ย่าน ‘บางแค’ เป็นชุมชนเก่าแก่ของฝั่งธนบุรี โดยเจริญเติบโตมาจากตัวเมืองหลวงเก่า กรุงธนบุรี และคนไทยเชื้อสายจีนบางส่วนที่ขยับขยายเข้ามาอยู่อาศัยและค้าขายในย่านนี้ จนกลายเป็นชุมชนขนาดใหญ่

ประวัติความเป็นมาของย่าน

เขตบางแคในอดีตเป็นส่วนหนึ่งของอำเภอหนองแขม จังหวัดธนบุรี (ในขณะนั้น) มีชื่อว่า ‘ตำบลหลักหนึ่ง’ ภายหลังภายหลังเปลี่ยนเป็นตำบลบางแค ตามชื่อคลองสายหนึ่งที่ไหลผ่านพื่้นที่และหมู่บ้านที่ตั้งอยูริมคลองนั้น โดย ‘บาง’ หมายถึงทางน้ำ ส่วน ‘แค’ นั้น เชื่อว่าในสมัยก่อนบริเวณนี้มีชาวบ้านปลูกต้นแคไว้เป็นจำนวนมาก จึงกลายมาเป็นชื่อของบริเวณนี้

บางแค ได้รับการแต่งตั้งเป็นเขตเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2540 มีพื้นที่รวมทั้งสิ้น 44.456 ตารางกิโลเมตร แบ่งพื้นที่การปกครองออกเป็น 4 แขวง ได้แก่

  1. แขวงบางไผ่ มีพื้นที่ 15.80 ตารางกิโลเมตร
  2. แขวงบางแคเหนือ มีพื้นที่ 14.25 ตารางกิโลเมตร
  3. แขวงบางแค มีพื้นที่ 7.25 ตารางกิโลเมตร
  4. แขวงหลักสอง มีพื้นที่ 9.25 ตารางกิโลเมตร

โดยมีอาณาเขตติดต่อดังนี้

– ทิศเหนือ ติดต่อกับเขตทวีวัฒนาและเขตตลิ่งชัน

– ทิศตะวันออก ติดต่อกับเขตภาษีเจริญ

– ทิศใต้ ติดต่อกับเขตบางบอน

– ทิศตะวันตก ติดต่อกับเขตหนองแขม

ดอกแค อาจเป็นที่มาของชื่อ 'บางแค'

โดยในยุคก่อนปี พ.ศ. 2500 รัฐบาลจอมพลแปลก พิบูลสงคราม มีนโยบายจัดระเบียบให้กับกรุงเทพมหานคร จึงขอให้แม่ค้าหาบเร่ตามสถานที่ต่าง ๆ ในกรุงเทพฯ เช่น ท้องสนามหลวง, ลานพระบรมรูปทรงม้า ย้ายมาขาย ณ ที่แห่งใหม่ เช่น สะพานเทเวศน์, ท่าเตียน, ถนนวรจักร, หน้าโรงไฟฟ้าสามเสน รวมถึงย่านบางแคด้วยเช่นกัน

ตลาดบางแคจึงเริ่มต้นขึ้น และค่อย ๆ ขยายตัวตามการเติบโตของเมือง จนเกิดเป็นตลาดสดย่อย ๆ หลายตลาดรวมกันในพื้นที่เดียว กลายเป็นตลาดสดขนาดใหญ่ โดยตลาดสดแห่งนี้ เป็นตลาดสดเก่าแก่กว่า 60 ปี ที่มีของขายมากมาย เช่น ผัก, ผลไม้, ขนมหวาน, ข้าวแกงต่าง ๆ จึงเป็นศูนย์รวมการค้าขายขนาดใหญ่ของฝั่งธนบุรี โดยมีผลให้พื้นที่โดยรอบมีการค้าขาย ร้านค้าชื่อดัง สินค้าแบรนด์ดังต่างต้องมาเปิดสาขา ณ บริเวณนี้

ในยุคที่ธุรกิจห้างสรรพสินค้าเริ่มขยายตัวอย่างมาก ราว ๆ ปี พ.ศ. 2530-2539 ย่านบางแคก็มีห้างสรรพสินค้าและศูนย์การค้ามาเปิดมากถึง 5 แห่งด้วยกัน ประกอบด้วย ห้างสรรพสินค้าวันเดอร์ ดีพาร์ทเม้นท์สโตร์ ห้างสรรพสินค้าไอที แกรนด์ ห้างสรรพสินค้าเซฟโก้ ศูนย์การค้าฟิวเจอร์ และศูนย์การค้าเดอะมอลล์ บางแค

แต่ด้วยสภาวะเศรษฐกิจตกต่ำในยุคปี พ.ศ. 2540 ส่งผลกระทบกับการค้าขายในย่านนี้ และมีผลให้ห้างสรรพสินค้าบางแห่งย่านบางแคไม่สามารถดำเนินการต่อได้ ต้องขายกิจการ และมีผู้ประกอบการรายใหม่เข้ามาดำเนินการแทน เช่น ห้างสรรพสินค้าเซฟโก้เปลี่ยนเป็นเทสโก้ โลตัส ศูนย์การค้าฟิวเจอร์ บางแคเปลี่ยนเป็นศูนย์การค้าซีคอนบางแค ส่วนห้างสรรพสินค้าวันเดอร์ ดีพาร์มเม้นท์สโตร์เปิดให้บริการเฉพาะชั้นพื้นดิน ส่วนชั้นอื่น ๆ ปิดให้บริการ

ส่วนศูนย์การค้าเดอะมอลล์ เป็นเพียงศูนย์การค้าเดียวที่ปรับตัวฝ่าวิกฤตจนเปิดให้บริการเป็นปกติจนถึงปัจจุบัน อย่างไรก็ตามแม้ว่าห้างสรรรพค้าขนาดใหญ่หลายแห่งจะเจอกับวิกฤต แต่ตลาดบางแคยังคงเป็นศูนย์กลางการค้าขายของสดในย่านนี้เช่นเดิม แม้ว่าจะซบเซาและการค้าขายไม่บูมเหมือนในอดีต แต่ก็ยังเป็นตลาดสดที่คนย่านนี้ให้ความนิยม

สำหรับภาพรวมการอยู่อาศัย หากย้อนกลับไปเกือบ 40 ปีที่แล้ว การพัฒนาพื้นที่ตลอดแนวริมถนนเพชรเกษม-บางแคก็เต็มเกือบทุกพื้นที่แล้ว เป็นลักษณะอาคารพาณิชย์ติดริมถนน ซึ่งมีทั้งแบบที่เป็นร้านค้าอย่างเดียว และทำการค้าด้านล่างอยู่อาศัยด้านบน และหากวางให้ตลาดบางแคเป็นพื้นที่ไข่แดงของย่านนี้

โครงการหมู่บ้านจัดสรรเกิดใหม่ในยุคนั้น ทั้งบ้านเดี่ยวและทาวน์เฮ้าส์ จะขยับออกนอกพิกัดที่เป็นไข่แดงของย่านบางแคไปอีกประมาณ 2-4 กิโลเมตร นั่นก็คือ เลยเดอะมอลล์ บางแคออกไปอีก เช่น โซนพุทธมณฑลสาย 2 โซนพุทธมณฑลสาย 3 และโซนพุทธมณฑลสาย 4

ในยุคนั้นคนเยาวราชที่เริ่มมีกำลังซื้อ และมองการขยับขยายที่อยู่อาศัย ต้องการหาบ้านที่มีพื้นที่ ก็ต้องขยับมาหาที่อยู่อาศัยในบริเวณโซนพุทธมณฑลสาย 2-4 เช่นกัน ซึ่งที่อยู่อาศัยย่านนี้ในยุค 30-40 ปีที่แล้ว มีทั้งระดับราคาที่ไม่สูงมาก เริ่มต้นต่ำกว่า 1 ล้านบาทไปจนถึงบ้านแพง 3-4 ล้านบาท ซึ่งถ้าเป็นยุคปัจจุบัน บ้านระดับกลางย่านนี้ เริ่มต้น 2-3 ล้านบาท ส่วนบ้านเดี่ยว เริ่มต้น 10 ล้านบาทขึ้นไป

ค้นหาบ้านเดี่ยวในบางแค

ภาพ 'บางแค' ในปัจจุบัน

ย่านบางแคในปัจจุบัน

ปัจจุบันโครงการรถไฟฟ้า MRT สายสีน้ำเงิน ช่วงหัวลำโพง-หลักสอง ก่อสร้างแล้วเสร็จ และเปิดให้บริการแล้ว เช่นเดียวกับรถไฟฟ้า MRT สายสีน้ำเงิน ช่วงบางซื่อ-ท่าพระ

โดยบริเวณใกล้ MRT สถานีภาษีเจริญ (ใกล้กับศูนย์การค้าซีคอนบางแค) และใกล้ MRT สถานีเพชรเกษม 48 (ใกล้กับ BTS สถานีบางหว้า) เป็นพื้นที่ที่มีความเคลื่อนไหวมากที่สุด อาคารพาณิชย์ที่ทิ้งร้างถูกกว้านซื้อ และเปลี่ยนเป็นประกาศขายคอนโดมิเนียมระดับราคา 2 ล้านต้น ๆ

แต่ก่อนหน้านี้ บริเวณบางแคตอนปลาย ค่อนไปทางเดอะมอลล์ บางแคและพุทธมณฑลสาย 2 ตอนต้น มีผู้ประกอบการรายใหญ่เข้าไปปักธงเปิดคอนโดมิเนียมก่อนแล้ว เพราะเป็นพื้นที่ที่มีแหล่งงาน และในอนาคตจะเป็นจุดเชื่อมต่อสำคัญ

นอกจากนี้ เริ่มเห็นการรื้อโรงงานเก่า อาคารเก่า ปรับเป็นพื้นที่โล่งขนาดใหญ่ และประกาศทำตลาดนัดรูปแบบใหม่ หรือศูนย์รวมแหล่งค้าขายใหม่ ๆ รองรับความเจริญที่กำลังจะเข้ามาเยือน

ส่วนบริเวณไข่แดงย่านนี้ หรือที่เป็นตลาดบางแคทั้งฝั่งตลาดเอง และฝั่งตรงข้าม ยังมีการเปลี่ยนแปลงน้อยมาก ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นเพราะเป็นย่านค้าขายเก่าแก่ ราคาที่ดินสูงมากจนยากจะไปพัฒนาเป็นที่อยู่อาศัย ยกเว้นจะทำเป็นโครงการเชิงพาณิชย์

อนาคตของย่านบางแค

เมื่อรถไฟฟ้า MRT สายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย หัวลำโพง-บางแค และบางซื่อ-ท่าพระ เปิดให้บริการเต็มเส้นทาง มีความเป็นไปได้ว่า ย่านนี้จะขยับจากย่านที่อยู่อาศัยแนวราบและการค้าขาย สู่ย่านการค้าและย่านที่อยู่อาศัยแนวสูง

โดยการพัฒนาของโครงการแนวสูงจะแบ่งเป็น 2 โซน คือ โซนแรกคอนโดมิเนียมระดับกลางบน จะเริ่มต้นตั้งแต่เพชรเกษมตอนต้น (นับจาก BTS สถานีบางหว้า) ยาวไปจนถึงบริเวณรอบ MRT สถานีหลักสอง (ใกล้เดอะมอลล์ บางแค) ส่วนโซนที่ 2 จะเป็นตลาดคอนโดมิเนียมระดับล้านต้น ๆ เริ่มตั้งแต่พุทธมณฑลสาย 2 ฝั่งเพชรเกษม ยาวต่อไปจนถึงย่านหลักสอง (ประมาณเพชรเกษม 63)  

สามารถค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับดัชนีราคาที่อยู่อาศัยในกรุงเทพฯ ได้ที่ Thailand Property Market Index

 

รถไฟฟ้า MRT จุดเปลี่ยนสำคัญของย่าน 'บางแค'

Get the Guru View

พื้นที่บริเวณไข่แดงของย่านนี้คือ บริเวณตลาดบางแคและฝั่งตรงข้าม ถือว่าเป็นพื้นที่ที่มีความน่าสนใจ แม้ปัจจุบันจะยังไม่มีการเปลี่ยนแปลง แต่มีความเป็นไปได้ที่จะมีกลุ่มทุนใหญ่เข้ามาซื้อโครงการร้างย่านนี้เพื่อปรับไปสู่พื้นที่รีเทลใหม่ ๆ รับการมาของรถไฟฟ้า MRT รวมถึงการขยายเส้นทางรถไฟฟ้า MRT สายสีน้ำเงิน จากสถานีหลักสองไปจนถึงพุทธมณฑลสาย 4 ก็เป็นอีกหนึ่งจุดเปลี่ยนสำคัญของย่านนี้

 

เจาะลึกทุกทำเลในกรุงเทพฯ ที่น่าสนใจ และหากคุณกำลังค้นหาบ้าน-คอนโดฯ ที่ใช่ สามารถเลือกชมรีวิวโครงการใหม่ ก่อนตัดสินใจซื้อบ้าน คอนโดฯ ทาวน์เฮ้าส์ ที่ตรงกับความต้องการของคุณ