ ถนนสุขุมวิท 71 (ปรีดี พนมยงค์) ถนนลาดพร้าว ถนนพระราม 9 ทำให้เดินทางไปยังหลายพื้นที่ได้สะดวก

ในอดีตมหาวิทยาลัยรามคำแหง ถือเป็นจุดศูนย์กลางของย่านรามคำแหง เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้พื้นที่ย่านนี้ขยายตัว โดยมหาวิทยาลัยรามคำแหงเป็นมหาวิทยาลัยเปิดที่มีความแข็งแกร่งในด้านวิชากฎหมาย ซึ่งทำให้คนทางภาคใต้ของไทยที่นิยมให้บุตรหลานเรียนด้านกฎหมาย ส่งบุตรหลานมาเรียนกฎหมายที่มหาวิทยาลัยแห่งนี้ คนจากทางภาคใต้ของไทยจึงเข้ามาอยู่อาศัยย่านรามคำแหงจำนวนมาก ทั้งเข้ามาทำงาน ค้าขาย เรียนหนังสือ พื้นที่นี้จึงกลายเป็นชุมชนขนาดใหญ่ของคนจากทางภาคใต้ของไทย

นอกจากมหาวิทยาลัยชื่อดังแล้ว ในพื้นที่รามคำแหงยังมีสถานที่สำคัญอีกหลายแห่ง เช่น มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ การกีฬาแห่งประเทศไทย ราชมังคลากีฬาสถาน (สนามกีฬาหัวหมาก) วัดพระไกรสีห์ วัดเทพลีลา และมัสยิดอีกหลายแห่ง โดยนอกจากการเดินทางด้วยรถยนต์แล้ว ย่านรามคำแหง ยังมีพื้นที่หลายส่วนที่ติดกับคลองแสนแสบ ที่มีเรือด่วนให้บริการตลอดทั้งวัน และเป็นหนึ่งในทางเลือกการเดินทางที่สำคัญของชาวรามคำแหง

ถนนรามคำแหง

ในเชิงการอยู่อาศัย ย่านรามคำแหง จัดได้ว่าเป็นย่านที่อยู่อาศัยหนาแน่นมาก และยังเป็นพื้นที่มีตลาดอพาร์ทเมนท์ให้เช่าเกิดขึ้นจำนวนมาก เพราะใกล้มหาวิทยาลัยชั้นนำ และด้วยการเชื่อมต่อกับถนนหลายสายที่เดินทางเข้าเมืองได้สะดวก ปัจจุบันย่านรามคำแหง จึงไม่ได้มีเฉพาะคนจากทางภาคใต้ของไทยอยู่อาศัยเท่านั้น แต่เริ่มมีผู้คนจากหลากหลายพื้นที่เข้ามาอยู่อาศัยมากขึ้น

ย่านรามคำแหงในปัจจุบัน

บริเวณที่เป็นใจกลางเมืองของย่านรามคำแหง เป็นโซนใกล้มหาวิทยาลัยรามคำแหง เรียกได้ว่าเป็นศูนย์กลางของการค้าขายรายย่อย มีอพาร์ทเมนท์ให้เช่าจำนวนมาก ซึ่งคนที่มาจากต่างจังหวัดมาเรียนหนังสือที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง เมื่อเรียนจบและทำงาน ก็ยังนิยมอยู่อาศัยย่านนี้ เพราะนอกจากคุ้นเคยแล้ว ส่วนใหญ่ยังมองว่า สิ่งอำนวยความสะดวก ของกินครบ ร้านอาหาร รามคําแหงมีจำนวนมาก และแม้ว่าการจราจรย่านนี้จะขึ้นชื่อว่ารถติดหนักมาก แต่เพราะเชื่อมต่อกับถนนหลายสาย มีทางลัดทะลุไปยังถนนต่าง ๆ ทำให้คนคุ้นเคยในพื้นที่ยังมองว่าเดินทางสะดวก

b3

มหาวิทยาลัยรามคำแหง ที่มา eco.ru.ac.th

รามคำแหงในปัจจุบัน จัดได้ว่าเป็นย่านที่อยู่อาศัยและแหล่งค้าขายรายย่อย ส่วนที่เที่ยวแถวรามคำแหง แหล่งช้อปปิ้ง กลุ่มเดอะมอลล์เข้ามาปักธงย่านรามคำแหงมากถึง 4 สาขา ตั้งแต่สาขาแรกเมื่อ 34 ปีที่แล้ว มีชื่อเรียกกันว่า เดอะมอลล์ รามฯ 2 ต่อมาก็ยังขยายต่อเป็น เดอะมอลล์ รามฯ 3 เดอะมอลล์ รามฯ 4 และเดอะมอลล์ บางกะปิ โดยศูนย์การค้าเดอะมอลล์ ถือว่ามีส่วนในการสร้างไลฟ์สไตล์ใหม่ ๆ ให้กับพื้นที่แห่งนี้

แต่ปัจจุบันเดอะมอลล์ รามฯ 4 ซึ่งโรงภาพยนตร์เมเจอร์ซีนีเพล็กซ์ รามคำแหงเช่าพื้นที่อยู่นั้น ได้ปิดกิจการไปตั้งแต่เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2560 เพราะถูกเวนคืนเพื่อก่อสร้างเป็นสถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน รามคำแหง 12 ในโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ส่วนเดอะมอลล์ รามฯ 2 ปิดปรับปรุง ทุบอาคาร เพื่อก่อสร้างใหม่ในรูปแบบ “มิกซ์ยูส” คาดใช้เวลาก่อสร้าง 2-3 ปี รองรับโอกาสของรถไฟฟ้าสายสีส้มที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

อนาคตของย่านรามคำแหง

โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มช่วงตะวันออก (ศูนย์วัฒนธรรมฯ – บางกะปิ – มีนบุรี) จำนวน 17 สถานี ที่อยู่ระหว่างก่อสร้าง และคาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2566 นับเป็นเส้นทางที่คนในวงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ให้ความสนใจอย่างมาก และประเมินว่าจะมีส่วนสำคัญที่จะเปลี่ยนแปลงย่านรามคำแหงอย่างมาก

รามคำแหง

รามคำแหง

TP12-3303-B

รถไฟฟ้าสายสีส้ม ที่มา mrta.co.th

หากวิเคราะห์การพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยใหม่ ๆ ย่านรามคำแหงถือว่ามีน้อยมาก แม้จะมีความต้องการที่อยู่อาศัยสูง แต่ก็มีคอนโดมิเนียมเกิดขึ้นไม่มากนัก เพราะนักพัฒนาที่ดินยังไม่มีแรงจูงใจที่จะเข้ามาพัฒนาโครงการบริเวณนี้ เจ้าของที่ดินเองก็ยังไม่มีแรงจูงใจในการขาย แต่เมื่อเริ่มมีการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม โครงการคอนโดมิเนียมใหม่ ๆ ตั้งแต่ถนนรามคำแหงที่เชื่อมต่อกับถนนพระราม 9 จนถึงแยกลำสาลีเริ่มเกิดขึ้นจำนวนมาก

รวมถึง การลงทุนทุบศูนย์การค้าเดิมเพื่อก่อสร้างใหม่เป็นโครงการ “มิกซ์ยูส” ที่ไม่ได้มีแค่พื้นที่ศูนย์การค้าเพียงอย่างเดียวของกลุ่มเดอะมอลล์ ก็สะท้อนให้เห็นว่า กลุ่มทุนค้าปลีกรายใหญ่นี้มองอนาคตของย่านรามคำแหงในแบบที่เปลี่ยนไป ไม่ใช่แค่แหล่งช้อปปิ้งตอบโจทย์คนในพื้นที่แล้ว แต่ย่านนี้สามารถเป็นได้มากกว่านั้น ดังนั้น การพัฒนาที่จะเกิดขึ้นในย่านรามคำแหงในอีก 5-10 ปีข้างหน้า จะไม่ใช่แค่โครงการที่อยู่อาศัย แต่ยังมีโครงการเชิงพาณิชย์ใหม่ๆ ด้วย

สามารถค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับดัชนีราคาที่อยู่อาศัยในกรุงเทพฯ ได้ที่ DDproperty Property Index

Get the Guru View

รถไฟฟ้าสายสีส้มและโครงการเชิงพาณิชย์ใหม่ ๆ จะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญให้กับย่านรามคำแหง โดยคนในแวดวงอสังหาริมทรัพย์ต่างวิเคราะห์ว่า รถไฟฟ้าสายสีส้ม แม้จะเป็นรถไฟฟ้าสายชานเมืองที่เชื่อมต่อกับเมืองที่รถไฟฟ้าใต้ดิน MRT สถานีศูนย์วัฒนธรรมฯ ย่านพระราม 9 แต่มีแนวโน้มจะแตกต่างจากรถไฟฟ้าสายสีม่วง ซึ่งเป็นรถไฟฟ้าสายชานเมืองเหมือนกัน เพราะรถไฟฟ้าสายสีส้มไม่ได้ผ่านเพียงที่อยู่อาศัย แต่ผ่านสถานที่สำคัญที่มีอยู่แล้วจำนวนมากในปัจจุบัน ทั้งสถานที่ราชการ หน่วยงานเอกชน แหล่งช้อปปิ้ง ยังไม่รวมสถานที่ใหม่ ๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต จึงเชื่อว่ารถไฟฟ้าสายสีส้มจะมีผู้ใช้บริการหนาแน่นตลอดวันคล้ายกับรถไฟฟ้า BTS และ MRT ในปัจจุบัน ซึ่งนี่จะเป็นตัวแปรสำคัญของการเติบโตเจริญในย่านรามคำแหงแห่งนี้

เจาะลึกทุกทำเลในกรุงเทพฯ ที่น่าสนใจ และหากคุณกำลังค้นหาบ้าน-คอนโดฯ ที่ใช่ สามารถเลือกชมรีวิวโครงการใหม่ ก่อนตัดสินใจซื้อบ้าน คอนโดฯ ทาวน์เฮ้าส์ ที่ตรงกับความต้องการของคุณ