ครั้งที่แล้วเราพูดถึงคู่รักที่อยู่ในสถานะแฟนที่ยังไม่ได้จดทะเบียนสมรสกันอย่างเป็นทางการแต่ลัดขั้นตอนโดยการกู้ร่วมซื้อบ้านเพื่ออยู่อาศัยด้วยกัน ซึ่งก็สามารถทำได้ไม่ผิด ทั้งคู่รักต่างเพศและคู่รักเพศเดียวกัน แต่จากการสำรวจก็พบว่าเมื่อถึงในสถานการณ์ที่ต้องเลิกรากันในหมู่คู่รักสถานะแฟน พบเจอปัญหาหลายสิ่งพอสมควร เช่น การแบ่งทรัพย์สินหรือ ฝ่ายหนึ่งแบกรับภาระในการผ่อนต่อทั้งที่เงินเดือนแค่เรือนหมื่นต้นๆ ฯลฯ (จริงๆ ยังมีปัญหาอีกมากมายเมื่อเลิกกัน อ่านที่นี่ สารพันปัญหา”สถานะแฟน”กู้ร่วมซื้อบ้าน) ทีนี้หลายคนอาจสงสัยว่าแล้วคู่รักที่สมรสกันอย่างถูกต้องตามกฏหมายล่ะต่างกันอย่างไร จะเป็นอย่างไรเมื่อตกอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่คาดฝัน
ค้นหาประกาศ ทาวน์โฮม ได้ที่นี่
“หากกู้บ้านร่วมกันแล้วหย่าร้างกัน ให้ตกลงกันว่าจะขายบ้าน หรือผ่อนบ้านต่อ และใครจะเป็นคนผ่อน ซึ่งจะต้องดำเนินการเปลี่ยนแปลงเอกสาร และมีค่าใช้จ่ายต่างๆ เกิดขึ้น” – K-Expert
แต่งงานแล้วเลิกกันก็ทุกข์ใจมากพอ แล้วภาระผ่อนบ้านที่มีอยู่ จะทำอย่างไรดี อันดับแรกต้องตั้งสติก่อน ทุกปัญหาย่อมมีทางออกเสมอ สามีภรรยาก็เหมือนลิ้นกับฟันที่อาจกระทบกันบ้างแต่ก็สามารถอยู่ร่วมกันได้ ใจเย็นๆ ค่อยๆ พูดคุยกัน แก้ไขปัญหาร่วมกัน บางครั้งคุณทั้งสองอาจกลับมาเป็นคู่รักที่หลายๆ คนอิจฉา แต่หากต้องแยกกันอยู่จริงๆ ใครจะเป็นเจ้าของบ้านอยู่ หรือใครจะเป็นผู้รับภาระในการผ่อนต่อ เรื่องนี้ต้องพูดคุยกันให้ชัดเจน และที่สำคัญอย่าหยุดผ่อนบ้าน เพราะดอกเบี้ยจะเพิ่มขึ้นจนกลายเป็นภาระจำนวนมาก ดังที่บทความ ‘ขาดผ่อนบ้านจะเกิดอะไรขึ้น’ ว่าไว้ก่อนหน้านี้
กรณีที่ตกลงกันไม่ได้ โดยฝ่ายหนึ่งอยากผ่อนต่อ แต่อีกฝ่ายไม่อยากผ่อนก็จะเป็นปัญหายุ่งยากให้เกิดการฟ้องร้องเป็นคดีความให้เสียประวัติกันอีก เพราะฉะนั้นแล้วตกลงร่วมกันหาทางออกให้สบายใจทั้งสองฝ่ายจะดีกว่า
สำหรับทางออกของปัญหาผ่อนบ้านของคู่รักที่กำลังกลายเป็นคู่ร้างนั้น K-Expert มีแนวทางมาแนะนำดังนี้
ในทางกฎหมายนั้น ผู้ที่มีกรรมสิทธิ์ในตัวบ้านจะเป็นผู้ที่มีชื่ออยู่ด้านหลังโฉนด หากคุณเป็นคู่แต่งงานที่ทำสัญญากู้ซื้อบ้านร่วมกัน แต่หลังโฉนดเป็นชื่อภรรยาฝ่ายเดียว แบบนี้แสดงว่าสามีต้องรักและเชื่อใจภรรยามาก คู่แต่งงานที่รักกันขนาดนี้หากต้องเลิกรากันคงเสียใจน่าดู ลองปรับความเข้าใจกันดูก่อนดีกว่า แต่หากต้องแยกกันอยู่จริง แล้วภรรยาเป็นผู้ผ่อนชำระบ้านต่อ แบบนี้ไม่ยุ่งยาก เนื่องจากกรรมสิทธิ์เป็นของภรรยาอยู่แล้ว เพียงแต่คู่สามีภรรยาจะต้องมาทำเรื่องเปลี่ยนแปลงสัญญาเงินกู้ให้เป็นชื่อของภรรยาคนเดียวที่ธนาคาร ธนาคารก็จะพิจารณาเอกสารการหย่าร้าง แหล่งที่มาของรายได้ ความสามารถในการชำระหนี้ ประวัติการชำระหนี้สินที่ผ่านมา โดยมีค่าใช้จ่ายเช่นเดียวกับตอนทำสัญญาเงินกู้ในครั้งแรก เพราะเปรียบเสมือนว่าต่อไปนี้ผู้ผ่อนชำระจะเหลือเพียงภรรยาผู้เดียว แล้วจะต้องทำอย่างไรให้เราสามารถกู้บ้านได้ผ่านฉลุย อ่าน 8 สิ่งที่ควรทำก่อนจะยื่นข้อกู้
ตรงกันข้าม หากต้องการแก้ชื่อผู้ทำสัญญาและผู้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ เช่น สามีภรรยากู้ร่วมกันและด้านหลังโฉนดก็เป็นชื่อของทั้งคู่ หากต้องการเปลี่ยนแปลงให้เหลือเพียงคนใดคนหนึ่ง แบบนี้ค่อนข้างลำบากทีเดียว เพราะต้องทำเรื่องเปลี่ยนแปลงสัญญากับธนาคาร และเปลี่ยนแปลงกรรมสิทธิ์ที่กรมที่ดินด้วย เริ่มต้นให้ติดต่อธนาคารเพื่อแจ้งความประสงค์ดังกล่าว การทำสัญญาเงินกู้ใหม่จะได้รับวงเงินเท่ากับจำนวนหนี้ผ่อนบ้านที่เหลืออยู่ และธนาคารก็จะพิจารณาเงื่อนไขอื่นๆ ประกอบเหมือนตอนขอกู้ครั้งแรก เช่น ความสามารถในการผ่อนและภาระหนี้ในปัจจุบัน
นอกจากนี้ แนะนำให้ระบุวันที่ต้องการเปลี่ยนแปลงชื่อกรรมสิทธิ์ หรือที่เรียกว่า การจดจำนองใหม่ ซึ่งเป็นการนัดวันที่ทำสัญญาที่กรมที่ดินในเขตพื้นที่นั้นๆ สำหรับการเปลี่ยนแปลงกรรมสิทธิ์ที่กรมที่ดิน ต้องมีการทำหนังสือสัญญาจะซื้อจะขาย เช่น หากชื่อหลังโฉนดเป็นชื่อสามีและภรรยาทั้งคู่ แต่ต้องการเปลี่ยนให้สามีเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ผู้เดียว ภรรยาจะต้องเป็นผู้ขายบ้านหลังนี้ให้สามี และแน่นอนว่าต้องมีค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้อง เช่น ค่าจดจำนองภาษีใหม่ ค่าโอน ค่าธรรมเนียม
แต่หากคู่สามีภรรยาตกลงขายบ้าน โดยไม่มีผู้ใดประสงค์จะผ่อนต่อ ส่วนแบ่งของกำไรหรือหนี้ที่เหลือหลังจากการขายจะขึ้นอยู่กับการจดทะเบียนสมรสค่ะ ถ้าบ้านหลังนี้ได้มาภายหลังการจดทะเบียน กำไรหรือหนี้สินที่เกิดขึ้นระหว่างสมรสจะแบ่งคนละครึ่ง เพราะถือว่าเป็นสินสมรส แต่หากบ้านหลังนี้มีมาก่อนจดทะเบียนสมรส ให้ต่างฝ่ายต่างรับผิดชอบของตนเอง อ่านบทความเกี่ยวกับวิธีการจัดการเมื่ออยากถอนชื่อผู้กู้ร่วมในกรณีเลิกกันเพิ่มเติม
เห็นไหมว่าการหย่าร้างแบ่งสินสมรสเป็นเรื่องยุ่งยากและมีค่าใช้จ่าย ทางที่ดีปรับความเข้าใจกัน นึกถึงวันวานที่หวานอยู่ ช่วยกันคิดช่วยกันแก้ไขชีวิตให้ผ่านพ้นปัญหานี้ไปด้วยกัน โดยขอเป็นกำลังใจให้กับคู่รักทุกคู่
เรื่องข้างต้นนี้เขียนโดย เสาวนีย์ พงษ์เสนีย์ CFP K-Expert ฝ่ายวางแผนและให้คำปรึกษาลูกค้าบุคคล ธนาคารกสิกรไทย หากมีข้อสงสัยหรือต้องการปรึกษาวางแผนเพิ่มเติม สามารถปรึกษากับ K-Expert ธนาคารกสิกรไทย ได้ที่ K-Expert@kasikornbank.com
ข้อจำกัดความรับผิดชอบ: ข้อมูลนี้จัดทำขึ้นเพื่อเป็นข้อมูลทั่วไปเท่านั้น DDproperty by PropertyGuru ซึ่งอยู่ภายใต้การดูแลของบริษัท ออลพร็อพเพอร์ตี้ มีเดีย จำกัด ไม่สามารถรับรองหรือรับประกันเกี่ยวกับข้อมูล รวมทั้งไม่สามารถรับรองหรือรับประกันใด ๆ เกี่ยวกับความเหมาะสม สำหรับวัตถุประสงค์เฉพาะใด ๆ ของข้อมูล ตามขอบเขตสูงสุดที่กฎหมายอนุญาต แม้ว่าเราได้พยายามอย่างเต็มที่ เพื่อให้แน่ใจว่าข้อมูลที่ให้ไว้ในบทความนี้ถูกต้อง เชื่อถือได้ และครบถ้วน ณ เวลาที่เขียน แต่ข้อมูลที่ให้ไว้ในบทความนี้ไม่ควรนำไปใช้ในการตัดสินใจทางการเงิน, การลงทุนอสังหาริมทรัพย์ หรือทางกฎหมายทันที ผู้อ่านไม่ควรใช้ข้อมูลในบทความ แทนคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญที่ผ่านการฝึกอบรมซึ่งสามารถพิจารณาข้อเท็จจริงและสถานการณ์ส่วนตัวของคุณได้ ทั้งนี้ เราไม่สามารถรับผิดชอบใด ๆ หากคุณเลือกที่จะนำข้อมูลไปใช้เพื่อประกอบการตัดสินใจ