
ประวัติความเป็นมาของย่าน
‘เจริญนคร’ เป็นถนนสายสำคัญสายหนึ่งทางฝั่งธนบุรี ที่เกิดขึ้นในราวปี พ.ศ. 2482–2483 มีจุดเริ่มต้นของถนนอยู่ที่ทางแยกคลองสาน เลียบแม่น้ำเจ้าพระยาไปทางทิศใต้ ข้ามสะพานเจริญนคร 1 (คลองสาน) ตัดกับถนนเจริญรัถและเข้าพื้นที่แขวงคลองต้นไทร ข้ามสะพานเจริญนคร 2 (คลองวัดทองเพลง) ตัดกับถนนกรุงธนบุรีที่ทางแยกกรุงธนบุรี (เหนือและใต้) เลียบแม่น้ำไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ ข้ามสะพานเจริญนคร 3 (คลองต้นไทร) และเข้าพื้นที่แขวงบางลำภูล่าง
ต่อจากนั้น ข้ามสะพานเจริญนคร 4 (คลองบางลำภูล่าง) ข้ามสะพานเจริญนคร 5 (คลองบางไส้ไก่) และเข้าพื้นที่แขวงสำเหร่ เขตธนบุรี ข้ามสะพานเจริญนคร 6 (คลองสำเหร่) และสะพานเจริญนคร 7 (คลองบางน้ำชน) ตัดกับถนนมไหสวรรย์ที่ทางแยกบุคคโลและเข้าพื้นที่แขวงดาวคะนอง เมื่อผ่านปากซอยเจริญนคร 72 จะโค้งไปทางทิศใต้ ไปสิ้นสุดที่สะพานเจริญนคร 8 (คลองดาวคะนอง) โดยมีแนวถนนที่ตรงต่อเนื่องไปคือถนนราษฎร์บูรณะในพื้นที่เขตราษฎร์บูรณะ
ถนนเจริญนคร เป็นถนนที่อยู่ในแนวขนานกับถนนเจริญกรุง ทางฝั่งพระนคร โดยย่านเจริญนคร เป็นพื้นที่การอยู่อาศัยเก่าแก่ มีชุมชนเก่าแก่กระจายตัวอยู่เต็มพื้นที่ ซึ่งในอดีตมีสถานีรถไฟคลองสาน เส้นทางเดินทางคลองสานไปยังมหาชัย และในอดีตมีท่าเรือคลองสานเป็นที่กระจายสินค้าไปยังฝั่งพระนครและธนบุรี อีกทั้ง บริเวณซอยเจริญนคร 7 มีชุมชนมัสยิดสุวรรณภูมิ เป็นชาวมุสลิมที่อพยพมาจากจังหวัดพระนครศรีอยุธยาและจังหวัดตราด
ย่านเจริญนคร จึงเป็นชุมชนอยู่อาศัยเก่าแก่ และมีความเงียบสงบมายาวนาน หากวิเคราะห์เจาะลึกถนนเจริญนคร สามารถแบ่งออกเป็น 3 ช่วง ได้แก่ ช่วงที่ 1 คือย่านคลองสาน บริเวณแยกคลองสาน ท่าเรือขนส่งสินค้า จุดเชื่อมต่อกับฝั่งพระนครด้วยท่าเรือข้ามฟากที่มีให้บริการมายาวนาน ระหว่างท่าเรือคลองสาน (เจริญนคร ซอย 1) กับท่าเรือสี่พระยา ช่วงที่ 2 คือย่านโรงแรมห้าดาวริมแม่น้ำ บริเวณเจริญนคร 5 จนถึง ท่าเรือเสริมสุข (ในอดีตรู้จักกันในชื่อท่าเรือเป็ปซี่) และช่วงที่ 3 จากสวนป่าเฉลิมพระเกียรติ จนถึงแยกบุคคโล
ในอดีตช่วงที่มีความเจริญเติบโตมากที่สุดคือ ช่วงที่ 2 ย่านโรงแรมห้าดาวริมแม่น้ำ บริเวณเจริญนคร 5 จนถึง ท่าเรือเสริมสุข (ในอดีตรู้จักกันในชื่อท่าเรือเป็ปซี่) เพราะเป็นพื้นที่ที่มีโรงแรมชั้นนำมาเปิดให้บริการ และอยู่ตรงข้ามกับโรงแรมริมแม่น้ำชื่อดังทางฝั่งถนนเจริญกรุงเทพฯ ด้วย ทำให้พื้นที่บริเวณนี้ทั้งฝั่งเจริญนครและฝั่งเจริญกรุง เปรียบเสมือนไข่แดงของพื้นที่ริมแม่น้ำ
ขณะที่ช่วงที่ 1 ย่านคลองสาน บริเวณแยกคลองสาน ท่าเรือขนส่งสินค้า จุดเชื่อมต่อกับฝั่งพระนครด้วยท่าเรือข้ามฟากที่มีให้บริการมายาวนาน ระหว่างท่าเรือคลองสาน (เจริญนคร ซอย 1) กับท่าเรือสี่พระยา ในอดีต ถือเป็นย่านค้าขายของรายย่อย ร้านรวงขนาดเล็กที่เรียงรายจากท่าเรือคลองสานยาวจนถึงปากซอยเจริญนคร 1 หรือที่เรียกกันว่าตลาดคลองสาน ซึ่งเป็นที่รู้จักของทั้งคนในพื้นที่และนอกพื้นที่ และเมื่อไม่มานานมานี้ ศูนย์การค้าไอคอนสยาม เปิดให้บริการบนพื้นที่ใกล้เคียงกับตลาดคลองสาน ยิ่งทำให้พื้นที่บริเวณนี้คึกคักมากขึ้น
ด้านช่วงที่ 3 จากสวนป่าเฉลิมพระเกียรติ จนถึงแยกบุคคโล เป็นย่านอยู่อาศัยทั้งบ้านเรือนเก่าแก่ และคอนโดมิเนียมริมแม่น้ำตั้งแต่ยุคดั้งเดิม โดยพื้นที่นี้มีหน่วยงานราชการ มีห้างร้านของกลุ่มธุรกิจขนาดกลางเปิดให้บริการอยู่ ลักษณะของพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นย่านอยู่อาศัยมากกว่าย่านการค้า ซึ่งแตกต่างจากพื้นที่ช่วง 1 และช่วงที่ 2 มาก
ค้นหาประกาศขายบ้านเดี่ยว ทาวน์เฮ้าส์ / ทาวน์โฮม คอนโดในเจริญนคร
ย่านเจริญนครในปัจจุบัน
ในปัจจุบัน เมืองที่เติบโตและขยายตัวอย่างมาก นอกจากย่านการค้าและย่านโรงแรมริมแม่น้ำระดับห้าดาวแล้ว ย่านเจริญนคร เริ่มมีร้านอาหารสมัยใหม่เข้ามาเปิด ทำให้ย่านเจริญนครถูกกล่าวถึงในแง่ย่านของกินมากขึ้น เช่น ชิบูย่าชาบู เจริญนคร, ตี๋อ้วนเกี๊ยวซ่า เจริญนคร และร้านอาหารอีกจำนวนมากบนย่านเจริญนคร
สำหรับตลาดคอนโดมิเนียมย่านเจริญนคร ด้วยเพราะย่านนี้มีพื้นที่ส่วนหนึ่งติดริมแม่น้ำเจ้าพระยา ทำให้ตลาดคอนโดมิเนียมริมแม่น้ำฝั่งเจริญนครเกิดขึ้นมายาวนาน โดยเฉพาะพิกัดที่ใกล้กับโรงแรมห้าดาว ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคอนโดมิเนียมระดับไฮเอนด์ และพื้นที่นี้จัดได้ว่าเป็นพื้นที่ที่ไพร์มที่สุดของตลาดคอนโดมิเนียมริมแม่น้ำ รองลงมาก็ริมแม่น้ำ โซนพระราม 3
ที่ผ่านมาย่านเจริญนครไม่ได้มีรถไฟฟ้าผ่าน ในยุคที่รถไฟฟ้าส่วนต่อขยายยังไม่ข้ามมายังฝั่งธนบุรี คนฝั่งธนบุรีจะนิยมนั่งรถไปลงท่าเรือเสริมสุข เพื่อนั่งเรือข้ามฟากไปท่าเรือสาทร แล้วต่อรถไฟฟ้า BTS สะพานตากสิน
ในอดีต BTS สะพานตากสิน จึงเป็นสถานีที่คนฝั่งธนบุรีและคนที่นั่งเรือด่วนมาจาก จ.นนทบุรี มาใช้บริการมากที่สุด จนเมื่อรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายข้ามไปยังฝั่งธนบุรี ผู้ใช้บริการ BTS สะพานตากสินส่วนใหญ่จึงเป็นนักท่องเที่ยว เพราะสถานีนี้เป็นสถานีที่เชื่อมต่อกับท่าเรือ ที่มีเรือของโรงแรมชั้นนำ และห้างริมแม่น้ำผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนรับผู้โดยสารต่อเนื่อง
การเกิดขึ้นของไอคอนสยามและรถไฟฟ้าสายสีทอง บริเวณแยกสมเด็จเจ้าพระยา-ประชาธิปก ระยะทางรวม 5.7 กิโลเมตร ปัจจุบันการก่อสร้างเส้นทางระยะที่ 1 คือ กรุงธนบุรี-เจริญนคร คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2563 ส่วนระยะที่ 2 จากเจริญนครต่อไปยังประชาธิปก (ยังไม่มีกำหนดการที่แน่นอน) จะทำให้ย่านเจริญนครตลอดแนวรถไฟฟ้าสายสีทองแห่งนี้มีความเปลี่ยนแปลงไปอย่างแน่นอน
อนาคตของย่านเจริญนคร
ที่ผ่านมาตลาดคอนโดมิเนียมย่านเจริญนคร เป็นตลาดคอนโดมิเนียมริมแม่น้ำระดับไฮเอนด์ แต่โครงการรถไฟฟ้าสายสีทอง มีโอกาสทำให้ย่านเจริญนครเกิดตลาดซิตี้คอนโด หรือตลาดคอนโดเกาะแนวรถไฟฟ้ามากขึ้น
ล่าสุด กระทรวงมหาดไทย เตรียมก่อสร้างกระทรวงมหาดไทยใหม่ริมถนนเจริญนคร รองรับการย้ายส่วนราชการออกจากพื้นที่เดิมบริเวณริมคลองหลอด ติดวัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร ได้แก่ สำนักงานปลัดกระทรวง กรมการปกครอง กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กรมการพัฒนาชุมชน และกรมที่ดิน ส่วนบริเวณกระทรวงเดิมริมคลองหลอดจะปรับปรุงพัฒนาเพื่อการท่องเที่ยว
อาคารที่ทำการกระทรวงมหาดไทยแห่งใหม่จะสร้างบนที่ราชพัสดุของกรมธนารักษ์ แปลงหมายเลขทะเบียน กท.1989 แบ่งเป็นพื้นที่แปลงใหญ่ติดริมแม่น้ำเจ้าพระยา ขนาดเนื้อที่ 18 ไร่เศษ และแปลงเล็กฝั่งตรงข้าม ขนาดเนื้อที่ 3 งาน ที่ตั้งที่ดินอยู่ริมถนนเจริญนคร แขวงบางลำพูล่าง เขตคลองสาน เป็นที่ราชพัสดุแปลงสุดท้ายในย่านนี้
ด้านทิศเหนือจดที่ดินเอกชน ทิศใต้จดที่ดินธรณีสงฆ์วัดเศวตฉัตร ทิศตะวันออกจดแม่น้ำเจ้าพระยา และทิศตะวันตกจดที่ดินเอกชน สภาพพื้นที่เป็นที่ลุ่มมีถนนเข้า-ออก โดยถนนเจริญนครที่ตัดผ่านที่ดินที่ราชพัสดุแปลงนี้ ขนาดความกว้างถนน 30 เมตร
การออกแบบเบื้องต้นเป็นอาคารขนาดใหญ่พิเศษ มีชั้นใต้ดิน 3 ชั้น อาคารสำนักงานของกรมต่าง ๆ เป็นอาคารสูง จำนวน 6 อาคาร มีทางเชื่อมต่อกันบริเวณชั้น 1-5 ต่อเนื่องไปถึงพื้นที่เปิดโล่งริมน้ำ
ด้านทิศเหนือเป็นห้องอาหารและห้องประชุมอเนกประสงค์ ด้านทิศใต้เป็นลานอเนกประสงค์ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ชั้นที่ 1 มีลักษณะเป็นโถงขนาดใหญ่ ชั้น 2-4 เป็นพื้นที่สำนักงาน และห้องประชุม ชั้น 5 เป็นพื้นที่นันทนาการ และพื้นที่สีเขียว ตั้งแต่ชั้น 6 ขึ้นไปเป็นพื้นที่สำนักงาน
ส่วนที่ดินแปลงเล็กอยู่ฝั่งตรงข้ามจะพัฒนาเป็นอาคารที่พักอาศัยสำหรับข้าราชการส่วนภูมิภาค ที่เดินทางมาราชการที่กระทรวง
รายละเอียดของโครงการมีพื้นที่ก่อสร้างโดยรวมประมาณ 226,000 ตารางเมตร ประกอบด้วย
- พื้นที่จอดรถเป็นชั้นใต้ดิน ลึก 3 ชั้น พื้นที่รวม 54,000 ตารางเมตร จอดรถได้ 1,400 คัน
- อาคารสำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย และสำนักงานรัฐมนตรี เป็นอาคารสูงประมาณ 15 ชั้น พื้นที่ 23,000 ตารางเมตร
- กรมการปกครอง เป็นอาคารสูง 21 ชั้น พื้นที่ 29,000 ตารางเมตร
- กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เป็นอาคารสูง 17 ชั้น พื้นที่ 22,000 ตารางเมตร
- กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น เป็นอาคารสูง 17 ชั้น พื้นที่ 22,500 ตารางเมตร
- กรมการพัฒนาชุมชน เป็นอาคารสูง 15 ชั้น พื้นที่ 19,700 ตารางเมตร
- กรมที่ดิน เป็นอาคารสูง 21 ชั้น พื้นที่ 32,700 ตารางเมตร
- พื้นที่ส่วนกลางภายในอาคาร เช่น ห้องประชุม และโรงอาหาร พื้นที่ 6,800 ตารางเมตร 9.พื้นที่ส่วนกลางภายนอกอาคาร เช่น ลานริมน้ำ พื้นที่ 11,200 ตารางเมตร
- งานผังบริเวณ เช่น ถนน ทางเท้า ภูมิทัศน์ทางเข้าโครงการ บริเวณโดยรอบโครงการและบริเวณริมแม่น้ำเจ้าพระยา
- อาคารที่พักสำหรับข้าราชการ จะเป็นอาคารสูง 7 ชั้น พื้นที่ 3,150 ตารางเมตร จำนวน 57 หน่วย โดยจะมีสร้างท่าเรือเพื่อรองรับการเดินทาง และมีสวนชั้นหลังคาด้วย
ปัจจุบันที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบการก่อสร้างศูนย์ราชการกระทรวงมหาดไทยแล้ว โดยใช้งบประมาณกว่า 5.5 พันล้านบาท คาดว่าจะใช้เวลาก่อสร้าง 3 ปี
สามารถค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับดัชนีราคาที่อยู่อาศัยในกรุงเทพฯ ได้ที่ DDproperty Property Index
Get the Guru View
ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากความเจริญอันถาโถมเข้าสู่พื้นที่นี้ ทั้งโครงการไอคอนสยามที่ดึงคนนอกพื้นที่ นักท่องเที่ยวจำนวนมหาศาลเข้าสู่พื้นที่ เป็นสิ่งที่คนในพื้นที่ต้องปรับตัว เพราะนับจากนี้ย่านเจริญนครที่เคยเป็นชุมชนเงียบสงบ จะพลิกโฉมไปอย่างสิ้นเชิง
นอกจากนี้ยังต้องมารอดูว่า รถไฟฟ้าสายสีทอง เมื่อเปิดให้บริการแล้ว การเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้า BTS กรุงธนบุรีจะคล่องตัวหรือไม่ หากคล่องตัว มีโอกาสที่ตลาดคอนโดแนวรถไฟฟ้าสายสีทองจะขยายตัวเร็วขึ้น แต่หากการเชื่อมต่อไม่ได้คล่องตัวมากนัก ทั้งผู้พัฒนาโครงการและผู้บริโภคอาจจะต้องตัดสินใจเยอะขึ้น
อีกหนึ่งปัจจัยที่จะช่วยทำให้ทำเลเติบโตมากขึ้น คือ กระทรวงมหาดไทยใหม่ที่แม้จะต้องรอกันนานอีกนิดแต่ก็เชื่อว่าจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยผลักดันให้ทำเลนี้กลายเป็นแหล่งงานขนาดใหญ่ หนุนอสังหาริมทรัพย์ในทำเลนี้ให้เติบโตยิ่งขึ้นในอนาคต
เจาะลึกทุกทำเลในกรุงเทพฯ ที่น่าสนใจ และหากคุณกำลังค้นหาบ้าน-คอนโดฯ ที่ใช่ สามารถเลือกชมรีวิวโครงการใหม่ ก่อนตัดสินใจซื้อบ้าน คอนโดฯ ทาวน์เฮ้าส์ ที่ตรงกับความต้องการของคุณ