ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ตอนที่ 3 ความเป็นธรรมของภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง

DDproperty Editorial Team
ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ตอนที่ 3 ความเป็นธรรมของภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง
ในบทความเกี่ยวกับภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง 2 ตอนแรกก่อนหน้านี้ ได้กล่าวถึงความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง และอัตราภาษีที่จัดเก็บจริงและการบรรเทาภาระภาษีไปแล้ว เชื่อว่าผู้อ่านจะเห็นภาพโดยรวมของภาษีที่ดินฉบับนี้อย่างชัดเจนในระดับหนึ่งแล้ว
หลังจากที่กฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างออกมาได้ระยะเวลาหนึ่งแล้ว พบว่า มีรายงานชิ้นหนึ่งที่นำเสนอปัญหาที่น่าสนใจของกฎหมายฉบับดังกล่าว คือ รายงานการพิจารณาศึกษาเรื่อง “ปัญหาและผลกระทบจากการบังคับใช้พระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562 ของคณะกรรมาธิการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชนสภาผู้แทนราษฎร
ในบทความนี้จึงขอสรุปประเด็นปัญหาจากรายงานฉบับดังกล่าว เพื่อให้ท่านผู้อ่านได้เห็นอีกมุมมองหนึ่งว่าภาษีที่ดินฉบับใหม่นี้ ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความเป็นธรรมในสังคม ลดความเหลื่อมล้ำระหว่างคนรวยกับคนจนนั้น จะสร้างความเหลื่อมล้ำใหม่ ๆ ขึ้นมาหรือไม่ อย่างไร

ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงวิธีการคำนวณภาษี

การเปลี่ยนแปลงวิธีการประเมินภาษีจากการคำนวณจากภาษีโรงเรือน มาเป็นภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเป็นการเอื้อประโยชน์อย่างยิ่งต่อผู้ประกอบการ เนื่องจากเดิมภาษีโรงเรือนมีฐานภาษีเป็นค่าเช่า แต่ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างมีฐานภาษีเป็นราคาประเมินทรัพย์สิน
ตัวอย่างภาษีที่รัฐจัดเก็บได้น้อยลง เช่น
เขตคลองเตย
– บริษัท เอ็กเชนทาวเวอร์ จำกัด ปี 2562 เสียภาษี 52,120,699.38 บาท ปี 2563 เสียภาษี 8,040,776.70 บาท ลดลงร้อยละ 84.57
– บริษัท เกตเวย์เอสเตท จำกัด ปี 2562 เสียภาษี 44,552,161.25 บาท ปี 2563 เสียภาษี 8,072,564.03 บาท ลดลงร้อยละ 81.88
เขตจตุจักร
– บริษัท สยามจตุจักร จำกัด ปี 2562 เสียภาษี 12,501,050 บาท ปี 2563 เสียภาษี 4,363,090.08 บาท
เขตดินแดง
– บริษัท เอไอเอ จำกัด ปี 2562 เสียภาษี 39,691,442.50 ปี 2563 เสียภาษี 10,859,496.46 บาท ลดลงร้อยละ 72.64 เป็นต้น
นอกเหนือจากการเพิ่มความเหลื่อมล้ำที่ผู้ให้เช่าอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่เสียภาษีน้อยลงแล้ว การที่จัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างได้น้อยลงส่งผลกระทบโดยตรงต่องบประมาณขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีรายได้จากการเก็บภาษีดังกล่าว ทำให้มีงบประมาณในการพัฒนาท้องถิ่นลดน้อยลงตามไปด้วย เป็นการเพิ่มเติมความเหลื่อมล้ำระหว่างคนรวยกับคนจนในทางอ้อมอีกส่วนหนึ่งด้วย

ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงราคาประเมิน

ในขณะที่ผู้ประกอบการให้เช่าอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ได้รับประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงฐานภาษีทำให้ภาษีลดลงอย่างมาก แต่ประชาชนทั่วไปกลับถูกจัดเก็บภาษีในอัตราสูงขึ้นนับ 10 เท่า เช่น
ในรายงานของคณะกรรมาธิการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชนสภาผู้แทนราษฎร ยกตัวอย่างกรณีเทศบาลนครแหลมฉบังที่นางบุญเยี่ยม สถานนท์ชัย เจ้าของที่ดินว่างเปล่า ในปี 2562 เสียภาษี 1,041 บาท แต่ในปี 2563 เสียภาษี 13,462.43 บาท หลังจากบรรเทาภาระภาษีตามกฎหมายแล้ว ส่วนในปี 2564 จะต้องเสียภาษี 25,883.85 บาท ปี 2565 จะต้องเสียภาษี 38,305.28 บาท และเสียเต็มที่ 50,726.70 บาท ในปี 2566
โดยจากรายงานฉบับดังกล่าวได้ระบุสาเหตุที่ประชาชนต้องเสียภาษีเพิ่มขึ้นเป็น 10 เท่านี้ ก็เนื่องมาจากภาษีบำรุงท้องที่เดิมใช้ราคาประเมินเก่าที่ไม่มีการปรับปรุงมาตั้งแต่ปี 2521 แล้ว

ผลกระทบจากการยกเว้นฐานภาษีบ้านหลังหลักมูลค่าไม่เกิน 50 ล้านบาท

ตามที่เคยเขียนไปแล้วในบทความฉบับก่อน พระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างฯ ยกเว้นการจัดเก็บภาษีสำหรับบ้านหลังหลักที่มีมูลค่าไม่เกิน 50 ล้านบาท ซึ่งอาจสร้างความไม่เป็นธรรม เอื้อประโยชน์ให้แก่คนที่มีฐานะดีได้รับประโยชน์มากกว่าคนที่มีฐานะด้อยกว่า เช่น
ผู้ที่มีบ้านอยู่ใจกลางเมืองราคาประเมิน 50 ล้านบาท ก็จะได้รับยกเว้นภาษีทั้งหมดเช่นเดียวกันกับผู้ที่มีบ้านอยู่ต่างจังหวัดในราคาประเมิน 1 แสนบาท เมื่อคิดเป็นอัตราภาษีที่ได้รับการยกเว้นแล้ว ผู้ที่มีทรัพย์สินมากกว่าก็จะได้รับยกเว้นภาษีมากกว่า กลายเป็นว่าผู้ที่มีฐานะทางเศรษฐกิจดีกว่าได้รับประโยชน์มากกว่า
ที่กล่าวมาแล้วเป็นเพียงผลกระทบที่อาจสร้างความไม่เป็นธรรมในการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างตามที่พบในรายงานของคณะกรรมาธิการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชนสภาผู้แทนราษฎรเท่านั้น และเนื่องจากกฎหมายฉบับนี้ยังเป็นเรื่องใหม่ เมื่อใช้บังคับไปแล้วอาจเกิดปัญหาหรือข้อควรพิจารณาต่าง ๆ ขึ้นมาได้อีกมาก
ด้วยเหตุนี้จึงเป็นเรื่องสมควรที่ผู้มีอำนาจออกกฎหมายจะได้ทบทวนหลักการดั้งเดิมของกฎหมายฉบับนี้ว่าประสงค์ที่จะลดความเหลื่อมล้ำระหว่างคนรวยและคนจน และตรวจสอบว่าปัจจุบันกฎหมายนี้ได้ตอบสนองจุดมุ่งหมายดังกล่าวหรือไม่
เรื่องข้างต้นเขียนโดย ปกรณ์ อุ่นหิรัญสกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท ลอว์ แอนด์ เอควิตี้ จำกัด หากมีข้อสงสัยหรือต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม สามารถติดต่อได้ที่ pakorn@lawandequity.co
สนใจรับบทความดีดี อัปเดต ข่าวอสังหาริมทรัพย์ และ อ่านคู่มือซื้อขาย พร้อม รีวิวโครงการคอนโดฯ ใหม่ บ้านใหม่ หลากหลายทำเลและราคา รวมถึง ทำความรู้จักกับทำเลฮอตทั่วกรุง เพื่อเพิ่มความมั่นใจในการซื้อ-ขาย-เช่า

คำนวณยอดผ่อนต่อเดือนตามระยะเวลากู้

เพียงใส่ยอดเงินกู้ที่คุณต้องการ เราจะคำนวณให้คุณเห็นถึงยอดผ่อนชำระต่อเดือนตามระยะเวลาผ่อนและอัตราดอกเบี้ยที่แตกต่างกัน

คำนวณยอดผ่อนต่อเดือน

คำนวณยอดผ่อนชำระต่อเดือนตามอัตราดอกเบี้ยของคุณด้วยเครื่องมือคำนวณสินเชื่อนี้

คำนวณวงเงินกู้สูงสุด

คำนวณสินเชื่อบ้าน ยอดวงเงินกู้บ้านใหม่ที่คาดว่าจะได้รับจากแบงก์และยอดผ่อนชำระในแต่ละเดือน