HIGHLIGHTS
-
การกู้ซื้อที่ดินสร้างบ้านทำได้ แต่จะมีความยุ่งยากมากกว่ากู้ซื้อบ้านปกติ
-
การพิจารณาวงเงินกู้จะเข้มงวดขึ้น และอัตราดอกเบี้ยของธนาคารก็จะสูงขึ้นด้วย
หลายคนฝันอยากมีบ้าน และอีกหลายคนที่ฝันอยากมีบ้านเดี่ยวเป็นส่วนตัวโดยไม่ต้องการอยู่ในหมู่บ้านจัดสรร แต่ติดที่ว่าไม่มีที่ดินเป็นกรรมสิทธิ์ของตนเองที่เหมาะสมพอจะนำมาปลูกสร้างบ้าน เกิดเป็นคำถามว่า ถ้าหากจะขอกู้ซื้อที่ดินมาเพื่อปลูกสร้างบ้านได้หรือไม่

คำตอบคือ “ทำได้” แต่ขั้นตอนและการพิจารณาจะมีความซับซ้อนมากขึ้นจากการซื้อบ้านในโครงการจัดสรร โดยธนาคารจะให้กู้ในรูปแบบสินเชื่อบ้านเช่นกัน แต่เป็นกลุ่มที่เรียกว่า “กู้ซื้อที่ดินเปล่าเพื่อปลูกสร้างบ้าน”

มาดูก่อนว่า นอกจากเอกสารยืนยันตัวตนและรายได้ตามปกติเมื่อจะกู้บ้าน เช่น สำเนาบัตรประชาชน สลิปเงินเดือน บัญชีธนาคารย้อนหลัง 6 เดือน ฯลฯ แล้ว หากจะกู้ซื้อที่ดินเพื่อปลูกสร้างบ้าน ธนาคารจะต้องการหลักฐานและเอกสารต่าง ๆ จากผู้กู้ ดังนี้
1. สำเนาสัญญาจะซื้อจะขายที่ดิน และหลักฐานการจ่ายเงินดาวน์ (ถ้ามี)
2. สำเนาโฉนดที่ดิน และแผนที่ตั้งที่ดินโดยสังเขป (ถ้ามี)
3. สำเนาสัญญาจ้างปลูกสร้างบ้าน
4. แบบบ้านที่จะปลูกสร้าง พร้อมรายการวัสดุ และค่าจ้างที่ผู้รับเหมาประเมิน
5. ใบอนุญาตก่อสร้าง
2. สำเนาโฉนดที่ดิน และแผนที่ตั้งที่ดินโดยสังเขป (ถ้ามี)
3. สำเนาสัญญาจ้างปลูกสร้างบ้าน
4. แบบบ้านที่จะปลูกสร้าง พร้อมรายการวัสดุ และค่าจ้างที่ผู้รับเหมาประเมิน
5. ใบอนุญาตก่อสร้าง
นั่นหมายความว่า เมื่อเราต้องการจะกู้ซื้อบ้านมาปลูกสร้างเองแล้ว ควรจะต้องมีเงินเก็บจำนวนหนึ่งเตรียมไว้ เพราะการซื้อที่ดินโดยมากแล้วผู้ขายจะให้เราวางมัดจำไว้ก่อน และอาจจะเก็บเงินดาวน์อีกด้วย เราจึงจะได้มาซึ่งสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินสำหรับยื่นกู้กับธนาคาร
ด้านโฉนดที่ดิน ธนาคารจะมีการประเมินราคาที่ดิน ซึ่งธนาคารจะให้กู้วงเงินเท่าใดจะขึ้นอยู่กับการตีราคาที่ดินของธนาคารเอง ทั้งนี้ หลักการโดยกว้างคือที่ดินนั้นจะต้องมีสาธารณูปโภค เช่น ไฟฟ้า ประปา เข้าถึงอย่างครบถ้วนแล้ว และไม่เป็นที่ดินตาบอด มิฉะนั้นธนาคารจะไม่อนุมัติเงินกู้
ในข้อต่อ ๆ มาซึ่งเกี่ยวกับการปลูกสร้างบ้าน คือ สัญญาจ้างปลูกสร้างบ้าน, แบบบ้านพร้อมรายการวัสดุและค่าจ้างปลูกสร้าง, ใบอนุญาตก่อสร้าง นั่นคือ หลังจากเรามีสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินแล้ว ขั้นต่อไปคือการจ้างผู้รับเหมาให้ออกแบบบ้านและขอใบอนุญาตก่อสร้างให้เรียบร้อย ซึ่งส่วนนี้ก็จะต้องมีเงินเก็บไว้เป็นค่าดำเนินการก่อนเช่นกัน รวมถึงควรศึกษาข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องก่อนสร้างบ้าน
ทั้งนี้ ต้องศึกษาเงื่อนไขธนาคารที่ต้องการกู้สินเชื่อให้ดี เพราะบางธนาคารจะระบุชัดเจนว่าต้องว่าจ้างผู้รับเหมาที่น่าเชื่อถือในสมาคมธุรกิจรับสร้างบ้านเท่านั้น

ธนาคารจะให้กู้เท่าไหร่?
เมื่อรวบรวมหลักฐานและเอกสารต่าง ๆ ครบถ้วนก็สามารถนำไปยื่นกู้ธนาคารได้ โดยมีสถาบันการเงินหลายแห่งที่พร้อมให้กู้ซื้อที่ดินพร้อมปลูกสร้างบ้าน เช่น ธนาคารกรุงไทย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ธนาคารกสิกรไทย เป็นต้น
โดยส่วนมากแล้วธนาคารจะให้กู้ในวงเงินไม่เกิน 90% ของราคาประเมินที่ดิน+ค่าจ้างรับเหมาก่อสร้าง เช่น ราคาประเมินที่ดิน 5 ล้านบาท ค่าจ้างรับเหมาก่อสร้าง 3 ล้านบาท รวมเป็น 8 ล้านบาท ดังนั้นวงเงินสูงสุดที่แบงก์จะให้กู้คือ 7.2 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม วงเงินที่ได้ย่อมขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายประการ ส่วนหนึ่งมาจากความสามารถในการชำระหนี้ของผู้ขอกู้สินเชื่อเอง ซึ่งธนาคารมักจะกำหนดอัตรา DSR (Debt Service Ratio) ไว้ที่ 30-40% หมายถึง ผู้กู้จะรับภาระหนี้ได้ไม่เกิน 30-40% ของรายได้ต่อเดือน เช่น 30% ของฐานรายได้ 50,000 บาทต่อเดือน เท่ากับมีภาระหนี้ได้ 15,000 บาทต่อเดือน วงเงินที่ได้ก็จะให้ได้ไม่เกินความสามารถชำระหนี้ของเรา
อีกส่วนคือ เมื่อกู้ซื้อที่ดิน ธนาคารจะประเมินหลักทรัพย์ที่ดินว่ามีความคุ้มค่าต่อความเสี่ยงของธนาคารในการปล่อยกู้แค่ไหน บางครั้งธนาคารจะแยกส่วนการประเมินวงเงินระหว่าง “วงเงินค่าที่ดิน” กับ “วงเงินค่ารับเหมาก่อสร้างบ้าน” โดยที่ดินถือเป็นทรัพย์ที่ขายทอดตลาดได้ยากหากเกิดเป็นหนี้เสีย ทำให้วงเงินที่ได้รับอาจอยู่ที่ 50-80% ของราคาประเมินที่ดิน ในขณะที่วงเงินค่ารับเหมาก่อสร้างมักจะอยู่ที่ 80-100% ของราคาค่าจ้าง
ยกตัวอย่างเดิม คือ ราคาประเมินที่ดิน 5 ล้านบาท สมมติธนาคารอนุมัติปล่อยกู้เพียง 50% ของราคาประเมิน ส่วนค่าจ้างรับเหมาก่อสร้าง 3 ล้านบาท ธนาคารอนุมัติให้เต็ม 100% นั่นหมายความว่า วงเงินทั้งหมดที่ได้รับคือ 5.5 ล้านบาทเท่านั้นจากค่าใช้จ่ายทั้งหมด 8 ล้านบาท หรือคิดเป็นประมาณ 70% ของค่าใช้จ่ายรวม ดังนั้น เราจะต้องมีเงินสดอีก 2.5 ล้านบาทสำหรับชำระค่าที่ดินส่วนที่เหลือเอง
ดอกเบี้ยจะเท่ากับซื้อบ้านในโครงการจัดสรรหรือไม่?
ข้อมูลในส่วนนี้แต่ละธนาคารมีการกำหนดอัตราดอกเบี้ยต่างกัน ยกตัวอย่างเช่น ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (กันยายน 2562) มีสินเชื่อบ้านกรุงศรี เพื่อปลูกสร้างบ้าน (ผ่านบริษัทตัวแทนที่ธนาคารสนับสนุน) วงเงินกู้สูงสุด 100% ของค่าจ้างตามสัญญาปลูกสร้าง วงเงินกู้แบ่งเป็น
1. ตั้งแต่ 1 ล้านบาท แต่ไม่ถึง 3 ล้านบาท
2. ตั้งแต่ 3 ล้านบาทขึ้นไป
2. ตั้งแต่ 3 ล้านบาทขึ้นไป
มีทางเลือกในการผ่อนหลายแบบ เช่น วงเงินกู้ตั้งแต่ 3 ล้านบาทขึ้นไป ทางเลือกที่ 1 อัตราดอกเบี้ยตลอดอายุสัญญา MRR-3.00% ต่อปี เฉลี่ย 3 ปี 3.95%
ส่วนบ้านใหม่หรือบ้านมือสอง มีสินเชื่อบ้านกรุงศรี เพื่อซื้อที่อยู่อาศัย วงเงินกู้สูงสุดอยู่ที่ 90% ของราคาประเมิน (85% ของราคาประเมินสำหรับห้องชุดพักอาศัย) วงเงินกู้แบ่งเป็น
1. ตั้งแต่ 1 ล้านบาท แต่ไม่ถึง 5 ล้านบาท
2. ตั้งแต่ 5 ล้านบาทขึ้นไป
2. ตั้งแต่ 5 ล้านบาทขึ้นไป
มีทางเลือกในการผ่อนหลายแบบ เช่น วงเงินกู้ตั้งแต่ 1 ล้านบาท แต่ไม่ถึง 5 ล้านบาท ทางเลือกที่ 1 อัตราดอกเบี้ย ปีที่ 1 MRR-3.35% ปีที่ 2 MRR-2.25% ปีที่ 3 เป็นต้นไป MRR-1.10% อัตราดอกเบี้ยเฉลี่ย 3 ปี 4.72%
สรุปได้ว่า การกู้ซื้อที่ดินเพื่อปลูกสร้างบ้านจะมีความซับซ้อนในการทำสัญญาซื้อที่ดินและว่าจ้างออกแบบบ้าน การพิจารณาวงเงินและอัตราดอกเบี้ยของธนาคารก็จะมีความเข้มงวดสูงขึ้น ทำให้ผู้มีฝันอยากซื้อที่ดินพร้อมปลูกสร้างบ้านต้องเก็บหอมรอมริบเงินสดไว้พอประมาณก่อนยื่นกู้และมีฐานรายได้ที่มั่นคง
แต่ถึงแม้จะมีความซับซ้อนมากแค่ไหน ความฝันที่อยากจะมีบ้านแบบที่ถูกต้องตรงใจก็คงพาเราไปถึงจนได้ ส่วนใครที่มีที่ดินเป็นของตัวเองอยู่แล้วแต่อยากกู้เงินสินเชื่อเพื่อสร้างบ้าน ก็สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่นี่
สนใจรับบทความดีดี อัปเดต ข่าวอสังหาริมทรัพย์ และ อ่านคู่มือซื้อขาย พร้อม รีวิวโครงการคอนโดฯ ใหม่ บ้านใหม่ หลากหลายทำเลและราคา รวมถึง ทำความรู้จักกับทำเลฮอตทั่วกรุง เพื่อเพิ่มความมั่นใจในการซื้อ-ขาย-เช่า