เมื่อไหร่ก็ตามที่ค่า Ft (เอฟที) ปรับขึ้น ค่าไฟก็จะขยับขึ้น และเมื่อไหร่ที่ ค่า Ft ปรับลด ค่าไฟก็จะขยับลดลง แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ก็ขึ้นอยู่กับปริมาณการใช้ไฟฟ้าของเราด้วยเช่นกัน ลองมาทำความรู้จักกับค่า Ft คืออะไร และมีผลต่อค่าไฟที่เราเสียไปในแต่ละเดือนอย่างไร
อ่านหัวข้อที่คุณสนใจ
ค่าไฟฟ้าประกอบด้วยอะไรบ้าง และค่า Ft คืออะไร
การคิดค่าไฟจะประกอบด้วยหลาย ๆ ส่วน ซึ่งค่าไฟฟ้าที่การไฟฟ้าเรียกเก็บจากผู้ใช้ไฟฟ้าในแต่ละเดือนประกอบด้วย 3 ส่วน คือ
1. ค่าไฟฟ้าฐาน
ค่าการใช้ไฟฟ้า ซึ่งจะคิดจากต้นทุนในการผลิตไฟฟ้า โดยวิธีการคำนวณก็จะแบ่งตามประเภทผู้ใช้งาน ได้แก่
ประเภท | ผู้ใช้งาน |
ประเภทที่ 1 | บ้านอยู่อาศัย |
ประเภทที่ 2 | กิจการขนาดเล็ก |
ประเภทที่ 3 | กิจการขนาดกลาง |
ประเภทที่ 4 | กิจการขนาดใหญ่ |
ประเภทที่ 5 | กิจการเฉพาะอย่าง |
ประเภทที่ 6 | องค์กรที่ไม่แสวงหากำไร |
ประเภทที่ 7 | กิจการสูบน้ำเพื่อการเกษตร |
ประเภทที่ 8 | ไฟฟ้าชั่วคราว |
ทั้งนี้ ในแต่ละประเภท ก็จะแบ่งหน่วยการคิดค่าไฟฟ้าแยกย่อยตามแต่ละหน่วยที่แบ่งการคิดต้นทุนไว้
2. ค่า Ft
ค่า Ft คือ คำที่เรียกสั้น ๆ ของสูตรการปรับอัตราค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ หรือค่าไฟฟ้าผันแปร ซึ่งเป็นค่าไฟฟ้าที่ปรับเปลี่ยนเพิ่มขึ้นหรือลดลง ตามการเปลี่ยนแปลงของต้นทุนค่าใช้จ่ายด้านเชื้อเพลิงและค่าซื้อไฟฟ้า ที่อยู่นอกเหนือการควบคุมของการไฟฟ้า
สูตร Ft มีการปรับปรุงสูตรหลายครั้ง เพื่อให้เกิดความเหมาะสมกับสภาวะการณ์ของต้นทุนการผลิตไฟฟ้า ณ ขณะนั้น ๆ ล่าสุดเมื่อเดือนตุลาคม 2548 ได้มีการปรับปรุงสูตร Ft โดยให้คงเหลือเฉพาะการเปลี่ยนแปลงของค่าเชื้อเพลิงและค่าซื้อไฟฟ้าเท่านั้น
การปรับค่าไฟฟ้า Ft เดิมดำเนินการโดยคณะกรรมการกำกับดูแลกิจการไฟฟ้าซึ่งเห็นชอบตามข้อเสนอของคณะอนุกรรมการกำกับดูแลอัตราค่าไฟฟ้าและค่าบริการ ซึ่งต่อมา กพช. ได้ยกเลิกคณะกรรมการกำกับดูแลกิจการไฟฟ้า และคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการกำกับดูแลอัตราค่าไฟฟ้าและค่าบริการ เพื่อทำหน้าที่พิจารณาและให้ความเห็นชอบค่าไฟฟ้า Ft
ทั้งนี้ คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ทำหน้าที่กำกับดูแลการประกอบกิจการไฟฟ้าและก๊าซธรรมชาติ ซึ่งรวมถึงการปรับค่าไฟฟ้าตามสูตรการปรับอัตราค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ
โดยค่า Ft มีการปรับปรุงทุก ๆ 4 เดือน
เรื่องควรรู้เกี่ยวกับการโอนย้ายมิเตอร์ไฟฟ้า
โอนย้ายมิเตอร์ไฟฟ้า 3 ขั้นตอน เรื่องต้องรู้หลังย้ายเข้าบ้านใหม่
3. ภาษีมูลค่าเพิ่ม
นอกจากค่าไฟฟ้าฐาน และค่า Ft แล้ว ผู้ใช้ไฟฟ้าจะต้องชำระภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT 7%) รวมกับค่าไฟฟ้าฐาน และค่า Ft ด้วย
อัปเดตค่า Ft ล่าสุด
คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เห็นชอบลดค่า Ft งวดเดือนกันยายน-ธันวาคม 2566 ลง 25 สตางค์ ส่งผลให้ค่าไฟลดลงเหลือ 4.45 บาท/หน่วย มีผลตั้งแต่งวดบิลเดือนกันยายน 2566
ทั้งนี้ หากต้องการคำนวณค่าไฟ สามารถคำนวณค่าใช้ไฟฟ้าได้ที่นี่
อย่างไรก็ตาม แนวโน้มค่า Ft ยังมีโอกาสปรับสูงขึ้นต่อเนื่อง และมีผลทำให้ค่าไฟขึ้นได้อีก ดังนั้น จึงควรหาวิธีประหยัดการใช้พลังงาน เพื่อลดทั้งค่าไฟฐาน ซึ่งเป็นองค์ประกอบหลัก และค่า Ft ที่ผันผวนตามค่าไฟฐานด้วย
ข้อจำกัดความรับผิดชอบ: ข้อมูลนี้จัดทำขึ้นเพื่อเป็นข้อมูลทั่วไปเท่านั้น DDproperty by PropertyGuru ซึ่งอยู่ภายใต้การดูแลของบริษัท ออลพร็อพเพอร์ตี้ มีเดีย จำกัด ไม่สามารถรับรองหรือรับประกันเกี่ยวกับข้อมูล รวมทั้งไม่สามารถรับรองหรือรับประกันใด ๆ เกี่ยวกับความเหมาะสม สำหรับวัตถุประสงค์เฉพาะใด ๆ ของข้อมูล ตามขอบเขตสูงสุดที่กฎหมายอนุญาต แม้ว่าเราได้พยายามอย่างเต็มที่ เพื่อให้แน่ใจว่าข้อมูลที่ให้ไว้ในบทความนี้ถูกต้อง เชื่อถือได้ และครบถ้วน ณ เวลาที่เขียน แต่ข้อมูลที่ให้ไว้ในบทความนี้ไม่ควรนำไปใช้ในการตัดสินใจทางการเงิน, การลงทุนอสังหาริมทรัพย์ หรือทางกฎหมายทันที ผู้อ่านไม่ควรใช้ข้อมูลในบทความ แทนคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญที่ผ่านการฝึกอบรมซึ่งสามารถพิจารณาข้อเท็จจริงและสถานการณ์ส่วนตัวของคุณได้ ทั้งนี้ เราไม่สามารถรับผิดชอบใด ๆ หากคุณเลือกที่จะนำข้อมูลไปใช้เพื่อประกอบการตัดสินใจ