7 เทคนิค ช่วยขายบ้านออกง่ายในช่วงนี้

DDproperty Editorial Team
7 เทคนิค ช่วยขายบ้านออกง่ายในช่วงนี้
สำหรับนักลงทุนอสังหาริมทรัพย์ หรือผู้ที่อยากจะขายอสังหาริมทรัพย์ อาจจะต้องทำใจในช่วงนี้ เนื่องจากอสังหาริมทรัพย์ขายออกไม่ง่ายนัก เพราะคนส่วนใหญ่หันมาระมัดระวังการใช้จ่ายมากขึ้น ดังนั้น ถ้าคิดจะขายบ้านเดี่ยว ขายทาวน์เฮ้าส์/ทาวน์โฮม ขายคอนโด หรือขายที่ดิน จำเป็นอย่างมากที่จะต้องรู้เทคนิคเหล่านี้ ที่จะช่วยให้อสังหาริมทรัพย์ที่ถือครองอยู่ในมือนั้นขายออกง่ายขึ้น

1. ตั้งราคาให้เหมาะสม

ราคาถือเป็นปัจจัยหลักที่จะทำให้อสังหาริมทรัพย์ไม่ว่าจะเป็นบ้าน ทาวน์เฮ้าส์/ทาวน์โฮม คอนโด หรือที่ดิน ขายออกได้อย่างรวดเร็ว ดังนั้นการตั้งราคาขายจึงค่อนข้างสำคัญ และถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นข้อแรก การตั้งราคาขายต้องดูหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นราคาประเมินจากกรมธนารักษ์ ราคาประเมินจากองค์กรอิสระหรือสถาบันทางการเงิน รวมถึงราคาตลาดหรือราคาซื้อขายจริงบนทำเลนั้น ๆ

รวมประกาศขาย

ดูราคาตลาดจากหน้ารวมประกาศขายบ้าน ทาวน์เฮ้าส์/ทาวน์โฮม คอนโด และที่ดิน

ในช่วงนี้มีข้อควรระวัง ถ้าอยากฟันกำไรด้วยการตั้งราคาขายสูง ๆ อาจจะไม่เหมาะสมนัก และอาจไม่เป็นที่สนใจ ด้วยภาวะเศรษฐกิจที่ทรงตัว การใช้จ่ายหรือซื้ออะไรที่มีราคาเกินตัวจึงเป็นไปได้ยาก อีกอย่างราคาอสังหาริมทรัพย์ในตลาดก็ไม่ได้อยู่ในระดับสูงมากนัก เพื่อให้ขายออก

2. ทำสินค้าให้น่าสนใจ

แม้คนส่วนใหญ่จะคิดเยอะกว่าเดิม กว่าจะควักเงินแต่ละบาทออกจากกระเป๋า แต่ก็ยังพบสัญญาณที่ดี ผู้ที่ต้องการซื้ออสังหาริมทรัพย์เพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยเฉพาะการค้นหาผ่านช่องทางออนไลน์ จากข้อมูลของดีดีพร็อพเพอร์ตี้ ที่ได้ทำการรวบรวมพฤติกรรมการเข้าชมจากเว็บไซต์ DDproperty.com พบว่า จำนวนการเข้าชมและทำการค้นหาต่อบนเว็บไซต์ เพิ่มสูงขึ้น กรุงเทพฯ เพิ่มขึ้น 2% นนทบุรี เพิ่มขึ้น 5% และปทุมธานี เพิ่มขึ้น 5%
ถือเป็นโอกาสของผู้ที่ต้องการขาย แต่จะขายได้หรือไม่ ส่วนหนึ่งต้องสร้างความน่าสนใจให้สินค้า เพิ่มมูลค่าด้วยการปรับปรุงสินค้าให้สวยงามเหมือนใหม่ ให้ความสำคัญกับการปรับเปลี่ยนบ้าน หรือคอนโดให้เหมาะกับการ Work From Home มากขึ้น โดยอาจะเลือกใช้เฟอร์นิเจอร์ที่มีความยืดหยุ่น และมีประโยชน์ใช้สอยที่หลากหลาย นอกจากนี้ยังต้องใช้รูปภาพสวย ๆ ดึงดูดความสนใจ และให้ข้อมูลรายละเอียดที่ครบถ้วน

3. ลงประกาศขายที่อยู่อาศัย

ปัจจุบันมีช่องทางสำหรับผู้ที่อยากขายอสังหาริมทรัพย์มากมาย ทั้งแบบที่ต้องใช้เงินและแบบที่ไม่ต้องใช้เงิน กรณีที่เจ้าของขายเองก็สามารถถ่ายรูปบ้านในมุมต่าง ๆ ที่ต้องการนำเสนอ พร้อมกับเตรียมข้อมูลพื้นฐานที่สำคัญ เช่น ทำเลที่ตั้ง ขนาดพื้นที่ต้องตัวบ้าน ระบบสาธารณูปโภคในบริเวณใกล้เคียง แล้วก็นำไปลงประกาศตามแหล่งต่าง ๆ ได้เลย พื้นที่สำหรับการประกาศขายที่อยากแนะนำมีดังนี้
– เว็บไซต์ซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ ข้อดีคือ เว็บไซต์เหล่านี้มีการทำข้อมูลเพื่อดึงดูดผู้ที่สนใจซื้อขายที่อยู่อาศัยให้เข้ามาอย่างต่อเนื่อง โอกาสที่ลูกค้าจะได้เห็นบ้านหรือคอนโดที่ต้องการขายก็มีมากขึ้น
– กลุ่มที่เกี่ยวข้องกับอสังหาริมทรัพย์ใน Facebook อีกหนึ่งช่องทางบนโลกออนไลน์ที่ได้รับความนิยมมาก สามารถโพสต์เพื่อประกาศขายที่อยู่อาศัย แต่ต้องสอบถามกฎระเบียบของกลุ่มดังกล่าวก่อนว่าอนุญาตหรือไม่
– ติดป้ายหน้าบ้านและในบริเวณใกล้เคียง วิธีข้างต้นถือเป็นวิธีการบนโลกออนไลน์ แต่อีกหนึ่งวิธีออฟไลน์ที่ไม่ควรมองข้ามคือการติดป้ายประกาศ ซึ่งช่วยเพิ่มโอกาสให้กับผู้สนใจโดยเฉพาะในละแวกบ้านตัวเองได้ แต่อย่าลืมทำป้ายที่มีข้อมูลการติดต่อชัดเจนติดเอาไว้ด้วย
วิธีประกาศขายบ้าน-คอนโด

วิธีประกาศขายบ้าน-คอนโด

4. ตรวจเช็กค่าใช้จ่ายที่ผู้ขายต้องรับผิดชอบ

ในการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ จะมีค่าใช้จ่ายที่ผู้ซื้อและผู้ขายต้องตกลงกันว่าใครจะจ่ายส่วนใด ซึ่งหากมีการตกลงให้เรียบร้อยก่อนขาย ก็จะช่วยให้การขายราบรื่น และเรียบร้อยมากขึ้น ค่าใช้จ่ายส่วนใหญ่มีดังนี้
– ค่าธรรมเนียมการโอนบ้าน คิดเป็น 2% ของราคาประเมินที่ดินรวมสิ่งปลูกสร้าง โดยทั่วไปจะแบ่งจ่ายกันคนละ 1% ระหว่างผู้ซื้อกับผู้ขาย หรือในกรณีที่ผู้ขายเป็นบุคคลธรรมดา ไม่ได้ลดราคาบ้านให้ แต่ผู้ขายมีข้อเสนอเป็นผู้จ่ายค่าธรรมเนียมโอนบ้านทั้งหมด หรือกรณีอื่น ๆ ตามข้อตกลงกันระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย
– ค่าภาษีธุรกิจเฉพาะ โดยทั่วไปเป็นค่าใช้จ่ายของผู้ขาย คิดเป็น 3.3% ของราคาซื้อขาย ทั้งนี้ผู้ขายต้องครอบครองบ้านเป็นระยะเวลาไม่เกิน 5 ปี แต่หากครอบครองมากกว่า 5 ปีขึ้นไป หรือมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านเกิน 1 ปี ก็จะไม่ต้องจ่ายค่าภาษีธุรกิจเฉพาะ แต่ผู้ขายต้องจ่ายค่าอากรแสตมป์แทน
– ค่าอากรแสตมป์ โดยทั่วไปเป็นค่าใช้จ่ายของผู้ขาย คิดเป็น 0.5% ของราคาซื้อขาย แต่ต้องไม่ต่ำกว่าราคาประเมินที่ดิน หากต่ำกว่า ให้ใช้ราคาประเมินที่ดินมาคำนวณ แต่ในกรณีที่ผู้ขายเข้าข่ายต้องจ่ายภาษีธุรกิจเฉพาะ ก็ไม่ต้องจ่ายค่าอากรแสตมป์
– ค่าภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีที่ผู้ขายเป็นบุคคลธรรมดา ผู้ขายต้องชำระค่าภาษีนี้เพราะเป็นผู้มีรายได้จากธุรกรรมซื้อขาย การคิดค่าภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเป็นแบบอัตราก้าวหน้าหรือแบบขั้นบันได และจำนวนเงินที่เสียภาษีก็ขึ้นอยู่กับวิธีการที่ได้มากับจำนวนปีที่ถือครอง เช่น หากได้มาด้วยการซื้อและถือครองนาน ก็จะต้องชำระค่าภาษีโอนบ้านเป็นจำนวนมาก ทั้งนี้พิจารณาจากราคาประเมินที่ดินและสิ่งปลูกสร้างของกรมที่ดิน
ก่อนทำสัญญาซื้อขายบ้าน ต้องดูอะไรเพื่อไม่ให้เสียเปรียบ

5. สัญญาต้องไม่พลาด ป้องกันการเสียเปรียบ

สัญญาซื้อขายเป็นเอกสารที่มีความสำคัญอย่างยิ่งในการซื้อขายบ้าน จึงต้องพิจารณาทุกรายละเอียดอย่างรอบคอบ ซึ่งสัญญาที่ดีก็ทำให้ผู้ซื้อ รวมถึงผู้ขายอุ่นใจด้วย โดยสัญญาที่ดีจะต้องมีข้อมูลสำคัญเหล่านี้
– ขนาดและราคาซื้อขาย ต้องตรวจสอบให้แน่ใจว่า ขนาดที่ดิน พื้นที่บ้าน และราคาในสัญญาจะซื้อจะขายนั้นเป็นไปตามที่ตกลงกันไว้ ส่วนสัญญาซื้อขาย (ท.ด.13) จะต้องมีการตรวจสอบราคาซื้อขายบ้านและเลขที่โฉนดที่ดินในสัญญาให้ถูกต้องด้วย
– วันที่นัดโอนกรรมสิทธิ์ สัญญาจะซื้อจะขายต้องกำหนดวันที่นัดโอนกรรมสิทธิ์ โดยต้องเผื่อเวลาสำหรับการยื่นขอสินเชื่อและตรวจรับบ้านด้วย หากสัญญาจะซื้อจะขายไม่มีวันนัดโอนกรรมสิทธิ์ สัญญานั้นก็จะกลายเป็นสัญญาซื้อขายที่เป็นโมฆะไปโดยปริยาย
– การรับผิดชอบค่าใช้จ่าย การซื้อขายบ้านจะมีค่าใช้จ่ายต่าง ๆ เช่น ค่าธรรมเนียมการโอนกรรมสิทธิ์และภาษีอากร ซึ่งอาจกลายเป็นปัญหา หากผู้ซื้อและผู้ขายไม่ตกลงกันให้ดีว่าใครจะเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายส่วนไหน ดังนั้นจะต้องระบุในสัญญาจะซื้อจะขายให้ชัดเจน
– เบี้ยปรับเมื่อผิดสัญญา หากผู้ขายมีความล่าช้าในการส่งมอบบ้านหรือขอยกเลิกโดยที่ผู้ซื้อไม่ได้ทำผิดสัญญา ผู้ซื้อมีสิทธิ์คิดเบี้ยปรับรายวันได้ในอัตราไม่ต่ำกว่า 0.01% แต่รวมกันไม่เกิน 10% ของราคาซื้อขาย และเบี้ยปรับควรระบุไว้ในสัญญาอย่างชัดเจน
– ข้อตกลงและเงื่อนไขอื่น ๆ ทั้งผู้ขายและผู้ซื้อต้องตรวจสอบให้แน่ใจว่าตนเองจะได้รับความเป็นธรรมในสัญญาทุก ๆ ข้อ เช่น การยกเลิกสัญญา การคืนเงินมัดจำ และการรับประกันบ้าน ส่วนสัญญาซื้อขายจะระบุเงื่อนเพิ่มเติมในส่วนท้ายของสัญญา โปรดอ่านให้ครบถ้วนก่อนเซ็นสัญญาร่วมกัน
ซื้อขายบ้านมีค่าธรรมเนียมและภาษีอะไรบ้าง

ซื้อขายบ้านมีค่าธรรมเนียมและภาษีอะไรบ้าง

6. เอเจนต์อสังหาฯ ผู้ช่วยสำคัญ

หากไม่มีความรู้และประสบการณ์ในการขาย รวมถึงเรื่องกฎหมาย การเงิน ขั้นตอนทางราชการ การขายอสังหาริมทรัพย์อาจเป็นเรื่องยากและซับซ้อน แนะนำให้ใช้บริการเอเจนต์อสังหาฯ หรือนายหน้าอสังหาฯ ผู้ช่วยคนสำคัญที่จะมาช่วยขายเริ่มตั้งแต่
– ให้คำแนะนำในการเตรียมบ้านก่อนประกาศขาย เช่น การตกแต่งและการตั้งราคาขาย กรณีบ้านมือสอง เอเจนต์อสังหาฯ สามารถตรวจสอบจุดบกพร่อง ประเมินบ้าน และให้คำปรึกษาเพื่อปรับปรุงและช่วยให้บ้านขายได้ง่ายในราคาดี
– ทำการตลาด หาลูกค้า ติดต่อ และดำเนินการต่าง ๆ รวมถึงพาลูกค้าไปดูบ้านและปิดการขาย
– จัดเตรียมสัญญาซื้อขายบ้าน แจ้งให้เจ้าของบ้านเตรียมเอกสารต่าง ๆ และช่วยอำนวยความสะดวกในการซื้อขายและโอนกรรมสิทธิ์
สำหรับค่าบริการเอเจนต์อสังหาฯ หรือค่านายหน้า โดยทั่วไปจะคิดที่ 3% ของราคาซื้อขาย และนายหน้าจะเก็บค่านายหน้าเมื่อทำสัญญาซื้อขายเรียบร้อยแล้ว นั่นหมายความว่าจะจ่ายค่านายหน้าก็ต่อเมื่อได้เงินจากผู้ซื้อแล้ว
วิธีคำนวณค่าคอมมิชชั่น

วิธีคำนวณค่าคอมมิชชั่น

สำหรับผู้ที่กำลังใช้บริการเอเจนต์แต่ไม่แน่ใจว่าจะเลือกอย่างไรดี ทาง DDproperty มองเห็นถึงความสำคัญในการส่งมอบประสบการณ์ที่ดีที่สุดให้กับผู้ที่ต้องการผู้ช่วยสำคัญอย่างเอเจนต์ ไม่ว่าจะเป็นการซื้อ-ขาย-เช่า จึงได้ริเริ่มโครงการ "การยืนยันตัวตนเอเจนต์ (Agent Verification)" เพื่อเพิ่มความน่าเชื่อถือและความเป็นมืออาชีพให้กับเอเจนต์

Agent Verification คืออะไร

Agent Verification คือ โปรแกรมการยืนยันตัวตนเอเจนต์ ซึ่งจะช่วยเพิ่มความน่าเชื่อและความเป็นมืออาชีพให้กับเอเจนต์ โดยเอเจนต์ที่ได้รับการรับรองแล้วจะมีสัญลักษณ์สีเขียว "ยืนยันตัวตน" หรือ "Verified" ใต้รูปภาพ
ตัวอย่างเอเจนต์ที่ได้รับการยืนยันตัวตน หรือ Agent Verification
ตัวอย่างเอเจนต์ที่ได้รับการยืนยันตัวตน หรือ Agent Verification
Agent Verification (การยืนยันตัวตนเอเจนต์) จะช่วยให้คุณมั่นใจได้ว่าเอเจนต์มีตัวตนอยู่จริง และมีข้อมูลให้สามารถติดต่อได้ ทั้งนี้ การจะลงทะเบียนยืนยันตัวตน เอเจนต์จะต้องแสดงหลักฐานดังนี้
  • เอกสารทางราชการที่มีรูปถ่าย เช่น บัตรประชาชนหรือพาสปอร์ต พร้อมถ่ายหน้าเอเจนต์และบัตรประชาชนเพื่อยืนยันตัวตน
  • Line ID
  • เบอร์โทรศัพท์
  • อีเมล
หากเป็นเอเจนต์ที่มีสังกัดบริษัทเอเจนต์อสังหาฯ จะต้องส่งเอกสารอย่างใดอย่างหนึ่งด้านล่างนี้ เพื่อระบุบริษัทเอเจนต์อสังหาฯ ที่สังกัดอยู่ได้อย่างถูกต้อง
  • หนังสือรับรองการเป็นเอเจนต์ของบริษัทเอเจนต์อสังหาฯ ที่สังกัดอยู่ หรือ
  • นามบัตรที่ออกให้โดยบริษัทเอเจนต์อสังหาฯ หรือนามบัตรที่ใช้รูปแบบของบริษัทเอเจนต์อสังหาฯ หรือ
  • ใบสลิปค่าคอมมิชันที่แสดงชื่อบริษัทเอเจนต์อสังหาฯ และชื่อของเอเจนต์
ส่วนการยืนยันตัวตนของบริษัทเอเจนต์อสังหาฯ จะต้องยื่นเอกสารดังนี้
  • หนังสือรับรองบริษัท หรือ ภ.พ.20
  • เว็บไซต์อย่างเป็นทางการของบริษัท
  • Official Account Line ID (หรือ Facebook/LinkedIn ของบริษัท)
  • อีเมล
เลือกเอเจนต์อย่างไรให้ได้คนที่น่าเชื่อถือ

เลือกเอเจนต์อย่างไรให้ได้คนที่น่าเชื่อถือ

7. ใส่ใจเรื่องความสะอาด

แม้ว่าการแพร่ระบาดของโควิด-19 จะคลี่คลายไปจากเดิมแล้ว หนึ่งในเรื่องสำคัญที่ไม่ควรละเลยก็คือเรื่องของความสะอาด ก่อนขายควรมีการทำความสะอาดบ้านและคอนโดก่อนที่ผู้ซื้อจะเข้าอยู่อาศัย โดยเฉพาะการทำความสะอาดแบบบิ๊กคลีนนิ่ง (Big Cleaning) ซึ่งจะเอื้อประโยชน์ต่อการขาย เพราะบ้านหรือคอนโดที่สะอาด สามารถดึงดูดใจ หรือสร้างความประทับใจแรกให้กับผู้ซื้อหรือผู้เช่าตั้งแต่แรกเห็นนั่นเอง
ทั้งหมดนี้เป็น 7 เทคนิคดี ๆ ช่วยให้ขายบ้านออกง่าย แม้ในช่วงนี้ที่ดูเหมือนว่าภาวะเศรษฐกิจจะชะลอตัว แต่ก็ยังพบสัญญาณที่ดี มีผู้ที่ต้องการซื้ออสังหาริมทรัพย์เพิ่มขึ้น เป็นโอกาสที่ผู้ขายจะใช้เทคนิคเหล่านี้พิชิตใจผู้ซื้อ
ข้อจำกัดความรับผิดชอบ: ข้อมูลนี้จัดทำขึ้นเพื่อเป็นข้อมูลทั่วไปเท่านั้น DDproperty by PropertyGuru ซึ่งอยู่ภายใต้การดูแลของบริษัท ออลพร็อพเพอร์ตี้ มีเดีย จำกัด ไม่สามารถรับรองหรือรับประกันเกี่ยวกับข้อมูล รวมทั้งไม่สามารถรับรองหรือรับประกันใด ๆ เกี่ยวกับความเหมาะสม สำหรับวัตถุประสงค์เฉพาะใด ๆ ของข้อมูล ตามขอบเขตสูงสุดที่กฎหมายอนุญาต แม้ว่าเราได้พยายามอย่างเต็มที่ เพื่อให้แน่ใจว่าข้อมูลที่ให้ไว้ในบทความนี้ถูกต้อง เชื่อถือได้ และครบถ้วน ณ เวลาที่เขียน แต่ข้อมูลที่ให้ไว้ในบทความนี้ไม่ควรนำไปใช้ในการตัดสินใจทางการเงิน, การลงทุนอสังหาริมทรัพย์ หรือทางกฎหมายทันที ผู้อ่านไม่ควรใช้ข้อมูลในบทความ แทนคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญที่ผ่านการฝึกอบรมซึ่งสามารถพิจารณาข้อเท็จจริงและสถานการณ์ส่วนตัวของคุณได้ ทั้งนี้ เราไม่สามารถรับผิดชอบใด ๆ หากคุณเลือกที่จะนำข้อมูลไปใช้เพื่อประกอบการตัดสินใจ

คำถามยอดนิยม

ขายบ้านมีค่าใช้จ่ายหรือค่าธรรมเนียมดังนี้ 1. ค่าธรรมเนียม 2% ปกติจะแบ่งกันระหว่างผู้ขายและผู้ซื้อฝ่ายละ 1% ของราคาประเมิน 2. ค่าอากรแสตมป์ 0.5% ของราคาประเมิน (หากเสียภาษีธุรกิจเฉพาะไม่ต้องจ่าย) 3.ภาษีธุรกิจเฉพาะ 3.3% ของราคาประเมิน 4. ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา