รถไฟฟ้าสายสีแดง (ตลิ่งชัน-บางซื่อ-รังสิต) 13 สถานี พลิกโฉมชานเมือง

DDproperty Editorial Team
รถไฟฟ้าสายสีแดง (ตลิ่งชัน-บางซื่อ-รังสิต) 13 สถานี พลิกโฉมชานเมือง
รถไฟฟ้าสายสีแดง เปิดให้ทดลองใช้เมื่อเดือน ส.ค. 2564 โดยมีการก่อสร้างในส่วนแรก แบ่งเป็นรถไฟฟ้าสายสีแดงเข้ม บางซื่อ-รังสิต และรถไฟฟ้าสายสีแดงอ่อน บางซื่อ-ตลิ่งชัน ซึ่งการมาถึงของรถไฟฟ้าสายสีแดงนี้จะพลิกโฉมอสังหาริมทรัพย์ในย่านชานเมืองเป็นอย่างมาก ทำให้การเดินทางที่สะดวกสบายจะไม่ถูกจำกัดอยู่ในกรุงเทพฯ อีกต่อไป แต่จะไปได้ไกลยิ่งกว่าที่เคย
Subscription Banner for Article
อ่านหัวข้อที่คุณสนใจได้เร็วขึ้น

เส้นทางรถไฟฟ้าสายสีแดง

รถไฟฟ้าสายสีแดงเข้มรถไฟฟ้าสายสีแดงอ่อน
ระยะทาง 22.6 กิโลเมตรระยะทาง 15 กิโลเมตร
จำนวน 11 สถานีจำนวน 5 สถานี
เปิดให้บริการจริง พ.ย. 2564เปิดให้บริการจริง พ.ย. 2564

1. รถไฟฟ้าสายสีแดงเข้ม

รถไฟฟ้าสายสีแดงเข้ม บางซื่อ-รังสิต มีแนวเส้นทางในทิศเหนือ-ใต้ของกรุงเทพฯ โดยโครงการระยะแรกได้เริ่มตั้งแต่สถานีกลางบางซื่อจนถึงสถานีรังสิต ส่วนโครงการในอนาคต ทิศเหนือจะต่อขยายไปทางมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ผ่านอยุธยาไปจนถึงบ้านภาชี ส่วนทิศใต้จะต่อขยายไปทางมหาชัย ผ่านแม่กลองไปจนถึงปากท่อในอนาคต

2. รถไฟฟ้าสายสีแดงอ่อน

รถไฟฟ้าสายสีแดงอ่อน บางซื่อ-ตลิ่งชัน มีแนวเส้นทางในทิศตะวันออก-ตะวันตกของกรุงเทพฯ โดยโครงการระยะแรกได้เริ่มตั้งแต่สถานีกลางบางซื่อจนถึงสถานีตลิ่งชัน ส่วนโครงการในอนาคต ทิศตะวันออกจะต่อขยายไปทางหัวหมาก ผ่านลาดกระบังไปจนถึงฉะเชิงเทรา ส่วนทิศตะวันตกจะต่อขยายไปทางศาลายา ผ่านนครชัยศรีไปจนถึงนครปฐมในอนาคต
รถไฟฟ้าสายสีแดง เตรียมเปิดปลายปี 2564
รถไฟฟ้าสายสีแดง เปิดให้ทดลองใช้บริการแล้ว via: Shutterstock

วัตถุประสงค์ของรถไฟฟ้าสายสีแดง

โครงการรถไฟฟ้าสายสีแดงถูกสร้างขึ้นเพื่อทดแทนระบบรถไฟดีเซลระบบเดิมที่มีความล่าช้าและไม่ตรงเวลา รวมทั้งเพื่อขยายขอบเขตการให้บริการรถไฟฟ้าสู่ย่านชานเมืองให้ครอบคลุมยิ่งขึ้น เส้นทางส่วนใหญ่ของรถไฟฟ้าสายนี้ยังตั้งสถานีและสร้างรางรถไฟฟ้าอยู่ในแนวเดียวกับรถไฟระบบเดิม เพื่อใช้เป็นรากฐานของระบบรถไฟทางไกลในอนาคต

รถไฟฟ้าสายสีแดงจะเปิดให้บริการเมื่อไร

ล่าสุด โครงการรถไฟฟ้าสายสีแดง เปิดเดินรถเสมือนจริงในวันที่ 26 มีนาคม 2564 ณ สถานีกลางบางซื่อ และวันที่ 2 สิงหาคม 2564 เป็นต้นไป จะเปิดให้ประชาชนทดลองใช้บริการรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดงฟรี
โดยรถไฟฟ้าสายสีแดง เปิดให้บริการช่วงแรก 13 สถานี ได้แก่ สถานีกลางบางซื่อ, สถานีจตุจักร, สถานีวัดเสมียนนารี, สถานีบางเขน, สถานีทุ่งสองห้อง, สถานีหลักสี่, สถานีการเคหะ, สถานีดอนเมือง, สถานีหลักหก, สถานีรังสิต, สถานีบางซ่อน, สถานีบางบำหรุ และสถานีตลิ่งชัน ระยะทางรวม 41.3 กิโลเมตร
การเดินทางจากรังสิต-บางซื่อ จะใช้เวลาเพียง 25 นาที และจากตลิ่งชัน-บางซื่อ ใช้เวลาเพียง 15 นาที ทำให้สามารถเดินทางจากย่านชานเมืองเข้าสู่ใจการเมืองเป็นไปได้อย่างสะดวก รวดเร็วยิ่งขึ้น
โดยเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการพร้อมเก็บค่าโดยสารตั้งแต่วันที่ 29 พฤศจิกายน 2564

ตารางการเดินรถไฟฟ้าสายสีแดง

ตั้งแต่ 05.30-24.00 น. ทุกวัน ทั้งวันธรรมดา จันทร์-ศุกร์ และวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ รวมทั้งวันหยุดนักขัตฤกษ์

ความถี่ในการเดินรถ

1. รถไฟฟ้าสายสีแดง บางซื่อ-รังสิต จะแบ่งเป็น 2 ช่วง คือ
– ช่วงเวลาเร่งด่วนเช้า-เย็น เวลา 07.00-09.30 น. และ 17.00-19.30 น. จะใช้ความถี่ 12 นาที
– นอกช่วงเวลาเร่งด่วนจะใช้ความถี่ 20 นาที
2. รถไฟฟ้าสายสีแดง บางซื่อ-ตลิ่งชัน
– จะใช้ความถี่ 20 นาที ตลอดระยะเวลาการให้บริการ

การเดินทางเพื่อเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีแดง

1. รถเมล์

องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) กระทรวงคมนาคม ปรับปรุงและเพิ่มเติมเส้นทางเดินรถโดยสาร จำนวน 4 เส้นทาง เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชนที่มีความประสงค์ เดินทางเชื่อมต่อระบบรถไฟชานเมืองสายสีแดง
โดยจัดเก็บค่าโดยสารตามอัตราปกติของรถโดยสารแต่ละประเภท โดยจะให้บริการตั้งแต่เวลา 05.00-19.30 น. โดยมีรายละเอียด ดังนี้
– สาย 49 เส้นทางสถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพ (จตุจักร)-หัวลำโพง (เดิม) ปรับปรุงเป็น เส้นทางวงกลมสถานีกลางบางซื่อ-หัวลำโพง-ช่วงสถานีกลางบางซื่อ-ยมราช-หัวลำโพง ให้บริการทั้งรถโดยสารปรับอากาศ และรถโดยสารธรรมดา
– สาย 67 เส้นทางวัดเสมียนนารี-เซ็นทรัลพระราม 3 (เดิม) เพิ่มเติมเส้นทาง-ช่วงสถานีกลางบางซื่อ-เซ็นทรัลพระราม 3 ให้บริการเฉพาะรถโดยสารปรับอากาศ
– สาย 79 เส้นทางอู่บางแค (วัดม่วง)-ราชประสงค์ (เดิม) เพิ่มเติมเส้นทาง-ช่วงอู่บรมราชชนนี-สถานีบางบำหรุ-สถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพ (ปิ่นเกล้า) ให้บริการเฉพาะรถโดยสารปรับอากาศ
– สาย 522 เส้นทางรังสิต-งามวงศ์วาน-อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ (เดิม) เพิ่มเติมเส้นทาง-ช่วงสถานีรถไฟฟ้ารังสิต-สถานีรถไฟฟ้าแยก คปอ. ให้บริการเฉพาะรถโดยสารปรับอากาศ
ทั้งนี้ ขสมก. จะมีการเพิ่มเติมเส้นทางเดินรถโดยสาร อีก 4 เส้นทาง เพื่อเชื่อมต่อระบบรถไฟชานเมืองสายสีแดง โดยจะแจ้งให้ทราบต่อไป สอบถามเส้นทางรถเมล์ได้จากเว็บไซต์ BMTA องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ หรือ Facebook: BMTA องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ หรือ Call Center 1348

2. ทางเชื่อมกับรถไฟฟ้า MRT

ทางเชื่อมรถไฟฟ้าสายสีแดง กับ MRT บางซื่อ และสถานีกลางบางซื่อ
สถานี MRT บางซื่อ เปิดทางเดินเชื่อมไปยังสถานีกลางบางซื่อตั้งแต่วันที่ 2 สิงหาคม 2564 เป็นต้นไป โดยทางเชื่อมตั้งอยู่บริเวณชั้นออกบัตรโดยสาร ปลายสถานีทั้ง 2 ด้าน ซึ่งผู้ใช้บริการ สามารถเดินทางมาใช้ทางเชื่อมได้ 2 วิธี
วิธีที่ 1 สำหรับผู้โดยสารที่เดินทางมาด้วยรถไฟฟ้า MRT โดยลงที่สถานี MRT บางซื่อ
– ผู้โดยสารออกจากรถไฟฟ้าที่สถานีบางซื่อ จากนั้นขึ้นไปที่ชั้นออกบัตรโดยสาร
– ที่ชั้นออกบัตรโดยสาร ให้สังเกตป้ายบอกทาง “สถานีกลางบางซื่อ ทางออก 3” โดยสามารถใช้ทางเชื่อมได้ทั้ง 2 ฝั่งของสถานี แตะบัตรออกที่ประตูจัดเก็บค่าโดยสารอัตโนมัติ
– เมื่อออกจากประตูอัตโนมัติ เดินไปยังทางเชื่อมทางออกที่ 3 (ระยะทางประมาณ 50-70 เมตร ขึ้นอยู่กับทิศทางที่ใช้) จะพบบันไดเลื่อน, บันไดธรรมดา และลิฟต์ สำหรับขึ้นไปยังสถานีกลางบางซื่อ
วิธีที่ 2 สำหรับผู้โดยสารที่เดินทางมาด้วยระบบขนส่งอื่น และต้องการใช้ทางเชื่อมเพื่อไปยังสถานีกลางบางซื่อ
– ผู้ใช้บริการสามารถใช้ทางเข้า-ออกสถานีรถไฟฟ้าบางซื่อได้ทั้งประตู 1 และ 2
– เดินลงมายังชั้นออกบัตรโดยสาร จากนั้นเดินตรงมาตามทางจะพบทางเข้าทางเชื่อมไปทางออกที่ 3
– เดินเข้าทางเชื่อมประมาณ 50 เมตร จะพบบันไดเลื่อน, บันไดธรรมดา, ลิฟต์ สำหรับขึ้นไปยังสถานีกลางบางซื่อ

ค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีแดง

หลังจาก รถไฟชานเมืองสายสีแดง เปิดทดลองให้บริการประชาชนฟรีมาประมาณ 3 เดือน ล่าสุดมีความชัดเจนแล้วว่า การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) จะเริ่มเก็บเงินค่าโดยสารประชาชนในวันที่ 29 พฤศจิกายน 2564 คาดอัตราค่าโดยสารอยู่ที่ 12-42 บาท (ค่าโดยสาร 1.50 บาทต่อกิโลเมตร)
ส่วนบัตรโดยสารรายเดือน ประกอบด้วย 20 เที่ยว 700 บาท เฉลี่ย 35 บาทต่อเที่ยว, 30 เที่ยว 900 บาท เฉลี่ย 30 บาทต่อเที่ยว และ 50 เที่ยว 1,250 บาท เฉลี่ย 25 บาทต่อเที่ยว
โดยกระทรวงคมนาคมจะเปิดให้บริการรถไฟฟ้าสายสีแดง อย่างเป็นทางการ (Grand Opening) ประมาณช่วงเดือนธันวาคม 2564 ปัจจุบันมียอดผู้โดยสารโดยเฉลี่ยวันละ 8,105 คน มีอัตราการเติบโดที่สูงขึ้นจากช่วงแรกที่เปิดบริการ 2,000-3,000 คนต่อวัน สอดคล้องกับการผ่อนคลายมาตรการควบคุมต่าง ๆ ของรัฐบาล
ทั้งนี้ รฟท. พิจารณากำหนดแนวทาง เพื่อลดภาระทางการเงิน รวมทั้งแนวทางการผ่อนผันดอกเบี้ยใน 3 ปีแรกของการเปิดให้บริการ และการเตรียมความพร้อมการเข้าสู่ระบบตั๋วร่วมภายใต้มาตรฐาน EMV สามารถรองรับการใช้งานในรถเมล์ ขสมก. และเรือโดยสาร MINE Smart Ferry รวมทั้งเปิดใช้งานกับรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน และสายสีม่วงได้ภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2565
รถไฟฟ้าสายสีแดง เปิดให้บริการ 13 สถานี
รถไฟฟ้าสายสีแดง เปิดให้บริการ 13 สถานี via: Shutterstock

10 ปีที่รอคอย รถไฟฟ้าสายสีแดงอ่อนเปิดใช้

แม้ว่ารถไฟฟ้าสายสีแดงอ่อน บางซื่อ-ตลิ่งชัน จะก่อสร้างเสร็จหมดแล้วตั้งแต่ปี 2554 แต่ปัจจุบันยังไม่เปิดใช้บริการ (มีการนำรถไฟดีเซลรางมาวิ่งช่วงหนึ่ง) เนื่องจากต้องรอให้การก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีแดง และสถานีกลางบางซื่อเสร็จเรียบร้อยก่อน และเปิดใช้บริการพร้อมกัน เรียกได้ว่าเป็นระยะกว่า 10 ปีที่รถไฟฟ้าสายสีแดงอ่อน รอให้มีการเปิดใช้บริการ
รถไฟฟ้าสายสีแดงในสถานีกลางบางซื่อ ศูนย์กลางคมนาคมระดับภูมิภาค
รถไฟฟ้าสายสีแดงในสถานีกลางบางซื่อ ศูนย์กลางคมนาคมระดับภูมิภาค via: Shutterstock

รถไฟฟ้าสายสีแดงเปิด ส่งผลบวกต่อการเดินทาง-อสังหาฯ

หากรถไฟฟ้าสายสีแดง เปิดให้บริการจะส่งผลบวกต่อการเดินทาง รวมถึงการเติบโตของภาคอสังหาริมทรัพย์ตามแนวรถไฟฟ้าด้วย

1. การเดินทางจากชานเมือง

ถือเป็นครั้งแรกที่รถไฟฟ้าจะขยายไปจนถึงจังหวัดอยุธยา ฉะเชิงเทรา นครปฐม และสมุทรสาคร การมาของรถไฟฟ้าสายสีแดงในปริมณฑลโดยรอบกรุงเทพฯ เช่นนี้ จะทำให้เกิดพื้นที่อสังหาริมทรัพย์ใหม่ ๆ ทั้งบ้านและคอนโดมิเนียม โดยเฉพาะโครงการบ้านจัดสรร ซึ่งจะมีราคาที่ดินถูกกว่าบ้านในกรุงเทพฯ อย่างแน่นอน

2. การเดินทางไปกลับสนามบิน

เนื่องจากรถไฟฟ้าสายสีแดงมีสถานีติดกับสนามบินดอนเมือง จึงทำให้การเดินทางไปและกลับจากสนามบินดอนเมืองเป็นเรื่องง่ายกว่าในปัจจุบันมาก ยิ่งไปกว่านั้น โครงการรถไฟฟ้าสายสีแดงยังรองรับการเชื่อมต่อกับสนามบินนครปฐมที่มีแผนการก่อสร้างในอนาคต เพื่อลดความแออัดของสนามบินสุวรรณภูมิและสนามบินดอนเมือง

3. การเดินทางด้วยรถไฟไปยังภูมิภาค

รถไฟฟ้าสายสีแดงมีสถานีกลางบางซื่อเป็นสถานีหลักของโครงการ โดยเป็นสถานีรถไฟที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในอาเซียน และจะทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางของการเดินทางด้วยระบบรางจากกรุงเทพฯ ไปยังภาคเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ รองรับทั้งรถไฟฟ้าในเมือง (สายสีน้ำเงิน) รถไฟฟ้าชานเมือง (สายสีแดง) รถไฟทางไกล และรถไฟความเร็วสูงในอนาคต
การมาของสถานีกลางบางซื่อจึงทำให้พื้นที่โดยรอบกลายเป็นทำเลทองแห่งใหม่ของกรุงเทพฯ โดยมีโครงการที่อยู่อาศัยทั้งบ้านและคอนโดมิเนียม อาคารสำนักงาน และสิ่งอำนวยความสะดวกเกิดขึ้นในย่านบางซื่อและบริเวณใกล้เคียง

4. เพิ่มศักยภาพเมืองใหม่

– รังสิต
รังสิตถือเป็นย่านที่ได้รับประโยชน์จากโครงการรถไฟฟ้าสายสีแดงเข้มมากที่สุดและเร็วที่สุด เพราะเป็นชุมชนเมืองขนาดใหญ่ทางเหนือของกรุงเทพฯ อยู่แล้ว โดยมีสถานีหลักหกที่ตั้งอยู่ใกล้กับมหาวิทยาลัยรังสิต ซึ่งมีนักศึกษาและผู้อยู่อาศัยในย่านนี้เป็นจำนวนมาก ก่อนจะสิ้นสุดโครงการสายสีแดงเข้มระยะแรกที่สถานีรังสิต
– ศาลายา
ศาลายาเป็นอีกย่านที่ได้รับประโยชน์ไม่แพ้กัน เพราะเป็นย่านที่อยู่อาศัยขนาดใหญ่ทางตะวันตกของกรุงเทพฯ และมีสถานที่สำคัญทั้งมหาวิทยาลัยมหิดลและพุทธมณฑล โดยมีแผนจะสร้างรถไฟฟ้าสายสีแดงอ่อน สถานีศาลายา ในโครงการสายสีแดงอ่อนระยะที่ 2 ซึ่งกำลังอยู่ในระหว่างการประมูลงานก่อสร้าง
– หลักสี่
นอกจากย่านชานเมือง ย่านหลักสี่ของกรุงเทพฯ ก็รับความเปลี่ยนแปลงจากการมาของรถไฟฟ้าด้วยเช่นกัน โดยนอกจากจะมีรถไฟฟ้าสายสีแดงเข้ม สถานีหลักสี่แล้ว ยังมีสถานีของรถไฟฟ้าสายสีชมพูตัดกันอีกด้วย และผังเมืองกรุงเทพฯ ฉบับใหม่ ก็มีแผนจะปั้นให้ย่านหลักสี่กลายเป็นชุมชนเมืองแห่งใหม่ในอนาคต
รถไฟฟ้าสายสีแดง เปิดใช้บริการ ไม่ว่าจะเป็น รถไฟฟ้าสายสีแดงเข้ม หรือรถไฟฟ้าสายสีแดงอ่อน ถือเป็นเส้นเลือดใหญ่เส้นใหม่ของการเดินทางในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ที่จะช่วยเพิ่มมูลค่าอสังหาริมทรัพย์ในย่านชานเมือง และพัฒนาพื้นที่ใหม่ ๆ ให้กลายเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยทั้งบ้านเดี่ยว คอนโดมิเนียม และพื้นที่เชิงพาณิชย์ที่มีราคาถูกกว่าในตัวเมือง จึงถือเป็นการกระจายความเจริญและความสะดวกสบายในการเดินทางให้กว้างไกลมากกว่าเดิม
สนใจรับบทความดีดี อัปเดต ข่าวอสังหาริมทรัพย์ และ อ่านคู่มือซื้อขาย พร้อม รีวิวโครงการคอนโดฯ ใหม่ บ้านใหม่ หลากหลายทำเลและราคา รวมถึง ทำความรู้จักกับทำเลฮอตทั่วกรุง เพื่อเพิ่มความมั่นใจในการซื้อ-ขาย-เช่า

คำนวณยอดผ่อนต่อเดือน

คำนวณยอดผ่อนชำระต่อเดือนตามอัตราดอกเบี้ยของคุณด้วยเครื่องมือคำนวณสินเชื่อนี้

คำนวณวงเงินกู้สูงสุด

คำนวณสินเชื่อบ้าน ยอดวงเงินกู้บ้านใหม่ที่คาดว่าจะได้รับจากแบงก์และยอดผ่อนชำระในแต่ละเดือน

คำนวณสินเชื่อรีไฟแนนซ์บ้าน

เช็กยอดผ่อนชำระต่อเดือนอัตราใหม่และจำนวนเงินที่คุณสามารถประหยัดได้หลังจากการทำรีไฟแนนซ์

รวมทุกเรื่องที่ควรรู้เกี่ยวกับรถไฟฟ้าสายสีแดง

รถไฟฟ้าสายสีแดง เปิดทุกวัน เวลา 05.30-24.00 น. โดยมีขบวนรถให้บริการทุก ๆ 20 นาที เดินทางจากรังสิต-บางซื่อ รวม 10 สถานี ระยะทาง 26 กิโลเมตร ใช้เวลาเพียง 23 นาที และจากตลิ่งชัน-บางซื่อ รวม 4 สถานี ระยะทาง 15 กิโลเมตร ใช้เวลาเพียง 17 นาที

รถไฟฟ้าสายสีแดง ค่าโดยสารเริ่มต้นเพียง 12-42 บาท พร้อมส่วนลดพิเศษ เด็กเล็กที่สูงไม่เกิน 90 ซม. ไม่คิดค่าบริการ เด็กอายุไม่เกิน 14 ปีและสูงไม่เกิน 120 ซม. ลดค่าโดยสาร 50% ผู้สูงอายุเกิน 60 ปี ลดค่าโดยสาร 50% พระภิกษุ ลดค่าโดยสาร 50% ผู้พิการ ไม่คิดค่าบริการบาทตลอดสาย

รถไฟฟ้าสายสีแดง สถานีรังสิต ตั้งอยู่บริเวณถนนรังสิต-ปทุมธานี และถนนกำแพงเพชร 6 บริเวณหมู่บ้านรัตนโกสินทร์ 200 ปี ในอนาคตจะเชื่อมต่อไปได้ถึงสถานีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต