ขอทะเบียนบ้าน ขั้นตอนอย่างไร 7 เอกสารที่ต้องเตรียมไปสำนักทะเบียน

DDproperty Editorial Team
ขอทะเบียนบ้าน ขั้นตอนอย่างไร 7 เอกสารที่ต้องเตรียมไปสำนักทะเบียน
ขอทะเบียนบ้าน ขอบ้านเลขที่ เป็นขั้นตอนหลังจากสร้างบ้านเสร็จหรือมีบ้านเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ลองมาดูว่าทะเบียนบ้านมีกี่ประเภท ขั้นตอนของการขอบ้านเลขที่ และขอทะเบียนบ้าน รวมถึงทะเบียนบ้านดิจิทัลคืออะไร ทั้งหมดเป็นเรื่องที่เจ้าของบ้านควรรู้
อ่านหัวข้อที่คุณสนใจ

ทะเบียนบ้านมีกี่ประเภท

ทะเบียนบ้าน คือ ทะเบียนประจำบ้านของบ้านแต่ละหลัง มีบ้านเลขที่กำกับอยู่ รวมถึงรายชื่อของบุคคลทั้งหมดที่อาศัยอยู่ในบ้าน โดยทะเบียนบ้านแยกออกเป็น 5 ประเภท ด้วยกัน ดังนี้
ประเภททะเบียนบ้านใช้ในกรณี
ทะเบียนบ้านชั่วคราวบ้านไม่ได้ขออนุญาตปลูกสร้างตามกฎหมาย
ทะเบียนบ้านชั่วคราวของสำนักทะเบียนใช้ลงรายการชื่อของบุคคลต่าง ๆ ที่ทำการขอแจ้งย้ายทะเบียนบ้านจากที่อยู่เดิมไปยังบ้านเลขที่ใหม่
ทะเบียนบ้าน (ท.ร.13)ใช้ลงรายการชื่อบุคคลของคนต่างด้าวที่เข้าเมืองโดยชอบด้วยกฎหมายและไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ทะเบียนบ้าน (ท.ร.14)ใช้ลงรายการชื่อบุคคลที่มีสัญชาติไทยและบุคคลต่างด้าวที่มีใบประจำตัวคนต่างด้าว
ทะเบียนบ้านกลางใช้ลงรายการชื่อบุคคลในกรณีที่บุคคลนั้นไม่อาจมีชื่อในทะเบียนบ้าน

1. ทะเบียนบ้านชั่วคราว

เป็นทะเบียนบ้านที่ออกโดยสำนักบริหารการทะเบียน ซึ่งทะเบียนบ้านชั่วคราวนั้นจะถูกใช้ในกรณีที่บ้านไม่ได้ขออนุญาตปลูกสร้างบ้านตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมการก่อสร้างอาคาร หรือเป็นบ้านที่ปลูกสร้างอยู่ในบริเวณพื้นที่สาธารณะ เขตพื้นที่ป่าสงวน พื้นที่ป่าบุกรุกโดยไม่ได้รับอนุญาต หรือไม่มีเอกสารสิทธิ์ในการก่อสร้าง
ดังนั้นจึงจำเป็นจะต้องได้รับการออกทะเบียนบ้านชั่วคราวก่อน และหลังจากมีการพิสูจน์หรือดำเนินการตรวจสอบเป็นที่แล้วเสร็จแล้วจึงจะได้รับเอกสารทะเบียนบ้านฉบับปกติ

2. ทะเบียนบ้านชั่วคราวของสำนักทะเบียน

เป็นทะเบียนบ้านที่ถูกกำหนดขึ้น เพื่อใช้ในการลงรายการชื่อของบุคคลต่าง ๆ ที่ทำการขอแจ้งย้ายทะเบียนบ้านจากที่อยู่เดิมไปยังบ้านเลขที่ใหม่ภายใน 15 วัน นับตั้งแต่ทำการย้ายออก
ทำความรู้จักทะเบียนบ้านชั่วคราว

ทำความรู้จักทะเบียนบ้านชั่วคราว

3. ทะเบียนบ้าน (ท.ร.13)

เป็นทะเบียนบ้านที่ใช้ลงรายการชื่อบุคคลของคนต่างด้าวที่เข้าเมืองโดยชอบด้วยกฎหมายและไม่ชอบด้วยกฎหมาย

4. ทะเบียนบ้าน (ท.ร.14)

เป็นทะเบียนบ้านที่ใช้ลงรายการชื่อบุคคลที่มีสัญชาติไทยและบุคคลต่างด้าวที่มีใบประจำตัวคนต่างด้าว

5. ทะเบียนบ้านกลาง

เป็นเอกสารที่ไม่ใช่ทะเบียนบ้าน จะใช้ลงรายการชื่อบุคคลในกรณีที่บุคคลนั้นไม่อาจมีชื่อในทะเบียนบ้าน
ย้ายทะเบียนบ้านปลายทาง ต้องทำอย่างไร

ย้ายทะเบียนบ้านปลายทาง ต้องทำอย่างไร

ข้อควรรู้ในการขอทะเบียนบ้าน

เจ้าของบ้านจะต้องดำเนินการยื่นเอกสารขอทะเบียนบ้านภายในระยะเวลา 15 วัน หลังการก่อสร้างบ้านแล้วเสร็จ (ตาม พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎร์ พ.ศ. 2534) หากเจ้าของบ้านไม่ดำเนินการขอทะเบียนบ้านภายในระยะเวลา 15 วัน ซึ่งเริ่มนับตั้งแต่วันที่ก่อสร้างบ้านเสร็จสมบูรณ์ จะถือว่ามีความผิด และมีโทษปรับไม่เกิน 1,000 บาท

ขอบ้านเลขที่ ขอทะเบียนบ้าน ใช้เอกสารอะไรบ้าง

1. เอกสาร ท.ร.9 หรือใบรับแจ้งเกี่ยวกับบ้าน ออกโดยหน่วยงานท้องที่ (ผู้ใหญ่บ้าน/อบต.)
2. ใบอนุญาตก่อสร้างหรือหนังสือรับรองสิ่งปลูกสร้างตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมการก่อสร้างอาคาร หรือหนังสือสัญญาซื้อขายบ้าน (ถ้ามี)
3. โฉนดที่ดินหรือเอกสารสิทธิ์แสดงการครอบครองที่ดินที่ใช้ในการก่อสร้าง
4. บัตรประจำตัวประชาชนของเจ้าของบ้าน
5. บัตรประจำตัวประชาชนของผู้แจ้งขอทะเบียนบ้านหรือผู้ที่ได้รับมอบหมาย
6. หนังสือมอบอำนาจ (ถ้ามี)
หนังสือมอบอำนาจ จะใช้ในกรณีที่เจ้าของบ้านไม่สามารถติดต่อยื่นเรื่องขอบ้านเลขที่หรือทะเบียนบ้านด้วยตัวเอง และมีการมอบหมายให้บุคคลอื่นดำเนินการยื่นเรื่องขอทะเบียนบ้านแทนตน
โดยจะมีเอกสารสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนและสำเนาทะเบียนบ้านของเจ้าของบ้าน พร้อมลงกำกับสำเนาถูกต้องในเอกสารสำคัญอย่างละ 1 ชุด ซึ่งใช้ประกอบในหนังสือมอบอำนาจ
รายละเอียดในเอกสารหนังสือมอบอำนาจ จะต้องมีพยานบุคคล จำนวน 2 คน ลงชื่อรับทราบ เพื่อเป็นพยานในการมอบอำนาจ
7. รูปถ่ายสิ่งปลูกสร้างที่ดำเนินการแล้วเสร็จ ประกอบไปด้วย 4 ด้าน คือ ด้านหน้า ด้านหลัง ด้านซ้าย และด้านขวาของตัวบ้าน
การขอทะเบียนบ้าน มีหลายขั้นตอน

ขอทะเบียนบ้าน มีขั้นตอนอย่างไร

หลังจากจัดเตรียมเอกสารต่าง ๆ เรียบร้อยแล้ว ให้ดำเนินการขอบ้านเลขที่ ขอทะเบียนบ้าน ดังนี้
1. ให้ยื่นเรื่องติดต่อขอบ้านเลขที่และสมุดทะเบียนบ้าน ณ สำนักทะเบียนในพื้นที่ปลูกสร้าง
2. นายทะเบียนตรวจสอบเอกสารที่เกี่ยวข้อง
3. ออกบ้านเลขที่ รวมถึงจัดทำสมุดทะเบียนบ้านและสำเนาทะเบียนบ้าน
4. ส่งมอบทะเบียนบ้านให้แก่เจ้าของบ้านหรือผู้ได้รับมอบอำนาจ

ขอบ้านเลขที่ ขอทะเบียนบ้าน ใช้ระยะเวลาเท่าไหร่

หลังจากรู้ว่าขอบ้านเลขที่ ที่ไหน ขอทะเบียนบ้าน มีขั้นตอนอย่างไหร ลำดับต่อไปเป็นการทำการยื่นเอกสารคำร้องขอบ้านเลขที่ ขอทะเบียนบ้านภายใน 15 วัน หลังก่อสร้างบ้านแล้วเสร็จ เจ้าหน้าที่จะทำการตรวจสอบเอกสารและความถูกต้องของข้อมูลว่ามีลักษณะถูกต้องตามกฎหมายที่กำหนดหรือไม่
หากเป็นไปตามข้อกำหนด เจ้าหน้าที่จะกำหนดบ้านเลขที่และสมุดทะเบียนบ้านให้แก่ผู้แจ้งภายใน 7 วัน ในกรณีปลูกสร้างบ้านในเขตเทศบาล ไปจนถึงระยะเวลา 30 วัน ในกรณีปลูกสร้างบ้านนอกเขตเทศบาล

ขอบ้านเลขที่ ขอทะเบียนบ้าน มีค่าใช้จ่ายอะไรบ้าง

สามารถสอบถามได้ที่สำนักทะเบียนท้องที่ หรือ Call Center 1548 และดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ทาง http://www.bora.dopa.go.th/index.php/th/
จะเห็นได้ว่าการขอบ้านเลขที่ ขอทะเบียนบ้านนั้นจะอยู่ในขั้นตอนท้าย ๆ ของการก่อสร้างบ้าน ซึ่งหลังจากที่ขอบ้านเลขที่และสมุดทะเบียนบ้านมาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เจ้าบ้านจะต้องนำบ้านเลขที่ที่ได้ไปใช้ในการขอใช้ไฟฟ้าและน้ำประปาในลำดับต่อไป
โอนย้ายมิเตอร์ไฟฟ้ามีขั้นตอนอย่างไร

โอนย้ายมิเตอร์ไฟฟ้ามีขั้นตอนอย่างไร

ทะเบียนบ้านดิจิทัลคืออะไร

ล่าสุด เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2565 ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ กฎกระทรวง กระทรวงมหาดไทย เรื่อง กำหนดการปฏิบัติงานการ "ทะเบียนบ้าน" ด้วยระบบดิจิทัล ปี 2565 โดยให้มีผลเมื่อพ้นกำหนด 30 วันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา
สาระสำคัญของประกาศดังกล่าวได้ระบุในข้อปฏิบัติงานการ "ทะเบียนบ้าน" ด้วยระบบดิจิทัล ปี 2565 ให้สำนักงานทะเบียนกลาง จัดให้มีการบริการงานทะเบียนด้วยระบบดิจิทัล เพื่อให้ประชาชนที่ได้รับการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัลแล้ว สามารถขอรับบริการผ่านระบบดิจิทัลได้ด้วยตนเอง

ทะเบียนบ้านดิจิทัลใช้ทำอะไรได้บ้าง

ในช่วงแรกที่เปิดให้บริการทะเบียนบ้านดิจิทัลผ่านโทรศัพท์มือถือ สามารถใช้บริการได้ดังนี้
  • การตรวจข้อมูลส่วนบุคคลผ่านระบบฐานข้อมูลประชาชนและการบริการภาครัฐ
  • การจองคิวรับบริการงานทะเบียนล่วงหน้า
  • การแจ้งย้ายที่อยู่ปลายทาง
  • ลำดับต่อไปจะขยายบริการงานทะเบียนราษฎรประเภทอื่น ๆ เช่น การตรวจคัดและรับรองสำเนารายการทะเบียนราษฎร การแจ้งย้ายเข้า/ย้ายออก/ย้ายปลายทาง การแจ้งเกิดและการแจ้งตาย

ขั้นตอนการขอทะเบียนบ้านดิจิทัล

  • ผู้ใช้บริการต้องยื่นคำขอลงทะเบียนเพื่อพิสูจน์ตัวตนและกำหนดรหัสลับประจำตัว ต่อนายทะเบียน ณ สำนักทะเบียนอำเภอ สำนักทะเบียนท้องถิ่น หรือตามที่ผู้อำนวยการทะเบียนกลางกำหนด
  • ต้องแสดงบัตรประจำตัวประชาชนเพื่อให้นายทะเบียนทำการตรวจสอบข้อมูลก่อนการลงทะเบียน
ผู้สนใจสามารถใช้บริการทะเบียนบ้านดิจิทัลได้ผ่านมือถือ โดยจะต้องดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน “Digital ID” ผ่านระบบปฏิบัติการ iOS และ Android
ทั้งนี้ ในระยะแรกที่เปิดให้บริการ ได้มีการยกเว้นค่าธรรมเนียมเกี่ยวกับการทะเบียนราษฎรที่จะต้องเรียกเก็บจากผู้ใช้บริการด้วยระบบดิจิทัล เป็นระยะเวลา 1 ปี นับแต่ที่กฎกระทรวงนี้มีผลบังคับใช้

เกร็ดความรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับการเป็นเจ้าบ้านและหน้าที่ของเจ้าบ้าน

ก่อนอื่นต้องมาทำความเข้าใจกันก่อนว่าเจ้าบ้านกับเจ้าของบ้านนั้นแตกต่างกัน

1. แยกแยะให้ออกระหว่าง "เจ้าบ้านในทะเบียนบ้านกับเจ้าของบ้าน"

  • เจ้าบ้าน ผู้ซึ่งเป็นหัวหน้าครอบครองบ้าน ในฐานะเป็นเจ้าของ ผู้เช่า หรือ ในฐานะอื่นใดก็ตาม โดยในกรณีที่ไม่ปรากฎเจ้าบ้านหรือไม่อยู่ ตาย สูญหาย สาบสูญ หรือไม่สามารถปฏิบัติกิจการได้ ให้ถือว่าบุคคลผู้มีหน้าที่ดูแลบ้านในขณะนั้นเป็นเจ้าของบ้าน
  • เจ้าของบ้าน เจ้าของกรรมสิทธิ์ที่มีชื่อในโฉนดที่ดิน สัญญาซื้อขาย โดยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หมายถึง ผู้ทรงกรรมสิทธิ์ หรือผู้มีอำนาจใช้สอย จำหน่าย จ่ายโอน ปล่อยเช่า ได้ดอกผลจากการติดตามและเอาคืน ซึ่งทรัพย์สินของตนรวมถึงขัดขวางมิให้ผู้อื่นเข้ามาเกี่ยวข้องกับทรัพย์สินนั้นโดยมิชอบกฎหมาย
เป็นเจ้าบ้าน 2 หลังได้ไหมในทะเบียนบ้าน

เป็นเจ้าบ้าน 2 หลังได้ไหมในทะเบียนบ้าน

2. ขอบข่ายหน้าที่ เจ้าบ้านในทะเบียนบ้าน

เมื่อเข้าใจความหมายของคำว่าเจ้าบ้านแล้ว มารู้บทบาทสิ่งที่คนเป็นเจ้าบ้านต้องทำ ซึ่งถูกบัญญัติไว้ตาม พ.ร.บ. การทะเบียนราษฎร พ.ศ. 2534 ได้ระบุไว้ว่า
– หากภายในบ้านมีเหตุการเกิดหรือตาย เจ้าบ้านจะต้องแจ้งแก่สำนักทะเบียนทุกครั้ง ในวันเวลาที่กำหนด หากแจ้งเกิดก่อน 30 วัน แจ้งตายภายใน 24 ชั่วโมง และถ้าไม่ปฏิบัติจะต้องเสียค่าปรับ 1,000 บาท รวมไปถึงกรณีย้ายที่อยู่ หรือเรื่องอื่น ๆ เกี่ยวกับบ้าน
– หากเจ้าของบ้านเกิดมีกิจธุระไม่สามารถมาแจ้งด้วยตนเองได้ สามารถมอบอำนาจให้สมาชิกภายในบ้านเข้ามาแจ้งกับเจ้าหน้าที่ได้ โดยเจ้าหน้าที่จะระบุว่าบุคคลอันได้รับมอบหมาย เป็นผู้ดูแลบ้านแทนเจ้าบ้าน
ทั้งนี้ เอกสารที่ใช้ในการติดต่อมอบอำนาจในการดูแลและจัดการเรื่องต่าง ๆ ภายในบ้าน กรณีเจ้าบ้านไม่อยู่ ได้แก่
– หนังสือมอบอำนาจจากเจ้าบ้าน โดยมีเนื้อความระบุชัดเจนว่ามอบอำนาจการจัดการให้ใคร จัดการแทนในเรื่องอะไรภายในบ้านบ้าง เป็นช่วงเวลาเท่าไหร่ พร้อมทั้งลงชื่อมอบอำนาจ จำนวน 1 ฉบับ
– สำเนาทะเบียนบ้านฉบับเจ้าบ้าน
– บัตรประจำตัวประชาชนของเจ้าบ้าน
– บัตรประจำตัวประชาชนของผู้รับมอบอำนาจ
ขั้นตอนในการดำเนินการมอบอำนาจ มีดังนี้
– ติดต่อยื่นเรื่อง ณ สำนักทะเบียน
– นายทะเบียนตรวจสอบเอกสารและดำเนินการตามคำร้องตามประสงค์จนแล้วเสร็จ
– คืนหลักฐานที่ใช้ในการดำเนินการแก่ผู้ยื่นคำร้อง
สนใจรับบทความดีดี อัปเดต ข่าวอสังหาริมทรัพย์ และ อ่านคู่มือซื้อขาย พร้อม รีวิวโครงการคอนโดฯ ใหม่ บ้านใหม่ หลากหลายทำเลและราคา รวมถึง ทำความรู้จักกับทำเลฮอตทั่วกรุง เพื่อเพิ่มความมั่นใจในการซื้อ-ขาย-เช่า

วิธีขอบ้านเลขที่ ทะเบียนบ้าน

ขอบ้านเลขที่ หรือขอทะเบียนบ้าน ใช้เอกสารดังนี้ 1.ใบรับแจ้งเกี่ยวกับบ้าน (ท.ร.9) ออกโดยผู้ใหญ่บ้าน, อบต. 2.สำเนาบัตรประชาชน 3.ใบอนุญาตก่อสร้างอาคารหรือหนังสือรับรองสิ่งปลูกสร้าง และ 4.เอกสารสิทธิ์แสดงการครอบครองที่ดิน เช่น โฉนดที่ดิน

ขอบ้านเลขที่ มีขั้นตอนดังนี้ 1.ยื่นเรื่องติดต่อ ณ สำนักทะเบียนในพื้นที่ปลูกสร้าง 2.นายทะเบียนตรวจสอบเอกสาร 3.ออกบ้านเลขที่ รวมถึงจัดทำสมุดทะเบียนบ้านและสำเนาทะเบียนบ้าน 4.ส่งมอบทะเบียนบ้านให้แก่เจ้าของบ้าน

ขอบ้านเลขที่ ได้ที่ งานทะเบียนราษฎรของสำนักทะเบียนอำเภอที่บ้านปลูกสร้างเสร็จตั้งอยู่ เพื่อแจ้งขอเลขที่บ้านและสมุดทะเบียนบ้าน