รถไฟฟ้าสายสีเหลือง ลาดพร้าว-สำโรง หนึ่งในโครงการรถไฟฟ้าที่น่าสนใจและมีโอกาสเติบโต เนื่องจากพาดผ่านทำเลสำคัญ ๆ ทั้งกรุงเทพฯ และสมุทรปราการ จึงมีแนวโน้มจะกลายเป็นทำเลทองในอนาคต ดังนั้น ผู้ลงทุนหรือผู้ที่กำลังมองหาที่อยู่อาศัยควรศึกษาข้อมูลอย่างละเอียดและนำมาพิจารณาพื้นที่นี้ให้เป็นหนึ่งในตัวเลือกของการลงทุน
อ่านหัวข้อที่คุณสนใจ
- รู้จักรถไฟฟ้าสายสีเหลือง
- อัปเดตความคืบหน้ารถไฟฟ้าสายสีเหลือง
- รถไฟฟ้าสายสีเหลือง รัชดา-ลาดพร้าว-รัชโยธิน ไม่ได้ไปต่อ?
- อัปเดตราคาที่ดินแนวรถไฟฟ้าสายสีเหลือง
รู้จักรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ลาดพร้าว-สำโรง
โครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ลาดพร้าว-สำโรง เดิมทีมีกำหนดการเริ่มก่อสร้างตั้งแต่ปี 2560 แต่เนื่องจากเกิดปัญหาความล่าช้าจากการส่งมอบที่ดิน จึงทำให้ต้องเลื่อนการก่อสร้างออกมาจนถึงปี 2562 ะยะทางทั้งสิ้น 30.4 กิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่ด้านตะวันออกของกรุงเทพฯ และมีทั้งหมด 23 สถานี เริ่มต้นที่สถานีรัชดา ซึ่งเป็นสถานีที่เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าใต้ดิน MRT สถานีลาดพร้าว และไปสิ้นสุดที่สถานีสำโรง
โดยทั้ง 23 สถานี มีรายชื่อดังนี้
1. ลาดพร้าว ตั้งอยู่บน ถ.รัชดาภิเษก ใกล้แยกรัชดา-ลาดพร้าว เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน สถานีลาดพร้าว
2. ภาวนา ตั้งอยู่บริเวณปากซอยลาดพร้าว 41 และปากซอยลาดพร้าว 41, 41/1, 46 และซอยส่องแสงตะวัน
3. โชคชัย 4 ตั้งอยู่บริเวณทางเข้า ถ.โชคชัย 4, ปากซอยลาดพร้าว 56 และปากซอยลาดพร้าว 58
4. ลาดพร้าว 71 ตั้งอยู่บริเวณปากซอยลาดพร้าว 71, ปากซอยลาดพร้าว 82 และปากซอยลาดพร้าว 84
5. ลาดพร้าว 83 ตั้งอยู่บริเวณปากซอยลาดพร้าว 83 และปากซอยลาดพร้าว 85
6. มหาดไทย ตั้งอยู่บริเวณปากซอยลาดพร้าว 120
7. ลาดพร้าว 101 ตั้งอยู่บริเวณปากซอยลาดพร้าว 101, ปากซอยลาดพร้าว 128/2 และปากซอยลาดพร้าว 128/3
8. บางกะปิ ตั้งอยู่บริเวณหน้าแมคโครลาดพร้าว และปากซอยลาดพร้าว 115
9. แยกลำสาลี ตั้งอยู่บริเวณสี่แยกลำสาลี ถ.รามคำแหง ตัดกับ ถ.ศรีนครินทร์ เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีส้ม สถานีลำสาลี
10. ศรีกรีฑา ตั้งอยู่บริเวณสี่แยก ถ.กรุงเทพกรีฑา ตัดกับ ถ.ศรีนครินทร์, ปากซอยกรุงเทพกรีฑา 2
11. หัวหมาก ตั้งอยู่บริเวณแยกพัฒนาการ ถ.พัฒนาการ ตัดกับ ถ.ศรีนครินทร์ เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ สถานีหัวหมาก
12. กลันตัน ตั้งอยู่บริเวณหน้าธัญญา พาร์ค
13. ศรีนุช ตั้งอยู่บริเวณแยก ถ.สุขุมวิท 77 (อ่อนนุช) ตัดกับ ถ.ศรีนครินทร์ และ ซ.อ่อนนุช 60
14. ศรีนครินทร์ 38 ตั้งอยู่บริเวณ ซ.ศรีนครินทร์ 38, ซ.ศรีนครินทร์ 43 และ ซ.ศรีนครินทร์ 45
15. สวนหลวง ร.9 ตั้งอยู่บริเวณห้างซีคอน ศรีนครินทร์ และพาราไดซ์ พาร์ค, ซ.ศรีนครินทร์ 42, ซ.ศรีนครินทร์ 51 และ ซ.ศรีนครินทร์ 53
16. ศรีอุดม ตั้งอยู่บริเวณแยก ถ.อุดมสุข ตัดกับ ถ.ศรีนครินทร์ และ ถ.เฉลิมพระเกียรติ ร.9, ซ.ศรีนครินทร์ 54, ซ.ศรีนครินทร์ 56, ซ.ศรีนครินทร์ 58 และ ซ.ศรีนครินทร์ 63
17. ศรีเอี่ยม ตั้งอยู่บริเวณวัดศรีเอี่ยม มีอาคารจอดแล้วจร
18. ศรีลาซาล ตั้งอยู่บริเวณแยก ถ.ลาซาล ตัดกับ ถ.ศรีนครินทร์
19. ศรีแบริ่ง ตั้งอยู่บริเวณถนนเชื่อมระหว่าง ถ.ศรีนครินทร์ กับ ถ.แบริ่ง, ซ.ศรีด่าน 11, ซ.ศรีด่าน 13, ซ.ศรีด่าน 16
20. ศรีด่าน ตั้งอยู่ใกล้ ซ.ศรีด่าน 2
21. ศรีเทพา ตั้งอยู่บริเวณ ซ.อรรถสิทธิ์ และ ซ.ร่วมจิตพัฒนา
22. ทิพวัล ตั้งอยู่บริเวณปาล์มไอส์แลนด์ มอลล์, ถ.ประดิษฐ์สโมสร
23. สำโรง ตั้งอยู่บริเวณแยกเทพารักษ์-สุขุมวิท, ซ.เทพารักษ์ 2 เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีเขียว สถานีสำโรง
ทั้งนี้ ยังมีรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ส่วนต่อขยายอีก 2 สถานีที่จะทำหน้าที่เชื่อมการเดินทางระหว่างแยกรัชโยธินและสถานีรัชดา
ความสำคัญอย่างหนึ่งคือ รถไฟฟ้าสายสีเหลืองมีเส้นทางการเดินรถ เชื่อมต่อกับระบบรางเส้นทางอื่น ๆ หลากหลายสาย ดังนี้
สถานีรถไฟฟ้าสายสีเหลือง | จุดเชื่อมต่อระบบรางเส้นทางอื่น |
สถานีรัชดา | รถไฟฟ้าใต้ดิน MRT สถานีลาดพร้าว |
สถานีแยกลำสาลี | รถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) สถานีลำสาลี |
สถานีพัฒนาการ | รถไฟฟ้า Airport Rail Link สถานีหัวหมาก |
สถานีสำโรง | รถไฟฟ้า BTS ส่วนต่อขยาย ช่วงแบริ่ง-เคหะสมุทรปราการ |
ทั้งหมดนี้ทำให้เห็นว่า รถไฟฟ้าสายสีเหลืองจะเข้ามาตอบโจทย์การเดินทางในหลากหลายเส้นทาง และสามารถเชื่อมต่อการเดินทางในเมืองให้สะดวกสบายยิ่งขึ้น
นอกจากนี้ รถไฟฟ้าสายสีเหลืองเป็นรถไฟฟ้าระบบรางเดี่ยวหรือรู้จักกันในชื่อ รถไฟฟ้าโมโนเรล หรือ Monorail ซึ่งมีความแตกต่างจากรถไฟฟ้า BTS ที่เป็นรถไฟฟ้าขนาดใหญ่หรือ Heavy Rail และเป็นครั้งแรกที่จะมีการนำรถไฟฟ้าโมโนเรลมาใช้ในประเทศไทย โดยจุดเด่นของรถไฟฟ้าโมโนเรลคือการที่ตัวขบวนรถจะคล่อมอยู่บนคานเดียว ขณะเดินทางจึงมีเสียงที่เบากว่า และตัวรถจะมีความกว้างกว่าตัวคาน
อัปเดตความคืบหน้ารถไฟฟ้าสายสีเหลือง
ปัจจุบันมีความคืบหน้าในการก่อสร้างเป็นอย่างมาก ความก้าวหน้าโดยรวม ณ เดือนธันวาคม 2565 อยู่ที่ 98.09% แบ่งเป็น ความก้าวหน้างานโยธา 98.05% และความก้าวหน้างานระบบรถไฟฟ้า 98.14% ข้อมูลจากการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.)
โดยคาดว่าจะเปิดให้บริการได้ในปี 2566
แผนที่รถไฟฟ้า BTS-MRT ฉบับสมบูรณ์ อัปเดตเส้นทาง-ราคา-เวลา ปี 65
แผนที่รถไฟฟ้า BTS-MRT ฉบับสมบูรณ์ อัปเดตราคารถไฟฟ้าใหม่ พร้อมทั้งเวลาเปิด-ปิดสถานีรถไฟฟ้า
รถไฟฟ้าสายสีเหลือง ส่วนต่อขยาย รัชดา-ลาดพร้าว-รัชโยธิน ไม่ได้ไปต่อ?
รถไฟฟ้าสายสีเหลือง ส่วนต่อขยาย ช่วงแยกรัชดา-ลาดพร้าว ถึงแยกรัชโยธิน เป็นส่วนต่อขยายของรถไฟฟ้าสายสีเหลือง เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีเขียว โดยมีระยะทาง 2.6 กิโลเมตร แม้ว่าปัจจุบันโครงการถไฟฟ้าสายสีเหลือง ส่วนต่อขยาย ช่วงแยกรัชดา-ลาพร้าว ถึงแยกรัชโยธิน จะได้รับอนุมัติรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) แล้ว แต่ปัจจุบันโครงการยังไม่สามารถเดินหน้าต่อได้
สาเหตุหลักของเรื่องนี้คือ ยังไม่มีข้อสรุประหว่างบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ผู้รับสัมปทานรถไฟฟ้า MRT สายสีน้ำเงิน และกลุ่มกิจการค้าบีเอสอาร์ ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่างบริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน), บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) และบริษัท ราชกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เป็นผู้รับสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ในเรื่องผลกระทบด้านรายได้จากเส้นทางรถไฟฟ้าที่ทับซ้อนกัน
สายสีเหลืองส่วนต่อขยายนั้นกระทบต่อสายสีน้ำเงินอย่างไร
หากผู้โดยสารต้องการเดินทางเชื่อมต่อจากสายสีเหลืองไปสายสีเขียว ในกรณีที่ไม่มีรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ส่วนต่อขยาย แยกรัชดา-ลาดพร้าว ถึงแยกรัชโยธิน ผู้โดยสารจะต้องลงจากรถไฟฟ้าสายสีเหลือง เพื่อต่อรถไฟฟ้า MRT สายสีน้ำเงิน และไปขึ้นรถไฟฟ้าสายสีเขียวที่สถานี MRT พหลโยธิน (สถานี BTS ห้าแยกลาดพร้าว ของรถไฟฟ้าสายสีเขียว)
แต่ในกรณีที่มีรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ส่วนต่อขยาย แยกรัชดา-ลาดพร้าว ถึงแยกรัชโยธิน ผู้โดยสามารถสามารถนั่งยาวไปจนถึงแยกรัชโยธินได้เลย โดยไม่ต้องเชื่อมกับรถไฟฟ้า MRT
จากผลการศึกษาในกรณีที่มีรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ส่วนต่อขยาย จะทำให้รถไฟฟ้า MRT สายสีน้ำเงิน เสียผู้โดยสารไป 4,800 เที่ยวคน/วัน (ในปี พ.ศ. 2567 ซึ่งคาดว่าจะเป็นปีแรกที่สายสีเหลืองส่วนต่อขยายเปิดให้บริการ) และจะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จนถึงปีที่ 30 (ครบอายุสัมปทาน) จะเสียผู้โดยสารไปถึง 17,500 เที่ยวคน/วัน คิดเป็นรายได้ที่หายไปตลอดอายุสัมปทาน 30 ปี คือ กว่า 2,700 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม ทางการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทยยังอยู่ระหว่างการพิจารณาว่าจะอนุมัติให้มีการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ส่วนต่อขยาย หรือไม่ ซึ่งตามเงื่อนไขจะสามารถเจรจาได้ถึงวันเปิดบริการรถไฟฟ้าสายสีเหลืองในปี 2565
บทสรุปแล้วคงต้องลุ้นกันต่ออีกนานกว่าจะได้รู้ว่ารถไฟฟ้าสายสีเหลือง ส่วนต่อขยายจะได้ไปต่อหรือไม่

อัปเดตราคาที่ดินแนวรถไฟฟ้าสายสีเหลือง
จากการสำรวจราคาที่ดินในพื้นที่ที่รถไฟฟ้าสายสีเหลืองตัดผ่านตั้งแต่ปี พ.ศ. 2537 จนถึงปัจจุบัน พบว่า มีการเปลี่ยนแปลงของราคาที่ดิน โดยเพิ่มขึ้นปีละ 10% และคาดว่าเมื่อเปิดใช้ได้เต็มรูปแบบ จะส่งผลให้ราคาที่ดินพุ่งสูงขึ้นอีกในแง่ของอสังหาริมทรัพย์
จากข้อมูลของ AREA พบว่า สถานีที่มีราคาที่ดินสูงสุดคือ สถานีรัชดาอยู่ที่ 550,000 บาทต่อตารางวา ถนนลาดพร้าวราคา 250,000-260,000 บาทต่อตารางวา ยกเว้นสถานีบางกะปิซึ่งเป็นย่านชุมชนหลักจึงมีราคา 300,000 บาทต่อตารางวา
สำหรับบนถนนศรีนครินทร์มีราคา 260,000 บาทต่อตารางวา ซึ่งแม้จะมีความหนาแน่นของประชากรน้อยกว่าถนนลาดพร้าวแต่มีความเจริญค่อนข้างมาก สำหรับราคาที่ดินบนถนนศรีนครินทร์ทางด้านใต้ของถนนบางนา-ตราด และย่านสำโรง 150,000 บาทต่อตารางวา ยกเว้นสถานีสุดท้ายคือสถานีสำโรงที่คาดว่าราคาที่ดินปัจจุบันเป็นเงิน 400,000 บาทต่อตารางวา
รถไฟฟ้าสายสีเหลือง ทำเลอนาคตน่าลงทุน
มีการสำรวจการซื้อขายคอนโดมิเนียมใกล้โครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง พบว่ากว่า 80% มีผู้จับจองไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และถึงแม้ว่าจะยังเหลือคอนโดอีกประมาณ 20% ที่ยังไม่มีคนซื้อ แต่ก็มีแนวโน้มที่ดีขึ้นเรื่อย ๆ จากความคืบหน้าของโครงการที่จะเข้ามาช่วยลดปัญหาการจราจร ซึ่งเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ผู้คนใช้ในการเลือกซื้อที่อยู่อาศัยรวมทั้งการคาดการณ์ในอนาคต
เมื่อโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลืองเปิดใช้บริการ จะทำให้ราคาที่อยู่อาศัยในทำเลแนวรถไฟฟ้าสายสีเหลืองพุ่งสูงขึ้นกว่าในปัจจุบันอย่างแน่นอน ซึ่งจะเอื้อต่อผู้ลงทุนในแง่การซื้อเพื่อลงทุนระยะยาวเพื่อหวัง Capital Gain นอกจากนี้ จากการเดินทางที่สามารถเชื่อมต่อกับทำเลรัชดาได้สะดวก จะทำให้ผู้ที่ทำงานในย่านนั้น ขยับขยายมาอยู่อาศัยตามแนวรถไฟฟ้าสายสีเหลืองมากขึ้น ซึ่งเอื้อต่อการซื้อเพื่อการลงทุนปล่อยเช่าด้วยเช่นกัน
แม้ว่าพื้นที่ลาดพร้าว-สำโรง ปัจจุบันจะมีการจราจรค่อนข้างหนาแน่น โดยเฉพาะในช่วงชั่วโมงเร่งด่วน แต่ในอนาคต ปัญหานี้จะเบาบางลงจากการที่โครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลืองเปิดใช้บริการ รวมทั้งในแง่ของการลงทุนที่ราคาที่ดินมีแต่จะสูงขึ้นในทุกปี ดังนั้น จึงมั่นใจได้ว่าพื้นที่แห่งนี้จะกลายเป็นทำเลทองในการอยู่อาศัยและการลงทุนอย่างแน่นอน สำหรับใครที่กำลังมองหาโครงการที่อยู่อาศัยอื่น ๆ สามารถดูโครงการอสังหาฯ เพิ่มเติมใกล้รถไฟฟ้าสายสีเหลือง
สนใจรับบทความดีดี อัปเดต ข่าวอสังหาริมทรัพย์ และ อ่านคู่มือซื้อขาย พร้อม รีวิวโครงการคอนโดฯ ใหม่ บ้านใหม่ หลากหลายทำเลและราคา รวมถึง ทำความรู้จักกับทำเลฮอตทั่วกรุง เพื่อเพิ่มความมั่นใจในการซื้อ-ขาย-เช่า