
ประวัติความเป็นมาของย่าน
‘คลองเตย’ หนึ่งในย่านใจกลางเมืองที่มีเรื่องราวการตั้งรกรากอยู่อาศัยและทำการค้ามาอย่างยาวนาน หากวิเคราะห์พื้นที่ตามเขตการปกครองของกรุงเทพฯ เขตคลองเตย ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ตอนกลางค่อนไปทางตะวันตกของฝั่งพระนคร
คำว่า ‘คลองเตย’ สันนิษฐานว่าได้ชื่อตามคลองอันเป็นสัญลักษณ์ของท้องถิ่น และจากชื่อเรียก ต้นเตย ที่ขึ้นมากบริเวณริมคลองนั้น โดยสมัยก่อนเป็นพื้นที่เปลี่ยว ส่วนใหญ่เป็นท้องนาและสวนผัก โดยผู้คนส่วนใหญ่ใช้การสัญจรทางน้ำเป็นหลัก
คลองเตยเคยเป็นที่ตั้งของเมืองปากน้ำพระประแดง เป็นเมืองหน้าด่านปากน้ำเจ้าพระยา ก่อนที่จะขึ้นไปสู่เมืองอื่น ๆ (อยู่ตรงข้ามกับ อ.พระประแดง ในปัจจุบัน ซึ่งสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 1) ย่านคลองเตยจึงมีชุมชนอยู่อาศัยต่อเนื่องมาเป็นเวลานาน จนกลายเป็นชุมชนอยู่อาศัยแบบหนาแน่นมากตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน
คลองเตยนอกจากความเป็นชุมชนที่เกิดขึ้นจากรากฐานการอยู่อาศัยริมแม่น้ำแล้ว ยังมีความสำคัญในแง่ของความเป็นแหล่งงานขนาดใหญ่ เนื่องจากมีสถานที่สำคัญ ๆ หลายแห่งเกิดขึ้นในย่านคลองเตยทำให้ย่านคลองเตยกลายเป็นทั้งย่านชุมชนอยู่อาศัยและย่านแหล่งงานขนาดใหญ่ของกรุงเทพฯ โดยสถานที่สำคัญเหล่านี้ เช่น
ท่าเรือกรุงเทพ หรือที่รู้จักกันในนาม “ท่าเรือคลองเตย” ซึ่งนับเป็นท่าเรือระหว่างประเทศแห่งแรกของประเทศไทย เริ่มก่อสร้างตั้งแต่ในปี พ.ศ. 2481 จนในปี พ.ศ. 2483 เริ่มมีโรงพักสินค้า คลังสินค้า ก่อนมีหยุดชะงักการก่อสร้างไปในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 และเปิดดำเนินการกิจการท่าเรืออย่างเป็นทางการในปี พ.ศ. 2490
หลังจากนั้นในราวปี พ.ศ. 2493 ก็เกิดอีกหนึ่งแหล่งงานขนาดใหญ่ นั่นคือ โรงงานยาสูบ ของการยาสูบประเทศไทย (ปัจจุบันสังกัดกระทรวงการคลัง) ได้ขยับขยายส่วนการผลิตยาสูบจากย่านสะพานเหลืองมายังพื้นที่คลองเตย (ใกล้กับแยกคลองเตยในปัจจุบัน เข้าได้ทั้งฝั่งถนนรัชดาภิเษก และถนนพระราม 4) โดยปัจจุบันยังคงเป็นที่ตั้งของสำนักงานใหญ่ การยาสูบแห่งประเทศไทย
สำหรับตลาดคลองเตย อีกหนึ่งสถานที่สำคัญของย่านคลองเตย แม้ว่าจะไม่ปรากฎชัดเจนว่า ความเป็นตลาดเกิดขึ้นตั้งแต่เมื่อใด แต่จากการที่ย่านคลองเตยมีชุมชนดั่งเดิม มีท่าเรือระหว่างประเทศ เป็นสถานที่ตั้งของโรงงานยาสูบ จึงมีความเป็นไปได้ว่า ตลาดเกิดคู่มากับชุมชนและการค้าขายบริเวณท่าเรือ ย่านคลองเตย จึงกลายเป็นแหล่งชุมชนอยู่อาศัยและแหล่งงานขนาดใหญ่อีกแห่งหนึ่งของกรุงเทพฯ
ในยุคที่กรุงเทพฯ เริ่มเป็นเมืองที่ขยายตัว มีอาคารพาณิชย์ มีห้างสรรพสินค้า มีอาคารสำนักงาน ย่านคลองเตย เป็นอีกหนึ่งพื้นที่ที่เริ่มมีอาคารพาณิชย์ค้าขาย โดยเฉพาะสินค้าที่ต่อเนื่องมาจากท่าเรือ เริ่มเกิดอาคารสำนักงานขนาดเล็กและขนาดกลาง รองรับการค้าขายระหว่างท่าเรือ
จนในปี พ.ศ. 2534 จึงมีศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ บริเวณใกล้แยกคลองเตย ฝั่งถนนรัชดาภิเษก ซึ่งเป็นศูนย์การประชุมแห่งชาติแห่งแรกของประเทศไทย ก็เป็นจุดเริ่มต้นให้พื้นที่บริเวณนี้ค่อย ๆ เปลี่ยนแปลงไป และการย้ายมาของสำนักงานตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยจากถนนวิทยุมายังย่านคลองเตย ฝั่งถนนรัชดาภิเษก ใกล้แยกคลองเตย ติดกับศูนย์การค้าประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ในปี พ.ศ. 2541 (ปัจจุบันย้ายไปอยู่ย่านพระราม 9) ยิ่งเป็นสัญญาณชี้ให้เห็นว่า ย่านคลองเตยมีโอกาสที่จะเติบโตในเส้นทางย่านธุรกิจสมัยใหม่
จุดกำเนิดของชุมชนคลองเตย
จากการก่อสร้างท่าเรือกรุงเทพ (ช่วงปี พ.ศ. 2481-2490) และการก่อสร้างฐานทัพของสหรัฐฯ ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 (ช่วงปี พ.ศ. 2503) ทำให้เกิดความต้องการแรงงานเป็นจำนวนมาก ส่งผลให้มีแรงงานจากพื้นที่อื่นเข้ามาในย่านคลองเตยมากขึ้น หลายคนเริ่มปักหลักและจับจองพื้นที่สร้างเป็นบ้าน หรือนอนพักเป็นห้องแถวทำให้เกิดชุมชนขนาดใหญ่ในย่านคลองเตย หรือที่เรียกว่าสลัมคลองเตย
แม้ว่าช่วงแรกทางภาครัฐจะมีการขับไล่แต่ก็ไม่เป็นผล จนกระทั่งปี พ.ศ. 2520 เริ่มใช้มาตรการประนีประนอมมากขึ้น โดยนำโครงการพัฒนาต่าง ๆ เข้ามานำร่องในสลัมคลองเตย ถือเป็นสลัมแหล่งแรกที่ได้รับการยกระดับจากแหล่งเสื่อมโทรมที่ผิดกฎหมาย กลายเป็นที่อยู่อาศัยของผู้มีรายได้น้อยได้อย่างกลมกลืนกับสังคมเมือง
จากนั้นมีการยกเลิกคำว่า “สลัม” เปลี่ยนเป็นชุมชนแออัด และเรียก “ชุมชนคลองเตย” ในปัจจุบัน
คลองเตยกับปัญหาน้ำเน่าเสีย
ปัญหาหนึ่งที่มักได้ยินบ่อย ๆ ในย่านนี้คือ ปัญหาน้ำเน่าเสีย จริง ๆ แล้ว หากย้อนไปเมื่อประมาณ 40-50 ปีก่อน น้ำในคลองเตยยังใสสะอาด ไม่มีปัญหาขยะลอยเกลื่อน หรือปัญหาน้ำเน่าเสียแบบที่เป็นอยู่ แต่เมื่อเริ่มมีการพัฒนาพื้นที่ ไม่วาจะเป็นการสร้างบ้านเรือนริมคลอง หรือการสร้างทางด่วน สภาพน้ำในคลองก็เริ่มเปลี่ยนไป
สาเหตุของน้ำเน่าเสียในย่านคลองเตย
ปัญหาน้ำเน่าเสียในคลองเตยมาจากหลายสาเหตุด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นน้ำเน่าเสียจากผู้ค้าขายในตลาดคลองเตย และชุมชนในพื้นที่ที่มักทิ้งขยะลงในน้ำ ประกอบกับสภาพคลองยังเป็นคลองปิด คือมีการปิดประตูน้ำทั้ง 2 ฝั่ง เพื่อกั้นไม่ให้น้ำเน่าเสียไหลลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา ทำให้น้ำในคลองไม่สามารถไหลเวียนไปไหนได้ จึงกลายสภาพเป็นน้ำเน่าเสียรุนแรงในปัจจุบัน
แนวทางการแก้ไขปัญหาน้ำเน่าเสียในคลองเตย
ทางกรุงเทพมหานครได้มีมาตรการระยะสั้นคือ มีการเก็บขยะชิ้นเล็กบนผิวน้ำ และดำเนินการเก็บขยะชิ้นใหญ่ ๆ เช่น ฟุกที่นอน หรือโอ่งน้ำ การสร้างจิตสำนึกให้กับผู้ที่อยู่อาศัยอยู่แนวคลอง รวมถึงการบังคับใช้กฎหมาย และการขุดลอกคูคลองเพื่อให้การไหลเวียนน้ำภายในคลองดีขึ้น
ส่วนมาตรการระยะกลาง ดำเนินการโดยการก่อสร้างเขื่อนพร้อมระบบท่อรวบรวมน้ำเสีย สำหรับมาตรการระยะยาว ดำเนินการโดยการก่อสร้างระบบรวบรวมและระบบบำบัดน้ำเสีย เพื่อจัดการคุณภาพน้ำในคลองให้มีค่าความสะอาดและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
ทั้งนี้ ปัจจุบันกรุงเทพฯ มีโรงบำบัดน้ำเสียทั้งหมด 8 แห่ง ได้แก่ โรงควบคุมคุณภาพน้ำสี่พระยา, รัตนโกสินทร์, ดินแดง, ช่องนนทรี, จตุจักร, หนองแขม, ทุ่งครุ และบางซื่อ รวมบำบัดน้ำเสียได้ 1.1 ล้านลูกบาศก์เมตร/วัน แต่ความต้องการขณะนี้อยู่ที่ 3-4 ล้านลูกบาศก์เมตร/วัน ซึ่งตามเป้าหมายกรุงเทพฯ จะต้องมีโรงบำบัดน้ำเสีย 20 แห่ง
โดยในปีงบประมาณ 2563 มีแผนจะสร้างโรงบำบัดน้ำเสียเพิ่มอีก 4 แห่ง ได้แก่ โรงบำบัดน้ำเสียมีนบุรี, หนองบอน, คลองเตย และธนบุรี โดยทั้ง 4 แห่งมีศักยภาพบำบัดน้ำเสียได้แห่งละประมาณ 10,000 ลูกบาศก์เมตร/วัน
คลองเตยในปัจจุบัน
จากอดีตจนถึงปัจจุบัน คลองเตย มีความเปลี่ยนแปลงแบบค่อยเป็นค่อยไป แต่สิ่งที่เห็นชัดเจน นั่นคือ ศูนย์รวมความเจริญเติบโตค่อย ๆ เปลี่ยนทิศ จากในอดีตกระจุกตัวอยู่ที่ความเป็นชุมชนหนาแน่น พื้นที่ฝั่งริมแม่น้ำ ท่าเรือ และตลาด
แต่ในปัจจุบันความเจริญเติบโตเริ่มขยับมาทางฝั่งถนนรัชดาภิเษกตัดกับถนนพระราม 4 มากขึ้น ซึ่งเป็นผลจากหลายปัจจัย เช่น ความเจริญของฝั่งถนนสุขุมวิท แยกอโศก แผ่อิทธิพลมายังพื้นที่ฝั่งถนนรัชดาภิเษกที่ตัดกับถนนสุขุมวิท
การเกิดขึ้นของรถไฟฟ้า MRT สายสีน้ำเงินในปี พ.ศ. 2547 ซึ่งมีทั้งสถานีคลองเตย สถานีศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ที่เหมือนเป็นการเปิดหน้าดินให้กับหลายพื้นที่ของย่านคลองเตย โดยเฉพาะฝั่งติดถนนพระราม 4 ที่เริ่มเกิดโครงการใหม่ ๆ มากขึ้น
อีกหนึ่งจุดเปลี่ยนสำคัญของย่านคลองเตย นั่นคือ การเกิดขึ้นของโครงการเอฟวายไอ เซ็นเตอร์ อาคารสำนักงานเกรดเอแห่งแรกของย่านคลองเตยที่พัฒนาโดยกลุ่มบริษัทของตระกูลสิริวัฒนภักดี เจ้าของอาณาจักรเบียร์ช้าง ซึ่งผลักดันให้ย่านคลองเตยมีภาพของย่านธุรกิจสมัยใหม่ เริ่มฉายให้กลุ่มนักลงทุนมองเห็นโอกาสในอนาคต
นอกจากนี้ การพัฒนาโครงการใหม่ ๆ อย่างต่อเนื่องของกลุ่มบริษัทในตระกูลสิริวัฒนภักดี บนพระราม 4 ที่ใกล้กับแยกคลองเตย ยังส่งผลบวกให้กับย่านคลองเตยมากขึ้นด้วย เช่น โครงการเดอะ ปาร์ค (The Parq) อาคารสำนักงานเกรดเอแห่งใหม่พร้อมพื้นที่รีเทลที่เปิดให้บริการแล้วเมื่อปี พ.ศ. 2563 (อยู่ฝั่งเดียวกับศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์)
โครงการวันแบงค็อก อภิมหาโปรเจคที่อยู่ระหว่างก่อสร้าง คาดว่าจะแล้วเสร็จเฟสแรกในปี พ.ศ. 2566 และจะแล้วเสร็จทั้งหมดในปี พ.ศ. 2569 และการเกิดขึ้นของโรงพยาบาลเมดพาร์ค (MedPark) ที่แม้จะไม่ชัดเจนว่าเป็นธุรกิจโรงพยาบาลของตระกูลสิริวัฒนภักดี แต่ก็อยู่ในที่ดินที่กลุ่มตระกูลนี้ได้สิทธิ์ในการพัฒนา ซึ่งล้วนแล้วแต่มีผลให้โฉมหน้าของย่านคลองเตยเปลี่ยนไปมาก
ยังไม่นับรวมถึง ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ที่ปิดปรับปรุงไปเมื่อต้นปี พ.ศ. 2562 และอยู่ระหว่างก่อสร้างใหม่ทั้งหมด เพื่อสร้างให้เป็นศูนย์การประชุมและจัดแสดงสินค้าขนาดใหญ่ภายใต้รูปแบบใหม่ที่มีความทันสมัยใหม่บนทำเลใจกลางเมือง จึงอาจกล่าวได้ว่า คลองเตยในปัจจุบัน เหมือนกลับมาเริ่มต้นก่อร่างสร้างเมืองรอบใหม่ที่ค่อย ๆ เข้าใกล้คำว่า ศูนย์กลางธุรกิจแห่งใหม่มากขึ้น
อนาคตของคลองเตย
จากโครงการใหม่ ๆ ที่ทยอยเกิดขึ้นบริเวณถนนพระราม 4 ใกล้กับย่านคลองเตย ทั้งโครงการที่เพิ่งก่อสร้างเสร็จ เช่น โครงการเดอะ ปาร์ค โครงการเมดพาร์ค และโครงการที่อยู่ระหว่างพัฒนา เช่น โครงการวันแบงค็อก โครงการปรับปรุงศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ จะผลักดันให้ย่านคลองเตยฝั่งพระราม 4 กลายเป็นอีกหนึ่งศูนย์กลางธุรกิจแห่งใหม่ (New CBD: New Central Business District) และมีผลต่อเนื่องให้โครงการที่อยู่อาศัยเกิดใหม่ในบริเวณนี้มีความเป็นพรีเมียมมากขึ้น
ขณะที่แผนพัฒนาพื้นที่บางส่วนของท่าเรือกรุงเทพ หรือท่าเรือคลองเตยให้เป็น Port City โครงการมิกซ์ยูสริมแม่น้ำ ที่มีทั้งศูนย์การค้า อาคารสำนักงาน ที่พักอาศัย ที่แม้ว่าจะมีแผนแม่บทออกมาบ้างแล้ว แต่ยังไม่มีการดำเนินงานเป็นรูปธรรมที่ชัดเจน
ยกระดับชุมชนคลองเตย สู่สมาร์ท คอมมูนิตี้
ชุมชนคลองเตยหรือชุมชนรอบท่าเรือกรุงเทพ แบ่งออกเป็นชุมชนในพื้นที่ของการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) จำนวน 26 ชุมชน และชุมชนใต้ทางด่วน 5 ชุมชน ทั้งหมด 31 ชุมชน รวมกว่า 13,000 ครัวเรือน บนเนื้อที่ 197 ไร่
โดยอนาคตเตรียมลบภาพชุมชนคลองเตย เพราะทาง กทท. เตรียมพัฒนาเป็นสมาร์ท คอมมูนิตี้ จะตั้งอยู่บนพื้นที่ 58 ไร่ ซอยตรีมิตร ติดถนนริมทางรถไฟสายเก่า ด้านหลังติดริมคลองพระโขนง ประกอบด้วยคอนโดมิเนียม 4 อาคาร ความสูง 25 ชั้น ชั้นที่ 1-5 เป็นที่จอดรถ ชั้นที่ 6-25 เป็นห้องพักอาศัย ขนาดห้อง 33 ตารางเมตร อาคารละ 1,536 ยูนิต รวม 6,144 ยูนิต มีลิฟต์โดยสาร อาคารละ 4 ตัว ลิฟต์ดับเพลิง อาคารละ 2 ตัว พร้อมสิ่งอำนวยความสะดวก และระบบดูแลความปลอดภัยด้วยคีย์การ์ดเข้า-ออก
นอกจากนี้ยังมีอาคารส่วนกลางที่เป็นสถานที่ราชการ สำนักงานต่าง ๆ พื้นที่ให้เช่าภายในอาคาร พร้อมด้วยอาคารจอดรถส่วนกลาง อาคารตลาดหรือพื้นที่เชิงพาณิชย์ให้เช่าขายสินค้า (Community Mall) โรงเรียน อาคารเอนกประสงค์อื่น ๆ และพื้นที่สีเขียว
เสนอ 3 แนวทางเลือกให้คนชุมชนคลองเตย
ปัจจุบัน กทท. กำลังอยู่ระหว่างเร่งทำความเข้าใจกับชาวชุมชนในพื้นที่ โดยสำหรับชาวชุมชนคลองเตยทั้ง 31 ชุมชน กทท. ได้เสนอสิทธิประโยชน์ไว้ 3 แนวทางเลือก โดยสามารถเลือกรับสิทธิประโยชน์ได้ครอบครัวละ 1 สิทธิ ได้แก่
1. สิทธิห้องชุดขนาด 33 ตารางเมตร ในโครงการ เพื่ออยู่อาศัยในพื้นที่ใกล้เคียงกับที่อยู่เดิม โดยอาจจะเก็บค่าเช่าในอัตราเดียวกับการเช่าพื้นที่ของกรมธนารักษ์ในสัญญาระยะยาว 30 ปี
2. สิทธิเป็นเจ้าของที่ดินเปล่า 1 แปลง ขนาด 19.5 ตารางวา ย่านหนองจอก มีนบุรี มูลค่าแปลงละ 200,000 บาท จำกัดจำนวน 2,140 แปลง
3. สิทธิเงินทุนพัฒนาคุณภาพชีวิต เพื่อใช้กลับไปใช้ชีวิตที่ภูมิลำเนาเดิมของตนเอง ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาจำนวนเงินที่เหมาะสม
ปิดฉากสลัมคลองเตย ผุดสมาร์ท คอมมูนิตี้ ใจกลางเมือง
Get the Guru View
ย่านคลองเตยยุคใหม่ได้รับอิทธิพลความเจริญเติบโตจากฝั่งพระราม 4 โคยโครงการใหม่ ๆ ของภาคเอกชนที่เกิดขึ้นแล้วและกำลังเกิดขึ้นในอนาคตจะเป็นตัวขับเคลื่อนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงใหม่ ๆ ส่วนฝั่งชุมชน ท่าเรือ และตลาด เป็นโซนที่ภาคเอกชนคาดการณ์ว่า หากมีการปรับเปลี่ยน ยกระดับให้มีความทันสมัยมากขึ้น จะยิ่งส่งเสริมให้ย่านคลองเตยก้าวสู่ความเป็นศูนย์กลางธุรกิจแห่งใหม่อย่างแท้จริง
เจาะลึกทุกทำเลในกรุงเทพฯ ที่น่าสนใจ และหากคุณกำลังค้นหาบ้าน-คอนโดฯ ที่ใช่ สามารถเลือกชมรีวิวโครงการใหม่ และคำนวณสินเชื่อด้วยตนเองก่อนตัดสินใจซื้อบ้าน คอนโดฯ ทาวน์เฮ้าส์ ที่ตรงกับความต้องการของคุณ