เมื่อผ่านมาสักระยะหนึ่งสำหรับคนที่กำลังผ่อนบ้านหลายคนที่รู้สึกว่าตนเองประสบปัญหาในการแบกภาระค่าใช้จ่ายการผ่อนบ้านแต่ละเดือนที่มาก ก็เริ่มที่จะมองหาช่องทางที่จะช่วยลดภาระดังกล่าว ซึ่งการรีไฟแนนซ์บ้าน ก็ถือว่าเป็นวิธีที่ได้รับความนิยมในอันดับต้น
การรีไฟแนนซ์บ้านคืออะไร
สำหรับการรีไฟแนนซ์บ้านนั้น พูดกันให้เข้าใจโดยง่าย ก็คือ การกู้ยืมสินเชื่อบ้านก้อนใหม่นั่นเอง โดยนำบ้านที่กำลังผ่อนอยู่มาค้ำประกันเพื่อขอกู้ยืมสินเชื่อ ซึ่งผู้ขอจะได้รับเงินก้อนใหม่เพื่อมาปิดภาระสินเชื่อเดิม โดยจุดประสงค์หลัก ๆ คือ
- ต้องการลดดอกเบี้ยเพื่อให้ผ่อนบ้านต่อเดือนได้ในจำนวนเงินที่น้อยลงแต่เพิ่มระยะเวลาในการผ่อนมากขึ้น
- ต้องการเงินก้อนมาใช้ในกรณีฉุกเฉิน (ผลพลอยได้ของการรีไฟแนนซ์บ้านที่ได้เงินกู้มากกว่าวงเงินเดิม คุณสามารถนำเงินส่วนต่างนั้นมาใช้ในสิ่งที่ต้องการได้)
- ต้องการย้ายไปธนาคารอื่นที่มีข้อเสนอดีกว่า
ทั้งนี้ การรีไฟแนนซ์บ้านสามารถ รีไฟแนนซ์บ้านธนาคารเดิมหรือรีไฟแนนซ์บ้านธนาคารใหม่* ก็ได้ และสามารถรีไฟแนนซ์บ้านได้ทุกๆ 3 ปี โดยไม่ต้องรอจนถึงตอนที่เดือดร้อนจนสายเกินแก้ แต่มีข้อควรระวังแม้ว่าจะสามารถรีไฟแนนซ์บ้านได้ทุกๆ 3 ปี ก็จริง แต่หากคุณเคยรีไฟแนนซ์บ้านกับธนาคารใหม่ไปแล้วถึง 2 ครั้ง จากเดิมที่สามารถนำดอกเบี้ยกู้บ้านมาลดหย่อนภาษีได้ถึงสูงสุดปีละ 100,000 บาท จะไม่สามารถทำได้
*ข้อควรรู้: โดยทั่วไปคนมักจะคุ้นชินกับคำว่า ‘รีไฟแนนซ์บ้านเจ้าเดิม’ หรือ ‘รีไฟแนนซ์บ้านธนาคารเดิม’ ซึ่งความจริงแล้ว ควรเรียกว่า การรีเทนชัน หรือ การปรับปรุงสัญญากับธนาคารเดิมเพื่อลดอัตราดอกเบี้ยเสียมากกว่า ซึ่งก็เป็นสิ่งที่จูงใจที่ทำให้ผู้ใช้บริการเลือกใช้ธนาคารเจ้าเดิมต่อ เพราะถึงแม้ว่าอาจจะได้ลดอัตราดอกเบี้ยไม่ต่ำเท่ากับธนาคารอื่น
แต่ข้อดีคือ ไม่ต้องเสียเวลายุ่งยากและเสียค่าใช้จ่ายในการดำเนินการที่อาจจะมากกว่างบที่ตั้งใจไว้ แนะนำสำหรับลูกหนี้ชั้นดีที่มีประวัติการชำระที่ดี เช่น ชำระตรงเวลาและไม่เคยเบี้ยวนัด
เอกสารที่ต้องเตรียมสำหรับการรีไฟแนนซ์บ้าน
1. ปรับปรุงสัญญาธนาคารเดิม
เนื่องจากว่าธนาคารเดิมที่เราใช้บริการอยู่มีประวัติทางการเงินและเอกสารต่างๆ ที่เราเคยใช้เพื่อยื่นกู้ซื้อบ้านในตอนแรกแล้ว ฉะนั้นเพียงแค่แจ้งความประสงค์ต้องการลดอัตราดอกเบี้ย ผ่านทางหน้าเคาน์เตอร์ธนาคารหรือคอลเซนเตอร์ จากนั้นรอให้ธนาคารประเมินและแจ้งกลับถึงจำนวนอัตราดอกเบี้ยที่สามารถลดได้ เป็นอันเสร็จ
หมายเหตุ: บางธนาคารอาจมีเงื่อนไขเพิ่มเติม แนะนำให้ศึกษาธนาคารนั้น ๆ โดยตรง
2. รีไฟแนนซ์บ้านกับธนาคารใหม่
อันที่จริงแล้วการรีไฟแนนซ์บ้านโดยย้ายจากธนาคารเดิมไปธนาคารแห่งใหม่ก็ไม่ต่างอะไรกับการยื่นกู้เพื่อขอสินเชื่อบ้านใหม่ โดยเอกสารหลัก ๆ ที่ต้องเตรียมก็จะได้แก่
- สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนพร้อมบัตรประชาชนจริง (กรณีเปลี่ยนชื่อ/นามสกุล ให้เตรียมสำเนาและฉบับจริงของชื่อเดิมด้วย)
- สำเนาทะเบียนบ้านพร้อมต้นฉบับที่ถ่ายสำเนาทุกหน้า
- สำเนาพร้อมต้นฉบับบัญชีธนาคารย้อนหลังอย่างน้อย 6 เดือน
- สำเนาสลิปเงินเดือนพร้อมฉบับจริงย้อนหลังอย่างน้อย 3 เดือน
- หากประกอบอาชีพอิสระ วิธีการแสดงรายได้ คือ ให้นำต้นฉบับและสำเนาบัญชีเงินฝากแสดงรายการเดินบัญชีย้อนหลัง 6 เดือน และใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ มาแทน
- สำเนาพร้อมต้นฉบับแบบแสดงรายการภาษีเงินได้ประจำปีหรือหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย (50 ทวิ)
- สำเนาใบเสร็จรับเงินการผ่อนชำระบ้านย้อนหลังอย่างน้อย 6 เดือน
- สัญญาซื้อขาย
- โฉนดบ้านหรือที่ดิน
- ภาพถ่ายเพื่อแสดงกรรมสิทธิหลักประกัน
- สำเนาหนังสือสัญญากู้กับสถาบันการเงินปัจจุบัน
หมายเหตุ:
– หากมีการจดทะเบียนสมรส ให้นำต้นฉบับและสำเนาของทะเบียนสมรสมาแนบด้วย กรณีแยกกันอยู่ก็จะต้องมีสำเนาและต้นฉบับใบแจ้งความแยกกันอยู่ด้วย
– หากมีผู้กู้ร่วม ผู้กู้ร่วมทุกคนจะต้องจัดเตรียมเอกสารตามรายละเอียดข้างต้นเช่นเดียวกัน

ค่าใช้จ่ายในการรีไฟแนนซ์บ้านกับธนาคารใหม่
หลัก ๆ แล้วค่าใช้จ่ายในการรีไฟแนนซ์บ้านกับธนาคารใหม่ นอกจาก ค่าเบี้ยปรับจากการไถ่ถอนก่อนกำหนดกับสถาบันการเงินเดิม (ก่อนครบ 3 ปี) ร้อยละ 1-5% ของวงเงินกู้เดิมหรือวงเงินต้นคงเหลือ (บางธนาคารอาจไม่คิดค่าเบี้ยปรับ ควรสอบถามเพิ่มเติม) ก็จะมีรายละเอียดที่ไม่แตกต่างกันมากนัก โดยอาจจะมีเงื่อนไขที่เพิ่มขึ้นมาขึ้นอยู่กับธนาคารที่เลือก โดยเราจะยกมาให้ดูกันพอสังเขปเพื่อเป็นการเตรียมตัวเตรียมใจ ดังนี้
- ค่าจัดการสินเชื่อตามสัญญาใหม่ 0-1% ของวงเงินกู้ใหม่
- ค่าธรรมเนียมการจำนอง ไม่เกิน 1% ราคาประเมิน
- ค่าประเมินทรัพย์สินหรือค่าประเมินราคาหลักประกัน ประมาณ 2,500 บาท หรือ 0.25% ของราคาประเมิน
- ค่าจำนองที่ดิน 1% ของวงเงินสินเชื่อ
- ค่าอากรแสตมป์ อัตรา 0.05% ของวงเงินกู้ใหม่
- ค่าประกันอัคคีภัย
นอกจากนี้ควรเตรียมเงินสำรองไว้เผื่อค่าใช้จ่ายอื่นๆ อาทิ ค่าออกเช็ค ค่านิติกรรม ส่วนต่างวงเงินสินเชื่อในกรณีที่ได้รับเงินไม่ครอบคลุม เป็นต้น ดังนั้นก่อนจะตัดสินใจรีไฟแนนซ์บ้านกับธนาคารใหม่อยากให้พิจารณาค่าใช้จ่ายยิบย่อยที่จะเกิดขึ้นเหล่านี้ด้วยว่าคุ้มเสียกับการที่เราได้รับอัตราดอกเบี้ยที่ลดลงมาหรือไม่
ขั้นตอนในการรีไฟแนนซ์บ้าน
มาถึงขั้นตอนในการรีไฟแนนซ์บ้านกันบ้าง เริ่มจาก
1. ติดต่อกับธนาคารเดิมเพื่อขอรายการสรุปยอดหนี้สินเชื่อบ้าน โดยค่าใช้จ่ายในขั้นนี้ขึ้นอยู่กับธนาคารนั้นๆ บางธนาคารอาจไม่มีค่าใช้จ่าย
2. หลังจากได้รายการยอดหนี้ที่ต้องการแล้วก็นำเอกสารดังกล่าวไปยื่นขอรีไฟแนนซ์บ้านกับธนาคารใหม่ (ในกรณีที่คุณพิจารณาแล้วว่าการรีเทนชั่นอาจจะคุ้มกว่าก็สามารถยื่นกับธนาคารเดิมได้)
3. ไม่ต่างกับการกู้ซื้อบ้านที่เคยทำในช่วงแรก เจ้าหน้าที่จะต้องมาประเมินบ้านหรือทรัพย์สินที่เราต้องการรีไฟแนนซ์
4. รอฟังผลการอนุมัติจากธนาคาร
5. หากได้รับการอนุมัติสินเชื่อแล้ว เดินหน้าติดต่อกับธนาคารเก่านัดวันไถ่ถอนที่สำนักงานที่ดิน นำเอกสารไปไถ่ถอนบ้านจากสินเชื่อเดิม คิดยอดที่ต้องจ่ายเป็นเงินต้นบวกดอกเบี้ย (นับจนถึงวันไถ่ถอน)
6. ติดต่อกับธนาคารใหม่ที่ต้องการรีไฟแนนซ์บ้าน เพื่อทำสัญญาสินเชื่อใหม่ โดยนัดวันทำสัญญาและโอนบ้านที่ใช้จำนอง อย่าลืมนัดทั้ง 2 ธนาคารมาภายในวันเดียวกัน เพื่อชำระหนี้
7. ไปที่สำนักงานที่ดิน ณ เขตที่ตั้งของทรัพย์สิน เพื่อทำเรื่องโอนกรรมสิทธิ์ โดยมีเจ้าหน้าที่จากทั้งสองธนาคารไปด้วย
8. ขั้นตอนสุดท้าย มอบโฉนดที่ได้มาจากสำนักงานที่ดินให้กับธนาคารใหม่ เป็นอันเสร็จสิ้น
ข้อควรรู้: บางครั้งเราอาจจะได้รับสินเชื่อใหม่ในราคาที่สูงกว่าราคาไถ่ถอน ในกรณีนี้ครั้งแรกจะได้รับเช็ค 2 ใบ เป็นเช็คสำหรับไถ่ถอน และครั้งต่อมาจะได้ เช็คส่วนต่าง เช็คส่วนต่างนี่แหละที่เราจะสามารถนำไปใช้จ่ายอย่างอื่นได้ เช่น การรีโนเวทบ้าน การซ่อมแซมบ้าน หรือภาระหนี้สินอื่น ในขณะเดียวกันหากได้สินเชื่อใหม่ที่น้อยกว่าราคาไถ่ถอน อย่าลืมพกเงินสำรองเพื่อจ่ายเพิ่มตอนที่ทำการรีไฟแนนซ์บ้านเช่นเดียวกัน
แม้ว่าการรีไฟแนนซ์บ้านจะเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่จะช่วยลดภาระการผ่อนบ้าน โดยจุดประสงค์ของการรีไฟแนนซ์บ้านคือต้องการได้อัตราดอกเบี้ยบ้านที่ต่ำลงก็จริง แต่อย่ามองเพียงแค่อัตราดอกเบี้ย ณ ขณะนั้น เพราะหลายคนอาจจะยังไม่ทราบว่าโดยทั่วไปดอกเบี้ยบ้านจะอยู่ในสภาวะลอยตัว คือ มีอัตราที่ต่ำเฉพาะในช่วง 3 ปีแรกของการกู้เท่านั้น
อีกทั้งในการรีไฟแนนซ์บ้านโดยเฉพาะการรีไฟแนนซ์บ้านธนาคารใหม่ก็จะมีค่าใช้จ่ายมากมายซึ่งคุณควรนำมาพิจารณาร่วมด้วยเช่นเดียวกัน แต่ถ้าหากคุณกำลังมองหาจังหวะในการรีไฟแนนซ์บ้านอย่างจริงจังก็แนะนำให้อัปเดตอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อบ้าน กู้ซื้อบ้าน รวมถึง อัปเดตอัตราดอกเบี้ยเงินให้สินเชื่อบ้าน MLR MOR MRR ก่อนตัดสินใจ จะได้เลือกธนาคารที่ตอบโจทย์ความต้องการได้มากที่สุด
สนใจรับบทความดีดี อัปเดต ข่าวอสังหาริมทรัพย์ และ อ่านคู่มือซื้อขาย พร้อม รีวิวโครงการคอนโดฯ ใหม่ บ้านใหม่ หลากหลายทำเลและราคา รวมถึง ทำความรู้จักกับทำเลฮอตทั่วกรุง เพื่อเพิ่มความมั่นใจในการซื้อ-ขาย-เช่า