เจ้าหนี้ยึดทรัพย์แบบไหนได้บ้าง ดู 6 รายได้ที่มีโอกาสถูกยึด

DDproperty Editorial Team
เจ้าหนี้ยึดทรัพย์แบบไหนได้บ้าง ดู 6 รายได้ที่มีโอกาสถูกยึด
คนที่จะมายึดทรัพย์ หรืออายัดเงินเดือนของเรานั้น คงไม่ใช่ใครอื่น แต่เป็นคนที่เรารู้จักคุ้นเคยมาเป็นอย่างดี นั่นก็คือ “เจ้าหนี้” นั่นเอง
แต่การยึดทรัพย์ หรือ อายัดเงินเดือนนั้น ไม่ใช่ว่าเจ้าหนี้จะสามารถทำได้เองโดยพลการ เจ้าหนี้สามารถทำได้ก็ต่อเมื่อศาลมีคำพิพากษาให้เจ้าหนี้ชนะคดี และเราผู้ซึ่งเป็นลูกหนี้ไม่ชำระคืนให้กับเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาภายใน 15 หรือ 30 วัน แล้วแต่ศาลจะกำหนดในคำพิพากษา
เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว เจ้าหนี้เองก็สามารถยึดทรัพย์และอายัดเงินเดือนของเราได้ แต่ศาลก็ไม่ได้ใจร้ายกับเราผู้ซึ่งเป็นลูกหนี้ตาดำ ๆ เสียทีเดียว ยังมีข้อยกเว้นในการยึดทรัพย์เพื่อให้ลูกหนี้ยังพอมีรายได้ประทังชีวิตต่อไปได้
อ่านหัวข้อที่คุณสนใจ

ข้อยกเว้นในการยึดทรัพย์

ทรัพย์สินที่เป็นข้าวของเครื่องใช้ในครัวเรือน ที่มีความจำเป็นในการดำรงชีวิต มูลค่า 50,000 บาทแรก เจ้าหนี้ห้ามยึดเพราะเป็นทรัพย์สินที่มีความจำเป็นต่อการดำรงชีวิตจริง ๆ
หากไม่มี จะทำให้การใช้ชีวิตประจำวันยากลำบาก ทรัพย์สินที่จำเป็น ได้แก่ โต๊ะกินข้าว, เก้าอี้, โทรทัศน์ หรือเครื่องครัว แต่ถ้าเป็นสร้อยคอ, แหวนทอง, แหวนเพชร และนาฬิกาสุดหรู ที่ใส่ประดับเพื่อแสดงถึงฐานะทางการเงิน เจ้าหนี้สามารถยึดได้ เพราะสิ่งเหล่านี้ไม่จำเป็นต่อการใช้ชีวิต แม้ลูกหนี้จะคิดว่าเป็นสิ่งจำเป็นต้องมีก็ตาม
ทรัพย์สินที่เป็นเครื่องมือทำมาหากินของลูกหนี้ ถ้ามูลค่ารวมกันไม่ถึง 100,000 บาท เจ้าหนี้ห้ามยึดเช่นกัน เพราะจะทำให้ลูกหนี้ไม่สามารถประกอบอาชีพเลี้ยงตัวเองได้
เครื่องมือประกอบอาชีพ เช่น คอมพิวเตอร์ เครื่องถ่ายเอกสาร (ในกรณีที่ประกอบธุรกิจรับถ่ายเอกสาร) หากเครื่องมือประกอบอาชีพมีราคาสูงกว่า 100,000 บาท และจำเป็นต้องใช้จริงๆ ก็สามารถร้องขอต่อศาลได้
หากมีเจ้าหนี้หลายราย เมื่อเจ้าหนี้รายใดได้ยึดทรัพย์สินนั้นไปแล้ว เจ้าหนี้รายอื่นจะไม่สามารถยึดซ้ำได้อีก ดังนั้น เจ้าหนี้รายไหนมาก่อนก็จะได้สิทธิยึดก่อน
เจ้าหนี้ยึดทรัพย์แบบไหนได้บ้าง 6 เงินเดือน-รายได้ที่มีโอกาสถูกยึด

การอายัดเงินเดือน-รายได้ มีรายละเอียดอย่างไร

ส่วนการอายัดเงินเดือน หรือรายได้ที่ลูกหนี้ได้รับมานั้น เจ้าหนี้สามารถอายัดได้ก็ต่อเมื่อศาลได้ตัดสินแล้ว แต่ลูกหนี้เงียบเฉย ไม่ติดต่อ ไม่จ่ายเงิน หรือตกลงเรื่องการจ่ายเงินไม่ได้ ดังนั้น หากเจ้าหนี้รายแรกขออายัดเงินเดือนแล้ว เจ้าหนี้รายอื่น ๆ จะไม่สามารถอายัดได้อีก จะสามารถอายัดได้ก็ต่อเมื่อเจ้าหนี้รายแรกอายัดครบก่อน
สำหรับเกณฑ์การอายัดเงินเดือนของกรมบังคับคดี หากลูกหนี้เป็นข้าราชการหรือลูกจ้างประจำของข้าราชการ จะไม่ถูกอายัดเงินเดือน แต่ถ้าเป็นพนักงานรัฐวิสาหกิจหรือพนักงานบริษัท จะถูกอายัดเงินเดือนโดยมีหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้
1. เงินเดือนอายัดได้ไม่เกิน 30%
คำนวณจากเงินเดือนก่อนหักค่าใช้จ่ายต่างๆ เช่น ภาษี ประกันสังคม กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ฯลฯ แต่ถ้าลูกหนี้มีเงินเดือนไม่ถึง 10,000 บาท เจ้าหนี้ก็ไม่สามารถอายัดเงินเดือนได้
การอายัดเงินเดือนจะทำได้เมื่อลูกหนี้มีเงินเดือนเกิน 10,000 บาท และเมื่ออายัด 30% แล้วจะต้องเหลือเงินให้ลูกหนี้ใช้จ่ายไม่ต่ำกว่า 10,000 บาท ด้วย
ดังนั้น หากลูกหนี้มีเงินเดือน 12,000 บาท เจ้าหนี้อายัด 30% (เท่ากับ 3,600 บาท) จะทำให้ลูกหนี้มีเงินเดือนคงเหลือเพียง 8,400 บาท (12,000 – 3,600) ในกรณีนี้ เจ้าหนี้จะอายัดได้เพียง 2,000 บาท คงเหลือเงินจำนวน 10,000 บาทให้ลูกหนี้ใช้จ่ายนั่นเอง
แต่ก็มีกรณียกเว้น หากลูกหนี้มีค่าใช้จ่ายจำเป็นอื่นๆ เช่น ค่าเลี้ยงดูบุตร ค่ารักษาพยาบาล ก็สามารถนำหลักฐานไปลดหย่อนที่กรมบังคับคดีเพื่อให้เจ้าหนี้ลดเปอร์เซ็นต์การอายัดได้
2. โบนัส
เจ้าหนี้สามารถอายัดได้ไม่เกิน 50% ดังนั้น เมื่อได้เงินโบนัสมา อย่าเพิ่งดีใจไป เพราะเจ้าหนี้สามารถอายัดได้ครึ่งหนึ่ง เมื่อหักภาษีแล้วลูกหนี้จะเหลือใช้ไม่ถึงครึ่ง
3. เงินตอบแทนจากการออกจากงาน เจ้าหนี้สามารถอายัดได้ 100%
4. เงินค่าคอมมิชชั่น เจ้าหนี้สามารถอายัดได้ 30%
5. เงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เจ้าหนี้ไม่สามารถอายัดได้
ดังนั้น หากมีการสะสมเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ลูกหนี้ก็พอเบาใจได้ส่วนหนึ่งว่าเงินจำนวนนี้จะยังเป็นเงินสะสมที่สามารถนำมาใช้จ่ายในอนาคตหลังเกษียณ
6. เงินกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ
ถือเป็นเงินกองทุนที่เจ้าหนี้ไม่สามารถอายัดได้
รูปแบบรายได้อายัดได้เท่าไหร่
เงินเดือนอายัดได้ไม่เกิน 30%
โบนัสอายัดได้ไม่เกิน 50%
เงินตอบแทนจากการออกจากงานอายัดได้ 100%
เงินค่าคอมมิชชั่นอายัดได้ 30%
เงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพไม่สามารถอายัดได้
เงินกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการไม่สามารถอายัดได้
นอกจากนี้ หากลูกหนี้มีรถยนต์หรือรถจักรยานยนต์ที่ยังติดไฟแนนซ์อยู่ ต้องถือว่าเป็นโชคดี เพราะเจ้าหนี้จะไม่สามารถยึดได้ เนื่องจากกรรมสิทธิ์เป็นของบริษัทไฟแนนซ์ ยังไม่ใช่ของเรา
แต่ถ้าหากเราผ่อนไฟแนนซ์หมดแล้ว กรรมสิทธิ์เป็นของเรา เจ้าหนี้ก็สามารถมายึดได้ ซึ่งแตกต่างจากการผ่อนบ้านหรือที่ดิน แม้ว่าเราจะยังติดจำนองอยู่ก็ตาม เจ้าหนี้ก็สามารถยึดเพื่อไปขายทอดตลาดได้
ดังนั้น หากเราต้องการใช้จ่ายสบาย ๆ ไม่ต้องเป็นกังวลว่าจะโดนเจ้าหนี้ยึด หรืออายัดอะไรเราบ้าง ก็ต้องไม่ใช้จ่ายเงินเกินตัวจนทำให้มีเจ้าหนี้ตามทวงยาวเป็นหางว่าว เรียกว่า "การไม่มีหนี้ เป็นลาภอันประเสริฐ"
นอกเหนือจากการไม่มีโรคนั่นเอง และเมื่อชำระหนี้หมดแล้ว แนะนำให้รักษาประวัติให้ดี ไม่ก่อหนี้ใหม่ในช่วง 3 ปีหลังเคลียร์หนี้ จะได้มีประวัติสวย ๆ ในเครดิตบูโร
ติดเครดิตบูโร ซื้อบ้านได้ไหม

ติดเครดิตบูโร ซื้อบ้านได้ไหม

เรื่องข้างต้นนี้เขียนโดย นิชฌานี ฉันทศาสตร์ CFP® K-Expert ฝ่ายวางแผนและให้คำปรึกษาลูกค้าบุคคล ธนาคารกสิกรไทย หากมีข้อสงสัยหรือต้องการปรึกษาวางแผนเพิ่มเติม สามารถปรึกษากับ K-Expert ธนาคารกสิกรไทย ได้ที่ K-Expert@kasikornbank.com
สนใจรับบทความดีดี อัปเดต ข่าวอสังหาริมทรัพย์ และ อ่านคู่มือซื้อขาย พร้อม รีวิวโครงการคอนโดฯ ใหม่ บ้านใหม่ หลากหลายทำเลและราคา รวมถึง ทำความรู้จักกับทำเลฮอตทั่วกรุง เพื่อเพิ่มความมั่นใจในการซื้อ-ขาย-เช่า

คำนวณยอดผ่อนต่อเดือน

คำนวณยอดผ่อนชำระต่อเดือนตามอัตราดอกเบี้ยของคุณด้วยเครื่องมือคำนวณสินเชื่อนี้

คำนวณวงเงินกู้สูงสุด

คำนวณสินเชื่อบ้าน ยอดวงเงินกู้บ้านใหม่ที่คาดว่าจะได้รับจากแบงก์และยอดผ่อนชำระในแต่ละเดือน

คำนวณสินเชื่อรีไฟแนนซ์บ้าน

เช็กยอดผ่อนชำระต่อเดือนอัตราใหม่และจำนวนเงินที่คุณสามารถประหยัดได้หลังจากการทำรีไฟแนนซ์

ยึดทรัพย์ คืออะไร

การยึดทรัพย์ หมายถึง การที่เจ้าพนักงานเอาทรัพย์สินไปจากการครองครองของบุคคล เพราะเหตุที่กระทำการฝ่าฝืนกฎหมาย หรือเพื่อบังคับคดี

ยึดทรัพย์ที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตหรือการทำมาหากิน "ไม่ได้" ไม่เกี่ยวข้องกับการทำมาหากินของลูกหนี้ "ไม่ได้" แต่สามารถยึดอสังหาฯ รถยนต์ เงินเดือน หรือรายได้อื่น ๆ ได้ มีทั้งยึดได้ทั้งหมดและยึดได้บางส่วน