ผังเมืองรวม กทม. ใหม่ จ่อใช้ไม่เกิน 63 เอื้อพัฒนาที่อยู่อาศัย

14 ม.ค. 2562

ผังเมืองรวมกรุงเทพฯ ฉบับใหม่ (ปรับปรุงครั้งที่ 4) เน้นแนวคิด “ไร้รอยต่อ” ปรับพื้นที่รอบสถานีรถไฟฟ้า เพิ่ม FAR และ FAR Bonus รองรับการขยายตัวของเมืองและที่อยู่อาศัย ประกาศใช้ไม่เกินต้นปี 2563

จากแผนการพัฒนาของกรุงเทพมหานคร ระยะ 20 ปี ได้กำหนดวิสัยทัศน์ไว้ว่า กรุงเทพฯ 2575 : กรุงเทพฯ มหานครแห่งเอเชีย (Bangkok : Vibrant of Asia) ให้กรุงเทพฯ กลายเป็นเมืองชั้นนำในด้านเศรษฐกิจภาคบริการ ความปลอดภัย สวยงาม สะดวกสบาย น่าอยู่ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และมีเอกลักษณ์เฉพาะ ด้วยเหตุนี้ผังเมืองฉบับเดิมซึ่งได้ประกาศใช้มาตั้งแต่ปี 2556 จึงมีความจำเป็นต้องปรับปรุงเป็นผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร ฉบับใหม่ (ปรับปรุงครั้งที่ 4) เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพการณ์และสิ่งแวดล้อมการพัฒนาเมืองที่เปลี่ยนแปลงไปเน้นแนวคิด “ไร้รอยต่อ” ปรับพื้นที่รอบสถานีรถไฟฟ้า เพิ่ม FAR และ FAR Bonus และมาตรการใหม่ ๆ รองรับการขยายตัวของเมืองและที่อยู่อาศัย โดยคาดว่าจะประกาศใช้ไม่เกินปี 2563

สถานการณ์การใช้ประโยชน์ที่ดิน

จากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า ประชากรในกรุงเทพฯ และปริมณฑล จะมีประชากรเพิ่มขึ้นจาก 16.7 ล้านคนเป็น 19.5 ล้านคน ในปี 2580 โดยประชากรในกรุงเทพฯ มีแนวโน้มลดลง แต่ประชากรในปริมณฑล มีแนวโน้มสูงขึ้น เช่นเดียวกับประชากรแฝงที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องในกรุงเทพฯ จ.นนทบุรี และ จ.สมุทรปราการ

เมื่อลงลึกไปถึงการใช้ประโยชน์ที่ดินพบว่า พื้นที่ชุมชนและสิ่งปลูกสร้างมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้น ครอบคลุมพื้นที่กรุงเทพฯ เกือบทั้งหมด รวมถึงกระจายออกไปนอกพื้นที่วงแหวนกาญจนาภิเษกตามแนวเส้นทางคมนาคมสายหลักทุกทิศทาง (Ribbon Development) โดยพื้นที่ปลูกสร้างมีแนวโน้มขยายตัวกว้างขึ้นมากกว่า 2,000 ตารางกิโลเมตร ซึ่งหากไม่มีการควบคุมจะสูญเสียพื้นที่เกษตรกรรม เกิดการตั้งถิ่นฐานในพื้นที่เสี่ยงภัย และก่อให้เกิดปัญหาการจราจรอีกด้วย ดังนั้น ผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร ฉบับใหม่ (ปรับปรุงครั้งที่ 4) จึงเป็นการตอบรับกับความต้องการพื้นที่เมืองและอุตสาหกรรมที่เพิ่มขึ้น ตามการเติบโตของประชากร การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และกิจกรรมทางเศรษฐกิจ

ผังเมืองรวมกรุงเทพฯ

ผังเมืองใหม่เน้นแนวคิด “ไร้ร้อยต่อ”

ผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร ฉบับใหม่ (ปรับปรุงครั้งที่ 4) จะเน้นพัฒนาเมืองในรูปแบบ “ไร้รอยต่อ” ชะลอการขยายเมืองในแนวราบในพื้นที่ชานเมือง แต่จะใช้ประโยชน์พื้นที่กลางเมืองให้มีประสิทธิภาพ ซึ่งผังเมืองใหม่จะรองรับการพัฒนาพื้นที่ 1,568 ตารางกิโลเมตร สำหรับประชากรตามทะเบียนราษฎร์และประชากรแฝง 9.3-10 ล้านคน

ทั้งนี้ แนวคิดในการทำผังเมืองรวมใหม่ จะรวมการขยายตัวของเมืองและเส้นทางคมนาคมที่เกิดจากการพัฒนารถไฟฟ้าในพื้นที่กรุงเทพฯ 12 สาย ระยะทางรวม 508 กิโลเมตร จำนวน 318 สถานี ซึ่งมีสถานีเชื่อมต่อหรือสถานีอินเตอร์เชนจ์ถึง 39 สถานี อาทิ รถไฟฟ้าสายสีเหลืองสีน้ำตาล สีเขียวสีชมพู สีแดง สีม่วง สีเทา และสีส้ม เกิดการพัฒนาศูนย์พาณิชยกรรม (Sub-CBD) อาทิ บางซื่อ มักกะสัน วงเวียนใหญ่ พื้นที่ใช้ประโยชน์หนาแน่นสูงบริเวณสถานีร่วม อาทิ บางหว้า ตลิ่งชัน เตาปูน รัชดา ลาดพร้าว และพื้นที่เปลี่ยนถ่ายสัญจรบริเวณสถานีรถไฟฟ้าทีติดถนนสายหลัก อาทิ บางขุนเทียน ลาดกระบัง มีนบุรี รวมทั้งส่งเสริมพื้นที่พาณิชยกรรมริมน้ำ และอีกหลาย ๆ พื้นที่เพื่อให้เอื้อต่อการพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัย >>ค้นหาโครงการที่อยู่อาศัยแนวรถไฟฟ้า

ยกตัวอย่างเช่น โซนตะวันออกของกรุงเทพฯ จะเปลี่ยนจากพื้นที่สีเหลือง หรือที่อยู่อาศัยหนาแน่นน้อยเป็นพื้นที่สีส้ม หรือที่อยู่อาศัยหนาแน่นปานกลาง ส่งผลให้ผังเมืองรวมมีพื้นที่สีเหลืองลดลงจาก 438.33 ตารางกิโลเมตร เหลือ 393.79 ตารางกิโลเมตร หรือลดลง 10.14% ส่วนพื้นที่สีส้มเพิ่มขึ้นจาก 248.08 ตารางกิโลเมตร เป็น 345.65 ตารางกิโลเมตร หรือเพิ่มขึ้น 39.33% ส่วนพื้นที่สีน้ำตาล หรือที่อาศัยอยู่หนาแน่นเปลี่ยนแปลงเล็กน้อยเพียง 0.57% ขณะที่พื้นที่สีแดง หรือพื้นที่สำหรับพาณิชยกรรมเพิ่มขึ้น 9%

รวมทั้งจะมีมาตรการจูงใจอื่น ๆ เพิ่มเติมเช่น มาตรการโอนสิทธิการพัฒนา (TDR) มาตรการพัฒนาโครงการขนาดใหญ่ (PUD) มาตรการส่งเสริมการพัฒนาพื้นที่รอบสถานีรถไฟฟ้า (TOD) เพิ่มระยะการส่งเสริมการพัฒนารอบสถานีรถไฟฟ้า ในระยะ 500 เมตรรอบสถานี เป็น 800 เมตร และ 1,000 เมตร

ผังเมืองรวมกรุงเทพฯ

เพิ่ม FAR และ FAR Bonus

ผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร ฉบับใหม่ (ปรับปรุงครั้งที่ 4) นอกจากจะมีการปรับเปลี่ยนสีในโซนพื้นที่ต่าง ๆ ยังจะมีผลกับอัตราส่วนพื้นที่อาคารต่อที่ดิน (Floor Area Ration) หรือ FAR โดยจะปรับเพิ่มขึ้นตามสีต่าง ๆ สีละ 0.5 ซึ่งสัดส่วนพื้นที่อาคารต่อที่ดินที่ปรับเพิ่มขึ้นจะเอื้อต่อการพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัย และอาคารเชิงพาณิชย์ตามโซนต่าง ๆ มากขึ้น

ส่วน FAR Bonus จากเดิมที่มีให้ใน 5 กรณี คือ 1.การจัดให้มีที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อย 2.เพิ่มพื้นที่โล่งสาธารณะหรือสวนสาธารณะ 3.การจัดให้มีพื้นที่จอดรถรอบสถานีรถไฟฟ้า 4.การเพิ่มพื้นที่กักเก็บน้ำฝน 5.การสร้างอาคารอนุรักษ์พลังงาน เพิ่มเติมอีก 3 กรณี คือ 1.การจัดให้มีพื้นที่เพื่อประโยชน์ในการสัญจรบริเวณเปลี่ยนถ่ายการสัญจรของระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน 2.การจัดให้มีพื้นที่ว่างเพื่อประโยชน์สาธารณะริมแม่น้ำ ลำคลอง และแหล่งน้ำสาธารณะ และ 3.การจัดให้มีพื้นที่สำหรับใช้เป็นสถานที่รับเลี้ยงเด็ก หรือสถานดูแลผู้สูงอายุในเวลากลางวันโดยจะเพิ่ม FAR Bonus ในสัดส่วนไม่เกิน 20%

อย่างไรก็ตาม ความก้าวหน้าของโครงการวางและจัดทำผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร ฉบับใหม่ (ปรับปรุงครั้งที่ 4) คาดว่าจะสามารถประกาศใช้ไม่เกินต้นปี 2563 เชื่อว่าผังเมืองฉบับใหม่จะเป็นการเปิดช่องให้พื้นที่รอบสถานีรถไฟฟ้าสามารถพัฒนาโครงการขนาดใหญ่อย่างโครงการมิกซ์ยูส ที่มีทั้งที่อยู่อาศัย แหล่งช้อปปิ้ง และแหล่งงานได้เช่นเดียวกับต่างประเทศ นอกจากนี้ยังส่งผลให้ต้นทุนการพัฒนาที่อยู่อาศัยถูกลง ซึ่งจะทำให้ราคาที่อยู่อาศัยต่ำลงไปด้วย จึงช่วยเพิ่มโอกาสให้กับคนชั้นกลาง ให้สามารถมีที่อยู่อาศัยที่อยู่ใกล้เมืองได้มากขึ้น >>แนวโน้มตลาดอสังหาริมทรัพย์ในปี 2562

เพิ่มเติมความรู้ คู่มือซื้อ ขาย เช่าบ้าน-คอนโดฯ พร้อมส่งตรงถึงอีเมล์ของคุณฟรี สมัครได้ที่นี่ และสามารถเลือกชม โครงการใหม่ พร้อม รีวิวโครงการคอนโดใหม่ บ้านใหม่ หลากหลายทำเลและราคาได้เช่นกัน

เขียนความเห็น

ข่าว-บทความอื่นๆ ที่คุณอาจสนใจ

อสังหาฯ ปี (ไม่) หมู หนี้สูง-สต็อกเยอะ : ทรรศนะ ‘อนันต์ อัศวโภคิน’

ตลาดอสังหาริมทรัพย์ในปี 2562 หรือปีหมู ดูเหมือนจะไม่หมูสมชื่อ จากหลากหลา

อ่านต่อ11 ม.ค. 2562