2 สินเชื่อซ่อมแซมบ้าน วงเงินเท่าไหร่ แบบไหนดี จากธนาคารต่าง ๆ

DDproperty Editorial Team
2 สินเชื่อซ่อมแซมบ้าน วงเงินเท่าไหร่ แบบไหนดี จากธนาคารต่าง ๆ
หลังจากผ่านระยะเวลาของการอยู่อาศัยมาได้สักระยะ เชื่อว่าหลายคนจะเริ่มมีความต้องการปรับปรุง ซ่อมแซม ต่อเติมบ้าน แต่ติดปัญหาตรงที่มีงบประมาณจำกัด เพราะไม่ว่าเรื่องอะไรที่เกี่ยวกับบ้าน มักจะไม่ใช่เรื่องบ้าน ๆ ที่จัดการได้ง่าย ๆ เลย ซึ่งตรงนี้เอง ธนาคารก็มีสินเชื่อซ่อมแซมบ้านให้บริการ ซึ่งหลายคนอาจไม่รู้ว่าการขออนุมัติสินเชื่อซ่อมแซมบ้านนั้นจะต้องเตรียมตัวอย่างไร คุณสมบัติของผู้ขอสินเชื่อต้องเป็นอย่างไร และสินเชื่อซ่อมแซมบ้านมีเงื่อนไขอย่างไรบ้าง

สินเชื่อซ่อมแซมบ้านคืออะไร แตกต่างกับสินเชื่อบ้านอย่างไร

หลายคนอาจคุ้นเคยกันดีกับสินเชื่อกู้ซื้อบ้านหรือสินเชื่อสร้างบ้าน และเข้าใจว่าสินเชื่อซ่อมแซมบ้านก็เป็นหนึ่งในสินเชื่อกู้ซื้อบ้านเช่นกัน ซึ่งความจริงแล้ว สินเชื่อทั้งสองประเภทนี้มีข้อแตกต่างกันเล็กน้อยในด้านของวัตถุประสงค์การกู้ ซึ่งทำให้เกณฑ์ในการประเมินและอนุมัติสินเชื่อนั้นมีความแตกต่างกับสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยในการซื้อบ้านแบบปกติ แต่โดยส่วนใหญ่จะมีวงเงินกู้สูงสุดไม่เกิน 70-80% ของราคาประเมินบ้าน

สินเชื่อซ่อมแซมบ้านมีแบบไหนบ้าง?

สำหรับสินเชื่อที่นิยมกู้เพื่อวัตถุประสงค์ของการต่อเติม ซ่อมแซม และตกแต่งบ้าน จะแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ สินเชื่อแบบวงเงินกู้ระยะยาว (Loan) และสินเชื่อวงเงินกู้เบิกเกินบัญชี (O/D) โดยจะขึ้นอยู่กับระยะเวลาของการผ่อน

1. สินเชื่อซ่อมแซมบ้านแบบวงเงินกู้ระยะยาว (Loan)

จะมีระยะเวลาในการผ่อนชำระยาวนาน และมีอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำกว่าสินเชื่อวงเงินกู้เบิกเกินบัญชี (O/D) โดยจะมีข้อจำกัดว่าต้องใช้เงินตามเงื่อนไขที่ระบุตามสัญญา เหมาะกับการซ่อมแซม ต่อเติม และปรับปรุงบ้านที่มีค่าใช้จ่ายสูง

2. สินเชื่อซ่อมแซมบ้านแบบสินเชื่อวงเงินกู้เบิกเกินบัญชี (O/D)

เป็นสินเชื่อที่ให้เราสามารถเบิกเงิน (โดยการสั่งจ่ายเช็ค) ได้แม้จะไม่มีเงินในบัญชี โดยการคิดอัตราดอกเบี้ยจะคิดตามส่วนต่างของระยะเวลาที่เราใช้ประมาณ 5-15 ปี
ข้อดีของการขอสินเชื่อซ่อมแซมบ้านแบบสินเชื่อวงเงินกู้เบิกเกินบัญชี (O/D) คือจะมีความสะดวกและยืดหยุ่นมากกว่า แต่อย่างไรก็ตามสินเชื่อวงเงินกู้เบิกเกินบัญชี (O/D) ไม่ได้ถูกออกแบบมาเพื่อเป็นสินเชื่อซ่อมแซมบ้านโดยเฉพาะ เพราะมีอัตราดอกเบี้ยที่สูงมาก และอาจจะต้องจ่ายค่าดอกเบี้ยที่แพงกว่าสินเชื่อซ่อมแซมบ้านโดยเฉพาะเป็นเท่าตัว
สินเชื่อซ่อมแซมบ้านมีหลายแบบ

เงื่อนไขการขอสินเชื่อซ่อมแซมบ้านสำหรับบ้านที่มีภาระและไม่มีภาระ

1. บ้านที่ยังมีภาระผ่อน

หลายคนอาจเข้าใจว่าบ้านที่ยังมีภาระผ่อนจะไม่สามารถใช้ประกอบการสินเชื่อซ่อมแซมบ้านได้ แต่ความจริงแล้วบ้านที่กำลังผ่อนอยู่ก็สามารถเอามาเป็นหลักค้ำประกันให้กับผู้กู้ได้
โดยธนาคารจะพิจารณาให้กู้ได้ไม่เกินวงเงินประเมินบ้านที่ได้จดจำนองมาตั้งแต่แรก เช่น บ้านมีการจดจำนองในตอนแรก 1,000,000 บาท และผ่านการผ่อนชำระจนเหลือเงินต้น 500,000 บาท ก็สามารถกู้สินเชื่อซ่อมแซมบ้านได้ถึง 250,000 บาท โดยจะได้รับดอกเบี้ยในอัตราใกล้เคียงกับสินเชื่อซื้อบ้าน

2. บ้านที่ปลอดภาระผ่อน

หากเป็นบ้านที่ไม่มีภาระผ่อนแล้ว สามารถใข้บ้านยื่นเข้าเป็นหลักประกันการกู้สินเชื่อซ่อมแซมบ้านได้เลย โดยธนาคารจะเป็นผู้ประเมินราคาและวงเงินกู้ให้ สำหรับบ้านที่ปลอดภาระผ่อนยังมีสินเชื่อประเภทอเนกประสงค์ประเภทบ้านแลกเงินด้วย ซึ่งจะมีขั้นตอนที่ไม่ซับซ้อนเท่าสินเชื่อซ่อมแซมบ้าน และไม่จำกัดวัตถุประสงค์ในการใช้เงินอีกด้วย แต่จะมีอัตราดอกเบี้ยที่สูงกว่าสินเชื่อซ่อมแซมบ้านแบบปกติ
การเตรียมตัวเพื่อขอสินเชื่อซ่อมแซมบ้าน
ขั้นตอนรายละเอียด
สำรวจขอบเขตของการซ่อมแซม เนื่องจากการขอสินเชื่อซ่อมแซมบ้านควรขอและลงมือซ่อมในครั้งเดียว โดยควรสำรวจว่าภายในบ้านเรามีจุดไหนบ้างที่จะเป็นต้องซ่อม เพื่อประเมินค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซมให้ครอบคลุม
เปรียบเทียบธนาคารและอัตราดอกเบี้ย สำหรับการเลือกธนาคารที่จะขอสินเชื่อ หากเป็นบ้านที่ยังภาระการผ่อนอยู่ ควรขอสินเชื่อกับธนาคารที่เราขอสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยแต่เดิม เนื่องจากมีประวัติและข้อมูลการผ่อนชำระอยู่แล้ว แต่สำหรับบ้านที่ปลอดภาระแล้ว สามารถเลือกธนาคารที่จะขอสินเชื่อได้จากอัตราดอกเบี้ยที่น้อยที่สุด

คุณสมบัติของผู้สินเชื่อซ่อมแซมบ้าน

คุณสมบัติของผู้กู้จะแตกต่างโดยพิจารณาตามความสามารถในการชำระหนี้ โดยมีอายุระหว่าง 20-60 ปี ระยะเวลาในการกู้รวมกับอายุของผู้กู้ไม่เกิน 65-70 ปี โดยจะต้องเป็นผู้ที่มีงานประจำอยู่ ฐานเงินเดือนตั้งแต่ 15,000 บาทต่อเดือนสำหรับข้าราชการและรัฐวิสาหกิจ และฐานเงินเดือนตั้งแต่ 20,000 บาทต่อเดือน สำหรับพนักงานเอกชน

สินเชื่อซ่อมแซมบ้าน ดอกเบี้ยต่ำ 2563 มีหลายธนาคาร

สินเชื่อซ่อมแซมบ้าน ดอกเบี้ยต่ำ 2563

ขอแนะนำสินเชื่อซ่อมแซมบ้าน ดอกเบี้ยต่ำ ปี 2563 จากธนาคารต่าง ๆ ดังนี้

1. สินเชื่อซ่อมแซมบ้าน จากธนาคารอาคารสงเคราะห์

สำหรับสินเชื่อบ้านจากธนาคารอาคารสงเคราะห์ในการใช้เพื่อซ่อมแซมปรับปรุงบ้านมีหลายประเภท ได้แก่
สินเชื่อบ้านสุขสันต์ (Refinance) สำหรับการไถ่ถอนจำนอง ปลูกสร้าง ต่อเติม และซ่อมแซม ดอกเบี้ย ปีที่ 1 = 2.45% ต่อปี ปีที่ 2 = 2.95% ต่อปี ปีที่ 3 = MRR-2.70% ต่อปี ปีที่ 4 จนถึงตลอดอายุสัญญา = MRR-0.50-1.00%

2. สินเชื่อซ่อมแซมบ้าน จากธนาคารกรุงไทย

สินเชื่อบ้านจากธนาคารกรุงไทยมีทั้งสินเชื่อบ้านแลกเงิน และสินเชื่อซ่อมแซมปรับปรุงบ้าน ได้แก่
สินเชื่อ Home for Crash นำไปใช้ได้ตามอเนกประสงค์ โดยเป็นเงินกู้แบบกำหนดระยะเวลา (Term Loan) น้อยกว่า 2 ปี อัตราดอกเบี้ยต่อปี = MRR (EIR-6.22%) ตั้งแต่ 2 ปีขึ้นไป = MRR-0.5% (EIR 5.72%)

3. สินเชื่อซ่อมแซมบ้าน จากธนาคารไทยพาณิชย์

สินเชื่อบ้านจากธนาคารไทยพาณิชย์ที่มีการประกาศอัตราดอกเบื้อคือ สินเชื่อบ้านแลกเงิน My Home My Cash
สินเชื่อ My Home My Cash วงเงินสินเชื่อสูงสุด 20 ล้านบาท ระยะเวลาการผ่อนชำระนานถึง 30 ปี โดยอัตราดอกเบี้ยปีที่1-3 = MRR +1.63% – MRR +3.38% อัตราดอกเบี้ยเฉลี่ย 3 ปี = 7.625% – 9.375%
สำหรับอัตราดอกเบี้ยของแต่ละธนาคาร อาจมีการเปลี่ยนแปลงตามมาตรการทางการเงิน และการจัดโปรโมชั่นของแต่ละธนาคาร แต่อย่างไรก็ตาม อย่าลืมว่าทุกครั้งที่มีการขอสินเชื่อ นั่นหมายความว่าเราต้องแบกรับภาระหนี้ไว้ด้วย ดังนั้น ก่อนตัดสินใจควรพิจารณาให้รอบคอบว่าเรากู้เท่าไรและวางแผนการเงินอย่างไร
สนใจรับบทความดีดี อัปเดต ข่าวอสังหาริมทรัพย์ และ อ่านคู่มือซื้อขาย พร้อม รีวิวโครงการคอนโดฯ ใหม่ บ้านใหม่ หลากหลายทำเลและราคา รวมถึง ทำความรู้จักกับทำเลฮอตทั่วกรุง เพื่อเพิ่มความมั่นใจในการซื้อ-ขาย-เช่า

คำนวณยอดผ่อนต่อเดือนตามระยะเวลากู้

เพียงใส่ยอดเงินกู้ที่คุณต้องการ เราจะคำนวณให้คุณเห็นถึงยอดผ่อนชำระต่อเดือนตามระยะเวลาผ่อนและอัตราดอกเบี้ยที่แตกต่างกัน

คำนวณยอดผ่อนต่อเดือน

คำนวณยอดผ่อนชำระต่อเดือนตามอัตราดอกเบี้ยของคุณด้วยเครื่องมือคำนวณสินเชื่อนี้

คำนวณวงเงินกู้สูงสุด

คำนวณสินเชื่อบ้าน ยอดวงเงินกู้บ้านใหม่ที่คาดว่าจะได้รับจากแบงก์และยอดผ่อนชำระในแต่ละเดือน