นอกจากจะเป็นย่านที่มีสภาพเศรษฐกิจดีเยี่ยมแล้ว ‘ท่าพระ’  ก็ยังมีจุดแข็งในด้านการเดินทางอีกด้วย ถนนเส้นหลักภายในย่านหลายสายเป็นถนนสายสำคัญของกรุงเทพฯ ผู้คนจึงสามารถเข้าถึงพื้นที่ย่านได้อย่างง่ายดาย

อีกทั้งยังมีจุดเชื่อมต่อรูปแบบการเดินทางที่หลากหลาย รวมอยู่ในบริเวณใกล้ ๆ กัน อย่างเช่น รถไฟฟ้า รถสองแถว รถตู้ เป็นต้น ดังนั้นจึงสามารถเดินทางได้สะดวกสบาย ไม่ว่าจะใช้รถส่วนตัวหรือรถโดยสารสาธารณะ

– รถไฟฟ้า : เดิมทีจะมีเพียงแค่รถไฟฟ้า BTS สายสีเขียวเปิดให้บริการอยู่ โดยสถานีที่อยู่ในพื้นที่ย่านได้แก่ สถานีโพธิ์นิมิตรและสถานีตลาดพลู แต่ปัจจุบันมีรถไฟฟ้าเข้ามาเพิ่มอีก 2 เส้นทาง ได้แก่ รถไฟฟ้า สายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย โดยปัจจุบันเปิดให้บริการแล้วทั้ง 2 ช่วง ได้แก่

1. ช่วงหัวลำโพง-หลักสอง ระยะทาง 14 กิโลเมตร เป็นโครงสร้างทางวิ่งใต้ดินจำนวน 4 สถานี และโครงสร้างทางวิ่งยกระดับจำนวน 7 สถานี ได้แก่ สถานีวัดมังกร สถานีสามยอด สถานีสนามไชย สถานีอิสรภาพ สถานีท่าพระ สถานีบางไผ่ สถานีบางหว้า สถานีเพชรเกษม 48 สถานีภาษีเจริญ สถานีบางแค และสถานีหลักสอง

2. ช่วงเตาปูน-ท่าพระ ระยะทาง 13 กิโลเมตร เป็นโครงสร้างทางวิ่งยกระดับทั้งหมด จำนวน 8 สถานี ได้แก่ สถานีบางโพ สถานีบางอ้อ สถานีบางพลัด สถานีสิรินธร สถานีบางยี่ขัน สถานีบางขุนนนท์ สถานีไฟฉาย สถานีจรัญฯ 13 ซึ่งล่าสุดเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2563 ได้เปิดให้ทดลองใช้เต็มรูปแบบ ตั้งแต่เวลา 06.00-24.00 น. โดยจะให้บริการฟรีจนถึงวันที่ 29 มีนาคม 2563

 

Tha-Pra-Station ท่าพระ

สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ส่วนต่อขยาย ช่วงหัวลำโพง-หลักสอง และช่วงเตาปูน-ท่าพระ ใช้ระบบรถไฟฟ้าขนาดใหญ่ (Heavy Rail Transit System) ที่มีความจุสูง มีระยะทางรวมประมาณ 27 กิโลเมตร

โดยมีแนวเส้นทางต่อขยายจากรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล (รถไฟฟ้าใต้ดิน MRT สายสีน้ำเงิน ช่วงหัวลำโพง-บางซื่อ) ซึ่งเปิดให้บริการอยู่ในปัจจุบัน ออกไป 2 ทิศทาง จะทำให้แนวเส้นทางของรถไฟฟ้า สายสีน้ำเงินมีลักษณะเชื่อมต่อกันเป็นวงแหวนขนาดใหญ่ หรือ Circle Line ครอบคลุมพื้นที่กรุงเทพฯ ชั้นใน และเชื่อมต่อการเดินทางระหว่างฝั่งธนบุรีกับฝั่งพระนครให้มีความสะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น

อีกทั้งรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินยังมีจุดเชื่อมต่อกับระบบขนส่งมวลชนอื่น ๆ ได้แก่ รถไฟ รถไฟฟ้า รถโดยสาร และเรือโดยสาร เพื่อช่วยลดความแออัดของการจราจรบนถนนสายสำคัญ ๆ ในเขตเมืองได้เป็นอย่างดี

– ทางรถยนต์ : ถนนเส้นหลักของย่านท่าพระมีอยู่ 3 สายด้วยกัน ได้แก่ ถนนเพชรเกษม ถนนรัชดาภิเษกและถนนจรัญสนิทวงศ์ โดยทั้งหมดจะมาเชื่อมกันที่แยกท่าพระ บนถนนทั้ง 3 เส้นมีช่องจราจรที่กว้างขวางและแบ่งทิศทางการวิ่งของรถชัดเจน จึงถือว่าสะดวกสบายมากสำหรับการเดินทางด้วยรถยนต์ส่วนตัว อีกทั้งยังเป็นแนวถนนที่ไม่ค่อยมีซอยปลีกย่อยเยอะมากนัก สภาพการจราจรโดยรวมจึงคล่องตัวดีเกือบตลอดทั้งวัน อาจจะมีชะลอตัวบ้างตามจุดที่มีการก่อสร้างปรับปรุงเส้นทางหรือก่อสร้างรถไฟฟ้าตามแผนเส้นทางเดินรถไฟฟ้าในอนาคต

– ทางพิเศษ : ทางพิเศษที่อยู่ใกล้พื้นที่ย่านมากที่สุดคือ ทางพิเศษศรีรัช หากต้องการใช้บริการก็ต้องวิ่งตามถนนรัชดาภิเษกเพื่อไปเชื่อมกับถนนราชพฤกษ์ มุ่งหน้าไปยังฝั่งพระนคร เมื่อเข้าสู่ถนนเส้นสาทรเหนือก็เตรียมเลี้ยวขวาไปยังถนนเจริญราษฎร์ จะเห็นด่านเก็บค่าบริการทางพิเศษอยู่ห่างออกไปไม่เท่าไร

– รถเมล์ : บนถนนเส้นหลักทุกสายจะมีป้ายรถประจำทางคอยให้บริการเป็นระยะ ๆ และมีรถเมล์วิ่งให้บริการหลายเส้นทาง โดยรถเมล์สายสำคัญได้แก่
รถเมล์สาย 7 : สมุทรสาคร-หัวลำโพง
รถเมล์สาย 42 : วงกลมท่าพระ-เสาชิงช้า
รถเมล์สาย 84 : อ้อมใหญ่-สถานีรถไฟฟ้าวงเวียนใหญ่
รถเมล์สาย 146 : ตลิ่งชัน-บางแค-ศิริราช
รถเมล์สาย 175 : ท่าน้ำภาษีเจริญ-ท่าน้ำนนทบุรี
รถเมล์สาย 509 : พุทธมณฑลสาย 2-สถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพ(เอกมัย)
รถเมล์สาย 710 : วงกลมอรุณอมรินทร์-ถนนกาญจนาภิเษก

– วินมอเตอร์ไซค์ : ถึงแม้ว่าการเดินทางภายในย่านด้วยรูปแบบอื่นจะสะดวกกว่า แต่บริเวณแหล่งชุมชนที่ผู้คนนิยมเดินทางในระยะใกล้ ๆ วินมอเตอร์ไซค์ก็ยังเป็นที่ต้องการอยู่ดี ดังนั้นเราจึงเห็นคิววินมอเตอร์ไซด์เฉพาะจุดที่สำคัญ ๆ เท่านั้น เช่น แยกท่าพระ ตลาดพลู เดอะมอลล์ท่าพระ สถานีรถไฟฟ้า เป็นต้น ค่าโดยสารเริ่มต้นที่ 20 บาท ราคาค่าโดยสารอาจเปลี่ยนแปลงได้

– รถสองแถว : มีจุดจอดรับ-ส่งผู้โดยสารรถสองแถวอยู่ที่หน้าเดอะมอลล์ท่าพระ เป็นรถสองแถวสีขาว วิ่งให้บริการหลายเส้นทาง สามารถรอขึ้นได้ทั้งฝั่งเดียวกับเดอะมอลล์ท่าพระและฝั่งตรงข้าม หากไม่แน่ใจว่ารถจะวิ่งผ่านจุดที่ต้องการไปหรือไม่ให้สอบถามกับคนขับก่อนเสมอ ค่าโดยสาร 8 บาทตลอดสาย ราคาค่าโดยสารอาจเปลี่ยนแปลงได้

– รถตู้ : มีจุดจอดรับ-ส่งสำหรับรถตู้บริเวณหน้าเดอะมอลล์ท่าพระด้วยเช่นกัน สามารถไปยังเซ็นทรัลปิ่นเกล้า เซ็นทรัลพระราม 2 และโซนดาวคะนองได้ ค่าโดยสารเริ่มต้นที่ 30 บาท ราคาค่าโดยสารอาจเปลี่ยนแปลงได้

Tha-Pra-MRT-Blue line

 

Get the Guru View

แม้ว่าเดิมทีย่านท่าพระจะมีระบบการเดินทางที่ค่อนข้างสะดวกสบายดีอยู่แล้ว แต่ก็จะมีจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญเกิดขึ้นอีกอย่างแน่นอน หลังจากที่โครงการรถไฟฟ้าเส้นทางใหม่ก่อสร้างแล้วเสร็จ เพราะสถานีท่าพระจะกลายเป็นแลนด์มาร์กสำคัญ ส่งผลให้ระบบคมนาคมขนส่งในรูปแบบอื่น ๆ จำเป็นต้องพัฒนาปรับเปลี่ยนให้ดีขึ้นด้วย เชื่อว่า Interchange ท่าพระจะต่อยอดไปเป็นศูนย์กลางการเดินทางหลากหลายรูปแบบในอนาคต และนั่นก็เป็นผลดีต่อการเติบโตของกิจการต่างๆ อย่างเห็นได้ชัด ประเด็นนี้จะทำให้นักลงทุนสนใจเข้ามาในพื้นที่ย่านมากขึ้นด้วย

เจาะลึกทุกทำเลในกรุงเทพฯ ที่น่าสนใจ และหากคุณกำลังค้นหาบ้าน-คอนโดฯ ที่ใช่ สามารถเลือกชมรีวิวโครงการใหม่ และคำนวณสินเชื่อด้วยตนเองก่อนตัดสินใจซื้อบ้าน คอนโดฯ ทาวน์เฮ้าส์ ที่ตรงกับความต้องการของคุณ