เงินดาวน์ไม่พร้อมต้องทำอย่างไร ดู 3 ตัวช่วยให้คุณมีเงินดาวน์

DDproperty Editorial Team
เงินดาวน์ไม่พร้อมต้องทำอย่างไร ดู 3 ตัวช่วยให้คุณมีเงินดาวน์
การเป็นเจ้าของบ้านสักหลัง ไม่ใช่เรื่องยากค่ะ เพราะไม่ต้องรอเก็บเงินก้อนก็สามารถกู้ซื้อบ้านได้ ขอเพียงมีรายได้ตามเกณฑ์ขั้นต่ำที่ธนาคารกำหนด แต่อย่างไรก็ตามถึงจะมีรายได้เพียงพอพร้อมกู้แล้ว อาจยังกู้ซื้อบ้านไม่ได้ทันที เนื่องจากสิ่งหนึ่งที่หลาย ๆ คนมักลืมนึกถึง นั่นก็คือ เงินดาวน์ที่ต้องจ่ายให้กับผู้ขาย
ปกติธนาคารจะให้วงเงินกู้ไม่เกิน 80% ของราคาซื้อขายหรือราคาประเมิน ทำให้ผู้ซื้อต้องเตรียมเงินดาวน์ก้อนหนึ่งประมาณ 20% ของราคาบ้าน ดังนั้น ผู้ที่วางแผนซื้อบ้าน แต่ตอนนี้ยังมีเงินดาวน์ไม่พร้อม จะทำอย่างไรได้บ้างนั้น K-Expert มีคำแนะนำมาฝาก

1. เก็บออมเงินดาวน์

สำหรับใครที่มีแผนจะกู้ซื้อบ้าน แต่ยังไม่รีบร้อนซื้อทันทีในตอนนี้ เช่น อีก 2 ปีข้างหน้าถึงค่อยซื้อ หากเป็นเช่นนี้เท่ากับว่า ยังมีระยะเวลาในการเก็บออมเงินดาวน์ ส่วนจะเก็บเท่าไรดีนั้น อาจลองประมาณการมูลค่าบ้านที่ต้องการซื้อ แล้วเก็บออมไว้อย่างน้อย 20% ของราคาบ้าน เช่น
หากจะซื้อบ้านราคา 2,000,000 บาท ก็ควรมีเงินดาวน์อยู่ที่ประมาณ 400,000 บาท โดยตั้งใจว่าอีก 2 ปีข้างหน้าถึงค่อยซื้อบ้าน เท่ากับว่าจะเก็บเงินเดือนละประมาณ 16,700 บาท
เงินดาวน์บ้านถือเป็นเป้าหมายที่สำคัญควรเก็บออมในสินทรัพย์ทางการเงินที่มีความเสี่ยงต่ำ เพื่อให้มั่นใจว่าเมื่อครบ 2 ปีแล้ว จะมีเงินดาวน์บ้านอย่างแน่นอน เช่น เงินฝากประจำปลอดภาษี 24 เดือน เป็นการฝากเงินเท่ากันทุกเดือน เดือนละ 500-25,000 บาท เป็นเวลา 24 เดือน ซึ่งช่วยให้คุณเก็บออมเงินได้อย่างสม่ำเสมอ และได้รับผลตอบแทนที่มากกว่าเงินฝากประจำทั่ว ๆ ไปอีกด้วย
7 วิธีออมเงินซื้อคอนโดเพื่อชาวฟรีแลนซ์

7 วิธีออมเงินซื้อคอนโดเพื่อชาวฟรีแลนซ์

2. ผ่อนดาวน์กับโครงการ

โครงการบ้านหลาย ๆ โครงการให้ผู้ซื้อสามารถผ่อนดาวน์กับโครงการก่อน ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นโครงการที่กำลังก่อสร้างอยู่ หรือยังไม่เริ่มสร้าง การเลือกซื้อบ้านที่ผ่อนดาวน์กับโครงการได้จึงเป็นทางเลือกหนึ่งสำหรับผู้ที่ยังไม่มีเงินก้อนเพื่อดาวน์บ้าน
นอกจากนี้ การจองซื้อบ้านที่ยังสร้างไม่เสร็จ ราคาบ้านมักจะถูกกว่าบ้านที่สร้างเสร็จแล้ว เนื่องจากโครงการมักขึ้นราคาไปเรื่อย ๆ จนกว่าบ้านจะสร้างเสร็จ แต่ก็มีข้อควรระวังที่อาจทำให้สูญเสียเงินที่ผ่อนดาวน์ไปแล้ว หากไม่สามารถทำตามข้อกำหนดของโครงการได้ เช่น โครงการกำหนดว่า หากยื่นกู้บ้านไม่ผ่าน โครงการสามารถยึดเงินดาวน์ทั้งหมด หรือบางส่วนได้ เป็นต้น
ดังนั้น ก่อนตัดสินใจจองบ้านหรือทำสัญญาจะซื้อจะขาย ควรทำความเข้าใจและสอบถามโครงการถึงข้อกำหนดต่าง ๆ ให้ดีเสียก่อน
ผ่อนดาวน์คอนโดอย่างไร ไม่ให้หลุดดาวน์

ผ่อนดาวน์คอนโดอย่างไร ไม่ให้หลุดดาวน์

เงินดาวน์ไม่พร้อม ลองพิจารณาธนาคารที่ร่วมกับโครงการบ้านที่คุณจะซื้อ

3. กู้ธนาคารที่ร่วมกับโครงการบ้าน

ถึงแม้ว่าโดยทั่วไปแล้วธนาคารจะให้วงเงินกู้ซื้อบ้านไม่เกิน 80% ของราคาซื้อขายหรือราคาประเมิน (เลือกราคาที่ต่ำกว่า) แต่ก็มีโครงการบ้านบางโครงการที่ร่วมกับธนาคารแล้วทำให้ผู้กู้ซื้อบ้านได้รับวงเงินกู้ที่สูงขึ้น โดยอาจกู้ได้สูงถึง 95% ของราคาซื้อขายหรือราคาประเมิน (เลือกราคาที่ต่ำกว่า) เลยทีเดียว ก็จะทำให้คุณใช้เงินดาวน์เพียง 5% ของราคาซื้อขายเท่านั้น
หากใครที่ไม่อยากจ่ายเงินดาวน์เป็นเงินก้อนจำนวนมาก หรือไม่อยากผ่อนดาวน์บ้านที่ยังสร้างไม่เสร็จ การซื้อบ้านที่สร้างเสร็จแล้ว โดยเลือกกู้กับธนาคารที่ร่วมกับโครงการ นับว่าเป็นทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจ เพราะการซื้อบ้านที่สร้างเสร็จแล้ว คุณสามารถตรวจสอบสภาพแวดล้อม และสภาพบ้านจริงก่อนตัดสินใจซื้อได้
แต่อย่างไรก็ตามการขอวงเงินกู้ที่สูง นั่นหมายความว่า คุณต้องมีความสามารถในการชำระหนี้หรือมีรายได้ที่สูงเพียงพอกับภาระหนี้ตามหลักเกณฑ์ของธนาคาร ซึ่ง K-Expert แนะนำว่าภาระผ่อนบ้านต่อเดือนไม่ควรเกิน 30% ของรายได้ เพื่อป้องกันปัญหาการเงินที่อาจตามมาในอนาคต

คำนวณวงเงินกู้สูงสุด

คำนวณสินเชื่อบ้าน ยอดวงเงินกู้บ้านใหม่ที่คาดว่าจะได้รับจากแบงก์และยอดผ่อนชำระในแต่ละเดือน

สำหรับการกู้ซื้อบ้านนอกจากเงินดาวน์ที่ต้องเตรียมให้พร้อมแล้ว ยังมีค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่คุณต้องเตรียมเงินเอาไว้ด้วย ไม่ว่าจะเป็นค่าธรรมเนียมต่าง ๆ ที่ต้องจ่ายให้กับสำนักงานที่ดิน เช่น ค่าจดทะเบียนจำนอง ค่าธรรมเนียมการโอน เป็นต้น
ตารางค่าใช้จ่ายในการโอนกรรมสิทธิ์
ประเภทของค่าโอนจ่ายเท่าไหร่
ค่าธรรมเนียมการโอน2% ของราคาประเมิน แบ่งจ่ายคนละ 1% ระหว่างผู้ซื้อกับผู้ขาย
ค่าภาษีธุรกิจเฉพาะ3.3% ของราคาซื้อขาย
ค่าอากรแสตมป์0.5% ของราคาซื้อขาย
ค่าจดจำนอง1% ของยอดเงินกู้ทั้งหมด
ค่าใช้จ่ายเหล่านี้ ต้องทำการตกลงกับโครงการบ้านหรือผู้ขายให้ดีตั้งแต่ตอนแรกว่า ใครเป็นผู้รับผิดชอบหรือรับผิดชอบส่วนไหนบ้าง เพื่อจะได้ไม่เกิดปัญหาขึ้นในภายหลัง ติดตามบทความที่เกี่ยวข้องกับการการซื้อบ้านได้ที่ K-Expert
เรื่องข้างต้นนี้เขียนโดย นารีรัตน์ กำเลิศทอง, AFPTTM K-Expert ฝ่ายวางแผนและให้คำปรึกษาลูกค้าบุคคล ธนาคารกสิกรไทย หากมีคำถามเพิ่มเติมสามารถปรึกษากับ K-Expert ธนาคารกสิกรไทย ได้ที่ K-Expert@kasikornbank.com
สนใจรับบทความดีดี อัปเดต ข่าวอสังหาริมทรัพย์ และ อ่านคู่มือซื้อขาย พร้อม รีวิวโครงการคอนโดฯ ใหม่ บ้านใหม่ หลากหลายทำเลและราคา รวมถึง ทำความรู้จักกับทำเลฮอตทั่วกรุง เพื่อเพิ่มความมั่นใจในการซื้อ-ขาย-เช่า
ข้อจำกัดความรับผิดชอบ: ข้อมูลนี้จัดทำขึ้นเพื่อเป็นข้อมูลทั่วไปเท่านั้น DDproperty by PropertyGuru ซึ่งอยู่ภายใต้การดูแลของบริษัท ออลพร็อพเพอร์ตี้ มีเดีย จำกัด ไม่สามารถรับรองหรือรับประกันเกี่ยวกับข้อมูล รวมทั้งไม่สามารถรับรองหรือรับประกันใด ๆ เกี่ยวกับความเหมาะสม สำหรับวัตถุประสงค์เฉพาะใด ๆ ของข้อมูล ตามขอบเขตสูงสุดที่กฎหมายอนุญาต แม้ว่าเราได้พยายามอย่างเต็มที่ เพื่อให้แน่ใจว่าข้อมูลที่ให้ไว้ในบทความนี้ถูกต้อง เชื่อถือได้ และครบถ้วน ณ เวลาที่เขียน แต่ข้อมูลที่ให้ไว้ในบทความนี้ไม่ควรนำไปใช้ในการตัดสินใจทางการเงิน, การลงทุนอสังหาริมทรัพย์ หรือทางกฎหมายทันที ผู้อ่านไม่ควรใช้ข้อมูลในบทความ แทนคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญที่ผ่านการฝึกอบรมซึ่งสามารถพิจารณาข้อเท็จจริงและสถานการณ์ส่วนตัวของคุณได้ ทั้งนี้ เราไม่สามารถรับผิดชอบใด ๆ หากคุณเลือกที่จะนำข้อมูลไปใช้เพื่อประกอบการตัดสินใจ

เงินดาวน์คืออะไร

เงินดาวน์คือ เงินที่ผู้ซื้อต้องผ่อนชำระเป็นจำนวนหนึ่งแก้เจ้าของโครงการ เพื่อใช้เป็นหลักทรัพย์ในการค้ำประกันการจองซื้อกับทางโครงการ เมื่อถึงกำหนดส่งมอบบ้าน หรือคอนโด เจ้าของโครงการจะนำเงินดาวน์ไปหักออกจากราคาขายของบ้าน-คอนโด

เงินดาวน์ต้องจ่ายให้กับโครงการ หลังจากตัดสินใจทำสัญญาซื้อบ้านแล้ว แต่บ้านยังสร้างไม่เสร็จ ผู้ซื้อก็ต้องจ่ายเงินดาวน์ตามจำนวนงวดที่โครงการระบุไว้ในสัญญาจนถึงวันที่บ้านพร้อมโอน

หากไม่มีการระบุในสัญญา ทางโครงการไม่สามารถยึดเงินดาวน์และจะต้องคืนเงินดาวน์ทั้งหมดให้คุณ หากไม่ได้สามารถฟ้องต่อศาลให้เรียกคืนเงินดาวน์ได้