ก่อนหาผู้กู้ร่วมซื้อบ้าน คิดรอบด้านแล้วหรือยัง?

DDproperty Editorial Team
ก่อนหาผู้กู้ร่วมซื้อบ้าน คิดรอบด้านแล้วหรือยัง?

หลายคนที่อยากซื้อบ้านเป็นของตัวเองสักหลัง แต่กังวลว่ารายได้ตัวเองไม่สูงนัก กลัวกู้ไม่ผ่าน ได้วงเงินไม่เยอะ อาจมองหาทางออกอย่างการ “กู้ร่วม” ซึ่งการกู้ร่วมเป็นทางออกของคนที่อยากมีบ้าน แต่ไม่สามารถผ่อนชำระคนเดียวได้ หรือต้องการวงเงินกู้ที่สูงขึ้น

ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเรามีเงินเดือน 30,000 บาท ถ้ากู้เองคนเดียว อาจขอวงเงินกู้ได้สูงสุด 1.5 ล้านบาท แต่ถ้ากู้ร่วมกับน้องซึ่งมีรายได้อยู่ที่ 20,000 บาท จะทำให้กู้ซื้อบ้านได้วงเงินที่สูงถึง 2.5 ล้านบาท เรียกว่าซื้อบ้านได้หลังใหญ่ขึ้น หรือได้วงเงินเพื่อซื้อบ้านที่สูงขึ้น ซึ่งเป็นข้อดีของการกู้ร่วม
แต่…การกู้ร่วมก็มีข้อที่คำนึงถึงเช่นกัน ซึ่งมี 3 เรื่องหลักๆ ที่ต้องคิดให้ดีก่อนกู้ร่วม

1. ภาระผ่อนบ้านต่อเดือน

การกู้ร่วมทำให้ตัวเราได้รับวงเงินกู้บ้านที่สูงขึ้น แต่หากบ้านที่ต้องการซื้อนี้ เป็นเป้าหมายของตัวเราคนเดียว ทำให้ภาระผ่อนบ้านเป็นของเราเพียงผู้เดียว ก็ต้องดูด้วยว่า จะผ่อนไหวไหม
จากตัวอย่างข้างต้น กู้ร่วมกันซื้อบ้าน 2.5 ล้านบาท ผ่อนเดือนละ 18,000 บาท ตัวเรามีเงินเดือนอยู่ที่ 30,000 บาท เรียกว่า 60% ของเงินเดือนต้องนำมาจ่ายเป็นค่าผ่อนบ้าน ในขณะที่ยังมีค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับบ้าน เช่น ค่าส่วนกลาง ค่าน้ำไฟ ค่าประกัน รวมถึงค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน เช่น ค่ากิน ค่าเดินทาง เสื้อผ้าหน้าผม จิปาถะ ที่ทำให้ต้องคิดคำนวณให้ดีว่า เมื่อรวม ๆ กันแล้ว จะแบกภาระหนี้ก้อนนี้ไหวมากน้อยแค่ไหน
สำหรับกรณี "กู้ร่วม" ที่เป็นเป้าหมายร่วมของสองคน เช่น สามีภรรยา หากช่วยกันผ่อนบ้าน ก็อาจไม่เป็นภาระหนักของคนใดคนหนึ่งมากนัก
แต่อย่างไรก็ตาม อย่าลืมนึกถึงกรณีที่เกิดเหตุการณ์ทำให้ต้องผ่อนบ้านเพียงคนเดียวขึ้นมาด้วย เช่น ฝ่ายหนึ่งถูกพักงานหรือประสบอุบัติเหตุทำให้ไม่มีรายได้ หรือมีลูก จึงตัดสินใจลาออกเพื่อเป็นแม่บ้านเลี้ยงลูก ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องวางแผนด้วยเช่นกัน
กู้ร่วมซื้อบ้าน ทำให้กู้ได้ง่ายและได้วงเงินสูงขึ้น

2. ดอกเบี้ยบ้านต้องหารเฉลี่ย

ดอกเบี้ยจ่ายของเงินกู้บ้านสามารถลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริง สูงสุดไม่เกิน 100,000 บาท กรณีของการกู้ร่วม ดอกเบี้ยบ้านให้หารเฉลี่ยตามจำนวนผู้กู้ หากกู้ร่วมสองคนก็คือหารสองนั่นเอง สมมติจ่ายดอกเบี้ยทั้งปี 70,000 บาท สามารถใช้สิทธิลดหย่อนได้คนละ 35,000 บาท จะไม่สามารถเลือกได้ว่า ให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งใช้สิทธิเพียงผู้เดียว หรือใช้สิทธิลดหย่อนมากกว่าอีกฝ่ายหนึ่ง
นอกจากนี้ หากดอกเบี้ยบ้านทั้งปีเกิน 100,000 บาท ไม่ใช่ว่าสามารถเฉลี่ยตามจำนวนผู้กู้ได้เลย เช่น ดอกเบี้ยบ้านอยู่ที่ 120,000 บาท ไม่ใช่ว่า กู้ร่วมสองคน จะแบ่งกันใช้สิทธิลดหย่อนได้คนละ 60,000 บาท เพราะการกู้บ้านแต่ละหลังจะใช้สิทธิได้ไม่เกิน 100,000 บาท ในกรณีนี้จึงสามารถใช้สิทธิได้คนละ 50,000 บาท

3. กรรมสิทธิ์บ้านมีร่วมกัน

กรรมสิทธิ์ในบ้านที่กู้ร่วมกันนั้น สามารถเป็นได้ทั้งกรรมสิทธิ์ของผู้กู้คนใดคนหนึ่ง หรือกรรมสิทธิ์ร่วมกันของผู้กู้ทั้งหมดก็ได้ ขึ้นอยู่กับข้อตกลงของผู้กู้
ในกรณีที่เลือกให้มีกรรมสิทธิ์ในบ้านร่วมกัน ก็มีเรื่องที่ต้องนึกถึงคือ หากในอนาคตต้องการเปลี่ยนแปลงกรรมสิทธิ์บ้าน เช่น ขายบ้าน จะต้องได้รับการยินยอมจากเจ้าของกรรมสิทธิ์ทุกคนเสียก่อน หรือหากต้องการยกกรรมสิทธิ์ให้เป็นของคนใดคนหนึ่งที่มีชื่อเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์อยู่แล้วนั้น จะถือว่ามีการซื้อขายบ้านเกิดขึ้น ทำให้มีค่าธรรมเนียมต่าง ๆ เข้ามาเกี่ยวข้อง เช่น ค่าจดจำนอง ค่าโอน ค่าอากรแสตมป์หรือภาษีธุรกิจเฉพาะ รวมถึงภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายด้วย
ยิ่งไปกว่านั้น หากเป็นกรณีสามีภรรยากู้บ้านร่วมกันและมีกรรมสิทธิ์บ้านร่วมกัน แล้วต่อมาจากรักกันต้องกลายเป็นเลิกกัน ต้องตกลงกันให้ดีว่า จะขายบ้าน หรือใครต้องการมีกรรมสิทธิ์เพียงคนเดียว แล้วจะผ่อนบ้านต่อ ซึ่งต้องดำเนินการเปลี่ยนแปลงเอกสารที่ธนาคาร กรมที่ดิน และมีค่าใช้จ่ายต่าง ๆ เกิดขึ้น
อย่างไรก็ตาม ก่อนตัดสินใจกู้ร่วมนั้นควรพิจารณาก่อนว่า บ้านที่ต้องการซื้อเหมาะกับรายได้หรือความสามารถในการผ่อนของตัวเรามากน้อยแค่ไหน เพื่อไม่ให้มีปัญหาการเงินตามมาในอนาคต
เรื่องข้างต้นนี้เขียนโดย นิชฌานี ฉันทศาสตร์ CFP® K-Expert ฝ่ายวางแผนและให้คำปรึกษาลูกค้าบุคคล ธนาคารกสิกรไทย หากมีข้อสงสัยหรือต้องการปรึกษาวางแผนเพิ่มเติม สามารถปรึกษากับ K-Expert ธนาคารกสิกรไทย ได้ที่ K-Expert@kasikornbank.com
สนใจรับบทความดีดี อัปเดต ข่าวอสังหาริมทรัพย์ และ อ่านคู่มือซื้อขาย พร้อม รีวิวโครงการคอนโดฯ ใหม่ บ้านใหม่ หลากหลายทำเลและราคา รวมถึง ทำความรู้จักกับทำเลฮอตทั่วกรุง เพื่อเพิ่มความมั่นใจในการซื้อ-ขาย-เช่า
ข้อจำกัดความรับผิดชอบ: ข้อมูลนี้จัดทำขึ้นเพื่อเป็นข้อมูลทั่วไปเท่านั้น DDproperty by PropertyGuru ซึ่งอยู่ภายใต้การดูแลของบริษัท ออลพร็อพเพอร์ตี้ มีเดีย จำกัด ไม่สามารถรับรองหรือรับประกันเกี่ยวกับข้อมูล รวมทั้งไม่สามารถรับรองหรือรับประกันใด ๆ เกี่ยวกับความเหมาะสม สำหรับวัตถุประสงค์เฉพาะใด ๆ ของข้อมูล ตามขอบเขตสูงสุดที่กฎหมายอนุญาต แม้ว่าเราได้พยายามอย่างเต็มที่ เพื่อให้แน่ใจว่าข้อมูลที่ให้ไว้ในบทความนี้ถูกต้อง เชื่อถือได้ และครบถ้วน ณ เวลาที่เขียน แต่ข้อมูลที่ให้ไว้ในบทความนี้ไม่ควรนำไปใช้ในการตัดสินใจทางการเงิน, การลงทุนอสังหาริมทรัพย์ หรือทางกฎหมายทันที ผู้อ่านไม่ควรใช้ข้อมูลในบทความ แทนคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญที่ผ่านการฝึกอบรมซึ่งสามารถพิจารณาข้อเท็จจริงและสถานการณ์ส่วนตัวของคุณได้ ทั้งนี้ เราไม่สามารถรับผิดชอบใด ๆ หากคุณเลือกที่จะนำข้อมูลไปใช้เพื่อประกอบการตัดสินใจ

คำนวณยอดผ่อนต่อเดือน

คำนวณยอดผ่อนชำระต่อเดือนตามอัตราดอกเบี้ยของคุณด้วยเครื่องมือคำนวณสินเชื่อนี้

คำนวณวงเงินกู้สูงสุด

คำนวณสินเชื่อบ้าน ยอดวงเงินกู้บ้านใหม่ที่คาดว่าจะได้รับจากแบงก์และยอดผ่อนชำระในแต่ละเดือน

คำนวณสินเชื่อรีไฟแนนซ์บ้าน

เช็กยอดผ่อนชำระต่อเดือนอัตราใหม่และจำนวนเงินที่คุณสามารถประหยัดได้หลังจากการทำรีไฟแนนซ์