หนังสือสัญญาเช่าที่ดิน หรือ Land Lease Agreement สามารถแบ่งได้ 2 แบบ คือ สัญญาเช่าที่ดินระยะยาวและสัญญาเช่าที่ดินระยะสั้น ซึ่งมีเงื่อนไขแตกต่างกันไปตามวัตถุประสงค์ในการเช่า สัญญาเช่าแต่ละประเภทเป็นอย่างไร จะต้องทำสัญญาเช่าประเภทไหน เราจะมาไขคำตอบกัน
อ่านหัวข้อที่คุณสนใจ
- หนังสือสัญญาเช่าที่ดินระยะยาว
- หนังสือสัญญาเช่าที่ดินระยะสั้น
- ข้อควรรู้เกี่ยวกับการเช่าช่วง
- ตัวอย่างการร่างหนังสือสัญญาเช่าที่ดิน
หนังสือสัญญาเช่าที่ดินระยะยาว
หนังสือสัญญาเช่าที่ดินระยะยาวเป็นสัญญาสำหรับการเช่าเกินกว่า 3 ปี ซึ่งผู้ให้เช่าและผู้เช่าจะต้องจดทะเบียนสัญญาเช่า ณ สำนักงานที่ดินในเขตที่ที่ดินนั้น ๆ ตั้งอยู่ โดยมีประเภทของสัญญาที่แยกย่อยลงไปอีก ได้แก่
1. สัญญาเช่าธรรมดา
– สัญญาที่มีลักษณะเหมือนสัญญาเช่าอสังหาริมทรัพย์ทั่วไปที่ผู้เช่าเสียแค่ค่าเช่า (ค่าตอบแทน) ต่อผู้ให้เช่า
– ผู้เช่าไม่สามารถถ่ายโอนสิทธิในการเช่าได้ เช่น หากผู้เช่าเสียชีวิตในช่วงเวลาที่ยังอยู่ในสัญญา สัญญานั้นก็ถือเป็นที่สิ้นสุด ไม่สามารถส่งภาระต่อถึงทายาทได้
– ในกรณีที่ต้องฟ้องร้องกัน ผู้ที่ประสงค์จะฟ้องร้องต้องมีเอกสารสัญญาเช่าที่ชัดเจนถึงจะดำเนินการได้ เช่น เจ้าของตึกจะฟ้องร้องเอาความผิดหรือค่าเสียหายจากผู้เช่าได้ก็ต่อเมื่อมีหนังสือสัญญาเช่าที่ทำ ณ สำนักงานที่ดินเท่านั้น
– ในกรณีที่ฟ้องร้องกัน หากทำสัญญาเช่าที่ดิน 3 ปี ก็จะต้องฟ้องร้องภายใน 3 ปี
2. สัญญาเช่าต่างตอบแทน
– สัญญาที่ผู้เช่าจะต้องเสียค่าตอบแทนอย่างอื่นตามที่ตกลงกับผู้ให้เช่า นอกเหนือจากค่าเช่า
– ผู้เช่าสามารถถ่ายโอนสัญญาเช่าไปยังทายาทได้ ในกรณีที่ผู้เช่าเสียชีวิตในช่วงที่ยังอยู่ในสัญญา ทายาทจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบต่อการเช่าในเวลาที่เหลือ
– ในกรณีที่มีการปลูกสร้างอาคารบนพื้นที่เช่า ผู้เช่าจะต้องเสียค่าก่อสร้าง และอาคารที่สร้างเสร็จแล้วก็จะตกเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ให้เช่า
– ในกรณีที่อาคารเช่ามีสภาพชำรุด ผู้เช่าจะต้องปรับปรุงต่อเติมเอง โดยที่กรรมสิทธิ์ของการปรับปรุงหรือต่อเติมนั้นจะตกเป็นของผู้ให้เช่า
สัญญาเช่าธรรมดา | สัญญาเช่าต่างตอบแทน |
จ่ายค่าเช่าต่อผู้เช่า | จ่ายค่าตอบแทน นอกเหนือจากค่าเช่า |
โอนสิทธิ์การเช่าไม่ได้ | โอนสิทธิ์การเช่าไปยังทายาทได้ |
ฟ้องร้องได้ หากมีการทำหนังสือสัญญาเช่าชัดเจน | สิ่งปลูกสร้างบนที่ดินเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ให้เช่า |
ระยะเวลาฟ้องร้องภายใน 3 ปี | การปรับปรุงต่อเติมเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ให้เช่า |
วิธีจัดการเมื่อผู้เช่าไม่จ่ายค่าเช่า
วิธีจัดการเมื่อผู้เช่าไม่จ่ายค่าเช่า ผู้ให้เช่าสามารถดำเนินการอะไรได้บ้าง ดูได้ที่นี่
หนังสือสัญญาเช่าที่ดินระยะสั้น
สัญญาเช่าที่ดินระยะสั้นเป็นสัญญาสำหรับการเช่าที่ดินไม่เกิน 3 ปี ซึ่งไม่จำเป็นต้องไปทำสัญญาที่สำนักงานที่ดินและมีลักษณะสำคัญดังนี้
1. ผู้ให้เช่าและผู้เช่าสามารถทำสัญญาเช่าที่ดินระหว่างกันเองได้
2. ระบุรายละเอียดของ “ผู้เช่า” และ “ผู้ให้เช่า” ให้ชัดเจน
3. ระบุค่าตอบแทน หรือ “ค่าเช่า” ให้ชัดเจน
4. ระบุช่วงเวลาการเช่าให้ชัดเจน ตั้งแต่วันเริ่มต้นจนถึงวันสิ้นสุด
5. ระบุเงื่อนไขต่าง ๆ ที่ตกลงกันไว้
6. ลงลายมือชื่อของทั้งสองฝ่ายให้เรียบร้อย
รายละเอียดสัญญาเช่าทรัพย์ที่คุณควรรู้
สัญญาเช่าทรัพย์ รายละเอียดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 537 มีอะไรบ้าง ดูได้ที่นี่

ข้อควรรู้เกี่ยวกับการเช่าช่วง
การเช่าช่วงคืออะไร การเช่าช่วงเป็นการที่ผู้เช่านำอสังหาริมทรัพย์ที่ตนเองเช่าอยู่นั้นไปให้ผู้อื่น (บุคคลที่ 3) เช่าต่ออีกทอดหนึ่ง โดยต้องจัดทำสัญญาตกลงกันระหว่างผู้เช่า (ที่นำเอาอสังหาริมทรัพย์นั้น ๆ มาปล่อยเช่าต่อ) และบุคคลที่สาม
DDproperty Tip
ไม่ว่าจะปล่อยเช่าที่ดินระยะสั้นและระยะยาว ผู้ให้เช่าควรตกลงกับผู้เช่าให้เรียบร้อยก่อนว่าจะอนุญาตให้เช่าช่วงได้หรือไม่ และควรระบุไว้เป็นลายลักษณ์อักษรในหนังสือสัญญาเช่าที่ดินด้วย เพื่อป้องกันการเช่าช่วงโดยมิชอบ
ตัวอย่างการร่างหนังสือสัญญาเช่าที่ดิน
ต้องจัดทำหนังสือสัญญาเช่าที่ดินขึ้นมาสองฉบับสำหรับผู้เช่าและผู้ให้เช่า โดยทั้งสองฉบับนั้นจะต้องมีเนื้อหาเหมือนกันทั้งหมด และควรจะมีข้อมูลพื้นฐานเหล่านี้ระบุในหนังสือสัญญาเช่าที่ดินด้วย
1. วันที่ทำสัญญา
2. สถานที่ทำสัญญา
3. ข้อมูลชื่อและที่อยู่ของผู้เช่า
4. ข้อมูลชื่อและที่อยู่ของผู้ให้เช่า
5. ข้อตกลงการเช่า
– ข้อมูลของอสังหาริมทรัพย์ที่ให้เช่า ได้แก่ ที่อยู่ จำนวนพื้นที่ เลขที่โฉนด วัตถุประสงค์ในการเช่า และกิจกรรมที่จะกระทำในสถานที่เช่า
– ระยะเวลาที่ตกลงเช่า
– เงินมัดจำล่วงหน้า พร้อมระบุจำนวน วิธีชำระเงิน และกำหนดการชำระเงิน
– อัตราค่าเช่าและการชำระค่าเช่า ได้แก่ ผ่านทางธนาคาร การวางเช็ค หรือเงินสด
– ผู้เช่าตกลงจะจ่ายค่าภาษีที่ดินให้แก่ผู้เช่า
– ผู้เช่าตกลงว่าจะไม่ใช้ที่ดินทำการอื่นนอกเหนือจากที่ระบุในหนังสือสัญญาเช่าที่ดิน เว้นแต่จะได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากผู้ให้เช่า
– ผู้เช่าตกลงว่าจะไม่เช่าช่วงที่ดินที่เช่า เว้นแต่จะได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากผู้ให้เช่า
– ผู้เช่าตกลงจะอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ให้เช่าหรือตัวแทนผู้ให้เช่าเมื่อมาตรวจที่ดินตามระยะเวลาที่กำหนด
– หากผู้ให้เช่าขายที่ดินก่อนที่สัญญาเช่าจะสิ้นสุด ผู้ให้เช่าจะต้องแจ้งต่อผู้เช่าล่วงหน้าตามระยะเวลาที่กำหนด
– หากผู้เช่าไม่ปฏิบัติตามสัญญาข้อใดข้อหนึ่ง ผู้ให้เช่ามีสิทธิ์บอกกล่าวให้ผู้เช่าปฏิบัติตาม หรือบอกเลิกสัญญาและเรียกร้องค่าเสียหายตามสมควรได้
– หากผู้เช่ามีเหตุต้องออกจากที่ดินให้เช่าไม่ว่าจะด้วยเหตุใดก็ตาม ผู้เช่าไม่สามารถเรียกค่าเสียหายหรือค่ารื้อถอนสิ่งก่อสร้างจากผู้ให้เช่าได้
– ในวันที่ทำสัญญาเช่าที่ดิน ผู้เช่าได้ตรวจตราที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง (ถ้ามี) แล้วว่ามีสภาพสมบูรณ์ต่อการเช่า และได้รับการส่งมอบที่ดินให้แก่ผู้เช่าอย่างเรียบร้อย
6. ลงลายมือชื่อของผู้เช่าและผู้ให้เช่า
สัญญาเช่าที่ดิน
ตัวอย่างหนังสือสัญญาเช่าที่ดิน

การทำสัญญาเช่าที่ดินนั้นจะต้องอาศัยความละเอียดรอบคอบ เพราะหากมีปัญหาหรือข้อขัดแย้งใดเกิดขึ้น หนังสือสัญญาที่ทำขึ้นมานี้จะเป็นเอกสารสำคัญในการยืนยันในชั้นศาล ฉะนั้นไม่ว่าจะเรื่องเล็กหรือใหญ่ก็ตาม คุณต้องระบุข้อตกลงทั้งหมดในสัญญาเช่าที่ดินให้ชัดเจนและรัดกุมเพื่อให้ทั้งสองฝ่ายเข้าใจตรงกันและทราบอย่างชัดเจนว่าจะต้องปฏิบัติอย่างไร
ความชัดเจนนี้เองจะเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยให้การเช่าเป็นไปอย่างราบรื่นมากขึ้น และเมื่อเข้าใจและเตรียมสัญญาเช่าพร้อมแล้ว ก็ลุยลงประกาศเช่าที่ดินกันเลย
สนใจรับบทความดีดี อัปเดต ข่าวอสังหาริมทรัพย์ และ อ่านคู่มือซื้อขาย พร้อม รีวิวโครงการคอนโดฯ ใหม่ บ้านใหม่ หลากหลายทำเลและราคา รวมถึง ทำความรู้จักกับทำเลฮอตทั่วกรุง เพื่อเพิ่มความมั่นใจในการซื้อ-ขาย-เช่า
ข้อจำกัดความรับผิดชอบ: ข้อมูลนี้จัดทำขึ้นเพื่อเป็นข้อมูลทั่วไปเท่านั้น DDproperty by PropertyGuru ซึ่งอยู่ภายใต้การดูแลของบริษัท ออลพร็อพเพอร์ตี้ มีเดีย จำกัด ไม่สามารถรับรองหรือรับประกันเกี่ยวกับข้อมูล รวมทั้งไม่สามารถรับรองหรือรับประกันใด ๆ เกี่ยวกับความเหมาะสม สำหรับวัตถุประสงค์เฉพาะใด ๆ ของข้อมูล ตามขอบเขตสูงสุดที่กฎหมายอนุญาต แม้ว่าเราได้พยายามอย่างเต็มที่ เพื่อให้แน่ใจว่าข้อมูลที่ให้ไว้ในบทความนี้ถูกต้อง เชื่อถือได้ และครบถ้วน ณ เวลาที่เขียน แต่ข้อมูลที่ให้ไว้ในบทความนี้ไม่ควรนำไปใช้ในการตัดสินใจทางการเงิน, การลงทุนอสังหาริมทรัพย์ หรือทางกฎหมายทันที ผู้อ่านไม่ควรใช้ข้อมูลในบทความ แทนคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญที่ผ่านการฝึกอบรมซึ่งสามารถพิจารณาข้อเท็จจริงและสถานการณ์ส่วนตัวของคุณได้ ทั้งนี้ เราไม่สามารถรับผิดชอบใด ๆ หากคุณเลือกที่จะนำข้อมูลไปใช้เพื่อประกอบการตัดสินใจ