รังวัดที่ดิน ถือเป็นสิ่งสำคัญที่ผู้ที่ต้องการซื้อ-ขายที่ดิน ต้องตรวจสอบให้ละเอียดไม่แพ้เรื่องของโฉนดที่ดิน ราคา และค่าใช้จ่ายต่าง ๆ โดยการรังวัดที่ดินถือเป็นกระบวนการสำคัญที่ต้องทำก่อนการซื้อ-ขายที่ดิน ลองมาดูว่าการขอรังวัดที่ดินมีขั้นตอนอย่างไร และเช็กค่ารังวัดที่ดินได้ที่นี่
อ่านหัวข้อที่คุณอยากรู้
- รังวัดที่ดินสำคัญอย่างไร
- รังวัดที่ดินมีกี่ประเภท
- สิ่งที่เจ้าของที่ดินควรรู้ก่อนขอรังวัดที่ดิน
- ขั้นตอนการขอรังวัดที่ดิน
- ค่ารังวัดที่ดิน
รังวัดที่ดินสำคัญอย่างไร
การรังวัดที่ดิน จะเป็นการตรวจสอบว่าขนาดของที่ดินที่ต้องการซื้อ-ขายนั้นตรงกับที่ระบุไว้ในโฉนดที่ดินหรือไม่ เนื่องจากตัวเลขขนาดที่ดินที่ระบุในโฉนด อาจเกินหรือน้อยกว่าพื้นที่จริง
DDproperty Tip
เจ้าของที่ดินส่วนใหญ่มักจะทำการรังวัดที่ดินทุก ๆ 10 ปี เพื่อป้องกันการอ้างครอบครองปรปักษ์ ป้องกันการเสียกรรมสิทธิ์ในที่ดิน จากการลุกล้ำที่ดินโดยบุคคลอื่น
รังวัดที่ดินมีกี่ประเภท
การรังวัดที่ดินสามารถยื่นคำขอได้ใน 3 กรณีด้วยกัน คือ
1. การรังวัดแบ่งแยก
หากเจ้าของที่ดินต้องการแบ่งที่ดินผืนใหญ่ออกเป็นหลาย ๆ แปลง ไม่ว่าจะด้วยการแบ่งขาย มอบเป็นมรดก หรือสาเหตุอื่น ๆ เจ้าของที่ดินจะต้องมายื่นคำร้องขอรังวัดที่ดินกับเจ้าหน้าที่กรมที่ดินใหม่ และทำการออกโฉนดที่ดินของแปลงที่แบ่งแยกใหม่ให้แก่เจ้าของที่ดินเพิ่มเติมด้วย
2. การรังวัดรวมโฉนด
หากเจ้าของที่ดินทำการซื้อที่ดินบริเวณใกล้เคียงที่ดินผืนเดิมแล้วต้องการรวมโฉนดใหม่ฉบับเดียว เจ้าของที่ดินจะต้องมายื่นคำร้องขอรังวัดที่ดินกับเจ้าหน้าที่กรมที่ดินใหม่ และทำการออกโฉนดที่ดินแบบรวมใหม่ให้แก่เจ้าของที่ดินเพิ่มเติม
3. การรังวัดสอบเขต
หากเจ้าของที่ดินต้องการทราบเนื้อที่ทั้งหมดว่าตรงกันกับในโฉนดหรือไม่ และมีสภาพที่ดินที่แท้จริงในขนาดกี่ไร่ กี่งาน หรือกี่ตารางวา รวมถึงหากมีกรณีสูญหายของหมุดปักบอกอาณาเขต
เจ้าของที่ดินจะต้องมายื่นคำร้องขอรังวัดที่ดินกับเจ้าหน้าที่กรมที่ดินเพื่อดำเนินการรังวัดและปักหลักหมุดให้ใหม่หากหลักหมุดเดิมหาย และแก้ไขเลขหมายหลักหมุดรวมถึงแนวอาณาเขตของที่ดินลงในโฉนดใหม่ให้ถูกต้อง
ตรวจสอบรังวัดที่ดิน ก่อนจะถูกผู้อื่นกินพื้นที่
รังวัดที่ดินคือการตรวจสอบว่าที่ดินของคุณไม่ได้ถูกผู้อื่นกินพื้นที่ ดูเพิ่มเติมได้ที่นี่
สิ่งที่เจ้าของที่ดินควรรู้ก่อนขอรังวัดที่ดิน
จากเว็บไซต์กรมที่ดินได้แจงรายละเอียดเกี่ยวกับการขอรังวัดที่ดิน และสิ่งที่เจ้าของที่ดินควรรู้ไว้ดังนี้
1. ที่ดินที่ครอบครองอยู่มีหลักฐานอะไร ให้นำหลักฐานที่มีไปประกอบการยื่นคำขอรังวัดที่ดิน
2. ที่ดินตั้งอยู่ หมู่ที่เท่าใด ตำบล อำเภอ อะไร
3. เจ้าของที่ดินข้างเคียงเป็นผู้ใดบ้าง ติดที่สาธารณประโยชน์หรือไม่
4. สภาพที่ดินเป็นอย่างไร เช่น ที่นา ที่สวน ที่ไร่ ที่อยู่อาศัย
เช็กโฉนดที่ดินให้เป็น ป้องกันก่อนโดนโกง
ลองมาดูวิธีเช็กโฉนดที่ดิน เลขโฉนดที่ดินให้เป็น เพื่อป้องกันไม่ให้คุณถูกเอารัดเอาเปรียบ
ยื่นคำขอรังวัดที่ดินได้ที่ไหน
ยื่นที่สำนักงานที่ดินจังหวัด สำนักงานที่ดินจังหวัดสาขา หรือสำนักงานที่ดินอำเภอที่ที่ดินนั้นตั้งอยู่ แบ่งเป็น
1. โฉนดที่ดิน ติดต่อที่สำนักงานที่ดินจังหวัดหรือสำนักงานที่ดินจังหวัดสาขาที่ที่ดินนั้นตั้งอยู่
2. หนังสือรับรองการทำประโยชน์ ติดต่อที่สำนักงานที่ดินอำเภอที่ที่ดินนั้นตั้งอยู่ เว้นแต่ ได้มีการยกเลิกอำนาจนายอำเภอ ให้ติดต่อที่สำนักงานที่ดินจังหวัด หรือสำนักงานที่ดินจังหวัดสาขาที่ที่ดินนั้นตั้งอยู่
หลักฐานประกอบการขอรังวัด แบ่งแยก หรือสอบเขตโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์
1. บัตรประจำตัว ทะเบียนบ้าน ทะเบียนสมรส หลักฐานการเปลี่ยนชื่อตัวชื่อสกุล (ถ้ามี)
2. โฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์
3. หลักฐานประกอบการขอรังวัดรวมโฉนดที่ดิน
4. บัตรประจำตัวประชาชน ทะเบียนบ้าน ทะเบียนสมรส หลักฐานการเปลี่ยนชื่อตัว ชื่อสกุล (ถ้ามี)
5. โฉนดที่ดินที่จะขอรวม ต้องมีลักษณะดังนี้
– ต้องเป็นหนังสือสำคัญแสดงกรรมสิทธิ์ประเภทเดียวกัน เว้นแต่ โฉนดแผนที่ กับโฉนดที่ดินให้รวมกันได้
– ต้องมีชื่อผู้ถือกรรมสิทธิ์ที่ดินในโฉนดที่ดินเหมือนกันทุกฉบับและต้องยังมีชีวิตอยู่ทุกคน
– ต้องเป็นที่ดินติดต่อผืนเดียวกัน ในจังหวัดและสำนักงานที่ดินเดียวกัน
บริการเรื่องที่ดินอะไรบ้างที่คุณทำเองได้
ลองมาดู 15 บริการเรื่องที่ดินที่คุณสามารถทำเองได้ ไม่ต้องไปถึงสำนักงานที่ดิน
ขั้นตอนการรังวัด แบ่งแยก รวม สอบเขตที่ดิน
1. รับบัตรคิวจากประชาสัมพันธ์
2. รับคำขอสอบสวน ชำระเงินค่าธรรมเนียมคำขอ
3. ส่งฝ่ายรังวัดดำเนินการ นัดวันทำการรังวัด กำหนดตัวช่างรังวัด กำหนดเงินมัดจำรังวัด
4. ค้นหารายชื่อเจ้าของที่ดินข้างเคียง และพิมพ์หนังสือแจ้งข้างเคียง
5. รับหนังสือแจ้งข้างเคียง วางเงินมัดจำรังวัด รับหลักเขตที่ดิน
6. ช่างรังวัดออกไปทำการรังวัดตามวันที่กำหนดไว้
7. คำนวณเนื้อที่ และเขียนรูปแผนที่ในโฉนดที่ดิน
8. ส่งเรื่องรังวัดคืนฝ่ายทะเบียน เรียกผู้ขอมาจดทะเบียน
9. สอบสวนจดทะเบียนแบ่งแยก
10. ตรวจอายัด
11. ชำระเงินค่าธรรมเนียมการจดทะเบียน และค่าโฉนด
12. แก้รายการทะเบียน และจดทะเบียนแบ่งแยก
13. สร้างโฉนดที่ดินแปลงแบ่งแยก
14. เสนอเจ้าพนักงานที่ดินลงนามและประทับตรา
15. แจกโฉนดที่ดินแปลงแบ่งแยก

ขั้นตอนการขอแบ่งแยกตรวจสอบเนื้อที่ และรวมหนังสือรับรองการทำประโยชน์
1. เจ้าของที่ดินนำหนังสือรับรองการทำประโยชน์และเอกสารต่าง ๆ ไปยื่นคำขอ
2. ให้ถ้อยคำในการนัดรังวัด เพื่อ
– กำหนดวันทำการรังวัด
– กำหนดค่าใช้จ่ายในการรังวัด
– กำหนดเจ้าหน้าที่และสถานที่นัดพบ
3. รับเจ้าหน้าที่ไปทำการรังวัดและปักหลัก จนเสร็จการ
4. ลงนามในเอกสารต่าง ๆ
5. รอรับหนังสือแจ้งให้ไปดำเนินการจดทะเบียน ฯลฯ
การคิดค่ารังวัดที่ดิน
ค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายในการรังวัดที่ดินที่ผู้ขอจะต้องชำระตามกฎหมาย (กฎกระทรวง ฉบับที่ 47 และ 48 ออกตามความในพระราชบัญญัติ ให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. 2497) มีดังนี้
1. ค่าธรรมเนียมรังวัด
– เกี่ยวกับโฉนดที่ดิน แปลง/วัน/ละ 40 บาท
– เกี่ยวกับหนังสือรับรองการทำประโยชน์ แปลง/วัน/ละ 30 บาท
2. ค่าหลักเขตที่ดิน หลักละ 15 บาท (ตามที่ใช้จริง)
3. ค่าใช้จ่ายในการรังวัดลักษณะเหมาจ่าย ดังนี้
3.1 ค่าใช้จ่ายอื่น ๆ เช่น ค่าส่งหมายข้างเคียงทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับ 200 บาท
3.2 ค่าป่วยการเจ้าพนักงานผู้ปกครองท้องที่ ไม่เกินอัตราที่กำหนดในกฎกระทรวง
3.3 ค่าพาหนะพนักงานเจ้าหน้าที่และคนงานรังวัด วันละไม่เกิน 1,600 บาท
3.4 ค่าคนงานรังวัด คน/วัน 420 บาท (ตามเขตจังหวัดที่กระทรวงการคลังกำหนด)
ทั้งนี้ การกำหนดวันทำการรังวัดตามข้อ 3.3 และ 3.4 กำหนดตามจำนวนเนื้อที่ ดังนี้
การรังวัดเกี่ยวกับโฉนดที่ดิน
ไม่เกิน 5 ไร่
1 วัน
ไม่เกิน 3,480 บาท
ไม่เกิน 15 ไร่
2 วัน
ไม่เกิน 6,760 บาท
ไม่เกิน 30 ไร่
3 วัน
ไม่เกิน 10,040 บาท
ไม่เกิน 50 ไร่
4 วัน
ไม่เกิน 13,320 บาท
การรังวัดเกี่ยวกับหนังสือรับรองการทำประโยชน์
ไม่เกิน 20 ไร่
1 วัน
ไม่เกิน 2,640 บาท
ไม่เกิน 50 ไร่
2 วัน
ไม่เกิน 5,080 บาท
หมายเหตุ
- กรณีเนื้อที่เกินกว่า 50 ไร่ ทุก 50 ไร่ หรือเศษเกินกว่า 25 ไร่ ให้เพิ่มวันทำการรังวัด 1 วัน
– กรณีที่ดินตั้งอยู่ในพื้นที่องค์กรปกครองรูปแบบพิเศษ เช่น กรุงเทพมหานคร/เมืองพัทยา ฯลฯ หรือเทศบาลนคร หรือเทศบาลเมือง หรือที่สวนเป็นไม้ ยืนต้น เช่น สวนผลไม้ สวนปาล์ม สวนยาง ฯลฯ เป็นต้น ให้เพิ่มวันทำการรังวัด 1 วัน
– กรณีการรังวัดต้องคำนวณจำกัดเนื้อที่ ให้เพิ่มวันทำการรังวัด 1 วัน
- กรณีการรังวัดมีที่ดินข้างเคียงมากแปลง ทุกๆข้างเคียง 30 แปลง หรือเศษเกินกว่า 15 แปลง ให้เพิ่มวันทำการรังวัด 1 วัน
– กรณีการรังวัดแบ่งแยกจัดสรร ทุก ๆ 8 แปลง หรือเศษเกินกว่า 4 แปลง ให้เพิ่มวันทำการรังวัด 1 วัน
– กรณีมีเหตุข้อ 1 และ 2 รวมอยู่ในเรื่องเดียวกัน ให้เพิ่มวันทำการรังวัดได้ในกรณีใดกรณีหนึ่งเท่านั้น
สนใจรับบทความดีดี อัปเดต ข่าวอสังหาริมทรัพย์ และ อ่านคู่มือซื้อขาย พร้อม รีวิวโครงการคอนโดฯ ใหม่ บ้านใหม่ หลากหลายทำเลและราคา รวมถึง ทำความรู้จักกับทำเลฮอตทั่วกรุง เพื่อเพิ่มความมั่นใจในการซื้อ-ขาย-เช่า