
ประวัติความเป็นมาของย่าน
ย่าน ‘เสรีไทย’ ถือเป็นย่านชุมชนเกิดใหม่ ที่ต่อเนื่องมาจากย่านบางกะปิ และเติบโตตามการเกิดขึ้นของถนนเสรีไทย ที่เริ่มตั้งแต่เขตบางกะปิ ผ่านเขตบึงกุ่ม เขตคันนายาว ไปสิ้นสุดที่เขตมีนบุรี โดยถนนสายนี้มีความยาวประมาณ 9 กิโลเมตร มีจุดเริ่มต้น ที่แยกบางกะปิ ปลายถนนลาดพร้าว ในเขตบางกะปิ ซึ่งเป็นจุดตัดกับถนนนวมินทร์ และถนนพ่วงศิริ
โดยมีทิศทางมุ่งไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ตัดกับถนนศรีบูรพาที่แยกนิด้า ผ่านเขตบึงกุ่ม ตัดกับถนนกาญจนาภิเษก (ด้านตะวันออก) ถนนสวนสยาม และตัดกับถนนมีนพัฒนาที่แยกบางชัน ไปสิ้นสุดที่แยกเมืองมีน ซึ่งเป็นจุดตัดกับถนนรามอินทรา ถนนสุวินทวงศ์ และถนนสีหบุรานุกิจในเขตมีนบุรี
จะเห็นว่า ถนนเสรีไทย เป็นถนนที่เชื่อมต่อกับถนนสายสำคัญหลายสาย และเชื่อมต่อกับชุมชนดั้งเดิมหลายชุมชน ทั้งย่านลาดพร้าว บางกะปิ และยังใกล้กับชุมชนเกิดใหม่อีกหลายแห่ง เช่น ย่านรามอินทรา เกษตร-นวมินทร์
โดยสถานที่สำคัญบนถนนเสรีไทยแห่งนี้ ได้แก่ การเคหะแห่งชาติ เคหะชุมชนคลองจั่น โรงเรียนบางกะปิ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) สวนเสรีไทย (สวนน้ำบึงกุ่มเดิม) ซึ่งภายในมีพิพิธภัณฑ์เสรีไทย ณ อาคารเสรีไทยอนุสรณ์ สวนสยาม ตลาดน้ำขวัญเรียม วัดบำเพ็ญเหนือ นิคมอุตสาหกรรมบางชัน เคหะชุมชนบางชัน และโรงพยาบาลเสรีรักษ์
หากวิเคราะห์ จากสถานที่สำคัญจะยิ่งชัดเจนเลยว่า ย่านนี้เกิดจากชุมชนขยายตัว และชุมชนใกล้แหล่งงาน นิคมอุตสาหกรรมต่าง ๆ ซึ่งแม้ว่าจะไม่ได้เป็นย่านประวัติศาสตร์ แต่ก็เป็นย่านอยู่อาศัยขนาดใหญ่ และการเกิดขึ้นของ ศูนย์การค้าเดอะมอลล์ บางกะปิ บริเวณก่อนแยกบางกะปิ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2537 ซึ่งมีผลให้พื้นที่โดยรอบ ต่อเนื่องมายังฝั่งเสรีไทย เติบโตตามไปด้วย แต่ย่านเสรีไทย จะเป็นย่านที่อยู่อาศัยที่เงียบสงบมากกว่าเมื่อเทียบกับฝั่งลาดพร้าว แต่ก็ยังเดินทางเข้าเมือง หรือ สถานที่สำคัญของกรุงเทพฯ ได้สะดวก
เสรีไทยในปัจจุบัน
ปัจจุบันย่านเสรีไทย นับเป็นย่านอยู่อาศัยหนาแน่นปานกลาง เป็นโซนที่อยู่อาศัยที่เงียบสงบ โดยการที่ย่านนี้ เชื่อมต่อกับถนนหลายสำคัญหลายสาย และชุมชนดั้งเดิมหลายแห่ง ทำให้ย่านเสรีไทยเกิดหมู่บ้านจัดสรร ที่รองรับครอบครัวขยายตัวมาจากชุมชนดั้งเดิม จากทั้งลาดพร้าว รามคำแหง หลายโครงการหมู่บ้านจัดสรรเกิดใหม่ จึงเป็นบ้านระดับกลางบน ทาวน์โฮมมีระดับราคาเริ่มต้น 3 – 4 ล้านบาท ส่วนบ้านเดี่ยวระดับราคาเริ่มต้น 5 – 8 ล้านบาท
ขณะที่ตลาดคอนโดมิเนียม ระดับราคาล้านต้น ๆ ที่เกิดขึ้นในย่านเสรีไทยตอนต้น ใกล้กับฝั่งแยกบางกะปิ เน้นรองรับกลุ่มคนรุ่นใหม่ คนเพิ่งเริ่มต้นทำงานที่ต้องการแยกครอบครัว หรือ กลุ่มคนต่างจังหวัดที่เข้ามาทำงานในกรุงเทพฯ และคุ้นเคยย่านเสรีไทย ลาดพร้าว รามคำแหง หรือเน้นจับกลุ่มคนที่ต้องการหาที่ทำงานใกล้แหล่งงาน
หากมองย่านเสรีไทย ในปัจจุบันจนถึงอนาคต ถนนสายนี้ไม่ได้มีรถไฟฟ้าสายใด ผ่านโดยตรง แต่รถไฟฟ้า จะผ่านถนนคู่ขนานอย่างถนนรามคำแหง หรือผ่านพื้นที่ใกล้เคียงฝั่งมีนบุรี ฝั่งเกษตร-นวมินทร์ ซึ่งก็อาจมีผลบวกกับการอยู่อาศัยในย่านนี้
อนาคตของเสรีไทย
โครงการรถไฟฟ้าสายต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ไม่ว่าจะเป็น รถไฟฟ้าสายสีส้ม (ศูนย์วัฒนธรรมฯ – มีนบุรี) รถไฟฟ้าสายสีชมพู (แคราย – มีนบุรี) รถไฟฟ้าสายสีเหลือง (ลาดพร้าว – สำโรง) แม้จะไม่ได้ผ่านย่านเสรีไทยโดยตรง แต่การที่ถนนเสรีไทย เชื่อมต่อกับถนนสายสำคัญหลายสาย ทำให้การเชื่อมต่อไปยังรถไฟฟ้าสายต่าง ๆ ไม่ยากนัก
ในอนาคตปลายทาง สถานีรถไฟฟ้าต่าง ๆ จะเป็น Node ในการเชื่อมต่อสำคัญ ซึ่งคนที่อาศัยอยู่ใน ย่านเสรีไทย สามารถเชื่อมต่อ Node เหล่านี้ได้สะดวก ย่านเสรีไทย จึงมีแนวโน้มจะเป็นย่านที่อยู่อาศัยทางเลือกของคนที่ต้องการที่อยู่อาศัยแนวราบที่เชื่อมต่อรถไฟฟ้าได้สะดวก แต่อาจมีผลให้ราคาที่อยู่อาศัยย่านนี้ขยับสูงขึ้น แต่ยังไม่สูงเท่าเมื่อเทียบกับเส้นที่มีรถไฟฟ้าผ่าน
Get the Guru View
ย่านเสรีไทยจะเป็นย่านอยู่อาศัยชั้นดี รองรับกลุ่มครอบครัวที่เน้นการอยู่อาศัยแบบเงียบสงบ อาจจะไม่ได้ต้องการใกล้กับรถไฟฟ้ามาก แต่ยังเดินทางสะดวก และไปเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าได้ โดยหากรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ลาดพร้าว-สำโรง และสายสีชมพู แคราย-มีนบุรี ก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2564 และรถไฟฟ้าสายสีส้ม ศูนย์วัฒนธรรมฯ-มีนบุรี ก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2566 จะส่งผลบวกต่อย่านเสรีไทยแน่นอน
โดยเฉพาะในส่วนของตลาดคอนโดมิเนียมในย่านเสรีไทย ที่ส่วนใหญ่จะอยู่บริเวณที่เป็นรอยต่อถนนสายหลักที่มีรถไฟฟ้าผ่าน ส่วนโครงการเชิงพาณิชย์ใหม่ ๆ หากจะเกิดขึ้น จะเกิดในโซนอื่นที่ใกล้เคียงกับย่านนี้ เช่น ย่านลำสาลี บางกะปิ เกษตรนวมินทร์ รามอินทรา มีนบุรี
เจาะลึกทุกทำเลในกรุงเทพฯ ที่น่าสนใจ และหากคุณกำลังค้นหาบ้าน-คอนโดฯ ที่ใช่ สามารถเลือกชมรีวิวโครงการใหม่ และคำนวณสินเชื่อด้วยตนเองก่อนตัดสินใจซื้อบ้าน คอนโดฯ ทาวน์เฮ้าส์ ที่ตรงกับความต้องการของคุณ