รถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล รถไฟฟ้าสายใหม่ที่เพิ่งได้รับการอนุมัติให้ก่อสร้าง อีกหนึ่งสายสำคัญที่จะเชื่อมต่อการเดินทางระหว่างกรุงเทพฯ และจังหวัดปริมณฑลให้สะดวกสบายยิ่งขึ้น โดยผ่านบริเวณที่ปัจจุบันมีการจราจรติดขัดหลายแห่ง ไม่ว่าจะเป็นแยกแคราย เกษตรนวมินทร์ และแยกลำสาลี
ทำความรู้จักรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล
สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เปิดรับฟังความคิดเห็นประชาชน จนได้ข้อสรุปดำเนินโครงการสร้าง “รถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล ช่วงแคราย-ลำสาลี (บึงกุ่ม)” ภายใต้ความรับผิดชอบของ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.)
ล่าสุดบอร์ด รฟม. มีมติให้ รฟม. ดำเนินการสร้างฐานรากโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล และอยู่ระหว่างเตรียมจัดประกวดราคาหาผู้รับจ้างก่อสร้างภายในเดือนตุลาคม 2564
โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล สร้างเป็นระบบรถไฟฟ้าแบบรางเดี่ยว (Monorail) มีระยะทางรวม 22.1 กิโลเมตร รวม 20 สถานี ด้วยเงินลงทุน 48,386 ล้านบาท ได้แก่
รถไฟฟ้าสายสีน้ำตาลมี 20 สถานี
โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล มีแนวเส้นทางเริ่มจากแยกแครายวิ่งไปตามถนนงามวงศ์วาน ผ่านแยกพงษ์เพชร แยกบางเขน แยกเกษตร ไปตามแนวถนนประเสริฐมนูกิจ ผ่านแยกลาดปลาเค้า แยกเสนานิคม แยกสุคนธสวัสดิ์ แยกทางต่างระดับศรีรัช แยกนวลจันทร์ แยกนวมินทร์ แยกโพธิ์แก้ว แยกแฮปปี้แลนด์ ไปสิ้นสุดที่แยกสวนสน มีระยะทางรวม 22.1 กิโลเมตร รวม 20 สถานี ได้แก่
- ศูนย์ราชการนนทบุรี (เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีม่วง และรถไฟฟ้าชมพู)
- งามวงศ์วาน 2
- งามวงศ์วาน 18
- ชินเขต
- บางเขน (เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีแดง)
- มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ประตูงามวงศ์วาน
- แยกเกษตร (เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีเขียว)
- คลองบางบัว
- ประเสริฐมนูกิจ-ลาดปลาเค้า
- ประเสริฐมนูกิจ-เสนานิคม
- โรงเรียนสตรีวิทยา 2
- ต่างระดับฉลองรัช (เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีเทา)
- คลองลำเจียก
- นวลจันทร์
- ประเสริฐมนูกิจ-นวมินทร์
- โพธิ์แก้ว
- อินทรารักษ์
- สวนนวมินทร์ภิรมย์
- การเคหะแห่งชาติ
- แยกลำสาลี (เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีส้ม และรถไฟฟ้าสายสีเหลือง)

รถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล เชื่อมต่อระบบรถไฟฟ้าหลายสาย
รถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล สามารถเชื่อมต่อรถไฟฟ้ารถไฟฟ้าได้หลายสาย ดังนี้
รถไฟฟ้า | สถานีเชื่อมต่อ |
รถไฟฟ้าสายสีม่วง | ศูนย์ราชการนนทบุรี |
รถไฟฟ้าสายสีชมพู | แยกแคราย |
รถไฟฟ้าสายสีแดง | แยกบางเขน |
รถไฟฟ้าสายสีเขียว | แยกเกษตร |
รถไฟฟ้าสายสีเทา | แยกทางต่างระดับศรีรัช |
รถไฟฟ้าสายสีส้ม-สายสีเหลือง | แยกลำสาลี |
คาดว่าโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาลจะสร้างเสร็จ พร้อมเปิดให้บริการในปี 2568 และจะมีปริมาณผู้โดยสาร 218,547 คนเที่ยว/วัน

รถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล เติมเต็มกรุงเทพฯ
สิ่งที่ตามมาจากการขยายเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีต่าง ๆ ส่งผลให้เมืองขยายออกรอบนอกมากขึ้น จากเดิมที่ทุกอย่างกระจุกตัวอยู่แต่โซนใจกลางเมือง หรือ CBD (Central Business District) แต่ปัจจุบันจะเห็นได้ว่าเมืองกระจายออกไปยังโซนต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นกรุงเทพฯ โซนเหนือ, ฝั่งตะวันตก, ฝั่งตะวันออก, ฝั่งใต้
เนื่องจากการมาของรถไฟฟ้า ทำให้เชื่อมการเดินทางทุกทิศ ขณะเดียวกันพื้นที่ในโซนที่รถไฟฟ้าไปถึง ได้ถูกเติมเต็มให้มีความครบวงจรยิ่งขึ้น จนกลายเป็น “ย่านที่มีความสมบูรณ์”
นั่นคือ เป็นย่านที่มีทั้งโครงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่อยู่อาศัย ทั้งแนวราบ และแนวสูง, ระบบคมนาคมหลายรูปแบบ, สถานศึกษา, ศูนย์การค้า, บริการด้านสุขภาพ, แหล่งรวมออฟฟิศ, ย่านการค้า และมีพื้นที่สีเขียว
การเกิดขึ้นของโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล ที่มีแนวเส้นทางจากแยกแคราย ไปถึงแยกลำสาลี และเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสำคัญอีกหลายสาย เพื่อเข้าสู่ใจกลางเมืองกรุงเทพฯ และปริมณฑลจังหวัดต่าง ๆ จะยิ่งเพิ่มความครบวงจรมากขึ้น เนื่องจากสร้างความสะดวกในการเดินทาง ทั้งยังมีผลต่อการขยายตัวของอสังหาริมทรัพย์ในหลายทำเล
1. แยกแคราย
เป็นแหล่งที่อยู่อาศัย มีทั้งชุมชนดั้งเดิม และที่อยู่อาศัยเกิดใหม่ เชื่อว่าเมื่อรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาลสร้างเสร็จ และด้วยความที่ตรงแยกแคราย เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีม่วง กับรถไฟฟ้าสายชมพู จะกระตุ้นให้เกิดที่อยู่อาศัย (Supply) และความต้องการ (Demand) อสังหาริมทรัพย์แนวราบ และแนวสูงอีกมาก จนกลายเป็นย่านที่อยู่อาศัยขนาดใหญ่
2. ย่านเกษตร-นวมินทร์
มีหลายสถานีของรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาลที่ผ่านมาโซนนี้ เช่น สถานีบางเขน, สถานีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ประตูงามวงศ์วาน, แยกเกษตร, คลองบางบัว, ประเสริฐมนูกิจ-ลาดปลาเค้า ทั้งยังเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีแดงที่แยกบางเขน กับรถไฟฟ้าสายสีเขียวที่แยกเกษตร จะยิ่งทำให้ย่านนี้เป็นอีกหนึ่งทำเลทองของกรุงเทพฯ เพราะเป็นย่านที่มีความครบวงจร เป็นทั้งโซนที่อยู่อาศัย, ย่านสถานศึกษา, แหล่งรวมโฮมออฟฟิศของธุรกิจขนาดกลางและเล็ก, แหล่งรวมร้านอาหาร-ร้านกาแฟ, ธุรกิจค้าปลีก ไม่ว่าจะเป็นศูนย์การค้า, คอมมูนิตี้มอลล์ และไฮเปอร์มาร์เก็ต
ผลมาจากการขยายตัวอย่างรวดเร็ว และมีรถไฟฟ้าสายหลายวิ่งเข้ามายังย่านเกษตร-นวมินทร์ จึงมีการคาดการณ์กันว่าต่อไปราคาที่ดินในย่านนี้มีแนวโน้มจะปรับตัวสูงขึ้น ไปอยู่ที่กว่า 200,000-300,000 บาทต่อตารางวา จากปัจจุบันโดยเฉลี่ยอยู่ที่กว่า 100,000 บาทต่อตารางวา
3. แยกลำสาลี
เป็นจุดตัดระหว่างเส้นรามคำแหง และเส้นศรีนครินทร์ โดยจะเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีส้ม และรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ที่แยกลำสาลี
ทำเลในย่านนี้มีประชากรหนาแน่นสูง และมีความหลากหลาย เนื่องจากเป็นทั้งโซนที่อยู่อาศัย มีทั้งบ้าน, คอนโด, อพาร์ทเม้นท์ และหอพัก, มีสถานศึกษา, ศูนย์การค้า, ย่านการค้า และในเส้นศรีนครินทร์ ก็มีอาคารสำนักงาน
แยกลำสาลีจึงเป็นโซนที่มีความต้องการที่อยู่อาศัยสูง ทั้งกลุ่ม Real Demand คือซื้อเพื่ออยู่อาศัยจริง และซื้อเพื่อการลงทุน ทำให้เกิดที่อยู่อาศัยโครงการใหม่ โดยเฉพาะคอนโดมิเนียม เจาะตลาดนักศึกษา และคนทำงาน ที่แม้บางคนไม่ได้ทำงานในย่านนี้ แต่ด้วยความที่เคยศึกษา หรือเคยใช้ชีวิตอยู่ในย่านนี้ จึงมีความคุ้นชิน
ประกอบกับในอนาคตจะมีรถไฟฟ้าทั้งรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล, รถไฟฟ้าสายสีส้ม และรถไฟฟ้าสายสีเหลืองผ่าน จะทำให้ “แยกลำสี” เป็นอีกหนึ่งศูนย์กลางการเดินทาง และเชื่อมต่อกับโซนกรุงเทพฯ ชั้นใน และฝั่งตะวันตก
โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล ไม่เพียงแต่ช่วยแก้ปัญหาการจราจรติดขัด และสร้างความสะดวกในการเดินทาง ระหว่างกรุงเทพฯ รอบนอก กับใจกลางเมืองเท่านั้น ยังทำให้ตลาดที่อยู่อาศัย และโครงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์รูปแบบต่าง ๆ ทั้งในฝั่งตะวันตก และตะวันออกเติบโตด้วยเช่นกัน
สนใจรับบทความดีดี อัปเดต ข่าวอสังหาริมทรัพย์ และ อ่านคู่มือซื้อขาย พร้อม รีวิวโครงการคอนโดฯ ใหม่ บ้านใหม่ หลากหลายทำเลและราคา รวมถึง ทำความรู้จักกับทำเลฮอตทั่วกรุง เพื่อเพิ่มความมั่นใจในการซื้อ-ขาย-เช่า