โควิด-19 ฉุดตลาดอสังหาฯ จริงหรือไม่

DDproperty Editorial Team
โควิด-19 ฉุดตลาดอสังหาฯ จริงหรือไม่
การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 จุดเปลี่ยนอสังหาริมทรัพย์ไทย โดยเฉพาะพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป ส่งผลให้ผู้ประกอบการต้องปรับตัว ปลุกกำลังซื้อทุกช่องทาง เพื่อฟื้นกำลังซื้อเรียลดีมานด์ หลังคลายล็อกดาวน์
หากย้อนดูการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ถือเป็นคลื่นระลอกใหญ่ที่ส่งผลกระทบรุนแรงต่อภาพรวมเศรษฐกิจของหลายประเทศทั่วโลก ไม่เว้นแม้แต่ประเทศไทย ที่ถูกคลื่นระลอกใหญ่นี้กระทบเข้าไปเต็มแรง

sportlight

หลังจากพบผู้ติดเชื้อรายแรกในประเทศ และจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ที่เพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง ทำให้รัฐบาลต้องใช้มาตรการที่เข้มข้นเพื่อควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในประเทศ ประกาศล็อกดาวน์พื้นที่เสี่ยง และประกาศ พ.ร.ก.สถานการณ์ฉุกเฉินทั่วราชอาณาจักร (เคอร์ฟิว) ซึ่งต้องยอมรับว่านอกจากจะส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของประชาชนแล้ว ยังส่งผลให้เศรษฐกิจหยุดชะงัก กระทบต่อภาคธุรกิจและเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ

อสังหาฯ กระทบ โควิด-19 เปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภค

การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้หลายธุรกิจได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ หนึ่งในนั้นคือธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งเป็นผลจากพฤติกรรมการซื้อที่อยู่อาศัยที่เปลี่ยนแปลงไป โดยพบว่าผู้ต้องการซื้อที่อยู่อาศัยชะลอการเข้าชมโครงการ และยืดเวลาการตัดสินใจซื้อที่อยู่อาศัยออกไป ซึ่งแน่นอนว่าส่งผลต่อยอดจองและยอดโอนกรรมสิทธิ์ ทำให้ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ทั้งรายใหญ่และรายเล็กพับการเปิดตัวโครงการใหม่ และหันมาระบายสต็อกในมือ เร่งการโอนกรรมสิทธิ์ เพื่อให้รักษาสภาพคล่องและมีเงินสดหมุนเวียน

รุกการตลาดออนไลน์ ทางรอดเข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย

ขณะเดียวกัน ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ยังต้องปรับตัวเพื่อรองรับกับพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป จากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 การประกาศใช้มาตรการรัฐบาล และมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) ด้วยการหันมาทำการตลาดและรุกจัดกิจกรรมผ่านระบบออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็น Facebook, LINE Official, VDO Call, VDO Walk Through, Virtual Reality 360 องศา, Electronic Direct Mail (EDM), Youtube รวมถึง Social Media เพื่อให้เข้าถึงกลุ่มลูกค้าได้ทุกช่องทาง

งัดกลยุทธ์รูปแบบใหม่ ปลุกเรียลดีมานด์ฟื้นตัว

เมื่อคนซื้อไม่กล้าออกมานอกบ้าน สำนักงานขายต้องปิดให้บริการชั่วคราว ผู้ประกอบการอสังหารริมทรัพย์จึงต้องเร่งปรับตัวเพื่อความอยู่รอด แข่งขันกันด้วยแคมเปญกระตุ้นการขาย ที่การลดแลกแจกแถมแบบที่เคยทำกันมาอาจไม่แรงพอที่จะกระตุ้นการตัดสินใจของเรียลดีมานด์ ทำให้ได้เห็นแคมเปญการตลาดรูปแบบใหม่ ๆ ไม่ว่าจะเป็น จอง 0 บาท, อยู่ฟรี, ช่วยผ่อน, กู้ได้ 110%, รับเงินคืน (Cash Back) และอีกมากมาย
นอกจากจะช่วยสร้างสีสันและส่งผลให้ตลาดอสังหาริมทรัพย์กลับมาคึกคักแล้ว ยังกลายเป็นโอกาสของผู้ซื้อ ประกอบกับเมื่อรัฐบาลคลายล็อกดาวน์ ก็ช่วยให้บรรยากาศการจับจ่ายใช้สอยกลับมาฟื้นตัวดีขึ้น ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์หลายรายสามารถกวาดยอดขายทะลุเป้า
โควิด-19 ทำให้ผู้บริโภคชะลอการซื้อ-ขายอสังหาฯ

โควิด-19 กระทบการตัดสินใจ ผู้บริโภคชะลอซื้อ-ขาย ถึง 75%

ทั้งนี้ จากผลสำรวจของ Thailand Consumer Sentiment Study รอบล่าสุด พบว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้ส่งผลต่อผู้บริโภคในแง่การตัดสินใจเกี่ยวกับที่อยู่อาศัยในหลายด้าน ดังนี้
– ผู้บริโภคถึง 75% ชะลอการซื้อขายอสังหาฯ ออกไป
– ผู้บริโภค 32% มองว่า ราคาที่อยู่อาศัยมีความผันผวนสูง
– ผู้บริโภค 31% ได้รับการพิจารณาสินเชื่อบ้านจากธนาคาร/สถาบันการเงินยากขึ้นหรือช้าลง
นอกจากนี้ยังพบว่ามีผู้บริโภคถึง 7% ไม่สามารถรับข้อมูลจากเอเจนท์/ผู้พัฒนาโครงการได้เพียงพอต่อความต้องการ
หากจำแนกเป็นช่วงอายุจะพบว่า ทุกช่วงอายุชะลอการซื้อขายอสังหาฯ ออกไปในช่วงโควิด-19 แต่ที่น่าสนใจคือกลุ่มคนในช่วงอายุ 22-29 ปี และ 30-39 ปี ตัดสินใจซื้อที่อยู่อาศัยอย่างเร่งด่วน โดยหลีกเลี่ยงการซื้อที่อยู่อาศัยในโซนที่มีการติดเชื้อ
หากโฟกัสไปที่กลุ่มนักลงทุนแม้ว่า 3 ใน 5 ของกลุ่มนักลงทุน ลังเลที่จะลงทุนอสังหาฯ ในช่วงนี้ แต่ในขณะที่อีก 15% ของกลุ่มนักลงทุนมองว่าเป็นโอกาสที่ดีในการลงทุนอสังหาฯ เนื่องจากหลายโครงการจัดโปรโมชั่นมากมายในช่วงนี้

โซเชียลมีเดีย กลายเป็นช่องทางหลักในการค้นหาบ้าน

นอกจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 จะส่งผลกระทบต่อการตัดสินใจเกี่ยวกับที่อยู่อาศัยแล้ว ยังเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของคนผู้บริโภคในปัจจุบัน ให้เข้ามาใช้บริการต่าง ๆ ผ่านช่องทางออนไลน์มากยิ่งขึ้น ซึ่งรวมถึงการค้นหาที่อยู่อาศัย ทั้งการซื้อ-ขาย-เช่า โดยเฉพาะช่วงที่มีการเคอร์ฟิว
จากผลสำรวจพบว่า พฤติกรรมการเข้าชมและทำการค้นหาอสังหาริมทรัพย์ผ่านช่องทางต่าง ๆ ของผู้บริโภคใช้ช่องทางออนไลน์มากที่สุด ดังนี้
– ผู้บริโภคถึง 79% ใช้ช่องทางโซเชียลมีเดีย เช่น เฟซบุ๊ก, อินสตาแกรม, ทวิตเตอร์ ฯลฯ ในการค้นหาข้อมูล
– ผู้บริโภค 73% ใช้เว็บไซต์สื่อกลางซื้อ-ขาย-เช่าอสังหาฯ
– ผู้บริโภค 29% ใช้บล็อก/บทความออนไลน์ ในการค้นหาอสังหาฯ
นอกจากนี้ยังพบว่ามีผู้บริโภค 13% ใช้บริการเอเจนท์ โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ที่มีรายได้สูง มีถึง 15% ที่ใช้บริการเอเจนท์

ราคา-การเงิน-ทำเล ติดท็อป 3 ที่มีผลต่อการซื้อ-ขาย-เช่า

ในส่วนของข้อมูลที่ผู้บริโภคส่วนใหญ่นำมาพิจารณาเมื่อจะตัดสินใจซื้อ-ขาย-เช่าอสังหาริมทรัพย์ จากผลสำรวจพบว่า 3 อันดับแรกที่มีการค้นหาสูงสุด คือ
1. ข้อมูลเกี่ยวกับราคา
2. ข้อมูลด้านการเงิน
3. ข้อมูลเกี่ยวกับทำเล
รองลงมาผู้บริโภคจะค้นหาเกี่ยวกับประเภทของที่อยู่อาศัย, รีวิวโครงการ, ภาษีและค่าอากรต่าง ๆ, มาตรการช่วยเหลือจากภาครัฐ, เอกสารทางกฎหมายและขั้นตอนการดำเนินการ และรีวิวเกี่ยวกับเอเจนท์/ผู้พัฒนาโครงการ ตามลำดับ
ปฏิเสธไม่ได้การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบรุนแรงต่อธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ไทย แม้ปัจจุบันจะสามารถสกัดการแพร่ระบาดในประเทศ ไม่พบจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ แต่ถึงกระนั้นก็ยังไม่อาจไว้วางใจ ตราบใดที่ยังไม่มีวัคซีน
เช่นเดียวกับภาพรวมธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในช่วงครึ่งปีหลังที่เหลือ ซึ่งยังคงคาดเดาได้ยาก แต่ที่แน่ ๆ ถือเป็นโอกาสปรับสมดุลตลาด ผู้บริโภคบางส่วนยังคงมองตลาดเป็นบวก โดยเฉพาะเรียลดีมานด์ซึ่งถือเป็นกำลังซื้อหลักในตลาดในช่วงเวลานี้ ตัวอย่างมีให้เห็นแล้วจากผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์หลายรายที่สามารถพลิกวิกฤติเป็นโอกาส กวาดยอดขายพุ่ง ชนิดที่โควิด-19 ก็ฉุดไม่อยู่
สนใจรับบทความดีดี อัปเดต ข่าวอสังหาริมทรัพย์ และ อ่านคู่มือซื้อขาย พร้อม รีวิวโครงการคอนโดฯ ใหม่ บ้านใหม่ หลากหลายทำเลและราคา รวมถึง ทำความรู้จักกับทำเลฮอตทั่วกรุง เพื่อเพิ่มความมั่นใจในการซื้อ-ขาย-เช่า
ข้อจำกัดความรับผิดชอบ: ข้อมูลนี้จัดทำขึ้นเพื่อเป็นข้อมูลทั่วไปเท่านั้น DDproperty by PropertyGuru ซึ่งอยู่ภายใต้การดูแลของบริษัท ออลพร็อพเพอร์ตี้ มีเดีย จำกัด ไม่สามารถรับรองหรือรับประกันเกี่ยวกับข้อมูล รวมทั้งไม่สามารถรับรองหรือรับประกันใด ๆ เกี่ยวกับความเหมาะสม สำหรับวัตถุประสงค์เฉพาะใด ๆ ของข้อมูล ตามขอบเขตสูงสุดที่กฎหมายอนุญาต แม้ว่าเราได้พยายามอย่างเต็มที่ เพื่อให้แน่ใจว่าข้อมูลที่ให้ไว้ในบทความนี้ถูกต้อง เชื่อถือได้ และครบถ้วน ณ เวลาที่เขียน แต่ข้อมูลที่ให้ไว้ในบทความนี้ไม่ควรนำไปใช้ในการตัดสินใจทางการเงิน, การลงทุนอสังหาริมทรัพย์ หรือทางกฎหมายทันที ผู้อ่านไม่ควรใช้ข้อมูลในบทความ แทนคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญที่ผ่านการฝึกอบรมซึ่งสามารถพิจารณาข้อเท็จจริงและสถานการณ์ส่วนตัวของคุณได้ ทั้งนี้ เราไม่สามารถรับผิดชอบใด ๆ หากคุณเลือกที่จะนำข้อมูลไปใช้เพื่อประกอบการตัดสินใจ

คำนวณยอดผ่อนต่อเดือนตามระยะเวลากู้

เพียงใส่ยอดเงินกู้ที่คุณต้องการ เราจะคำนวณให้คุณเห็นถึงยอดผ่อนชำระต่อเดือนตามระยะเวลาผ่อนและอัตราดอกเบี้ยที่แตกต่างกัน

คำนวณยอดผ่อนต่อเดือน

คำนวณยอดผ่อนชำระต่อเดือนตามอัตราดอกเบี้ยของคุณด้วยเครื่องมือคำนวณสินเชื่อนี้

คำนวณวงเงินกู้สูงสุด

คำนวณสินเชื่อบ้าน ยอดวงเงินกู้บ้านใหม่ที่คาดว่าจะได้รับจากแบงก์และยอดผ่อนชำระในแต่ละเดือน