รู้จักย่านเจริญกรุงแบบเจาะลึก

• 0 min read

‘เจริญกรุง’ เป็นถนนสายสำคัญที่มีเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ เนื่องจากเป็นกลุ่มถนนสายแรก ๆ ที่สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 4 เป็นถนนสายสำคัญที่เชื่อมต่อย่านสำคัญของกรุงเทพฯ หลายแห่ง

ประวัติความเป็นมาของย่าน

ถนนเจริญกรุงเป็นถนนที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ทรงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2404 แล้วเปิดให้คนใช้สัญจรไปมาตั้งแต่วันที่ 17 มีนาคม 2407 โดยขึ้นชื่อว่าเป็นถนนที่กว้างและยาวที่สุดในเวลานั้น

'เจริญกรุง' ในอดีต

ภาพถนนเจริญกรุงในอดีต via: เมืองไทยในอดีต

ที่มาของการก่อสร้างถนนเจริญกรุงนั้นเนื่องจากในสมัยรัชกาลที่ 4 มีชาวต่างชาติเข้ามาอยู่ในกรุงเทพฯ มากขึ้น และมีพวกกงสุลได้เข้าชื่อกันขอให้สร้างถนนสายยาวสำหรับขี่ม้าหรือนั่งรถม้าตากอากาศ โดยอ้างว่า “เข้ามาอยู่ที่กรุงเทพมหานครไม่มีถนนหนทางที่จะขี่รถม้าไปเที่ยว พากันเจ็บไข้เนือง ๆ” 

เมื่อสร้างถนนเจริญกรุงเสร็จใหม่ ๆ นั้น ยังไม่ได้พระราชทานนาม จึงเรียกกันทั่วไปว่า ถนนใหม่ และชาวยุโรปเรียกว่า นิวโรด (New Road) ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามถนนว่า “ถนนเจริญกรุง” ซึ่งมีความหมายถึงความเจริญรุ่งเรืองของบ้านเมือง เช่นเดียวกับชื่อถนนบำรุงเมืองและถนนเฟื่องนคร ที่โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นในคราวเดียวกัน

ต่อมาในปี พ.ศ. 2430 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระบรมราชานุญาตให้ดำเนินการก่อสร้างรถราง โดยเปิดใช้ครั้งแรกเมื่อวันที่ 22 กันยายน 2431 โดยใช้ม้าลากรถราง ก่อนจะกลายเป็นรถรางระบบไฟฟ้าซึ่งเปิดใช้ครั้งแรกเดือนพฤษภาคม 2437

รถรางมีอันต้องเลิกใช้ไปอย่างถาวรในปี พ.ศ. 2511 หลังจากที่มีการพัฒนาบ้านเมืองขนานใหญ่ รวมทั้งมียานพาหนะอื่นเข้ามาแทนที่บนท้องถนนมากขึ้น ซึ่งสะดวกสบายกว่าการใช้รถราง

'เจริญกรุง' ในปัจจุบัน

ถนนสายนี้เป็นจุดเริ่มต้นของย่านการค้าขาย โดยเฉพาะการค้าขายของชาวจีน เนื่องจากถนนเจริญกรุง ฝั่งใกล้ถนนสนามไชย เป็นเส้นที่คู่ขนานกับชุมชนเยาวราช ชุมชนใหญ่ของชาวจีนที่ย้ายถิ่นฐานจากประเทศจีนมาอยู่อาศัยในเมืองไทย

หากแบ่งถนนเจริญกรุง ออกเป็น 4 โซน ได้แก่ โซน 1 เจริญกรุง-สำเพ็ง-พาหุรัด-สะพานเหล็ก-วังบูรพา โซน 2 เจริญกรุง-เยาวราช โซน 3 เจริญกรุง-สี่พระยา-ท่าเรือสาทร-บางรัก และโซน 4 เจริญกรุง-ยานนาวา

จุดที่เจริญเติบโตมากที่สุดและคนมีภาพจำกับย่านเจริญกรุงที่สุด คือ โซนที่ 1 กับ โซนที่ 2 ส่วนโซนที่ 3 เป็นโซนที่เจริญเติบโตมาเช่นกัน แต่คนจะมีภาพจำกับความเป็นย่านสี่พระยา ย่านบางรักมากกว่าย่านเจริญกรุง เช่นเดียวกับโซนที่ 4 ที่คนจะมีภาพจำย่านยานนาวาและย่านถนนตกเป็นหลัก

โซน 1 เป็นพื้นที่ย่านการค้าของชาวจีนที่เกิดขึ้นมานานตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 1 เป็นแหล่งรวมสินค้าสารพัดรูปแบบ และยังเป็นย่านค้าขายของชาวอินเดียที่อพยพเข้ามาอาศัยในประเทศไทย นำผ้า อุปกรณ์ตัดเย็บ สารพัดสิ่งมาขายย่านนี้ และห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลเกิดขึ้นสาขาแรกที่ย่านวังบูรพา (ปัจจุบันเป็นห้างไชน่าเวิลด์) เป็นศูนย์รวมของวัยรุ่นในยุคนั้น สะท้อนให้เห็นถึงความเจริญของพื้นที่บริเวณนี้มาก

โซน 2 พื้นที่ที่อยู่คู่ขนานกัน แต่มีความเชื่อมโยงกันอย่างแยกไม่ขาด โดยบริเวณนี้มีสถานที่สำคัญอย่าง วัดมังกรกมลาวาส หรือวัดเล่งเน่ยยี่ วัดจีนที่ตั้งอยู่ ระหว่างเจริญกรุง ซอย 19 และซอย 21 ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 2414 จนถึงปัจจุบันก็เกือบ 150 ปีแล้ว จึงเป็นวัดที่มีชื่อเสียง

วัดนี้ไม่ได้เป็นเพียงศูนย์รวมของชาวไทยเชื้อสายจีนเท่านั้น แต่คนไทยและชาวต่างชาติจากทั่วโลกจำนวนมากก็ให้ความศรัทธาต่อวัดเล่งเน่ยยี่ พื้นที่โซน 2 นอกจากจะได้รับอิทธิพลมาจากย่านเยาวราชแล้ว ยังเติบโตด้วยตัวเองด้วย

โซน 3 เป็นริมแม่น้ำเจ้าพระยาจุดที่ไพร์มที่สุด เพราะแวดล้อมไปด้วยสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ บริษัทห้างร้านของชาวต่างชาติฝั่งตะวันตกที่เริ่มเข้ามาทำการค้ากับประเทศไทย สถานที่ราชการ จุดเชื่อมเรือจากฝั่งธนบุรีไปยังฝั่งพระนคร และโรงแรมหรูริมแม่น้ำ

โดยย่านบางรัก นับเป็นจุดที่ฮอตที่สุดของพื้นที่โซนนี้ และโรงแรมหรูริมแม่น้ำก็กระจุกตัวอยู่ในพื้นที่ย่านบางรัก รวมทั้งมีบริษัทห้างร้านของต่างชาติเกิดขึ้นจำนวนมาก ซึ่งอาจเป็นผลมาจากพื้นที่นี้เคยเป็นที่ตั้งของอดีตสถานกงสุลอังกฤษประจำประเทศไทย (อาคารไปรษณีย์กลางบางรักในปัจจุบัน) ก่อนที่จะย้ายไปอยู่ย่านชิดลม-เพลินจิต จึงเป็นย่านที่ชาวต่างชาติรู้จัก และย่านนี้ยังมีโรงเรียนเอกชนชื่อดังหลายแห่ง มีวัดเก่าแก่ มีห้างสรรพสินค้าโรบินสันที่มาเป็นสาขาที่สองที่ย่านบางรักแห่งนี้

BANGKOK, JUNE 1, 2017: Traffic during the rush hour on Taksin สะพานตากสิน เจริญกรุง

นอกจากนี้ เมื่อมีรถไฟฟ้า BTS สถานีสะพานตากสิน เกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2542 และในช่วงเวลานั้นเป็นสถานีสุดท้ายของสายสีลม ย่านเจริญกรุง-บางรัก กลายเป็นจุดสำคัญของการเชื่อมต่อรถยนต์ เรือข้ามฟาก และรถไฟฟ้า คนฝั่งธนบุรีที่ต้องการใช้รถไฟฟ้าจะต้องมาขึ้นที่สถานีนี้ ซึ่งในอดีตจะนิยมนั่งรถไปลงท่าเป๊ปซี่ (ท่าเสริมสุข) เพื่อข้ามฟากไปยังท่าสาทร แล้วต่อรถไฟฟ้า หรือนั่งรถมานั่งลงบางรักแล้วต่อรถไฟฟ้า

โซนที่ 4 เป็นเจริญกรุงที่คนส่วนใหญ่ไม่ได้เรียกพื้นที่บริเวณนี้ว่าย่านเจริญกรุงเท่าไรนัก แต่เนื่องจากที่ดินบริเวณนี้ยังมีบางส่วนที่ติดกับโค้งแม่น้ำเจ้าพระยา พื้นที่โซนนี้จึงมีโรงแรมริมแม่น้ำ บริษัทเดินเรือ บริษัทค้าขายขนส่งสินค้าทางเรือชาติตะวันตกเข้ามาเปิดกิจการ ตั้งบริษัทอยู่บริเวณนี้จำนวนไม่น้อยเช่นกัน เช่น บริษัท อีสต์ เอเชียติก บริษัทสัญชาติเดนมาร์ก ที่เป็นเจ้าของที่ดินและสิ่งปลูกสร้างบนถนนเจริญกรุงฝั่งริมแม่น้ำจำนวนมาก (รวมถึงพื้นที่ที่เป็นเอเชียทีคในปัจจุบันด้วย)

แต่ปัจจุบันบริษัทนี้ได้เปลี่ยนมือเป็นของกลุ่มครอบครัวสิริวัฒนภักดีมาตั้งแต่ช่วงก่อนปี พ.ศ. 2540 แล้ว และปัจจุบันมีแนวโน้มที่จะปรับปรุงอาคารเก่าแก่แห่งนี้ให้เป็นโรงแรมหรูริมแม่น้ำด้วย

 

ย่านเจริญกรุงในปัจจุบัน

ปัจจุบันย่านเจริญกรุงในแต่ละโซน มีการเปลี่ยนแปลงไปมาก โดยจุดที่ฮอตสุด ขยับมาเป็น ย่านเจริญกรุง โซน 2 รองลงมาเป็นโซน 3 เฉพาะส่วนบางรัก ซึ่งนอกจากจะเป็นย่านโรงแรมหรู แหล่งค้าขาย จุดเชื่อมรถยนต์ เรือ รถไฟฟ้าแล้ว ด้วยอาคารเก่าแก่หลายแห่ง การย้ายมาของ TCDC ศูนย์ความรู้ด้านการออกแบบและความคิดสร้างสรรค์ และการสร้างสรรค์บางพื้นที่ของย่านนี้ให้เป็นสตรีทอาร์ต จึงกลายเป็นย่านที่ดึงกลุ่มคนรุ่นใหม่ให้มาเยือน

เช่นเดียวกับโซน 4 ที่เมื่อมีเอเชียทีค เดอะ ริเวอร์ฟร้อนท์ โกดังเก่าแก่ที่ปรับปรุงให้เป็นศูนย์การค้าแนวราบริมแม่น้ำเกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2555 พื้นที่โซนนี้ก็คึกคักมาก ส่วนพื้นที่ถัดจากนี้มุ่งหน้าไปทางถนนตก มีโรงพยายาลเจริญกรุงประชารักษ์เป็นจุดดึงคน และมีคอนโดมิเนียมริมแม่น้ำที่เกิดขึ้นจำนวนมาก

 

อนาคตของย่านเจริญกรุง

รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ส่วนต่อขยาย หัวลำโพง-หลักสอง ที่ปัจจุบันเปิดให้บริการแล้ว จะส่งผลบวกให้กับถนนเจริญกรุงโซน 1 เป็นอย่างมาก โดยปัจจุบันเริ่มเห็นการรื้อตึกเก่ามาก่อสร้างเป็นคอนโดมิเนียมใหม่ และคอมมูนิตี้มอลล์ใหม่ ๆ ที่เริ่มเกิดขึ้น รวมถึงการที่กลุ่มธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป (THG) มากว้านซื้อที่ดินบริเวณถนนบำรุงเมืองเพื่อสร้าง “โรงพยาบาลธนบุรี บำรุงเมือง” ศูนย์บริการทางการแพทย์และสุขภาพครบวงจร เป็นส่วนหนึ่งที่จะทำให้ย่านนี้ครบครันมากยิ่งขึ้น

ล่าสุด ทางเอเชียทีค เตรียมผุดเมกะโปรเจกต์ใหญ่ ซึ่งเป็นส่วนต่อขยายในระยะที่ 2 บนพื้นที่เกือบ 100 ไร่ บนถนนเจริญกรุง มูลค่าไม่น้อยกว่า 3 หมื่นล้านบาท ประกอบไปด้วย

อาคารมิกซ์ยูสสูงที่สุดในประเทศไทย หรือความสูง 100 ชั้น ริมแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณลานจอดรถและที่ตั้งของชิงช้าสวรรค์ในปัจจุบัน ภายในอาคารประกอบด้วย โรงแรม 2 ส่วน คือ โรงแรมแมริออท ขนาด 800 ห้อง และโรงแรมระดับ 6 ดาว รวมทั้งคาดว่าจะมีแบรนด์เดด เรสซิเดนซ์ ซึ่งจะขายในรูปแบบการเช่าระยะยาว แต่จะมีพื้นอาคารสำนักงานเป็นส่วนน้อย และพื้นที่ค้าปลีกระดับบน คาดว่าจะใช้เวลาก่อสร้างทั้งหมด 5 ปี

นอกจากนี้ บริเวณพื้นที่ด้านซ้ายของโครงการเอเชียทีคในปัจจุบัน จะมีการก่อสร้างอาคารรูปทรงเจดีย์ สำหรับเป็นพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ของที่ตั้งโครงการ ซึ่งเป็นจุดที่พบพระพุทธรูปทองคำที่ปัจจุบันประดิษฐานอยู่ที่วัดไตรมิตร

ส่วนพื้นที่ติดริมแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งเป็นพื้นที่ฟันพาร์ค จะก่อสร้างเป็นร้านสตาร์บัค ริมน้ำ ขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย โดยจะมีการย้ายชิงช้าสวรรค์จากจุดเดิมมาตั้งบริเวณเดียวกัน ที่สำคัญจะมีร้านค้าปลีกที่เปิดให้บริการตลอดทั้งวัน ซึ่งการพัฒนาในส่วนนี้จะใช้เวลาก่อสร้างประมาณ 3 ปี

BANGKOK THAILAND - APRIL 25: Outdoor Restaurant in Asiatique The

สามารถค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับดัชนีราคาที่อยู่อาศัยในกรุงเทพฯ ได้ที่ DDproperty Property Index

Get the Guru View

ย่านเจริญกรุงโซน 1 เจริญกรุง-สำเพ็ง-พาหุรัด-สะพานเหล็ก-วังบูรพา ที่เคยบูมและจางหายไปตามยุคสมัย อาจจะกลับมาจากการที่รถไฟฟ้า MRT สายสีน้ำเงิน ส่วนต่อขยาย หัวลำโพง-หลักสอง เปิดให้บริการ

เนื่องจากรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายสายนี้ มี 3 สถานีสำคัญที่จะผ่านถนนเจริญกรุง ทั้งสถานี MRT วัดมังกร สถานี MRT สามยอด และสถานี MRT สนามไชย และทั้ง 3 สถานียังถูกออกแบบให้เป็นสถานีเพื่อการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ด้วย ซึ่งกลุ่มทุนคนไทยเชื้อสายอินเดียที่อยู่อาศัยมานานและร่ำรวยจากการทำธุรกิจในย่านนี้ก็พร้อมที่จะลงทุนอสังหาริมทรัพย์ใหม่ ๆ ในย่านนี้เช่นกัน

ขณะที่ ย่านเจริญกรุงโซน 3 เจริญกรุง-สี่พระยา-ท่าเรือสาทร-บางรัก ต้องจับตาดูความคืบหน้าของแผนขยายสถานี BTS สะพานตากสินด้วยการทุบสะพานสาทรออกข้างละ 1.8 เมตร เพื่อสร้างเป็นทางคู่ และเพิ่มชานชาลาจะสำเร็จหรือไม่ เพื่อแก้ปัญหาความล่าช้าในการเดินรถไฟฟ้าช่วงที่มีการสลับรางและยกเลิกการรื้อสถานีสะพานตามสินตามเงื่อนไขเดิม

ส่วนเอเชียทีคก็จะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญอีกอย่างหนึ่งที่ทำให้เจริญกรุงน่าจับตามองมากขึ้น ทั้งในฐานะสถานที่ท่องเที่ยว และที่อยู่อาศัย

 

เจาะลึกทุกทำเลในกรุงเทพฯ ที่น่าสนใจ และหากคุณกำลังค้นหาบ้าน-คอนโดฯ ที่ใช่ สามารถเลือกชมรีวิวโครงการใหม่ ก่อนตัดสินใจซื้อบ้าน คอนโดฯ ทาวน์เฮ้าส์ ที่ตรงกับความต้องการของคุณ

บทความอื่นๆ ที่เกี่ยวกับ เจริญกรุง