HIGHLIGHTS
-
แท้จริงแล้วสินเชื่อตกแต่งบ้าน คือ สินเชื่อส่วนบุคคล หรือ สินเชื่ออเนกประสงค์ที่มีไว้สำหรับนำมาใช้่จ่ายเพื่อการอุปโภค บริโภค
-
ส่วนใหญ่สินเชื่อตกแต่งบ้านหรือสินเชื่อส่วนบุคคลนี้ จะปล่อยให้กู้พร้อมกับสินเชื่อที่อยู่อาศัย โดยมักจะให้วงเงินกู้สูงสุด รวมกับราคาประเมินบ้านไม่เกิน 100%
จากราคาที่อยู่อาศัยที่ปรับเพิ่มขึ้นอยู่ตลอด การมีบ้านสักหลังจึงไม่ใช่เรื่องง่าย แค่จะหาเงินมาซื้อบ้านยังต้องกู้เลย หลายคนจึงอาจลืมเผื่องบเอาไว้สำหรับการตกแต่งบ้าน หรือ ซื้อข้าวของเครื่องใช้ที่จำเป็นเข้าบ้าน เพราะเทหมดหน้าตักไปเสียแล้วกับการซื้อบ้าน การกู้ตกแต่งบ้านหรือขอสินเชื่อตกแต่งบ้านจึงเป็นทางออกที่น่าสนใจ ซึ่ง DDproperty นำข้อมูลมาฝากคุณในครั้งนี้
กู้เพื่อตกแต่งบ้าน ต้องขอสินเชื่อประเภทใด
นอกจากบริการเงินกู้เพื่ออุปกรณ์และสิ่งอำนวยความสะดวกจากธนาคารอาคารสงเคราะห์แล้ว จากการสำรวจข้อมูลเกี่ยวกับสินเชื่อที่สามารถกู้มาเพื่อตกแต่งบ้าน
พบว่าสินเชื่อตกแต่งบ้านนี้จัดรวมอยู่ในประเภทสินเชื่อส่วนบุคคลที่ไม่ใช่สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย โดยสินเชื่อส่วนบุคคลนี้มักจะระบุวัตถุประสงค์ของสินเชื่อเอาไว้กว้าง ๆ ว่าเป็นสินเชื่อเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายอเนกประสงค์ตามความต้องการของลูกค้า เพื่อการอุปโภค บริโภค
รวมไปถึงการชำระหนี้ที่มีต่อสถาบันการเงินอื่น และบางสินเชื่อระบุชัดเจนว่าห้ามกู้เพื่อชำระค่าซื้อหรือก่อสร้างที่อยู่อาศัย ดังนั้นจึงสามารถขอสินเชื่อส่วนบุคคลเพื่อนำเงินมาซื้อข้าวของเครื่องใช้เข้าบ้าน หรือตกแต่งบ้านได้
รูปแบบของการกู้เพื่อตกแต่งบ้านเป็นอย่างไรบ้าง
การกู้เพื่อตกแต่งบ้าน หรือการขอสินเชื่อส่วนบุคคลนั้นมีรูปแบบที่หลากหลายตามแต่ละธนาคารจะกำหนดเงื่อนไข เช่น ขอสินเชื่อบ้านแล้วกู้สินเชื่อส่วนบุคคลเพื่อตกแต่งบ้านเพิ่ม ขอสินเชื่อส่วนบุคคลโดยมีหลักประกัน ขอสินเชื่อส่วนบุคคลโดยมีบัญชีเงินเดือนกับธนาคาร
การกู้โดยมีบุคคลค้ำประกัน รวมไปถึงการกู้โดยไม่มีบุคคลค้ำประกันและไม่มีหลักประกัน เป็นต้น ซึ่งแต่ละรูปแบบนั้นมีรายละเอียดแตกต่างกัน ดังต่อไปนี้
แบบที่ 1 ขอสินเชื่อบ้าน ร่วมกับสินเชื่อส่วนบุคคล
ถ้าหากบ้านยังอยู่ระหว่างผ่อนชำระสินเชื่อกับทางธนาคารอยู่ก็สามารถกู้ตกแต่งบ้านได้ โดยสินเชื่อรูปแบบนี้เป็นสินเชื่อส่วนบุคคลสำหรับผู้ขอสินเชื่อที่เป็นผู้ขอสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยกับธนาคารอยู่แล้ว
ทั้งลูกค้าเก่าและลูกค้าใหม่ สินเชื่อส่วนบุคคลนี้จึงไม่ต้องมีหลักประกันหรือบุคคลค้ำประกันอื่นใดอีก เพราะจะใช้อสังหาริมทรัพย์ที่เป็นหลักประกันของสินเชื่อบ้าน มาเป็นหลักประกันของสินเชื่อส่วนบุคคลไปด้วย
โดยธนาคารจะรวมวงเงินกู้เข้ากับยอดหนี้ของสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย โดยมีเงื่อนไขว่าเมื่อรวมยอดหนี้เข้าด้วยกันแล้ววงเงินกู้รวมทั้งหมดต้องไม่เกินกว่า 100% ของราคาประเมิน
ในส่วนของคุณสมบัติของผู้กู้นั้นธนาคารยังพิจารณาไปถึงประวัติด้านการเงินของผู้ขอสินเชื่อ คุณภาพหนี้ปกติ (ไม่เคยปรับปรุงโครงสร้างหนี้กับธนาคาร)
และถ้าหากสินเชื่อบ้านที่ขอไปนั้นเป็นการกู้เพื่อซื้อที่ดินจะต้องมีการปลูกสร้างบ้านแล้วจึงจะสามารถขอสินเชื่อประเภทนี้ได้ ยกตัวอย่างสินเชื่อรูปแบบนี้ได้ดังนี้
- ธนาคารกรุงไทย
สินเชื่อ KTB Home for Cash จากธนาคารกรุงไทย ซึ่งแบ่งหลักเกณฑ์ในการให้สินเชื่อออกเป็น 2 กรณี กรณีที่กู้เงินแบบมีกำหนดระยะเวลา (Term Loan) เมื่อรวมวงเงินสินเชื่อส่วนบุคคลเข้ากับยอดหนี้คงเหลือของสินเชื่อที่อยู่อาศัย จะต้องไม่เกิน 100% ของราคาประเมินที่อยู่อาศัย
อัตราดอกเบี้ยเท่ากับ MRR% ต่อปี หากผ่อนชำระสินเชื่อบ้านมาแล้วไม่ถึง 2 ปี แต่ถ้าผ่อนบ้านนานเกิน 2 ปี อัตราดอกเบี้ยเท่ากับ MRR-0.5% ต่อปี
ถ้าเป็นกรณีที่กู้เงินแบบหมุนเวียน (Revolving Loan) เมื่อรวมวงเงินกู้ส่วนบุคคลกับยอดหนี้สินเชื่อที่อยู่อาศัยจะต้องไม่เกิน 80% ของราคาประเมินที่อยู่อาศัย อัตราดอกเบี้ยเท่ากับ MRR+1% ต่อปี ซึ่งขณะนี้ MRR เท่ากับ 8% ต่อปี
แบบที่ 2 ขอสินเชื่อส่วนบุคคลโดยใช้หลักประกัน
เป็นการขอสินเชื่อโดยใช้หลักประกัน ได้แก่ การจำนองที่ดินเปล่า ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง หรือห้องชุดในอาคารชุด การจำนำพันธบัตร การโอนสิทธิเรียกร้องในเงินฝาก เพื่อแลกกับการกู้เงิน โดยวงเงินกู้นั้นจะขึ้นอยู่กับราคาประเมินของหลักประกันโดยธนาคาร แต่โดยส่วนมากแล้วจะให้วงเงินกู้สูงสุดที่ 5 ล้านบาท และยังมีวงเงินกู้เบิกเกินเงินในบัญชี (O/D) ซึ่งแตกต่างกันตามแต่ละธนาคาร ระยะเวลาการกู้นั้นมีลักษณะเป็นการกู้ที่กำหนดระยะเวลาแน่ชัด อัตราดอกเบี้ยเป็นแบบลอยตัวเพิ่มขึ้นจากค่า MLR หรือ MRR ของทางธนาคาร ยกตัวอย่างสินเชื่อประเภทนี้ดังนี้
- ธนาคารออมสิน
สินเชื่อไทรทองอเนกประสงค์ เป็นเงินกู้ระยะยาว แบบผ่อนชำระซึ่งสามารถนำที่ดิน อาคารที่อยู่อาศัยของตนเอง หรือบุคคลอื่นมาเป็นหลักประกันได้
โดยพิจารณาหลักประกันที่จะต้องอยู่ในแหล่งชุมชนที่มีความเจริญ มีไฟฟ้า สาธารณูปโภค และทางสาธารณประโยชน์ ซึ่งการใช้หลักประกันในการกู้นั้นจะทำให้กู้ได้สูงสุดรายละ 5 ล้านบาท
อัตราดอกเบี้ยนั้นเท่ากับ MLR+0.5% ต่อปี โดยที่ MLR เท่ากับ 6.875% ต่อปี
- ธนาคารกรุงไทย
สินเชื่อกรุงไทยบ้านแสนสะดวก เป็นทางเลือกในการกู้เพื่อตกแต่งบ้านโดยใช้บ้านเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันในการกู้
ซึ่งมีข้อแม้ว่าบ้านนั้นจะต้องปลอดภาระ หรือผ่อนชำระสินเชื่อบ้านหมดสิ้นแล้ว อัตราดอกเบี้ยในปีที่ 1 คงที่ 3.25% ต่อปี หลังจากนั้นปรับลอยตัวเท่ากับ MLR-0.25% ต่อปี ปัจจุบัน MLR เท่ากับ 6.75% ต่อปี
- ธนาคารกสิกรไทย
สินเชื่อบ้านทวีทรัพย์กสิกรไทย เป็นสินเชื่อจากธนาคารกสิกรไทยที่ให้ใช้ บ้านพร้อมที่ดิน ทาวน์เฮาส์ อาคารพาณิชย์ และห้องชุดมาเป็นหลักประกันได้ ยกเว้นที่ดินเปล่า
โดยสามารถนำที่อยู่อาศัยที่ปลอดภาระมาใช้เป็นหลักประกันได้ มีช่วงระยะเวลาผ่อนนานที่สุด 15 ปี และมีอัตราดอกเบี้ยปัจจุบันเท่ากับ 7.6% ต่อปี ส่วนวงเงินกู้สูงสุด 80% ของราคาประเมิน แต่ไม่เกิน 10 ล้านบาท
แบบที่ 3 ขอสินเชื่อส่วนบุคคลโดยมีผู้ค้ำประกัน
ถ้าหากไม่ได้ขอสินเชื่อบ้านไว้ และไม่มีหลักประกัน การใช้บุคคลค้ำประกันเพื่อขอสินเชื่อส่วนบุคคลก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่ง
โดยจะพิจารณาความสามารถในการชำระหนี้และสภาพคล่องของทั้งผู้ขอสินเชื่อและผู้ค้ำประกันประกอบการอนุมัติสินเชื่อ ลักษณะของสินเชื่อรูปแบบนี้จะคล้ายกับสินเชื่อที่ใช้หลักประกัน
โดยเป็นสินเชื่อที่มีกำหนดระยะเวลาชำระหนี้ที่แน่นอน แต่วงเงินกู้สูงสุดจะต่ำกว่าการกู้โดยใช้หลักประกัน โดยจะกู้ได้สูงสุดประมาณ 300,000 บาท โดยวงเงินกู้นั้นจะขึ้นอยู่กับความสามารถในการชำระหนี้ของทั้งตัวผู้กู้และตัวผู้ค้ำประกัน
- ธนาคารออมสิน
สินเชื่อไทรทองอเนกประสงค์จากธนาคารออมสิน สามารถเลือกใช้บุคคลค้ำประกันแทนกรณีที่ไม่มีหลักประกันได้ โดยถ้าหากใช้บุคคลค้ำประกัน จะให้กู้ได้ไม่เกิน 300,000 บาท
โดยมีระยะเวลาชำระเงินกู้ไม่เกิน 7 ปี อัตราดอกเบี้ยเท่ากับ MLR+2% ต่อปี โดยขณะนี้ MRL=6.875% ต่อปี
แบบที่ 4 ขอสินเชื่อส่วนบุคคลกับธนาคารที่มีบัญชีเงินเดือน
สินเชื่อแบบนี้เป็นการที่บริษัทที่ทำงานอยู่กับธนาคารที่มีบัญชีเงินเดือนมีความร่วมมือกัน (MOU) ให้สินเชื่อส่วนบุคคลกับพนักงานเพื่อเป็นสวัสดิการแก่พนักงาน
เงื่อนไขของสินเชื่อจึงขึ้นอยู่กับการตกลงระหว่างธนาคารและองค์กร ซึ่งมีทั้งภาครัฐและเอกชน
- ธนาคารกรุงไทย
สินเชื่อกรุงไทยธนวัฏ ซึ่งเป็นสินเชื่อวงเงินหมุนเวียนส่วนบุคคล โดยมีเงื่อนไขว่าลูกค้าจะต้องมีบัญชีเงินเดือนผ่านธนาคารกรุงไทยและขึ้นอยู่กับข้อตกลงกับต้นสังกัด วงเงินกู้ของสินเชื่อนี้จะสูงสุด 12 เท่าของเงินเดือนหรือรายได้สำหรับหน่วยงานที่มีข้อตกลงกับธนาคาร
ในกรณีของผู้กู้ที่หน่วยงานไม่มีข้อตกลงให้สินเชื่อเป็นสวัสดิการกับธนาคารจะให้วงเงินกู้สูงสุด 5 เท่า แบ่งกลุ่มของผู้กู้ออกเป็น 3 กลุ่มได้แก่ กลุ่มข้าราชการ ลูกจ้างประจำ พนักงานรัฐวิสาหกิจ กลุ่มพนักงานราชการ และกลุ่มพนักงานประจำของบริษัท หรือหน่วยงานเอกชน
อัตราดอกเบี้ย MRR+3.5% ต่อปี ถ้าไม่มีบุคคลค้ำประกัน กลุ่มข้าราชการอัตราดอกเบี้ยเท่ากับ MRR+5.5% ต่อปี กลุ่มพนักงานเอกชนอัตราดอกเบี้ยเท่ากับ MRR+6% ต่อปี โดยขณะนี้ MRR เท่ากับ 8% ต่อปี
แบบที่ 5 ขอสินเชื่อส่วนบุคคลโดยไม่มีหลักประกัน และผู้ค้ำประกัน
ในกรณีที่บ้านยังติดภาระสินเชื่อบ้านอยู่ ไม่มีหลักประกันอื่น และไม่มีบุคคลค้ำประกัน ก็สามารถขอสินเชื่อส่วนบุคคลได้
แต่สินเชื่อรูปแบบนี้จะมีอัตราดอกเบี้ยที่สูงกว่าสินเชื่อรูปแบบอื่นๆ ที่ได้กล่าวมา เนื่องจากธนาคารวิเคราะห์ว่ามีความเสี่ยงสูงกว่าที่จะไม่สามารถชำระหนี้ได้ และปราศจากหลักทรัพย์ค้ำประกันและบุคคลค้ำประกันให้ธนาคาร
- ธนาคารกรุงไทย
สินเชื่อกรุงไทย Super Easy เป็นสินเชื่อเพื่อการอุปโภคและบริโภคทั่วไป โดยผู้ขอสินเชื่อไม่ต้องมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน โดยธนาคารจะพิจารณาวงเงินกู้ให้เป็นจำนวนเท่าของเงินเดือน
ซึ่งกำหนดเงินเดือนขั้นต่ำที่ 18,000 บาท และอายุงานตั้งแต่ 1 ปีขึ้นไป ผู้ประกอบการต้องมีรายได้ขั้นต่ำ 20,000 บาทต่อเดือน ดำเนินกิจการมาแล้วไม่ต่ำกว่า 1 ปี ให้วงเงินกู้ 5 เท่าของรายได้ แต่ไม่เกิน 1 ล้านบาท
อัตราดอกเบี้ย 18% ต่อปี และปรับเพิ่มเป็น 20% ต่อปีตั้งแต่ 31 มกราคม 2558 เป็นต้นไป
- ธนาคารกสิกรไทย
สินเชื่อเงินสดทันใจกสิกร เป็นสินเชื่อจากธนาคารกสิกรไทยลักษณะคล้ายๆ กันคือ ไม่ต้องมีการค้ำประกันใดๆ ทั้งหลักทรัพย์และบุคคล
โดยผู้กู้จะต้องมีรายได้ขั้นต่ำ 15,000 บาทต่อเดือน สำหรับพนักงานและลูกจ้าง และรายได้ขั้นต่ำ 20,000 บาทสำหรับผู้ประกอบการ วงเงินกู้สูงสุด 5 เท่าของรายได้ แต่ไม่เกิน 1.5 ล้านบาท
ส่วนอัตราดอกเบี้ยเท่ากับ 20-27% ต่อปีขึ้นอยู่กับจำนวนวงเงินกู้
การเตรียมเอกสารขอสินเชื่อตกแต่งบ้าน
สำหรับการเตรียมเอกสารเพื่อยื่นขอสินเชื่อส่วนบุคคลนั้น จะแบ่งเอกสารออกเป็น 3 กลุ่มได้แก่
- กลุ่มที่ 1 เอกสารประจำตัวผู้ขอสินเชื่อ ได้แก่ บัตรประจำตัวประชาชน ทะเบียนบ้าน ใบจดทะเบียนเปลี่ยนชื่อ-สกุล (กรณีเปลี่ยนชื่อ หรือนามสกุล) ทะเบียนสมรส (กรณีสมรส) ทะเบียนหย่า (กรณีหย่า) มรณบัตร (กรณีคู่สมรสเสียชีวิต)
- กลุ่มที่ 2 เอกสารแสดงความสามารถทางการเงิน หนังสือรับรองเงินเดือน ใบแสดงการจ่ายเงินเดือน (Pay Slip) รายการเดินบัญชี (Statement) รายการแสดงภาษีเงินได้ประจำปี หรือหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย
- กลุ่มที่ 3 เอกสารแสดงรายละเอียดของหลักทรัพย์ ได้แก่ เอกสารสิทธิ์ โฉนดที่ดิน (น.ส. 4 จ.) หนังสือแสดงสิทธิ์ในที่ดิน (น.ส. 3 ก.) หรือหนังสือแสดงกรรมสิทธิ์ห้องชุด (อ.ช. 2) แผนที่ตั้งของอสังหาริมทรัพย์ รูปถ่ายอสังหาริมทรัพย์
กรณีที่มีผู้กู้ร่วม หรือผู้ค้ำประกันให้เตรียมเอกสารในกลุ่มที่ 1 และกลุ่มที่ 2 ของผู้กู้ร่วมและผู้ค้ำประกันด้วย กรณีที่หลักทรัพย์ค้ำประกันให้เตรียมเอกสารในกลุ่มที่ 3 การเตรียมเอกสารจะคล้ายกับการเตรียมเอกสารเพื่อขอสินเชื่อที่อยู่อาศัย ซึ่งคุณสามารถศึกษา รายละเอียดเกี่ยวกับการเตรียมเอกสารเพื่อขอสินเชื่อตกแต่งบ้านเพิ่มเติมได้ที่นี่
เรื่องข้างต้นนี้เขียนโดย กิตติคม พจนี Content Writer ประจำ DDproperty.com หากมีคำถามเพิ่มเติมสามารถติดต่อได้ที่ kittikom@ddproperty.com
หากคุณมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการซื้อบ้าน อ่าน คู่มือซื้อขาย ที่สามารถเป็นตัวช่วยตอบได้ทุกคำถาม พร้อมบอกรายละเอียดการคำนวณสินเชื่อบ้าน ที่เหมาะสมกับคุณโดยเฉพาะมนุษย์เงินเดือน เพื่อให้ตัดสินใจซื้อได้ง่ายขึ้น