สำหรับคนที่ใช้ชีวิตอยู่ในเมือง วันหนึ่งอาจเกิดไอเดียอยากใช้ชีวิตสโลว์ไลฟ์ ใกล้ชิดธรรมชาติ โดยการมีบ้านชนบทเป็นบ้านหลังที่ 2 เพื่อเดินทางไปพักผ่อนยามว่าง หรือเพื่ออยู่อาศัยในวัยเกษียณ แต่เนื่องจากการซื้อบ้านเป็นสินทรัพย์ที่มีมูลค่าสูง ดังนั้นจึงควรพิจารณาให้รอบคอบก่อนเป็นเจ้าของ เพื่อให้ได้มาซึ่งบ้านชนบทแสนสุขใจอย่างแท้จริง
1. สำรวจตนเองก่อนซื้อว่าต้องการบ้านชนบทจริง ๆ หรือไม่
ก่อนตัดสินใจเพิ่มภาระทางการเงิน ควรสำรวจตนเองก่อนว่าการมีบ้านชนบทคุ้มค่ากับเงินที่ต้องจ่ายไปหรือไม่ ได้ใช้ประโยชน์จริง ๆ หรือไม่ ไม่ใช่อยากมีบ้านชนบทเอาไว้ไปพักผ่อนในเวลาว่าง แต่ในความเป็นจริงมีโอกาสไปพักเพียงไม่กี่ครั้ง หรือผู้ที่ตั้งใจมีบ้านชนบทเอาไว้อยู่อาศัยในวัยเกษียณ ก็ควรถามตัวเองก่อนว่าสามารถทิ้งชีวิตในเมืองไปอยู่บ้านชนบทที่ห่างไกลได้จริงหรือไม่
เนื่องจากบ้านเป็นสินทรัพย์ที่มีความเสื่อมโทรมลงตามกาลเวลา จึงต้องมีค่าใช้จ่ายในการดูแลหรือซ่อมแซม และหากตัดสินใจซื้อหรือปลูกสร้างไปแล้ว แต่มาคิดได้ในภายหลังว่าไม่ได้มาจากความต้องการที่แท้จริง บ้านชนบทแสนสุขในฝันก็จะกลายเป็นภาระขึ้นมาทันที ขณะที่โอกาสในการปล่อยเช่าหรือขายต่อก็ทำได้ไม่ได้ง่ายนัก เพราะไม่ใช่บ้านในเมืองที่ตลาดมีความต้องการสูง
เงินเดือนเท่านี้ กู้ซื้อบ้านได้เท่าไหร่
เงินเดือนของคุณสามารถกู้ซื้อบ้านได้เท่าไหร่ ผ่อนต่อเดือนได้แค่ไหน เช็กได้ที่นี่
2. บ้านชนบท สำรวจงบประมาณก่อนซื้อ เลือกในราคาที่จ่ายไหว
หากอยากเป็นเจ้าของบ้านชนบท ปัจจัยหลักที่ต้องคำนึงถึงคืองบประมาณ โดยควรเลือกบ้านในราคาที่จ่ายไหว และจะไม่กลายเป็นภาระที่ไปเบียดบังค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ทั้งค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน หรือเงินออมที่เก็บเอาไว้เพื่อใช้จ่ายและดูแลสุขภาพยามเกษียณ
ทั้งนี้ สำหรับผู้ที่ต้องการกู้เงินซื้อบ้านจากธนาคาร ตามมาตรการควบคุมสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย หรือ LTV (Loan-to- Ratio) กำหนดว่าการกู้ซื้อบ้านราคาไม่เกิน 10 ล้านบาท หากเป็นบ้านหลังที่ 2 สามารถกู้ได้ 80-90% ของราคาบ้าน หากเป็นบ้านหลังที่ 3 ขึ้นไป กู้ได้ไม่เกิน 70% ของราคาบ้าน
ส่วนบ้านราคามากกว่า 10 ล้านบาทขึ้นไป หากเป็นบ้านหลังที่ 2 ที่ กู้ได้ไม่เกิน 80% ของราคาบ้าน หากเป็นบ้านหลังที่ 3 ขึ้นไป จะกู้ได้ไม่เกิน 70% ของราคาบ้าน
หลักเกณฑ์การกู้ซื้อบ้านตามมาตรการ LTV
3. ทำเลบ้านชนบทเลือกอย่างไรให้เหมาะสม
ทำเลที่เหมาะสมสำหรับบ้านชนบท นอกจากจะร่มรื่น วิวดี สิ่งแวดล้อมรอบ ๆ บ้านก็ต้องดีด้วย โดยควรเป็นทำเลที่ปลอดภัย ไม่เปลี่ยว ไม่ห่างไกลจากชุมชน ร้านค้า ตลาด และโรงพยาบาล มีถนนผ่าน เดินทางสะดวก และไม่ควรอยู่ใกล้โรงงานอุตสาหกรรมหรือชุมชนแออัด
โดยการไปพักผ่อนหรืออยู่อาศัยในบ้านชนบทหลังวัยเกษียณ ควรมีรถยนต์ส่วนตัว เนื่องจากในพื้นที่ต่างจังหวัดมีบริการรถสาธารณะไม่มากเท่าในกรุงเทพฯ รถแท็กซี่หรือรถประจำทางก็หาได้ยากเช่นกัน
ทั้งนี้ เนื่องจากทำเลบ้านชนบทที่เราเลือกอาจเป็นทำเลที่เราไม่คุ้นเคย เนื่องจากอยู่ต่างถิ่น จึงควรทำการสำรวจทำเลโดยละเอียด ทั้งการสอบถามจากคนในพื้นที่ และขับรถสำรวจพื้นที่โดยรอบด้วยตนเองทั้งเวลากลางวันและกลางคืน
นอกจากนั้นยังควรลองหาที่พักในละแวกนั้นและลองไปพักบ่อย ๆ เพื่อให้แน่ใจว่าทำเลนั้นเป็นทำเลที่เราชอบและสามารถไปใช้ชีวิตอยู่ได้จริง ๆ
4. แนวทางการเลือกแบบบ้านชนบท
นอกจากทำเล การเลือกแบบบ้านก็ถือเป็นเรื่องสำคัญสำหรับบ้านชนบท ซึ่งหากต้องการมีบ้านชนบทเอาไว้เป็นสถานที่พักผ่อนแค่ชั่วคราวในยามว่าง ขนาดบ้านอาจจะไม่ต้องใหญ่มาก และฟังก์ชันการใช้งานอาจมีเพียงเท่าที่จำเป็น ไม่ต้องครบครันเหมือนบ้านที่ใช้พักอาศัยในเมือง ซึ่งนอกจากจะช่วยประหยัดงบยังช่วยลดภาระในดูแลรักษาอีกด้วย
ยกตัวอย่างเช่น ห้องนอนอาจไม่ต้องมีเท่ากับจำนวนสมาชิกทุกคนในบ้าน เนื่องจากเวลาเดินทางไปพักผ่อนอาจไม่ได้ไปกันครบทุกคน หรืออาจจะใช้วิธีนอนรวมกันหลายคนเพื่อเพิ่มความสัมพันธ์ในครอบครัว หรือการใช้ประโยชน์โถงส่วนกลางให้เป็นทั้งห้องนั่งเล่น ห้องรับแขก และห้องรับประทานอาหาร
ประกาศขายบ้านเดี่ยว
รวมประกาศขายบ้านเดี่ยว 3 ห้องนอน หลากทำเล หลายระดับราคา
ที่สำคัญควรมีพื้นที่สังสรรค์ซึ่งอาจจะเป็นเฉลียงหน้าบ้าน หรือสนามหน้าบ้าน เพื่อให้ได้บรรยากาศของการไปพักผ่อนอย่างแท้จริง
ส่วนผู้ที่ต้องการบ้านชนบทเอาไว้พักอาศัยในวัยเกษียณ ควรเลือกแบบบ้านชั้นเดียวที่มีฟังก์ชันต่าง ๆ ภายในบ้านเอื้อต่อการใช้งานของผู้สูงอายุ เช่น มีทางลาดสำหรับวีลแชร์ ไม่มีพื้นต่างระดับภายในบ้าน เลือกปูพื้นด้วยวัสดุลดแรงกระแทกและกันลื่น ห้องน้ำออกแบบให้กว้างเป็นพิเศษสำหรับวีลแชร์
ทั้งนี้ บริเวณรอบบ้านควรมีพื้นที่สีเขียว หรืออาจทำเป็นพื้นที่การเกษตร จะได้มีพื้นที่รองรับกิจกรรมการออกกำลังกายในวัยเกษียณด้วย
บ้านผู้สูงอายุควรมีลักษณะอย่างไร
บ้านผู้สูงอายุกับ 4 เคล็ดลับปรับพื้นที่ในบ้านให้เหมาะกับการใช้ชีวิต
5. บ้านชนบทกับ 3 ทางเลือก ปลูกเอง ซื้อบ้านใหม่ หรือซื้อบ้านมือสองดี
สำหรับบ้านชนบท มีตัวเลือกทั้งการปลูกสร้างบ้านเอง การซื้อบ้านใหม่ ซึ่งปัจจุบันมีผู้ประกอบการหันมาพัฒนาโครงการบ้านเพื่อวัยเกษียณในพื้นที่ต่างจังหวัดกันมากขึ้น หรืออาจจะซื้อบ้านมือสองที่มีอยู่ในทำเลที่ต้องการอยู่แล้ว โดยการได้มาซึ่งบ้านชนบททั้ง 3 วิธี มีข้อดี-ข้อเสียต่างกัน ดังนี้
– ปลูกสร้างบ้านเอง ข้อดีคือได้บ้านที่ตรงกับความต้องการ สามารถควบคุมคุณภาพของบ้านได้ แต่อาจเจอปัญหาผู้รับเหมาทิ้งงาน และงบประมาณอาจจะบานปลายได้
– ซื้อบ้านใหม่ ข้อดีคือได้บ้านสภาพดี สามารถควบคุมค่าใช้จ่ายได้ เนื่องจากบ้านที่ซื้อจากโครงการจะถูกกำหนดราคาไว้ชัดเจนอยู่แล้ว ข้อเสียคืออาจต้องใช้เวลาในการหาบ้านที่ถูกใจ
– ซื้อบ้านมือสอง ข้อดีคือราคาย่อมเยากว่าบ้านใหม่ แต่บ้านอาจทรุดโทรม หรือมีปัญหาในบางจุด จึงควรตรวจเช็กสภาพบ้านอย่างละเอียดก่อนซื้อ จะได้ไม่ต้องรับภาระค่าซ่อมแซมเพิ่มขึ้นอีก
ข้อจำกัดความรับผิดชอบ: ข้อมูลนี้จัดทำขึ้นเพื่อเป็นข้อมูลทั่วไปเท่านั้น DDproperty by PropertyGuru ซึ่งอยู่ภายใต้การดูแลของบริษัท ออลพร็อพเพอร์ตี้ มีเดีย จำกัด ไม่สามารถรับรองหรือรับประกันเกี่ยวกับข้อมูล รวมทั้งไม่สามารถรับรองหรือรับประกันใด ๆ เกี่ยวกับความเหมาะสม สำหรับวัตถุประสงค์เฉพาะใด ๆ ของข้อมูล ตามขอบเขตสูงสุดที่กฎหมายอนุญาต แม้ว่าเราได้พยายามอย่างเต็มที่ เพื่อให้แน่ใจว่าข้อมูลที่ให้ไว้ในบทความนี้ถูกต้อง เชื่อถือได้ และครบถ้วน ณ เวลาที่เขียน แต่ข้อมูลที่ให้ไว้ในบทความนี้ไม่ควรนำไปใช้ในการตัดสินใจทางการเงิน, การลงทุนอสังหาริมทรัพย์ หรือทางกฎหมายทันที ผู้อ่านไม่ควรใช้ข้อมูลในบทความ แทนคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญที่ผ่านการฝึกอบรมซึ่งสามารถพิจารณาข้อเท็จจริงและสถานการณ์ส่วนตัวของคุณได้ ทั้งนี้ เราไม่สามารถรับผิดชอบใด ๆ หากคุณเลือกที่จะนำข้อมูลไปใช้เพื่อประกอบการตัดสินใจ