ย่าน ‘ราษฎร์บูรณะ’ เป็นพื้นที่เลียบแม่น้ำเจ้าพระยา ฝั่งตรงข้ามกับถนนพระราม 3 โดยมีถนนสายหลัก คือ ถนนราษฎร์บูรณะ ซึ่งเป็นถนน 6 ช่องทาง มีจุดเริ่มต้นจากสะพานเจริญนคร 8 (สะพานข้ามคลองดาวคะนอง) ผ่านวัดราษฏร์บูรณะ ทางแยกราษฏร์บูรณะ วัดแจ้งร้อน สิ้นสุดสะพานข้ามคลองบางพึ่งซึ่งเป็นเส้นแบ่งเขตระหว่างเขตราษฎร์บูรณะ กรุงเทพฯ กับ อ.พระประแดง จ.สมุทรปราการ หลังจากเข้าเขต จ.สมุทรปราการแล้ว จะเป็นถนนพระราชวีริยาภรณ์ ซึ่งเหลือเพียง 2 ช่องทาง และไปสิ้นสุดที่ถนนนครเขื่อนขันธ์
ย่านราษฎร์บูรณะมีพื้นที่ที่ติดกับ อ.พระประแดง จ.สมุทรปราการ ซึ่งเป็นชุมชนเก่าแก่ขนาดใหญ่ที่คนอยู่อาศัยหลายเชื้อชาติมายาวนาน ย่านราษฎร์บูรณะจึงได้รับอิทธิพลบางส่วนมาจาก อ.พระประแดง จ.สมุทรปราการ ประกอบกับการขยายตัวของเมืองทางฝั่งใต้ของกรุงเทพฯ ทำให้ย่านราษฎร์บูรณะ เป็นอีกหนึ่งพื้นที่ในกรุงเทพฯ ที่มีคนอยู่อาศัยจำนวนมาก และจัดเป็นย่านอยู่อาศัยแบบเงียบสงบ โดยมีสถานที่สำคัญหลายแห่ง ทั้งหน่วยงานราชการ สำนักงานเขตราษฎร์บูรณะ วัดราษฎร์บูรณะ โรงเรียน โรงพยาบาล ดิสเคาน์สโตร์ ที่เติมเต็มองค์ประกอบการอยู่อาศัยย่านนี้
ในความเป็นย่านการค้า ราษฎร์บูรณะ ก็เป็นแหล่งการค้าในแบบเอสเอ็มอีหรือธุรกิจรายย่อย อาคารพาณิชย์ คลังสินค้าขนาดเล็ก อยู่คู่กับชุมชนอยู่อาศัย โดยมีสำนักงานใหญ่ธนาคารกสิกรไทย เป็นหนึ่งในแหล่งงานขนาดใหญ่ที่ทำให้ย่านราษฎร์บูรณะเจริญเติบโต ด้วยรูปลักษณ์อาคารที่โดดเด่น ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา อาคารสำนักงานใหญ่ธนาคารกสิกรไทย จึงเปรียบเสมือนเป็นแลนด์มาร์คสำคัญของย่านนี้
การเข้ามาตั้งสำนักงานใหญ่ของธนาคารกสิกรไทยบริเวณเชิงสะพานพระราม 9 ตั้งแต่ยุคก่อนปี พ.ศ. 2540 ถือว่ามีบทบาททำให้ย่านราษฎร์บูรณะถูกจับตามองว่ามีโอกาสในการเป็นพื้นที่เศรษฐกิจใหม่ในอนาคต เพราะหากมองทำเลคู่ขนานอย่างย่านพระราม 3 ก็เป็นพื้นที่ที่ภาครัฐในยุคก่อนวิกฤตเศรษฐกิจต้องการปลุกปั้นให้เส้นเศรษฐกิจใหม่ต่อยอดจากย่านสีลม ดังนั้นการที่ธนาคารกสิกรไทยย้ายสำนักงานใหญ่มาจากสีลมไปที่ย่านพหลโยธินและย่านราษฎร์บูรณะ ก็ถือเป็นการสร้างพื้นที่ทางธุรกิจแห่งใหม่ให้กับกรุงเทพฯ
แต่เมื่อเกิดวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 และด้วยหลายปัจจัย โดยเฉพาะลักษณะของเมืองที่เปลี่ยนแปลงจากการเกิดขึ้นของรถไฟฟ้า จนทำให้เกิดศูนย์กลางธุรกิจใหม่ ๆ ที่อาจทำให้ย่านราษฎร์บูรณะไม่ได้ขยายตัวมากนัก และยังคงเป็นการเติบโตแบบค่อยเป็นค่อยไป
ย่านราษฎร์บูรณะในปัจจุบัน
อาคารสำนักงานใหญ่ของธนาคารกสิกรไทย ยังคงเป็นศูนย์กลางธุรกิจของย่านราษฎร์บูรณะ และเป็นแลนด์มาร์คที่ทำให้คนรู้จักย่านนี้อย่างต่อเนื่อง ส่วนตลาดที่อยู่อาศัยที่เป็นโครงการจัดสรรใหม่ ๆ ในย่านราษฎร์บูรณะเกิดขึ้นน้อยมาก ซึ่งอาจเป็นเพราะราคาที่ดินย่านนี้ค่อนข้างสูง การพัฒนาโครงการบ้านแนวราบใหม่ ๆ จึงอยู่บริเวณใกล้เคียง เช่น ย่านสุขสวัสดิ์ ย่านพุทธบูชา ย่านบางปะกอก เป็นหลัก
ขณะที่ตลาดคอนโดมิเนียมย่านราษฎร์บูรณะ ส่วนใหญ่เป็นคอนโดมิเนียมริมแม่น้ำที่มีจุดขายเรื่องวิวริมแม่น้ำ เงียบสงบ ในราคาที่ไม่สูงมากเมื่อเทียบกับคอนโดมิเนียมริมแม่น้ำในพื้นที่อื่น แต่ซัพพลายคอนโดมิเนียมย่านนี้ไม่ได้มีมากนัก เนื่องจากในพื้นที่ใกล้เคียงย่านราษฎร์บูรณะยังมีที่ดินให้พัฒนาบ้านแนวราบได้อีกมาก จึงทำให้ตลาดคอนโดมิเนียมย่านนี้เกิดได้ยาก
สามารถค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับดัชนีราคาที่อยู่อาศัยในกรุงเทพฯ ได้ที่ DDproperty Property Index
อนาคตของย่านราษฎร์บูรณะ
โครงการรถไฟฟ้า MRT สายสีม่วง ฝั่งใต้ เป็นเส้นทางส่วนต่อขยายจากสายสีม่วงปัจจุบัน ซึ่งตามแผนดำเนินงานของภาครัฐได้ประเมินว่า จะเป็นเส้นทางที่มีคนใช้บริการจำนวนมาก เพราะเป็นเส้นที่วิ่งเข้าเขตเมืองชั้นในรองรับการเดินทางของประชาชนฝั่งเมืองเก่า
โดยเริ่มต้นจากสถานีเตาปูน เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้า MRT สายสีม่วง ช่วงเตาปูน-บางใหญ่ และรถไฟฟ้าใต้ดิน MRT วิ่งมาทางรัฐสภาใหม่ เกียกกาย ผ่านเมืองเก่า แล้วข้ามมาฝั่งธนบุรี วงเวียนใหญ่ สำเหร่ ดาวคะนอง บางปะแก้ว บางปะกอกสะพานพระรามเก้า ราษฎร์บูรณะ พระประแดง ครุใน ซึ่งหากโครงการแล้วเสร็จจะมีผลให้ย่านราษฎร์บูรณะ โดยเฉพาะพื้นที่รอบสถานีมีการเปลี่ยนแปลงมากขึ้น
นอกจากนี้ ในอนาคตจะเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ช่วงบางซื่อ-ท่าพระ ซึ่งคาดว่าจะเปิดให้ใช้บริการได้ภายในปี 2563 เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ช่วงหัวลำโพง-หลักสอง ที่สถานีท่าพระ
รวมถึงโครงการทางด่วนสายพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพฯ ด้านตะวันตก ที่อาจส่งผลบวกกับย่านราษฎร์บูรณะด้วยเช่นกัน
Get the Guru View
ตลอดหลายปีที่ผ่านมา ย่านราษฎร์บูรณะ เป็นย่านการค้าและอยู่อาศัยแบบเงียบสงบ การเติบโตเป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยโครงการรถไฟฟ้า MRT สายสีม่วง ฝั่งใต้ ที่ภาครัฐตั้งเป้าจะให้รถไฟฟ้าสายนี้เปิดดำเนินการภายในปี 2567 อาจส่งผลบวกเฉพาะพื้นที่รอบตัวสถานี ไม่ได้ขยายวงกว้างมากนัก เพราะเส้นทางของรถไฟฟ้า MRT สายสีม่วง ฝั่งใต้ ผ่านหลายจุดที่มีโอกาสในการขยายตัวมากกว่า เช่น ย่านบางปะกอก ย่านพระประแดง
นอกจากนี้ โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ฝั่งใต้ ยังเป็นโครงการในอนาคตที่ปัจจุบันยังไม่มีความชัดเจนว่า จะเริ่มดำเนินการเมื่อใด โครงการทางด่วนสายพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันตก อาจจะส่งผลบวกต่อย่านราษฎร์บูรณะมากกว่า แต่ทั้งนี้ ต้องดูจุดทางออกฝั่งดาวคะนองว่าอยู่พิกัดใด
เจาะลึกทุกทำเลในกรุงเทพฯ ที่น่าสนใจ และหากคุณกำลังค้นหาบ้าน-คอนโดฯ ที่ใช่ สามารถเลือกชมรีวิวโครงการใหม่ ก่อนตัดสินใจซื้อบ้าน คอนโดฯ ทาวน์เฮ้าส์ ที่ตรงกับความต้องการของคุณ