การกู้เงินสร้างบ้าน หรือกู้เงินทำบ้าน เป็นทางเลือกในการมีบ้านในฝันสำหรับผู้ที่มีที่ดิน หรือเพิ่งซื้อที่ดินโดยใช้ทุนการสร้างบ้านจากสินเชื่อของธนาคาร โดยขั้นตอนการขอการกู้เงินสร้างบ้านแตกต่างออกไปจากการกู้สินเชื่อเพื่อซื้อที่อยู่อาศัย ลองมาดู 3 เทคนิคในการกู้เงินสร้างบ้านให้ผ่านง่าย และวิธีเลือกสินเชื่อสร้างบ้าน ธนาคารไหนดี และเหมาะกับคุณ
อ่านหัวข้อที่คุณสนใจ
- เตรียมเอกสารสำหรับการกู้เงินสร้างบ้าน
- ทำการกู้กับสถาบันทางการเงินที่มีบัญชีเงินเดือนอยู่
- เลือกสถาบันทางการเงินที่มีสาขาตั้งอยู่ใกล้กับพื้นที่ที่จะสร้างบ้าน
1. เตรียมเอกสารสำหรับการกู้เงินสร้างบ้าน

การการกู้เงินสร้างบ้าน หรือกู้เงินทำบ้านนั้น นอกจากรายได้ของผู้กู้ที่ธนาคารจะต้องทำการประเมินในการปล่อยสินเชื่อแล้ว ก็ยังต้องมีรายละเอียดของการก่อสร้างอีกด้วย ซึ่งนอกจากเอกสารแสดงรายได้ อาทิ
1. สำเนาบัตรประชาชน
2. สำเนาทะเบียนบ้าน
3. สลิปเงินเดือน
4. สำเนาเดินบัญชี ย้อนหลัง 6 เดือน (บัญชีที่เงินเดือนเข้า)
5. หนังสือรับรองเงินเดือน ที่ระบุตำแหน่ง อัตราเงินเดือน ระยะเวลาที่ทำงานมาแล้วกี่ปี
6. สำเนาบัญชีเงินสะสมอย่างน้อย 1 แสนบาทขึ้นไป หรือราว ๆ 10-15% ของมูลค่าบ้านที่จะก่อสร้าง
นอกจากเอกสารข้างต้นแล้วการกู้เงินสร้างบ้าน ธนาคารยังจะต้องดูเอกสารชุดที่ 2 เพื่อประเมินมูลค่าการก่อสร้างบ้าน ประกอบไปด้วย
1) แบบบ้าน
แบบบ้านหรือแปลนบ้านถือเป็นเอกสารสำคัญเบื้องต้นที่ขาดไม่ได้ในการจะการกู้เงินสร้างบ้าน หรือกู้เงินทำบ้าน เนื่องจากการกู้เพื่อสร้างบ้านส่วนใหญ่ไม่สามารถประเมินมูลค่าเงินที่จะก่อสร้างได้จากที่ดินเปล่า ดังนั้นธนาคารจึงจะประเมินราคาการปล่อยสินเชื่อหรือปล่อยกู้เงินสร้างบ้านให้กับผู้กู้ด้วยการประเมินแบบแปลนเบื้องต้น
โดยส่วนใหญ่ก่อนที่จะทำการกู้ ผู้กู้จึงมีการตกลงกับสถาปนิกหรือวิศวกรให้ออกแบบบ้านให้ โดยจะมีค่าใช้จ่ายประมาณ 2% ของมูลค่ารวมบ้านหรือขึ้นอยู่กับผู้รับงานนั้น ๆ
2) ผู้รับเหมา หรือ สัญญาว่าจ้างรับเหมาก่อสร้าง
ผู้รับเหมาหรือผู้ก่อสร้างบ้าน ถือเป็นหนึ่งในการประเมินงบประมาณค่าใช้จ่ายในการสร้างบ้าน เนื่องจากจะสร้างบ้านได้จะต้องมีทุนในการจ้างผู้รับเหมาให้ประกอบบ้านขึ้นมา ซึ่งค่าใช้จ่ายตรงนี้ก็อยู่รวมกับสินเชื่อในการกู้เงินสร้างบ้าน
ดังนั้น ก่อนที่ธนาคารจะปล่อยกู้ ธนาคารจะต้องมั่นใจก่อนว่าเมื่อปล่อยกู้ไปแล้วเงินจะถูกนำไปใช้จ่ายในการสร้างบ้านจริง โดยดูจากสัญญาว่าจ้างผู้รับเหมาหรือเงินที่ต้องนำไปชำระกับผู้รับเหมานั่นเอง
3) โฉนดที่ดิน
แน่นอนหากจะทำเรื่องการกู้เงินสร้างบ้านแต่ไม่มีโฉนดที่ดิน ก็คงจะดูแปลก ๆ โดยโฉนดที่ดินที่จะทำการสร้างบ้านไม่จำเป็นต้องมีชื่อของผู้กู้โดยตรงก็ได้ เพราะที่ดินส่วนใหญ่อาจจะเป็นที่ดินของ พ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยาย แต่เมื่อถึงรุ่นลูก รุ่นหลาน ที่อยากจะทำการสร้างบ้านบนที่ดินนั้นก็สามารถให้เจ้าของที่ดินในโฉนดหรือผู้ครอบครองมาเข้าร่วมขอสินเชื่อกู้เงินสร้างบ้านหรือเป็นผู้กู้ร่วมด้วยก็ได้
4) ใบอนุญาตการก่อสร้าง
นอกเหนือจากนั้น การก่อสร้างอาคารหรือบ้านเรือนจะต้องมีเรื่องของกฎหมายต่าง ๆ มาเกี่ยวข้อง ตั้งแต่การถมที่ดินไปจนถึงการปลูกสร้าง โดยสามารถศึกษาเรื่องการถมดินในการสร้างบ้านเบื้องต้นได้ที่นี่ ดังนั้นการจะก่อสร้างสิ่งก่อสร้างใด ๆ ก็ตามจะต้องได้รับการอนุญาตจากเจ้าหน้าที่หรือพนักงานส่วนท้องถิ่น ซึ่งการติดต่อขอใบอนุญาตตรงนี้จะเป็นหลักประกันว่าการก่อสร้างบ้านของผู้กู้นั้นจะไม่ประสบปัญหาใด ๆ ย้อนหลัง และไม่มีผลต่อการปล่อยกู้

เมื่อรู้รายละเอียดสำหรับการกู้เงินสร้างบ้าน หรือกู้เงินทำบ้านแล้ว ก็ถึงเวลาที่จะต้องมาดูแล้วว่าบ้านในฝันที่เราจะสร้างบนที่ดินของตัวเองนั้นจะสามารถเป็นจริงได้หรือไม่ จากการเลือกสถาบันทางการเงินที่จะกู้
โดยแต่ละสถาบันก็จะมีเงื่อนไขแตกต่างกันไป โอกาสในการกู้ก็อาจจะผ่านหรือไม่ผ่านก็ได้ ดังนั้นหากคิดจะกู้เงินสร้างบ้านแล้วก็ต้องเตรียมเอกสารให้พร้อม รวมไปถึงการเลือกธนาคาร เพื่อจะทำให้การกู้เงินสร้างบ้านได้รับการอนุมัติการกู้ได้ไม่ยาก
การเปรียบเทียบอัตราดอกเบี้ยระหว่างสถาบันทางการเงิน ถือเป็นจุดสำคัญที่ผู้กู้สินเชื่อที่อยู่อาศัยทั้งการซื้อ การสร้าง จะต้องทำเป็นอันดับแรก เพราะสถาบันทางการเงินแต่ละสถาบันจะมีอัตราดอกเบี้ย และโปรโมชั่นแตกต่างกันไป
โดยส่วนใหญ่จะมีอัตราดอกเบี้ยคงที่ 3 ปี แรก และปีที่ 4 จะมีอัตราดอกเบี้ยลอยตัว MRR อยู่ที่ประมาณ -0.25 ต่อปี ซึ่งอัตราดอกเบี้ยอาจมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา โดยสามารถเปรียบเทียบอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อบ้านเดือนล่าสุดได้ที่นี่
2. ทำการกู้กับสถาบันทางการเงินที่มีบัญชีเงินเดือนอยู่
การกู้สินเชื่อบ้าน หรือกู้เงินทำบ้านกับสถาบันทางการเงินที่มีบัญชีเงินเดือนผูกอยู่ นอกจากจะทำให้การประเมินเอกสารแสดงรายได้ง่ายขึ้นต่อการกู้เงินเพื่อสร้างบ้านแล้ว ยังมีบางบริษัทที่ร่วมมือกับสถาบันทางการเงินและมอบสวัสดิการกับพนักงานด้านการกู้สินเชื่อด้วย
ยกตัวอย่างเช่น สามารถให้พนักงานกู้สินเชื่อระยะยาว อัตราดอกเบี้ยสินเชื่อที่ต่ำกว่าสถาบันการเงินอื่น ๆ ทั้งนี้ลองถามฝ่ายบุคคลดู หากบริษัทมีสวัสดิการดังกล่าวก็สามารถติดต่อทำเรื่องกู้เงินสร้างบ้านได้ โดยได้รับสวัสดิการตามเงื่อนไขที่บริษัทนั้น ๆ กำหนด
3. เลือกสถาบันทางการเงินที่มีสาขาตั้งอยู่ใกล้กับพื้นที่ที่จะสร้างบ้าน
เงื่อนไขนี้ถือว่ามีผลต่อการเลือกสถาบันทางการเงินในการปล่อยกู้เงินสร้างบ้าน หรือกู้เงินทำบ้านพอสมควร เนื่องจากหากเลือกสถาบันทางการเงินที่อยู่ไกลพื้นที่สร้างบ้าน หรือที่อยู่อาศัยปัจจุบัน จะทำให้ความสะดวกในการติดต่อยื่นเอกสารลดลง และการกู้เงินสร้างบ้านจำเป็นต้องมีการเบิกจ่ายเงินค่าก่อสร้างเป็นงวด ๆ ด้วย ซึ่งการเลือกสถาบันการเงินที่อยู่ใกล้ตัวก็จะทำให้การปล่อยกู้ การส่งเจ้าพนักงานมาประเมินการก่อสร้าง รวมไปถึงการติดต่อการกู้ต่าง ๆ สะดวกขึ้นมาก
สุดท้ายนี้นอกจากการเตรียมเอกสารการกู้และการเลือกธนาคารที่จะทำให้การกู้เงินสร้างบ้านผ่านไปได้อย่างง่ายได้แล้ว ทั้งนี้เองจะต้องขึ้นอยู่กับวินัยของแต่ละบุคคลหรือผู้กู้เองด้วย ไม่ว่าจะเป็นวินัยในการเก็บออมเงิน ความพร้อมต่าง ๆ ในการสร้างบ้าน ทั้งที่ดินที่ การจ่ายค่าออกแบบ ใบอนุมัติก่อสร้าง การหาผู้รับเหมา รวมไปถึงโฉนดก็ควรเป็นชื่อผู้กู้ก็จะดีที่สุด
ทั้งหมดนี้ หากผู้กู้มีเงินสำรองในการจ่ายล่วงหน้าหรือมีเงินเก็บประมาณ 20-30% ของมูลค่าบ้าน ก็ทำให้การกู้เงินสร้างบ้านผ่านได้ง่ายมากขึ้น เพราะหลังจากติดต่อยื่นกู้เงินสร้างบ้านกับสถาบันทางการเงินจะต้องใช้เวลาประเมินมูลค่าการก่อสร้างประมาณ 3 เดือนขึ้นไป
ดังนั้น คนที่กู้เงินสร้างบ้าน หรือกู้เงินทำบ้านก็มักจะเป็นผู้ที่เริ่มต้นก่อสร้างด้วยเงินตัวเองมาสักพัก ซึ่งทางสถาบันทางการเงินที่จะปล่อยกู้เงินสร้างบ้านส่วนใหญ่มักจะมีการประเมินเบื้องต้นจากการดูผลงานการก่อสร้างบ้านที่มีการดำเนินการก่อสร้างไปก่อนแล้ว 20% เพื่อความมั่นใจในการอุนุมัติเงินกู้ว่าผู้กู้จะนำไปใช้ในการก่อสร้างจริง
เรื่องข้างต้นนี้เขียนโดย กิตติคม พจนี Content Writer ประจำ DDproperty.com หากมีคำถามเพิ่มเติมสามารถติดต่อได้ที่ kittikom@ddproperty.com
สนใจรับบทความดีดี อัปเดต ข่าวอสังหาริมทรัพย์ และ อ่านคู่มือซื้อขาย พร้อม รีวิวโครงการคอนโดฯ ใหม่ บ้านใหม่ หลากหลายทำเลและราคา รวมถึง ทำความรู้จักกับทำเลฮอตทั่วกรุง เพื่อเพิ่มความมั่นใจในการซื้อ-ขาย-เช่า