กู้บ้านหลังที่สองนั้นจำเป็นสำหรับบางคน อาทิ ผู้ที่มีบ้านอยู่ชานเมือง แต่ต้องทำงานใจกลางเมือง หรือผู้ที่ต้องศึกษาอยู่ในพื้นที่อื่นซึ่งห่างไกลจากบ้านหลังแรก การกู้ซื้อบ้านหลังที่สองจึงเป็นคำตอบที่ช่วยแก้ปัญหาเรื่องระยะเวลาและลดค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ซึ่งมองในระยะยาวแล้วคุ้มกว่า แต่ก่อนจะกู้บ้านหลังที่สองต้องพิจารณาอะไรบ้าง และมีวิธีการอย่างไรให้กู้ผ่าน
ก่อนกู้บ้านหลังที่สอง ต้องพิจารณาเรื่องความมั่นคงของรายได้
ผู้ที่คิดจะซื้อบ้านหลังที่สองในตอนนี้ บอกเลยว่าการกู้บ้านหลังที่สองไม่ใช่เรื่องง่าย ด้วยสภาพเศรษฐกิจที่ยังคงชะลอตัว อาจส่งผลกระทบต่อรายได้ของผู้ที่ต้องการกู้บ้านหลังที่สอง ซึ่งเป็นหนึ่งในปัจจัยหลักที่ธนาคารนำมาพิจารณาในการกู้ยืมเงินนั่นเอง ดังนั้นก่อนตัดสินใจกู้บ้านหลังที่สองในยุคนี้จึงควรคิดให้ละเอียดถี่ถ้วนมากขึ้น เพราะถึงแม้ว่าจะกู้ผ่าน ก็ต้องดูยาว ๆ ว่าผ่อนไหวหรือไม่
มาตรการ LTV ทำให้ผู้กู้บ้านหลังที่สอง ต้องวางเงินดาวน์มากขึ้น
นอกจากเรื่องการกู้ยืมเงินจากธนาคารที่ต้องลุ้นแล้วว่าจะผ่านหรือไม่ มาตรการควบคุมสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย หรือ Loan to Value (LTV) ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ก็เป็นหนึ่งในเรื่องสำคัญที่ผู้กู้บ้านหลังที่สองไม่ควรมองข้ามด้วยเช่นกัน โดยมีรายละเอียดดังนี้
1. บ้านและคอนโดราคาต่ำกว่า 10 ล้านบาท และผ่อนชำระที่อยู่อาศัยแรก น้อยกว่า 3 ปี ต้องวางเงินดาวน์ 20%
2. บ้านและคอนโดราคาต่ำกว่า 10 ล้านบาท และผ่อนชำระที่อยู่อาศัย แรกมากกว่า 3 ปี ต้องวางเงินดาวน์ 10%
3. บ้านและคอนโดราคาสูงกว่า 10 ล้านบาท ต้องวางเงินดาวน์ 20%

เทคนิคกู้บ้านหลังที่สองให้ผ่านฉลุย
จากที่กล่าวไปในตอนต้นว่าการกู้บ้านหลังสองในช่วงนี้เป็นเรื่องยาก แต่ใช่ว่าจะทำไม่ได้เลย หากมั่นใจในเรื่องสถานะภาพทางการเงินก็ไม่ใช่เรื่องยาก โดยวิธีการขอสินเชื่อกู้ซื้อบ้านหลังที่สองให้ผ่านมีดังนี้
1. ตรวจสอบภาระหนี้บ้านหลังเดิม
หากพบบ้านสวย ทำเลดี ราคาถูกใจ โปรโมชั่นน่าสนใจ ก่อนจะเดินเข้าธนาคารเพื่อไปขอกู้บ้านหลังที่สอง อันดับแรกคือตรวจเช็กภาระหนี้สินบ้านหลังเดิมก่อนว่าเหลือที่ต้องชำระกับทางธนาคารเท่าไหร่
หากยอดหนี้เหลือน้อยแล้ว ควรปิดหนี้ส่วนนี้ให้เรียบร้อยก่อนกู้เงินซื้อบ้านหลังที่สอง จะเป็นตัวเลือกที่ดีที่สุด เพื่อไม่ต้องแบกรับภาระหนี้สินหนักเกินไป และไม่เข้าเกณฑ์มาตรการ LTV ทำให้ไม่ต้องวางเงินดาวน์เพิ่มขึ้น รวมทั้งยังได้วงเงินกู้ซื้อบ้านหลังใหม่ที่เพิ่มมากขึ้นด้วย นอกจากนี้ยังมีวิธีอื่น ๆ ที่น่าสนใจ เช่น
- ลดค่างวดสินเชื่อบ้าน/คอนโดที่เราผ่อนอยู่ ด้วยการรีไฟแนนซ์ คือการย้ายสินเชื่อบ้านที่เราผ่อนอยู่กับธนาคารเดิม ไปอยู่กับธนาคารใหม่ที่ให้ดอกเบี้ยถูกกว่า นั่นทำให้เราสามารถลดค่างวดที่ผ่อนอยู่ให้ถูกลงได้ เนื่องจากดอกเบี้ยถูกลงนั่นเอง
- บ้านที่ผ่อนหมดแล้ว สามารถนำไปขอสินเชื่อบ้านแลกเงิน ที่อัตราดอกเบี้ยประมาณ 5-9% เพื่อนำเงินที่ได้ไปปิดภาระหนี้สินอื่น ๆ แล้วผ่อนเพียงเดือนละไม่กี่พันบาทกับธนาคาร ก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ช่วยให้ลดภาระหนี้ได้อย่างได้ผล และช่วยให้การกู้บ้านหลังที่สองผ่านง่ายขึ้นด้วย
- ขายบ้านหลังเดิม ซึ่งสามารถทำได้แม้บ้านยังผ่อนไม่หมดหรือติดธนาคารอยู่
2. เช็กสถานะความพร้อมทางด้านการเงิน
พิจารณาความมั่นคงของรายได้ว่ามากพอหรือไม่ หากเป็นหนึ่งในผู้ที่ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจในช่วงนี้ ไม่ว่าจะเป็น การโดนปรับลดเงินเดือน ต้องออกจากงาน ก็จะมีผลต่อการขอกู้บ้านหลังที่สอง เพราะนั่นหมายถึงความสามารถในการชำระหนี้ของเรานั่นเอง
นอกจากภาระหนี้บ้านหลังแรกแล้ว ทางธนาคารจะตรวจสอบข้อมูลว่าผู้กู้มีหนี้สินอะไรบ้าง รวมถึงประวัติการชำระว่าเป็นอย่างไร หลังจากนั้นค่อยนำมาคำนวณอีกทีว่าผู้กู้ต้องชำระหนี้รวมทั้งหมดเท่าไหร่ เพื่อดูว่าจะสามารถผ่อนชำระหนี้ใหม่ที่กำลังจะกู้ได้เพียงพอหรือไม่ ซึ่งส่วนมากภาระหนี้สินไม่ควรเกิน 40% ของรายได้
3. กู้ร่วมแบบไม่มีกรรมสิทธิ์
อีกหนึ่งวิธีที่จะทำให้การกู้บ้านหลังที่สองผ่านง่ายขึ้นคือ “การกู้ร่วม” ในกรณีที่ผู้กู้ร่วมไม่มีชื่ออยู่ในโฉนด หรือไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่อยู่อาศัยหลังแรก ซึ่งจะได้รับการผ่อนปรนจากมาตรการ LTV ทำให้การกู้บ้านหลังที่สองของคุณนับเป็นการกู้บ้านหลังแรกของผู้กู้ร่วม แม้ว่าวิธีนี้จะนำรายได้ของผู้กู้ร่วมไปคิดคำนวณด้วย (ซึ่งรวมถึงหนี้บ้านหลังแรก) ส่งผลให้กู้บ้านหลังที่สองวงเงินถูกจำกัดลง แต่ก็สามารถมีสิทธิ์กู้ได้ 100% โดยไม่ต้องวางเงินดาวน์เพิ่ม
จริงอยู่ที่ว่าการกู้บ้านหลังที่สองในภาวะเศรษฐกิจเช่นนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ใช่ว่าจะหมดหนทางเสียทีเดียว หากทำตามวิธีที่แนะนำ ก็สามารถผ่านขั้นตอนการพิจารณากู้บ้านหลังที่สองของธนาคารได้ไม่ยากแล้ว
สนใจรับบทความดีดี อัปเดต ข่าวอสังหาริมทรัพย์ และ อ่านคู่มือซื้อขาย พร้อม รีวิวโครงการคอนโดฯ ใหม่ บ้านใหม่ หลากหลายทำเลและราคา รวมถึง ทำความรู้จักกับทำเลฮอตทั่วกรุง เพื่อเพิ่มความมั่นใจในการซื้อ-ขาย-เช่า