‘สีลม’ เรียกได้ว่าเป็นหนึ่งในย่านระดับตำนานของกรุงเทพมหานคร ศูนย์กลางธุรกิจที่สำคัญของไทยตั้งแต่ยุคดั้งเดิมจนถึงยุคปัจจุบัน โดยส่วนหนึ่งของความเป็นย่านการค้าสำคัญของสีลม เริ่มต้นมาจากการที่สีลมเป็นพื้นที่แรก ๆ ที่เกิดถนนขึ้นในประเทศไทย

ประวัติความเป็นมาของย่าน
ถนนสีลมสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 4 พร้อมกับถนนเจริญกรุง ถนนบำรุงเมือง และถนนเฟื่องนคร ซึ่งมีการเล่าขานกันว่า เดิมถนนสีลม มีชื่อว่า “ถนนขวาง” ชาวต่างประเทศได้นำเครื่อง ‘สีลม’ ซึ่งใช้สำหรับการวิดน้ำมาติดตั้งที่ถนนขวาง โดยที่บริเวณทั่วไปยังเป็นทุ่งนาโล่ง เครื่องสีลมวิดน้ำจึงดูเด่นและกลายเป็นชื่อเรียกของถนนมาถึงปัจจุบัน
ส่วนความยาวของถนนสายนี้ มีระยะทางเพียง 2.78 กิโลเมตรเท่านั้น โดยมีจุดเริ่มต้นที่เชื่อมต่อมาจากถนนเจริญกรุง (แยกบางรัก) ไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ตัดกับถนนมเหสักข์-ถนนสุรศักดิ์ (แยกสุรศักดิ์) ถนนประมวญ(แยกประมวญ) ถนนเดโช (แยกเดโช) ถนนนราธิวาสราชนครินทร์ (แยกสีลม-นราธิวาส) และถนนคอนแวนต์ (แยกคอนแวนต์) และไปสิ้นสุดที่ถนนพระรามที่ 4 (แยกศาลาแดง)
หลังจากสีลม มีถนนที่เดินทางสัญจรสะดวกมากขึ้น การค้าขายจากทั้งคนไทยและชาวต่างชาติต่างมุ่งหน้าสู่ถนนสายนี้ เป็นจุดเริ่มต้นของความเป็นย่านการค้า
จากการค้าท้องถิ่นรายย่อยที่สั่งสมมานาน ขยับขึ้นสู่ทำเลที่ตั้งของบริษัทการเงินชั้นนำทั้งไทยและต่างชาติ บริษัทที่ต้องการสะท้อนภาพความมั่งคั่ง ต้องการสร้างการยอมรับ เป็นที่รู้จักในวงธุรกิจและสังคมไทยเวลานั้น ล้วนต้องขยับขยายมาตั้งสำนักงานใหญ่บนถนนสายนี้ จึงไม่แปลกที่สีลมได้รับสมยานามว่าเป็น “วอลล์สตรีทของเมืองไทย” กลายเป็นถนนสายสั้น ๆ ที่ทรงพลังทางเศรษฐกิจ เจริญเติบโต และถูกพัฒนาจนอาจกล่าวได้ว่าเต็มพื้นที่มามากกว่า 20-30 ปีแล้ว
สีลมในยุคบุกเบิกจนถึงช่วงที่มีรถไฟฟ้า BTS สายสีลม เป็นรถไฟฟ้าสายแรกของเมืองไทยวิ่งผ่านส่วนหนึ่งของถนนสายนี้ เราแทบไม่ได้เห็นการพัฒนาโครงการใหม่ ๆ เข้าสู่ถนนสายนี้เลย การเปลี่ยนมือเจ้าของที่ดินมีน้อยมาก ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น มีเพียงโฉมอาคารที่ทันสมัยขึ้น แม้จะบริษัทห้างร้านจะเปลี่ยนไปในแบบ “เก่าไป ใหม่มา” แต่ส่วนใหญ่ยังคงอาศัยอาคารดั้งเดิมที่ก่อสร้างมาตั้งแต่ยุคสีลมเริ่มเติบโต และใช้วิธีรีโนเวทอาคารให้สวยงามตามความนิยม น้อยมากที่จะได้เห็นโครงการเกิดใหม่บนถนนสายนี้ และนั่นคือ สีลม ช่วงก่อนหน้านี้ เพราะเวลานี้ สีลม กำลังจะกลับมาบูมรอบใหม่
ย่านสีลมในปัจจุบัน
นับตั้งแต่รถไฟฟ้า BTS เปิดให้บริการครั้งแรกตั้งแต่ปี 2542 จนถึงปัจจุบัน หลายพื้นที่ในกรุงเทพฯ เกิดการเปลี่ยนแปลงจากรถไฟฟ้าสายดังกล่าวในแบบที่เรียกว่า พลิกโฉมหน้าดินจนขึ้นแท่นทำเลทองแห่งใหม่ แต่ย่านสีลม ต่างออกไป เราเพิ่งเริ่มเห็นการเกิดของโครงการใหม่ ๆ บนถนนสีลมเมื่อไม่กี่ปีมานี้ และมีเพียงไม่กี่โครงการเท่านั้น โดยส่วนใหญ่จะเป็นโครงการคอนโดมิเนียมระดับไฮเอนด์ บนทำเลสีลม ศาลาแดง ที่มีรถไฟฟ้า BTS ผ่าน และบริเวณพื้นที่ใกล้เคียง ซึ่งเป็นผลจากการที่เจ้าของที่ดินดั้งเดิมยอมปล่อยที่ดินในมือออกมา
แต่เมื่อ 1-2 ปีที่ผ่านมา เริ่มมีการเปลี่ยนแปลงใหม่ ๆ บนถนนสายนี้ที่น่าสนใจ โดยเฉพาะโครงการมิกซ์ยูส หรือโครงการอสังหาริมทรัพย์แบบผสมผสาน ที่กำลังเป็นเทรนด์ของวงการอสังหาริมทรัพย์ จะเกิดขึ้นบนถนนสายนี้ ไม่ว่าจะเป็น โครงการมิกซ์ยูสบนที่ดินผืนเดิมที่เคยเป็นอาคารสีบุญเรือง ที่นายณ์ เอสเตทและไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนลได้สิทธิการพัฒนา ระยะเวลา 50 ปีจากบริษัท สิวะดล จำกัดในการพัฒนาโครงการระดับพรีเมียม มูลค่ารวมกว่า 16,000 ล้านบาท ซึ่งไม่ใช่การรีโนเวท แต่เป็นการรื้ออาคารสีบุญเรือง อาคารเก่าแก่บนถนนสีลม เพื่อก่อสร้างเป็นโครงการใหม่
“มิกซ์ยูส” เทรนด์อสังหาฯ มาแรงทั้งไทยและประเทศเพื่อนบ้าน
เช่นเดียวกับโรงแรมดุสิตธานีที่เปิดให้บริการตั้งแต่วันที่ 27 ก.พ. 2513 และสร้างสีสันให้กับสีลมยุคบุกเบิกในฐานะที่เป็นโรงแรมที่สูงที่สุดในประเทศไทย ที่ปิดการให้บริการไปแล้ว เพื่อรื้อ และก่อสร้างใหม่เป็นโครงการมิกซ์ยูส มูลค่ารวมกว่า 36,700 ล้านบาท ซึ่งร่วมกันพัฒนาระหว่างกลุ่มโรงแรมดุสิตและกลุ่มเซ็นทรัลพัฒนา
อนาคตของย่านสีลม
อนาคตของย่านสีลมนั้นจะขับเคลื่อนได้โครงการมิกซ์ยูสขนาดใหญ่อย่าง ‘ดุสิต เซ็นทรัล พาร์ค’ มูลค่าโครงการกว่า 3.67 หมื่นล้านบาท บนที่ดิน 23 ไร่ ตั้งอยู่บริเวณหัวมุมถนนสีลม ตรงข้ามสวนลุมพินี
มาพร้อมกับรูปลักษณ์สถาปัตยกรรมที่ประกอบด้วยกลุ่มอาคารสูงขนาดใหญ่มีพื้นที่ก่อสร้างรวมมากกว่า 400,000 ตารางเมตร บวกกับความพิเศษในการสรรค์สร้างสวนลอยฟ้าขนาดใหญ่ (รูฟพาร์ค) ขนาด 7 ไร่ ให้เป็นสถานที่พักผ่อนแห่งใหม่ที่ทุกคนสามารถเข้ามาใช้พื้นที่ส่วนนี้ได้
พื้นที่ทั้งหมดของดุสิต เซ็นทรัล พาร์ค ออกเป็นส่วนจอดรถชั้นใต้ดิน และกลุ่มอาคารขนาดใหญ่ 4 ประเภท 4 ธุรกิจ ประกอบด้วย
1. โรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพฯ ในภาพลักษณ์ระดับโรงแรมห้าดาว หรูหราและมีความโดดเด่นของตัวอาคารแม้จะอยู่ท่ามกลางกลุ่มอาคารอื่น ๆ ด้วยความสูง 39 ชั้น
ถอดแบบเอกลักษณ์พิเศษทุกรายละเอียดอันถือได้ว่าเป็นมรดกทางศิลปะของไทยมาจากดุสิตธานีเดิมที่สะท้อนความเป็นกรุงเทพฯ โดยหลัก ๆ ยังคงรูปแบบที่งดงามแบบเดิมไว้ เช่น พระปรางค์วัดอรุณราชวราราม สร้างเป็นยอดแหลมเหนืออาคารไว้เช่นเดิม ขณะเดียวกันก็ต้องการความทันสมัยมีมาตรฐานสากล
นอกจากนี้ยังจัดเลย์เอ้าท์ให้ห้องพักของโรงแรมจำนวน 259 ห้องมีความเป็นส่วนตัวสูงสุดด้วยขนาดห้องที่ใหญ่ขึ้นและมองเห็นวิวสวนลุมพินี 100% โรงแรมดุสิตธานีโฉมใหม่จึงปักหมุดพื้นที่ด้านหน้าโครงการตั้งตระหง่านตรงข้ามสวนลุมพินีพอดี
2. ดุสิต เรสซิเดนเซส ส่วนที่พักอาศัยตั้งอยู่ในตำแหน่งของโรงแรมดุสิตธานีเดิม โดยเป็นอาคารที่พักแบบเช่าสิทธิ์ระยะยาวหรือลีสโฮลด์ (leasehold) สูง 69 ชั้น จำนวน 389 ยูนิต
โดยแบ่งเป็นส่วนพักอาศัยเป็น 2 แบรนด์ คือ ดุสิต เรสซิเดนเซส ขนาดเริ่มต้น 120 ตารางเมตร จำนวน 159 ยูนิต เจาะกลุ่มผู้ที่ชื่นชอบที่อยู่อาศัยสไตล์คลาสสิก หรูหราเหนือกาลเวลา และดุสิต พาร์คไซด์ ขนาดเริ่มต้น 65 ตารางเมตร จำนวน 230 ยูนิต ตอบโจทย์ผู้ที่ชื่นชอบไลฟ์สไตล์คนเมือง ด้วยดีไซน์ที่ร่วมสมัย
3. เซ็นทรัล พาร์ค ออฟฟิศเซส อาคารสำนักงาน สูง 45 ชั้น ทำเลถนนสีลม เชื่อมต่อรถไฟฟ้า BTS ศาลาแดง และ MRT สีลม ตอบโจทย์ธุรกิจได้ตรงที่สุด เลย์เอ้าท์อาคารทั้งหมดออกแบบในสไตล์โมเดิร์น และจุดเด่นสำคัญอีกอย่าง คือการมองเห็นวิวสวนลุมพินีเช่นเดียวกับอาคารสูงอื่น ๆ ในโครงการ
4. ศูนย์การค้า (เซ็นทรัล พาร์ค) ความสูง 7 ชั้น ที่ออกแบบให้เชื่อมต่อกับทุกอาคารในโครงการอีกด้วย เพื่อเพิ่มความสะดวกสบายแก่ผู้ใช้บริการได้อย่างเต็มที่
อีกหนึ่งจุดเด่นสำคัญ ดุสิต เซ็นทรัล พาร์ค คือ การออกแบบพื้นที่สีเขียวขนาดใหญ่ของโครงการ ดีไซน์ในส่วนนี้เรียกว่ารูฟพาร์ค (Roof Park) เป็นสวนสาธารณะลอยฟ้าที่ถูกโอบล้อมด้วยทั้ง 4 อาคาร โดยจะเป็นสวนธรรมชาติเนื้อที่รวม 7 ใร่ เริ่มตั้งแต่ระดับอาคารชั้น 4 ของอาคารศูนย์การค้า ไต่ระดับขึ้นไปสู่ชั้น 5 ชั้น 6 และชั้น 7 ให้มุมมองเหมือนเป็นเนินเขาใจกลางเมือง
โดยรูฟพาร์ค ถือเป็นพื้นที่สาธารณะที่ต้อนรับคนทุกเพศทุกวัยให้สามารถเข้ามาใช้ได้ ไม่ว่าจะเป็นการออกกำลังกาย วิ่ง ขี่จักรยาน หรือรวมกลุ่มทำกิจกรรมต่าง ๆ เช่น งานอดิเรก แสดงงานศิลปะ ดนตรี ฯลฯ
ทั้งนี้ เมื่อต้นปี 2563 โรงแรมดุสิตธานีเริ่มการรื้อถอนทั้งตัวอาคารและโครงสร้างเดิมแล้ว โดยคาดว่าทั้งหมดจะแล้วเสร็จและพร้อมเปิดให้บริการในปี 2567
อย่างไรก็ตาม การเกิดขึ้นของโครงการมิกซ์ยูสใหม่ ๆ ที่อยู่ระหว่างพัฒนาบนถนนสีลม และโครงการคอนโดมิเนียมระดับไฮเอนด์ที่จ่อคิวรอเปิดตัว จะเติมเต็มพื้นที่ให้ย่านสีลมเป็นมากกว่าย่านธุรกิจการค้าในรูปแบบเดิม
สามารถค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับดัชนีราคาที่อยู่อาศัยในกรุงเทพฯ ได้ที่ DDproperty Property Index
Get the Guru View
แผนพัฒนา 2 โครงการมิกซ์ยูสแห่งใหม่บนถนนสีลมของกลุ่มทุนยักษ์ใหญ่ นับเป็นการจุดพลุให้กับย่านสีลมอีกครั้ง หลังจากไม่เคยมีโครงการที่พัฒนาใหม่เลยในรอบหลายสิบปี แม้ว่าย่านสีลมจะเป็นศูนย์กลางธุรกิจและแหล่งช้อปปิ้งยอดนิยมเสมอมา แต่การเกิดโหนดใหม่ ๆ หลายแห่งในกรุงเทพฯ ช่วงหลายปีที่ผ่านมา ทำให้ภาพความเป็นศูนย์กลางธุรกิจของสีลมจางไปอย่างเลี่ยงไม่ได้
ดังนั้น การมีโครงการใหม่ ๆ เข้าสู่พื้นที่แห่งนี้ จะทำให้ย่านสีลมกลับมาดึงความสนใจของกลุ่มทุนชั้นนำอีกครั้ง และ 2 โครงการมิกซ์ยูสที่เปิดตัวไปแล้วอาจเป็นเพียงจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลง ฟันธงได้เลยว่า ในอนาคตอันใกล้นี้ จะมีโครงการใหม่ ๆ เกิดขึ้นบนถนนสายนี้อีกแน่นอน
เจาะลึกทุกทำเลในกรุงเทพฯ ที่น่าสนใจ และหากคุณกำลังค้นหาบ้าน-คอนโดฯ ที่ใช่ สามารถเลือกชมรีวิวโครงการใหม่ ก่อนตัดสินใจซื้อบ้าน คอนโดฯ ทาวน์เฮ้าส์ ที่ตรงกับความต้องการของคุณ