ภาษีโรงเรือนและที่ดินคืออะไร จ่ายเท่าไหร่ ทำไมเลิกใช้ไปเมื่อปี 2562

DDproperty Editorial Team
ภาษีโรงเรือนและที่ดินคืออะไร จ่ายเท่าไหร่ ทำไมเลิกใช้ไปเมื่อปี 2562
ภาษีโรงเรือนและที่ดิน ปัจจุบันแม้ว่าจะยกเลิกใช้ไปแล้ว เนื่องจากมีการมาใช้ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างแทน แต่บทความนี้ถือเป็นบทความเพื่อศึกษาและเรียนรู้ว่าแต่เดิมนั้นภาษีโรงเรือนและที่ดิน นั้นมีการจัดเก็บอย่างไร ต้องจ่ายเมื่อไร และหากมีอสังหาริมทรัพย์ที่เข้าเงื่อนไข จะมีขั้นตอนการชำระภาษีอย่างไรบ้างเพื่อไม่ให้พลาดจนต้องถูกหน่วยงานของรัฐทวงถามย้อนหลัง
อ่านหัวข้อที่คุณสนใจ

ภาษีโรงเรือนและที่ดิน คืออะไร

ภาษีโรงเรือนและที่ดิน (ภาษาอังกฤษคือ Building and Land Tax) คือ ภาษีที่เรียกเก็บจากอสังหาริมทรัพย์ที่มีการใช้ประโยชน์อย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการให้เช่า เปิดกิจการ และ/หรือให้บริการจากหอพัก โรงเรียน ธนาคาร โรงพยาบาล และสถานประกอบการต่าง ๆ โดยเจ้าของทรัพย์สินต้องเป็นผู้มีหน้าที่เสียภาษีโรงเรือนและที่ดินเมื่อใช้ประโยชน์จากโรงเรือนหรือที่ดินนั้น ยกเว้นบ้านที่อยู่อาศัยเองและทรัพย์สินที่ถูกยกเว้นตามกฎหมาย

ภาษีโรงเรือนและที่ดินต้องชำระที่ไหนและเมื่อไหร่

ภาษีโรงเรือนและที่ดินเป็นภาษีท้องถิ่นที่ต้องชำระให้กับสำนักงานเขตหรือเทศบาลที่โรงเรือนหรือที่ดินนั้นตั้งอยู่ โดยการจัดเก็บภาษีโรงเรือนและที่ดินนั้นเป็นแบบรายปี ผู้มีหน้าที่เสียภาษีสามารถยื่นภาษีได้ตั้งแต่เดือนมกราคมจนถึงเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปีที่มีการใช้ประโยชน์จากทรัพย์สินนั้นในปีก่อนหน้า เช่น มีบ้านปล่อยเช่าตั้งแต่เดือนกันยายนถึงเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2561 รวม 3 เดือน เจ้าของทรัพย์สินก็ต้องยื่นภาษีโรงเรือนและที่ดิน ในเดือนมกราคม พ.ศ. 2562
โดยหน่วยงานส่วนท้องถิ่นบางแห่งมีบริการที่ช่วยให้ผู้มีหน้าที่เสียภาษีสามารถยื่นได้อย่างสะดวกสบาย เช่น สำนักงานเขตบางแห่งในกรุงเทพฯ มีบริการยื่นแบบผ่านไปรษณีย์และชำระค่าภาษีผ่านตู้เอทีเอ็มหรือแอปพลิเคชันของธนาคารได้ทันทีโดยไม่ต้องเดินทางไปสำนักงานเขต

ภาษีโรงเรือนและที่ดินมี วิธีการคำนวณอย่างไร

อัตราภาษีโรงเรือนและที่ดินที่ต้องจ่ายในปัจจุบันคือร้อยละ 12.5 ของค่ารายปี ซึ่งค่ารายปีนั้นมาจากการประเมินของเจ้าหน้าที่ โดยมีหลักเกณฑ์และตัวอย่างการคำนวณดังนี้

1. กรณีให้เช่าโรงเรือนหรือที่ดิน

หากทรัพย์สินนั้นมีค่าเช่า เช่น บ้านเช่าหรือหอพัก ให้ใช้สูตร
(ค่าเช่าต่อเดือน x จำนวนเดือนที่ประกอบการ) x ร้อยละ 12.5 = ภาษีที่ต้องจ่าย
ตัวอย่าง บ้านปล่อยเช่าในราคา 5,000 บาท/เดือน โดยปล่อยเช่ามาแล้ว 9 เดือน จะได้ (5,000 x 9) x ร้อยละ 12.5 = ภาษีที่ต้องเสีย 5,625 บาท

2. กรณีโรงเรือนหรือที่ดินที่ใช้ประโยชน์อื่น ๆ

หากทรัพย์สินนั้นเป็นสถานประกอบการ หรือนำไปใช้ประโยชน์อื่น ๆ ที่ไม่สามารถประเมินค่ารายปีได้จากค่าเช่า ให้ใช้สูตร
((พื้นที่หน่วยตารางเมตร x อัตราทำเล) x จำนวนเดือนที่ประกอบการ) x ร้อยละ 12.5 = ภาษีที่ต้องจ่าย
โดยอัตราทำเลนั้นเกิดจากการประเมินของเจ้าหน้าที่ซึ่งแต่ละเขตพื้นที่จะแตกต่างกัน
ตัวอย่าง ร้านค้าขนาด 150 ตารางเมตร เปิดกิจการมาตลอดทั้งปี และสมมุติว่าเจ้าหน้าที่ประเมินอัตราทำเลไว้ตารางเมตรละ 60 บาท จะได้ ((150 x 60) x 12) x ร้อยละ 12.5 = ภาษีที่ต้องเสีย 13,500 บาท
ขั้นตอนการยื่นภาษีโรงเรือนและที่ดิน
ขั้นตอนการยื่นภาษีโรงเรือนและที่ดิน

ภาษีโรงเรือนและที่ดินมีขั้นตอนการเสียภาษีอย่างไร

1. ผู้มีหน้าที่เสียภาษีต้องยื่นแบบแจ้งรายการเพื่อเสียภาษีโรงเรือนและที่ดิน (ภ.ร.ด. 2) ให้สำนักงานเขตหรือเทศบาลที่ทรัพย์สินนั้นตั้งอยู่ตั้งแต่เดือนมกราคมถึงกุมภาพันธ์ พร้อมเอกสารที่ใช้ประกอบการเสียภาษีดังนี้
  • สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน
  • สำเนาทะเบียนบ้าน
  • สำเนาโฉนดที่ดินที่ปลูกโรงเรือน
  • สำเนาสัญญาซื้อขายที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง หรือสำเนาสัญญาการเช่า
  • เอกสารการจดทะเบียนอื่น ๆ ที่แสดงถึงการใช้ประโยชน์ต่อสิ่งปลูกสร้าง เช่น ทะเบียนพาณิชย์ หนังสือรับรองการจดทะเบียนนิติบุคคล ใบอนุญาตประกอบกิจการ หรือใบอนุญาตใช้สถานที่ขายอาหาร เป็นต้น
  • ใบเสร็จรับเงินชำระค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินปีที่แล้ว (ถ้ามี)
2. เจ้าหน้าที่ทำการตรวจพิจารณาแบบที่ยื่นมา และอาจเรียกให้แสดงข้อมูลเพิ่มเติม (ถ้าต้องการ) โดยเจ้าหน้าที่จะกำหนดประเภททรัพย์สินและค่ารายปีของทรัพย์สินนั้น เพื่อประเมินภาษีที่ต้องให้ผู้ยื่นชำระ
3. หลังขั้นตอนการประเมินเสร็จสิ้นผู้ยื่นภาษีจะได้รับแบบแจ้งรายการประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดิน (ภ.ร.ด. 8) และต้องชำระภาษีตามที่แจ้งภายใน 30 วันนับจากวันที่ได้รับแบบ ภ.ร.ด. 8
4. หากผู้ยื่นภาษีไม่พอใจกับจำนวนเงินที่ต้องชำระ สามารถยื่นคำร้องขออุธรณ์ให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการประเมินภาษีใหม่ได้ ซึ่งต้องกระทำภายใน 15 วันนับจากวันที่ได้รับแบบ ภ.ร.ด. 8
5. เมื่อชำระภาษีเสร็จสิ้น ผู้ยื่นจะได้ใบเสร็จรับเงินซึ่งนำไปใช้ประกอบการยื่นแบบ ภ.ร.ด. 2 ในปีต่อไป

ภาษีโรงเรือนและที่ดิน โทษและค่าปรับหากไม่เสียภาษี

1. ผู้ที่ละเลยไม่ยื่นแบบ ภ.ร.ด. 2 ตามเวลาที่กำหนดจะมีโทษปรับ 200 บาท และถูกเรียกเก็บภาษีโรงเรือนและที่ดินย้อนหลังตามจำนวนปีที่ละเลยไม่เกิน 10 ปี
2. ผู้ที่ยื่นแบบ ภ.ร.ด. 2 เป็นเท็จเพื่อหลีกเลี่ยงภาษีจะมีโทษจำคุก 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 500 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และถูกเรียกเก็บภาษีโรงเรือนและที่ดินย้อนหลังตามจำนวนปีที่เป็นเท็จไม่เกิน 5 ปี
3. ผู้ที่ชำระภาษีล่าช้าเกินกำหนด 30 วันนับจากวันที่ได้รับแบบ ภ.ร.ด. 8 ต้องเสียภาษีเพิ่มดังนี้
ระยะเลาเสียภาษีเพิ่ม
ไม่เกิน 1 เดือน2.5%
เกิน 1 เดือน5%
เกิน 2 เดือน7.5%
เกิน 3 เดือน10%
เกิน 4 เดือนขึ้นไปอายัดทรัพย์สินหรือขายทอดตลาด
  • ล่าช้าไม่เกิน 1 เดือน ให้เพิ่มร้อยละ 2.5 ของภาษีที่ค้างชำระ
  • ลาช้าเกิน 1 เดือนแต่ไม่เกิน 2 เดือน ให้เพิ่มร้อยละ 5 ของภาษีที่ค้างชำระ
  • ล่าช้าเกิน 2 เดือนแต่ไม่เกิน 3 เดือน ให้เพิ่มร้อยละ 7.5 ของภาษีที่ค้างชำระ
  • ล่าช้าเกิน 3 เดือนแต่ไม่เกิน 4 เดือน ให้เพิ่มร้อยละ 10 ของภาษีที่ค้างชำระ
  • ล่าช้าเกิน 4 เดือนขึ้นไป ให้อายัดทรัพย์สินหรือขายทอดตลาดได้โดยไม่ต้องออกหมายยึด
ทั้งหมดนี้คือขั้นตอนการยื่นภาษีโรงเรือนและที่ดินรวมทั้งรายละเอียดอื่น ๆ ที่เจ้าของอสังหาริมทรัพย์และกิจการต่าง ๆ เคยต้องจ่ายภาษีตามหลักเกณฑ์นี้ ซึ่งภาษีเหล่านี้จะถูกนำไปใช้พัฒนาท้องถิ่นที่เจ้าของทรัพย์สินกำลังใช้ประโยชน์ให้ดียิ่งขึ้น และเมื่อใดก็ตามที่หาซื้อสังหาริมทรัพย์ อาทิ บ้าน คอนโด และที่ดิน ผู้ซื้อก็สามารถตระหนักถึงภาษีที่ดินที่จะต้องจ่ายได้ในทันที อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับขั้นตอนการเสียภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างได้ที่นี่
สนใจรับบทความดีดี อัปเดต ข่าวอสังหาริมทรัพย์ และ อ่านคู่มือซื้อขาย พร้อม รีวิวโครงการคอนโดฯ ใหม่ บ้านใหม่ หลากหลายทำเลและราคา รวมถึง ทำความรู้จักกับทำเลฮอตทั่วกรุง เพื่อเพิ่มความมั่นใจในการซื้อ-ขาย-เช่า

คำนวณยอดผ่อนต่อเดือน

คำนวณยอดผ่อนชำระต่อเดือนตามอัตราดอกเบี้ยของคุณด้วยเครื่องมือคำนวณสินเชื่อนี้

คำนวณวงเงินกู้สูงสุด

คำนวณสินเชื่อบ้าน ยอดวงเงินกู้บ้านใหม่ที่คาดว่าจะได้รับจากแบงก์และยอดผ่อนชำระในแต่ละเดือน

คำนวณสินเชื่อรีไฟแนนซ์บ้าน

เช็กยอดผ่อนชำระต่อเดือนอัตราใหม่และจำนวนเงินที่คุณสามารถประหยัดได้หลังจากการทำรีไฟแนนซ์