ปิดหนี้บ้านก่อนกำหนดได้ไหม ผ่อนบ้านน้อยสุดกี่ปี แชร์ 5 เทคนิคผ่อนหมดไว

DDproperty Editorial Team
ปิดหนี้บ้านก่อนกำหนดได้ไหม ผ่อนบ้านน้อยสุดกี่ปี แชร์ 5 เทคนิคผ่อนหมดไว
บ้านเป็นสินทรัพย์ที่มีมูลค่าสูง การกู้ซื้อบ้านจากธนาคารจึงต้องใช้ระยะเวลาในผ่อนชำระค่อนข้างนาน ซึ่งการผ่อนบ้านยิ่งใช้เวลานานก็ย่อมหมายถึงภาระดอกเบี้ยที่โตตามไปด้วย แต่หากบริหารหนี้เป็น การปลดหนี้ได้เร็วแบบดอกเบี้ยไม่บาน ก็เป็นเรื่องที่ทำได้ไม่ยาก ลองมาดูว่าผ่อนบ้านใช้เวลาต่ำสุดกี่ปีและสูงสุดกี่ปี รวมถึงเทคนิคในการผ่อนบ้านให้หมดไว
อ่านหัวข้อที่คุณสนใจ

ผ่อนบ้านใช้เวลาต่ำสุด-สูงสุดกี่ปี

การอนุมัติสินเชื่อกู้ซื้อบ้านแต่ละครั้งมีมูลค่านับล้านบาท ทำให้ธนาคารผู้ปล่อยสินเชื่อกำหนดระยะเวลาการผ่อนบ้านเอาไว้นานสูงสุด 30-40 ปี (ระยะเวลา 40 ปี จะเป็นของธนาคารรัฐ)
อย่างไรก็ตาม ธนาคารก็มีตัวเลือกในการผ่อนบ้านระยะสั้นให้ผู้ขอสินเชื่อเลือกได้ โดยมีทั้งแบบผ่อน 3 ปีและ 5 ปี ตามความสามารถในการผ่อนชำระของผู้กู้

ปิดหนี้บ้านก่อนกำหนดระวังค่าปรับ

หากต้องการปิดหนี้สินเชื่อบ้านที่มีอยู่ ควรเช็กเงื่อนไขในสัญญากู้บ้านหรือสอบถามรายละเอียดกับทางธนาคารที่คุณขอสินเชื่อบ้านไว้ เนื่องจากบางธนาคารมีกำหนดไว้ชัดเจนว่ามีระยะเวลาขั้นต่ำในการผ่อนบ้าน เช่น 3 ปี หรือ 5 ปี หากปิดหนี้สินเชื่อบ้านก่อนกำหนดจะต้องเสียค่าปรับ โดยส่วนใหญ่ค่าปรับจะอยู่ที่ประมาณ 2-3% ของวงเงินกู้คงเหลือ ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขแต่ละธนาคาร

ปิดหนี้ก่อนกำหนด จะทำอย่างไรกับประกันที่ทำไว้

สำหรับผู้กู้บ้านที่ทำประกันชีวิตคุ้มครองสินเชื่อบ้าน หรือประกัน MRTA ไว้ด้วยนั้น เมื่อปิดหนี้บ้านหมดก่อนช่วงเวลาคุ้มครองของประกันจะหมดลง ในกรณีนี้ผู้กู้บ้านสามารถเวนคืนกรมธรรม์ประกันชีวิตสำหรับช่วงเวลาที่เหลืออยู่คืนได้ เช่น ทำประกันชีวิต MRTA เป็นระยะเวลา 20 ปี แต่ใช้เวลาเพียง 5 ปีในการผ่อนชำระหรือปิดหนี้ได้หมด เหลือเวลาคุ้มครองของประกันอีก 15 ปี
หากเวนคืนกรมธรรม์ จะได้รับเงินคืนตามมูลค่าเวนคืนที่ระบุไว้ในเล่มกรมธรรม์ ซึ่งการเวนคืนก็ไม่ยุ่งยาก เพียงแค่ติดต่อบริษัทประกัน หรือธนาคารที่เรากู้บ้านไว้ กรอกแบบฟอร์มขอเวนคืนประกัน บริษัทฯ จะคำนวณเงินค่าเบี้ยประกันส่วนที่เหลือคืนให้กับผู้กู้
แต่ในกรณีที่ผู้กู้บ้านไม่ได้เวนคืนประกันชีวิต MRTA ความคุ้มครองของประกันก็จะดำเนินต่อไปจนสิ้นสุดระยะเวลาคุ้มครองตามระบุไว้ในกรมธรรม์ ซึ่งความคุ้มครองที่ได้รับก็คล้ายกับประกันชีวิตแบบทั่วไป โดยหากผู้กู้บ้านหรือผู้เอาประกันเสียชีวิตในช่วงระยะเวลาที่เหลืออยู่ ผู้รับประโยชน์ที่มีรายชื่อระบุในกรมธรรม์จะได้รับเงินประกันตามวงเงินความคุ้มครองที่มีในขณะนั้น
ผู้ที่กำลังผ่อนบ้าน หากมีเงินก้อน แล้วธนาคารให้ผู้กู้สามารถปิดหนี้บ้านได้เลย การนำเงินก้อนนั้นไปปิดหนี้ที่มีอยู่ ก็เป็นทางเลือกที่เหมาะสม เพราะเมื่อหนี้หมด ไม่มีภาระ จะได้เบาตัว สบายใจไม่ต้องกังวลกับหนี้ที่มี ทำประกันชีวิตคุ้มครองสินเชื่อบ้านแบบไหนดี
ขอบคุณข้อมูลจาก K-Expert
MRTA คืออะไร

MRTA คืออะไร

ผ่อนบ้านระยะสั้นหรือระยะยาวดี

หากเลือกผ่อนบ้านระยะสั้น ข้อดีคือเสียดอกเบี้ยน้อยกว่าและหมดหนี้เร็วกว่า ส่วนการเลือกผ่อนระยะยาวมีข้อเสียคือดอกเบี้ยจะยิ่งสูงตามระยะเวลาที่เลือกผ่อน
แต่ทั้งนี้ ระยะเวลาในการผ่อนบ้านก็จะไปขึ้นอยู่กับเงื่อนไขเรื่องความสามารถในผ่อนต่อเดือนด้วย หากมีความสามารถในการผ่อนต่อเดือนไม่มาก ผู้กู้ก็จะเข้าไปอยู่ภายใต้เงื่อนไขการผ่อนบ้านระยะยาวไปโดยปริยาย
อย่างไรก็ตาม การผ่อนบ้านระยะยาวก็ไม่ได้เป็นทางเลือกที่แย่เกินไปนัก เพราะการมีภาระการผ่อนต่อเดือนในจำนวนที่น้อยกว่า ขณะที่การมีบ้านใหม่ในช่วงแรกอาจมีค่าใช้จ่ายมากมาย ก็จะทำให้ผู้กู้สบายใจได้ว่าจะสามารถแบกรับภาระค่าผ่อนบ้านไหว
นอกจากนั้น หากเลือกผ่อนบ้านระยะสั้นซึ่งต้องจ่ายค่าผ่อนต่อเดือนสูง และบังเอิญไปเจอกับปัญหาเศรษฐกิจที่ส่งผลกระทบต่อรายได้ ก็อาจจะทำให้ไม่สามารถรับภาระการผ่อนบ้านแบบเต็มจำนวนเงินและทำให้เกิดปัญหาตามมาได้
ขณะที่การเลือกผ่อนระยะยาว ค่างวดน้อย แต่หากช่วงไหนมีเงินเหลือ ก็สามารถนำไปจ่ายค่างวดเพิ่มกลายเป็นการคืนเงินต้นเพิ่มและลดดอกเบี้ยลงไปได้ด้วย

5 เทคนิคผ่อนบ้านหมดไว ดอกเบี้ยไม่บาน

ไม่ว่าผู้กู้ซื้อบ้านจะเลือกผ่อนบ้านระยะยาวด้วยความสมัครใจ หรือเพราะติดเงื่อนไขเรื่องความสามารถในการผ่อนชำระต่อเดือน แต่หากมีเทคนิคดี ๆ เหล่านี้เข้ามาช่วยก็จะช่วยลดระยะเวลาในการผ่อนบ้านลงไปได้หลายปีเลยทีเดียว

1. โปะเงินทุกงวด

เงินค่าผ่อนบ้านทุกงวดจะแบ่งเป็นเงินส่วนที่ใช้ชำระเงินต้น และส่วนที่เป็นดอกเบี้ย ทั้งนี้ สำหรับหนี้บ้านเป็นลักษณะการจ่ายแบบลดต้นลดดอก หากลดเงินต้นได้ดอกเบี้ยก็จะลดลงตาม ดังนั้น ถ้าชำระเงินเกินกว่าค่างวด เงินส่วนที่เกินก็จะถือเป็นการชำระเงินต้นเพิ่ม ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยลดลงตาม และช่วยย่นระยะเวลาในการผ่อนบ้านลงไปได้
วิธีผ่อนบ้านให้หมดเร็ว

วิธีผ่อนบ้านให้หมดเร็ว

2. โปะเงินเพิ่มในช่วงที่ธนาคารคิดอัตราดอกเบี้ยต่ำ

ในช่วง 3-5 ปีแรก ธนาคารมักคิดดอกเบี้ยคงที่ในอัตราต่ำ เฉลี่ยอยู่ที่ 3% ของเงินต้น หลังจากนั้นจึงปรับเพิ่มขึ้นเป็น 5-6% ดังนั้น จึงควรรีบโปะเงินในช่วงดอกเบี้ยต่ำ เพราะหลังจากนั้นแม้อัตราดอกเบี้ยจะเพิ่มขึ้น แต่เงินที่โปะไปก่อนหน้าก็จะช่วยลดเงินต้นลงทำให้อัตราดอกเบี้ยที่ผูกอยู่กับเงินต้นลดลงไปด้วย

3. ชำระหนี้ให้ตรงเวลา

นอกจากจะตัดปัญหาการเกิดดอกเบี้ยสะสมแล้ว ยังช่วยสร้างเครดิต และช่วยให้การรีไฟแนนซ์หรือรีเทนชั่นในอนาคตทำได้ง่ายขึ้น

4. รีไฟแนนซ์ (Refinance)

การกู้สินเชื่อจากที่ใหม่มาใช้หนี้ที่เก่า เป็นวิธีที่นิยมทำเป็นอย่างมาก เนื่องจากธนาคารมักจะให้อัตราดอกเบี้ยต่ำในช่วง 3-5 ปีแรก ดังนั้น เมื่ออัตราดอกเบี้ยถูกปรับขึ้น แล้วรีไฟแนนซ์ไปธนาคารใหม่ก็จะทำให้กลับมาได้ดอกเบี้ยต่ำเช่นเดิมอีก 3-5 ปี
รีไฟแนนซ์บ้าน ธนาคารไหนดี

รีไฟแนนซ์บ้าน ธนาคารไหนดี

5. รีเทนชั่น (Retention)

การขอปรับลดอัตราดอกเบี้ยกับธนาคารเดิม กรณีนี้มักทำได้เมื่อผู้กู้อยู่ครบเวลาที่ธนาคารกำหนด ซึ่งส่วนใหญ่คือ 3 ปี และหากมีประวัติการผ่อนชำระที่สม่ำเสมอก็จะเพิ่มโอกาสในการได้ลดดอกเบี้ยมากขึ้นตามไปด้วย
เปรียบเทียบข้อดี-ข้อด้อยระหว่าง Retention และ Refinance
สถาบันการเงิน
ธนาคารหรือสถาบันการเงินเดิม
ธนาคารหรือสถาบันการเงินใหม่
การเตรียมเอกสาร
ไม่ต้องยุ่งยากในการเตรียมเอกสาร เนื่องจากธนาคารสามารถใช้เอกสารเดิมหลายฉบับที่ผู้กู้ใช้ยื่นขอสินเชื่อ
ต้องเตรียมเอกสารใหม่ทั้งหมด
ระยะเวลาอนุมัติ
พิจารณาอนุมัติเร็ว
ใช้ระยะเวลาอนุมัติเท่ากับการขอกู้ใหม่
ค่าใช้จ่าย
มีค่าธรรมเนียมประมาณ 1-2% ของยอดวงเงินกู้เดิม หรือวงเงินที่เหลือแล้วแต่กำหนด
ค่าธรรมเนียมมากกว่า (มีค่าธรรมเนียมการจัดการสินเชื่อตามสัญญาใหม่ 0-3% ค่าธรรมเนียมในการจำนอง 1% ค่าประเมินราคาหลักประกัน 0.25-2% ค่าประกันอัคคีภัยประมาณ 2,000 บาทต่อมูลค่าบ้าน 1 ล้านบาท และค่าอากรแสตมป์ 0.05% ของวงเงินกู้)
อัตราดอกเบี้ย
เป็นไปตามธนาคารเดิมกำหนด
เลือกธนาคารที่มีอัตราดอกเบี้ยต่ำกว่าได้
Retention มีความสะดวกในการขอลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้มากกว่า ส่วนการ Refinance จะมีโอกาสในการเลือกอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ได้หลากหลายกว่า โดยผู้กู้ควรเลือกอัตราดอกเบี้ยต่ำที่สุดในเงื่อนไขที่ดีที่สุด
ข้อจำกัดความรับผิดชอบ: ข้อมูลนี้จัดทำขึ้นเพื่อเป็นข้อมูลทั่วไปเท่านั้น DDproperty by PropertyGuru ซึ่งอยู่ภายใต้การดูแลของบริษัท ออลพร็อพเพอร์ตี้ มีเดีย จำกัด ไม่สามารถรับรองหรือรับประกันเกี่ยวกับข้อมูล รวมทั้งไม่สามารถรับรองหรือรับประกันใด ๆ เกี่ยวกับความเหมาะสม สำหรับวัตถุประสงค์เฉพาะใด ๆ ของข้อมูล ตามขอบเขตสูงสุดที่กฎหมายอนุญาต แม้ว่าเราได้พยายามอย่างเต็มที่ เพื่อให้แน่ใจว่าข้อมูลที่ให้ไว้ในบทความนี้ถูกต้อง เชื่อถือได้ และครบถ้วน ณ เวลาที่เขียน แต่ข้อมูลที่ให้ไว้ในบทความนี้ไม่ควรนำไปใช้ในการตัดสินใจทางการเงิน, การลงทุนอสังหาริมทรัพย์ หรือทางกฎหมายทันที ผู้อ่านไม่ควรใช้ข้อมูลในบทความ แทนคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญที่ผ่านการฝึกอบรมซึ่งสามารถพิจารณาข้อเท็จจริงและสถานการณ์ส่วนตัวของคุณได้ ทั้งนี้ เราไม่สามารถรับผิดชอบใด ๆ หากคุณเลือกที่จะนำข้อมูลไปใช้เพื่อประกอบการตัดสินใจ

คำถามยอดนิยม

การผ่อนบ้านระยะสั้นที่สุดขึ้นอยู่กับแต่ละธนาคาร โดยทั่วไปมีทั้งแบบผ่อน 3 ปีและ 5 ปี ตามความสามารถในการผ่อนชำระของผู้กู้

โดยทั่วไปธนาคารผู้ปล่อยสินเชื่อกำหนดระยะเวลาการผ่อนบ้านเอาไว้นานสูงสุด 30-40 ปี (ระยะเวลา 40 ปี จะเป็นของธนาคารรัฐ)