
ประวัติความเป็นมาของย่าน
หัวลำโพง เป็นหนึ่งในย่านที่มีเรื่องราวความเป็นมาที่ยาวนานแห่งหนึ่งของกรุงเทพฯ ซึ่งในอดีตพื้นที่ของย่านหัวลำโพง ไม่ได้เฉพาะเจาะจงเพียงพื้นที่ภายในสถานีรถไฟกรุงเทพฯ หรือสถานีรถไฟหัวลำโพงเท่านั้น แต่ย่านหัวลำโพงมีพื้นที่ที่ใหญ่มาก ถ้านับจากตัวสถานีรถไฟหัวลำโพงในปัจจุบัน ก็กินบริเวณรอบด้านไปอีกพอสมควร มีชุมชนดั้งเดิมอยู่อาศัย มีวัดหัวลำโพง ที่สันนิษฐานกันว่าสร้างตั้งแต่ช่วงรัตนโกสินทร์ตอนต้น
ตามหนังสือประวัติศาสตร์หลายฉบับ ระบุว่า ย่านหัวลำโพง เคยเป็นทุ่งเลี้ยงวัว และมีต้นไม้ชนิดหนึ่งคือ ต้นลำโพง ขึ้นจำนวนมาก จึงเรียกย่านนี้กันว่า ทุ่งวัวลำพอง เช่นเดียวกับชื่อวัดหัวลำโพง ที่เรียกกันว่า วัดวัวลำพอง แล้วก็เรียกกันผิดเพี้ยนจนมาเป็น “หัวลำโพง”
หลังจากที่เมืองเริ่มเจริญเติบโต รับอิทธิพลจากชนชาติตะวันตกเข้ามามากขึ้น ในปี พ.ศ. 2453 (สมัยรัชกาลที่ 5) เริ่มมีการก่อสร้างสถานีรถไฟกรุงเทพ หรือสถานีรถไฟหัวลำโพง ซึ่งเป็นสถานีรถไฟหลักของประเทศไทย และเป็นสถานีที่เก่าแก่ที่สุดขึ้น
ภาพหัวลำโพงในอดีต via: ทีมพีอาร์การรถไฟแห่งประเทศไทย
สถานีกรุงเทพ หรือที่เรียกกันว่าหัวลำโพง เป็นสถานีรถไฟที่อยู่คู่กับประเทศไทยมาถึง 105 ปี นับแต่มีการสร้างและเริ่มเปิดใช้งานตั้งแต่วันที่ 25 มิถุนายน 2459 โดยในช่วงแรกเริ่ม ไม่เพียงแต่ขนส่งมวลชนเท่านั้น แต่ยังเป็นศูนย์กลางของการส่งสินค้าที่สำคัญ มีสินค้าจากทุกภูมิภาคของประเทศไทยส่งมายังสถานีหัวลำโพง ก่อนจะกระจายไปขายยังพื้นที่ต่าง ๆ ในกรุงเทพฯ
จนในปี พ.ศ. 2503 ภาครัฐจึงตัดสินใจย้ายส่วนของการขนส่งสินค้าไปยังพื้นที่อื่น และปรับปรุงให้สถานีหัวลำโพงให้บริการเฉพาะขนส่งมวลชนเพียงอย่างเดียว
ภาพหัวลำโพงในอดีต via: ทีมพีอาร์การรถไฟแห่งประเทศไทย
ตลอดระยะเวลากว่า 50 ปีที่สถานีรถไฟหัวลำโพง ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางการขนส่งสินค้า นอกจากจะทำให้ชุมชนดั้งเดิมขยายตัวแล้ว ยังสร้างแหล่งการค้าขายแห่งใหม่ ๆ และทำให้เกิดชุมชนย่อยใกล้เคียงกับสถานีหัวลำโพงอีกจำนวนมากด้วย
โดยชุมชนใหม่ ๆ ที่อยู่บริเวณนี้ส่วนใหญ่เป็นคนไทยเชื้อสายจีนที่เติบโตจากการทำการค้าจากสินค้าที่ขนส่งมาทางสถานีหัวลำโพง และกลุ่มคนที่ขยายตัวมาจากทางฝั่งเยาวราช
แม้ว่าหลังจากปี พ.ศ. 2503 สถานีหัวลำโพงจะไม่ได้เป็นศูนย์กลางการขนส่งสินค้าแล้ว แต่ยังมีส่วนของการขนส่งมวลชนที่ถือว่าสำคัญไม่แพ้กัน รวมถึงชุมชนที่เข้ามาตั้งรกรากในพื้นที่ใกล้เคียง ต่างก็มีแนวทางในการทำการค้า สร้างจุดเด่นในพื้นที่ของตัวเอง
ภาพหัวลำโพงในอดีต via: ทีมพีอาร์การรถไฟแห่งประเทศไทย
โดยที่ดินรอบสถานีหัวลำโพงและพื้นที่ใกล้เคียงส่วนใหญ่เป็นที่ดินของหน่วยงานภาครัฐ เช่น การรถไฟแห่งประเทศไทย ที่ดินของสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ ที่ดินของสำนักงานจัดการทรัพย์สินจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ลักษณะการอยู่อาศัยจึงเป็นแบบสิทธิการเช่า
มีเพียงพื้นที่บางส่วนที่เป็นของประชาชนทั่วไปที่สามารถซื้อขายได้แบบมีกรรมสิทธิ์ได้ ที่อยู่อาศัยที่เป็นตึกแถวส่วนใหญ่จึงเป็นที่อยู่อาศัยในรูปแบบสิทธิการเช่า กลายเป็นเมืองที่เติบโตตามกาลเวลา พื้นที่ใกล้เคียงของย่านหัวลำโพงก็เติบโตไปมากเช่นกัน
ค้นหาประกาศขายคอนโดใกล้ MRT หัวลำโพง
ย่านหัวลำโพงในปัจจุบัน
ย่านหัวลำโพง เติบโตขึ้นอย่างมากจากเดิมที่เป็นศูนย์กลางการเดินทางโดยรถไฟ เนื่องจากปัจจุบันรถไฟฟ้า MRT สายสีน้ำเงิน เปิดให้บริการครบแล้ว เชื่อมต่อรถไฟฟ้าใต้ดิน MRT เดิมคือ บางซื่อ-หัวลำโพง เข้ากับส่วนต่อขยาย หัวลำโพง-หลักสอง และบางซื่อ-ท่าพระ เป็นวงแหวน
เชื่อมต่อระหว่างศูนย์กลางเมืองแห่งใหม่บริเวณสีลม สาทร สุขุมวิทกับสถานีรถไฟเก่าแก่แห่งนี้ และในยุคที่การท่องเที่ยวเติบโต โดยเฉพาะการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม เที่ยวเมืองเก่า กรุงเทพฯ เป็นปลายทางที่น่าสนใจของนักท่องเที่ยว
ย่านหัวลำโพงจึงเปรียบเสมือนประตูเมืองเก่าที่จะเข้าไปสู่พื้นที่วัฒนธรรมเก่าแก่ เช่น ย่านเยาวราช ย่านพระราชวัง ย่านเกาะรัตนโกสินทร์ เป็นจุดเชื่อมต่อจากรถไฟฟ้าใต้ดินไปยังพื้นที่เมืองเก่าเหล่านี้
นอกจากนี้ ในพื้นที่ใกล้เคียงยังมีวัดหัวลำโพง วัดเก่าแก่ที่นอกจากจะมีจำนวนคนไทยให้ความศรัทธาเพิ่มขึ้นแล้ว ยังมีชาวต่างชาติจำนวนมากให้ความศรัทธาวัดลำโพงด้วย โดยในแต่ละปีมีนักเดินทางจำนวนมหาศาลจากทั่วโลกมาทำบุญและบริจาคโรงศพให้กับผู้เสียชีวิตไร้ญาติ ซึ่งถือว่าเป็นส่วนหนึ่งที่ในการดึงคนเข้าสู่พื้นที่
การพัฒนาในย่านหัวลำโพง ที่ดินที่เปลี่ยนมือซื้อขายกรรมสิทธิ์ได้ เริ่มถูกเปลี่ยนแปลงรูปแบบจากอาคารพาณิชย์เก่าเป็นคอนโดมิเนียม ส่วนที่ดินของหน่วยงานภาครัฐ มีแนวโน้มว่าแต่ละหน่วยงานจะนำที่ดินบริเวณติดถนนพระราม 4 ที่ประชาชนหมดสัญญาเช่าแล้วมาปรับปรุงให้เป็นโครงการที่สอดคล้องกับยุคสมัย พร้อมกับจัดโซนให้กับร้านรวงเก่าแก่ชื่อดัง โยกย้ายไปค้าขายในบริเวณที่ถูกจัดไว้ให้ใหม่
อนาคตของย่านหัวลำโพง
หลังจากกระทรวงคมนาคมมีนโยบายให้สถานีกลางบางซื่อเป็นศูนย์กลางการเดินทางด้วยระบบรางของประเทศไทย ส่งผลให้สถานีกรุงเทพ (หัวลำโพง) ที่ปัจจุบันเป็นศูนย์กลางการเดินทางระบบรางของการรถไฟแห่งประเทศไทยต้องลดบทบาทลง
โดยในอนาคตจะนำพื้นที่บริเวณดังกล่าวมาพัฒนาให้เกิดประโยชน์มากที่สุด โดยมีแนวทางการพัฒนาพื้นที่ ดังนี้
1. สถานีกรุงเทพ (หัวลำโพง) การรถไฟแห่งประเทศไทย ดำเนินการศึกษาการพัฒนาพื้นที่ให้มีความสอดคล้องกับสภาพปัจจุบัน
โดยบริษัทลูกของการรถไฟแห่งประเทศไทย อย่างบริษัท เอสอาร์ที แอสเสท จำกัด ได้วางแนวทางการพัฒนาพื้นที่ให้เป็นศูนย์คมนาคมกลางเมือง รวมถึงจัดสรรพื้นที่บางส่วนสำหรับเชิงพาณิชย์ให้ทันสมัย พร้อมทั้งมีพื้นที่กิจกรรมสำหรับทุกเพศทุกวัย โดยยังคงความเป็นอัตลักษณ์เดิม สอดคล้องกับความสมัยใหม่ และรูปแบบการดำเนินชีวิต
2. พื้นที่ริมทางรถไฟ ช่วงสถานีกลางบางซื่อ-สถานีหัวลำโพง การรถไฟแห่งประเทศไทย เตรียมพัฒนาพื้นที่บริเวณดังกล่าว ให้มีความชัดเจนเมื่อได้มีการสำรวจรายละเอียดตรวจสอบพื้นที่ก่อสร้างที่เกี่ยวข้อง เช่น สายสีแดงส่วนต่อขยาย รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน และการเชื่อมต่อสถานีจิตรลดา เป็นต้น
ปัจจุบันอยู่ระหว่างการทบทวนแบบโครงการ Missing Link โดยเฉพาะบริเวณสถานีราชวิถี (อยู่บริเวณโรงพยาบาลรามาธิบดี) เพื่อให้เกิดความสะดวกในการเข้าถึงการบริการของโรงพยาบาล
ทั้งนี้ การกำหนดรูปแบบการพัฒนาสถานีหัวลำโพงจะเร่งรัดให้มีความชัดเจนโดยเร็ว ซึ่งรวมถึงแผนการพัฒนาสถานีหัวลำโพงที่เดิมกำหนดไว้ในช่วงปี 2568 ให้รวดเร็วยิ่งขึ้น
อย่างไรก็ตาม การรถไฟแห่งประเทศไทย เน้นย้ำว่า จะไม่มีการทำลายหรือรื้อทิ้งตามกระแสข่าวอย่างแน่นอน โดยในวันที่ 14 ธันวาคม 2564 จะมีการเปิดเวทีสาธารณะเพื่อรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับสถานีหัวลำโพง ทั้งเรื่องแผนการพัฒนาพื้นที่ รวมถึงการเดินรถไฟเข้าสถานีหัวลำโพง ตลอดจนการเปิดช่องทางรับฟังความเห็นจากส่วนอื่น ๆ เพื่อนำมาประกอบการพิจารณาอย่างรอบด้าน
Get the Guru View
จากพื้นที่เก่าแก่ที่เคยเป็นศูนย์กลางการขนส่งมวลชนไปยังทั่วประเทศไทยมากว่า 100 ปี จะเปลี่ยนหน้าที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์แห่งใหม่เพิ่มเติม เดินทางสะดวกสบายด้วยรถไฟฟ้า MRT สายสีน้ำเงินที่เปิดให้บริการเต็มรูปแบบแล้ว
ถือเป็นโอกาสที่จะดึงดูดการลงทุนใหม่ ๆ ได้ เช่น โรงแรม โฮสเทล ฯลฯ สร้างการค้ารูปแบบใหม่ นักท่องเที่ยวสามารถที่จะแวะสถานีหัวลำโพง เพื่อเรียนรู้เรื่องราวในอดีต ก่อนที่จะเข้าสู่เมืองเก่า ซึ่งสามารถปั้นให้เส้นทางนี้ตั้งแต่หัวลำโพง เยาวราช พระราชวัง เกาะรัตนโกสินทร์ เป็นเส้นทางท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ได้
ขณะที่หากมองภาพรวมของพระราม 4 ทั้งเส้นทางที่จะมีโครงการของภาคเอกชนใหม่ ๆ เกิดขึ้นจำนวนมาก ย่านหัวลำโพง จะเป็นจุดเริ่มต้นแรกของถนนสายนี้ และเป็นหนึ่งในบันทึกหน้าใหม่บนถนนพระราม 4
ส่วนโครงการที่อยู่อาศัย ปัจจุบันตลาดคอนโดย่านหัวลำโพงมีไม่มาก เพราะที่ดินซื้อขายได้หายากมาก ถ้าจะมีคอนโดมิเนียมในพื้นที่ใกล้เคียง จะเป็นคอนโดในสามย่าน สี่พระยา หรือบางพื้นที่ในเยาวราช แต่อนาคตอาจจะได้เห็นตลาดคอนโดในหัวลำโพงมากขึ้น แต่จะเป็นคอนโดในรูปแบบขายแบบสิทธิการเช่า
เจาะลึกทุกทำเลในกรุงเทพฯ ที่น่าสนใจ และหากคุณกำลังค้นหาบ้าน-คอนโดฯ ที่ใช่ สามารถเลือกชมรีวิวโครงการใหม่ ก่อนตัดสินใจซื้อบ้าน คอนโดฯ ทาวน์เฮ้าส์ ที่ตรงกับความต้องการของคุณ