ประกันโครงสร้างบ้านคืออะไร แต่ละส่วนของบ้านคุ้มครองนานกี่ปี

DDproperty Editorial Team
ประกันโครงสร้างบ้านคืออะไร แต่ละส่วนของบ้านคุ้มครองนานกี่ปี
หากคุณกำลังเตรียมตัวซื้อบ้านหลังใหม่อยู่ ต้องไม่ลืมดูประกันโครงสร้างบ้านไว้ด้วย โดยเรื่องนี้ถือเป็นสิทธิที่ผู้ซื้อบ้านจะได้อย่างถูกต้องตามกฎหมายอยู่แล้ว ยิ่งหากเกิดกรณีซื้อบ้านไปแล้วพบภายหลังว่าโครงสร้างบ้านไม่สมบูรณ์ ขาดมาตรฐาน หรือชำรุดเสียหายจนนำมาสู่ปัญหาซ่อมแซมบ้านไม่สิ้นสุด ผู้ซื้อบ้านสามารถเรียกร้องเอาประกันกับทางโครงการหรือผู้ขายได้
มาดูกันว่า ประกันโครงสร้างบ้านคืออะไร และครอบคลุมการคุ้มครองเรื่องไหนบ้าน แต่ละส่วนของบ้านมีการรับประกันนานเท่าไหร่ เพื่อที่คุณจะได้รักษาสิทธิส่วนนี้ก่อนรับโอนกรรมสิทธิ์บ้านหลังใหม่มาเป็นของตัวเอง

ประกันโครงสร้างบ้านคืออะไร ดีอย่างไร

ประกันโครงสร้างบ้าน คือ หลักประกันความปลอดภัยและคุณภาพของสิ่งปลูกสร้างที่ได้ตกลงทำสัญญาซื้อขายกันอย่างถูกต้องตามกฎหมาย โดยทั่วไปแล้วการประกันบ้านจะมีกำหนดระยะเวลาและเงื่อนไขภายใต้กฎหมายกำหนดไว้ ซึ่งรวมอยู่ในกฎหมายแพ่งและพาณิชย์และพระราชบัญญัติที่ดินที่คุ้มครองอยู่ เมื่อทำสัญญาซื้อขายบ้าน ผู้ขายจะระบุเงื่อนไขต่าง ๆ ไว้อย่างชัดเจน เพื่อรับประกันว่ารับผิดชอบและซ่อมแซมในกรณีที่เกิดความเสียหายในส่วนต่าง ๆ ของบ้าน
แน่นอนว่าการมีประกันบ้านจะเป็นสิ่งการันตีความมั่นคงและคุณภาพของสิ่งปลูกสร้างที่คุณจะรับโอนเป็นกรรมสิทธิ์ของตัวเองในอนาคต เพราะคุณจะมีสิทธิเรียกร้องเอาประกันได้ในกรณีที่พบความเสียหายหรือจุดชำรุดของโครงสร้างบ้าน อุปกรณ์อื่น ๆ และระบบต่าง ๆ อันเกิดจากการติดตั้งและก่อสร้างเดิม ทางโครงการหรือผู้ขายจะต้องรับผิดชอบส่วนนี้ทั้งหมด โดยที่คุณไม่จำเป็นต้องออกค่าใช้จ่ายเอง ก่อนทำสัญญาซื้อบ้าน จึงควรดูรายละเอียดที่ทำไม่ให้เสียเปรียบประกอบกันไปด้วย

กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการประกันโครงสร้างบ้าน

ประกันโครงสร้างบ้านนั้นมาพร้อมกับตัวบทกฎหมายอยู่แล้ว นั่นหมายความว่าก่อนทำสัญญาซื้อขาย ผู้ซื้อจำเป็นต้องอ่านรายละเอียดและศึกษาทำความเข้าใจกฎหมายเกี่ยวกับเรื่องนี้ให้เข้าใจด้วย ซึ่งกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับประกันโครงสร้างบ้านโดยทั่วไปแล้วประกอบด้วย

กฎหมายแพ่งและพาณิชย์

ระบุไว้ว่า หากผู้ซื้อบ้านพบว่า บ้านชำรุดหรือเกิดความเสียหายขึ้นในบ้านที่รับโอนกรรมสิทธิ์มานั้น ผู้ขายต้องรับผิดชอบ โดยผู้ซื้อฟ้องร้องให้รับผิดชอบได้ภายใน 1 ปี นับตั้งแต่พบความเสียหายดังกล่าว ทั้งนี้ หากผู้ซื้อรับรู้ว่าบ้านมีตำหนิหรือเสียหายก่อนที่จะตกลงทำสัญญาโอนกรรมสิทธิ์อยู่แล้วนั้น จะไม่สามารถฟ้องร้องเอากับผู้ขายได้

พระราชบัญญัติการจัดสรรที่ดิน

ว่าด้วยข้อบังคับอันเป็นมาตรฐานสัญญาในการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้าง โดยระบุว่าผู้ขายต้อง
รับผิดชอบในกรณีที่บ้านเกิดชำรุดเสียหาย
โดยรายละเอียดการประกันโครงสร้างบ้านแต่ละส่วนมีระยะเวลาคุ้มครองต่างกัน ดังนี้

การประกันโครงสร้างบ้าน

ผู้ขายต้องรับผิดชอบในกรณีที่เกิดความเสียหายของเสาเข็ม ฐานราก เสาคาน พื้น โครงหลังคา และผนังรับน้ำหนัก โดยครอบคลุมการคุ้มครองเป็นเวลา 5 ปี หลังโอนกรรมสิทธิ์
อย่างไรก็ตาม หากความเสีบหายที่เกิดขึ้นเกิดจากการสร้างใหม่ของผู้ซื้อแล้วนั้น ผู้ซื้อไม่มีสิทธิฟ้องร้องเอาผิดกับผู้ขายได้

การประกันอุปกรณ์หรือส่วนควบ

ผู้ขายต้องรับผิดชอบในกรณีที่เกิดความเสียหายของอุปกรณ์สำคัญในอาคารหรือส่วนควบ ได้แก่ ประตูหน้าบ้าน รั้วบ้าน กำแพงบ้าน ผนัง บันได พื้นระหว่างชั้น ราวระเบียง หลังคา ฝ้าเพดาน ประตู หน้าต่าง ห้องน้ำ และงานไฟฟ้า-ประปา หากสิ่งเหล่านี้เกิดชำรุดหรือพังหลังซื้อไปอยู่อาศัย ผู้ซื้อฟ้องร้องได้ทันที โดยครอบคลุมการคุ้มครองเป็นเวลา 1 ปี หลังโอนกรรมสิทธิ์
ทั้งนี้ ความเสียหายที่เกิดจากการต่อเติมหรือสร้างใหม่ตามความประสงค์ของผู้ซื้อเองนั้น จะไม่ครอบคลุมการคุ้มครองตามหลักกฎหมาย โดยผู้ขายจะรับผิดชอบเมื่อเกิดจุดชำรุดหรือความเสียหายของส่วนต่าง ๆ ภายในบ้าน ดังนี้

ประตูบ้าน รั้วบ้าน กำแพง และราวระเบียง

เรียกร้องประกันได้ในกรณีที่ประตูหน้าบ้านเปิด-ปิดไม่ได้ ล็อกไม่ได้ รางเลื่อนตกร่อง แนวกำแพงและรั้วบ้านเกิดรอยร้าว รวมทั้งความเสียหายอื่น ๆ อันเกิดจากโครงสร้างของบ้านเท่านั้น ไม่ครออบคลุมกรณีงานสีหรือการเกิดสนิมตามธรรมชาติ

หลังคาและฝ้าเพดาน

เรียกร้องประกันได้ในกรณีที่เกิดการรั่วซึม ซึ่งรวมไปถึงกรณีท่อน้ำรั่ว แตก หรือซึมด้วย

ผนังและพื้น

เรียกร้องประกันได้ในกรณีงานผิวผนัง ก่อ ฉาบ ไม่เรียบร้อย โดยผู้ซื้อต้องแจ้งกับทางโครงการล่วงหน้า 1-3 เดือน เพื่อเตรียมการซ่อมแซมให้ ทั้งนี้ การประกันไม่ครอบคลุมกรณีพื้นยืดตัว หดตัว หรือแตกยุบใด ๆ

บันได

เรียกร้องประกันได้ในกรณีที่บันไดไม้เกิดการยืดตัวหดตัว แต่ไม่ครอบคลุมกรณีที่บันไดแตกยุบ

ประตู หน้าต่าง

เรียกร้องประกันได้ในกรณีที่วงกบ ประตู หรือหน้าต่างเกิดยืดตัวหดตัว โดยจะได้รับการทาสีปรับแต่งให้เท่านั้น เกิดความชำรุดของการผลิตสินค้า และกรณีเกิดการรั่วซึมของน้ำฝน โดยช่างจะปิดรอยให้

ห้องน้ำ

เรียกร้องประกันได้ในกรณีที่อุปกรณ์สุขภัณฑ์ไม่ได้มาตรฐานหรือมีตำหนิของสินค้าอยู่ก่อนแล้ว หรือชำรุดจากการติดตั้ง โดยผู้ซื้อต้องคุยรายละเอียดความรับผิดชอบกับทางโครงการให้ละเอียดว่าครอบคลุมเฉพาะค่าแรง หรือรวมทั้งค่าแรงและค่าอุปกรณ์

งานระบบไฟฟ้าและประปา

เรียกร้องประกันได้ในกรณีที่เกิดไฟฟ้ารั่ว ไฟซ็อต หรือไฟฟ้าลัดวงจร ส่วนกรณีรับประกันประปานั้นครอบคลุมเฉพาะกรณีท่อน้ำรั่ว ซึม แตกเท่านั้น
ประกันโครงสร้างบ้าน แต่ละส่วนมีระยะเวลาต่างกัน

ประกันอื่นที่จำเป็น มีอะไรบ้าง

นอกจากการรับประกันโครงสร้างบ้าน อุปกรณ์ และส่วนต่าง ๆ ของบ้านตามพระราชบัญญัติการจัดสรรที่ดิน ยังมี
ประกันอื่นที่ควรพิจารณาซื้อเก็บไว้ เพื่อให้เป็นหลักประกันในการคุ้มครองต่อไปในกรณีที่เกิดความเสียหายด้านอื่นขึ้นมา เพราะประกันโครงสร้างบ้านไม่ได้ครอบคลุมทุกกรณีความเสียหายตามรายละเอียดที่ระบุไปข้างต้น หากเกิดความเสียหายที่นอกเหนือไปจากนั้น หมายความว่าเจ้าของบ้านต้องออกค่าใช้จ่ายในการดูแล บำรุง ซ่อมแซมทั้งหมด การมีประกันเสริมไว้คอยจัดการเรื่องนี้จึงตอบโจทย์กว่า
ประกันอื่น ๆ ที่ควรมีไว้เพื่อคุ้มครองบ้านของคุณนั้น ประกอบด้วย
ประกันอัคคีภัย ครอบคลุมการคุ้มครองกรณีที่เสียชีวิตจากไฟไหม้ ชิงทรัพย์ หรือปล้นทรัพย์
– ประกันทรัพย์สินภายในที่อยู่อาศัย ครอบคลุมการคุ้มครองกรณีที่เกิดความเสียหายหรือสูญหายของทรัพย์สิน เครื่องเรือน และของมีค่าต่าง ๆ ภายในบ้าน
– ประกันภัยโจรกรรม ครอบคลุมการคุ้มครองกรณีที่ทรัพย์สินเสียหายหรือสูญหายจากการงัดแงะ ปล้นทรัพย์ และลักทรัพย์
– ประกันภัยพิบัติ ครอบคลุมการคุ้มครองกรณีที่บ้านได้รับความเสียหายจากน้ำท่วม แผ่นดินไหว พายุเข้า และภัยธรรมชาติอื่น ๆ
กว่าจะมีบ้านเป็นของตัวเองสักหลังไม่ใช่เรื่องง่ายเลย นอกจากจะต้องเตรียมเงินและค่าใช้จ่ายต่าง ๆ แล้ว การศึกษาข้อควรระวังและสิทธิประโยชน์ทางกฎหมายของคุณเองนั้นก็เป็นเรื่องสำคัญไม่แพ้กัน ประกันโครงสร้างบ้านก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ผู้ที่คิดจะซื้อบ้านหลังใหม่ต้องศึกษาเพิ่มเติมด้วย
สนใจรับบทความดีดี อัปเดต ข่าวอสังหาริมทรัพย์ และ อ่านคู่มือซื้อขาย พร้อม รีวิวโครงการคอนโดฯ ใหม่ บ้านใหม่ หลากหลายทำเลและราคา รวมถึง ทำความรู้จักกับทำเลฮอตทั่วกรุง เพื่อเพิ่มความมั่นใจในการซื้อ-ขาย-เช่า
ข้อจำกัดความรับผิดชอบ: ข้อมูลนี้จัดทำขึ้นเพื่อเป็นข้อมูลทั่วไปเท่านั้น DDproperty by PropertyGuru ซึ่งอยู่ภายใต้การดูแลของบริษัท ออลพร็อพเพอร์ตี้ มีเดีย จำกัด ไม่สามารถรับรองหรือรับประกันเกี่ยวกับข้อมูล รวมทั้งไม่สามารถรับรองหรือรับประกันใด ๆ เกี่ยวกับความเหมาะสม สำหรับวัตถุประสงค์เฉพาะใด ๆ ของข้อมูล ตามขอบเขตสูงสุดที่กฎหมายอนุญาต แม้ว่าเราได้พยายามอย่างเต็มที่ เพื่อให้แน่ใจว่าข้อมูลที่ให้ไว้ในบทความนี้ถูกต้อง เชื่อถือได้ และครบถ้วน ณ เวลาที่เขียน แต่ข้อมูลที่ให้ไว้ในบทความนี้ไม่ควรนำไปใช้ในการตัดสินใจทางการเงิน, การลงทุนอสังหาริมทรัพย์ หรือทางกฎหมายทันที ผู้อ่านไม่ควรใช้ข้อมูลในบทความ แทนคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญที่ผ่านการฝึกอบรมซึ่งสามารถพิจารณาข้อเท็จจริงและสถานการณ์ส่วนตัวของคุณได้ ทั้งนี้ เราไม่สามารถรับผิดชอบใด ๆ หากคุณเลือกที่จะนำข้อมูลไปใช้เพื่อประกอบการตัดสินใจ

คำนวณยอดผ่อนต่อเดือนตามระยะเวลากู้

เพียงใส่ยอดเงินกู้ที่คุณต้องการ เราจะคำนวณให้คุณเห็นถึงยอดผ่อนชำระต่อเดือนตามระยะเวลาผ่อนและอัตราดอกเบี้ยที่แตกต่างกัน

คำนวณยอดผ่อนต่อเดือน

คำนวณยอดผ่อนชำระต่อเดือนตามอัตราดอกเบี้ยของคุณด้วยเครื่องมือคำนวณสินเชื่อนี้

คำนวณวงเงินกู้สูงสุด

คำนวณสินเชื่อบ้าน ยอดวงเงินกู้บ้านใหม่ที่คาดว่าจะได้รับจากแบงก์และยอดผ่อนชำระในแต่ละเดือน