ขนาดเสาบ้าน และ 3 ประเภทเสา โครงสร้างส่วนสำคัญ สร้างบ้านต้องรู้

DDproperty Editorial Team
ขนาดเสาบ้าน และ 3 ประเภทเสา โครงสร้างส่วนสำคัญ สร้างบ้านต้องรู้
ขนาดเสาบ้าน โครงสร้างส่วนสำคัญที่ทุกคนควรรู้จัก และเป็นโครงสร้างที่มีความสำคัญอย่างมาก เนื่องจากต้องแบกรับน้ำหนักของอาคารทั้งหลัง เมื่อเสาเกิดการวิบัติหรือพังทลาย อาจส่งผลให้โครงสร้างทั้งหลังพังถล่มลงมาได้ ดังนั้นก่อนซื้อบ้าน หรือสร้างบ้านจึงควรทำความเข้าใจเกี่ยวกับขนาดเสา เพื่อเลือกใช้ให้เหมาะสมกับบ้าน และรู้จักประเภทเสาบ้านแต่ละแบบ รวมถึงการดูแลเสาบ้านเมื่อเกิดรอยร้าว
Subscription Banner for Article
อ่านหัวข้อที่คุณสนใจ

เสาบ้านมีกี่ประเภท

หากแบ่งตามวัสดุที่ใช้งาน เสาบ้านจะแบ่งออกได้เป็น 3 ประเภท ดังนี้

1. เสาไม้

เป็นวัสดุที่ทำมาจากไม้เนื้อแข็ง เช่น เช่น ไม้ตะเคียน, ไม้ชิงชัน, ไม้เต็ง, ไม้มะม่วง หรือไม้เนื้อแกร่ง เช่น ไม้ประดู่, ไม้แดง, ไม้เกลือ เป็นต้น ซึ่งปัจจุบันไม้เหล่านี้หายากมาก และมีราคาแพง
ข้อดีของเสาไม้ คือ ถ้าต้องการบ้านไม้ให้มีความสวยงามแบบธรรมชาติ งานไม้จะสวยงามจากลายไม้ มากกว่าเสาประเภทอื่น แต่ก็ต้องระวังเรื่องปลวกที่อาจจะมีปัญหาภายหลังได้ รวมทั้งในปัจจุบันไม้ที่จะทำเป็นเสาได้ต้องมีขนาดใหญ่ อาจจะมีขนาดเสาที่ประมาณเส้นผ่านศูนย์กลาง 4 นิ้ว มีน้ำหนักมาก ซึ่งจะมีราคาค่อนข้างแพง และขนย้ายยาก

2. เสาปูน หรือเสาคอนกรีต

ทำมาจากคอนกรีตที่ใส่เหล็กเสริม เพิ่มความสามารถในการรับแรงอัด แรงดัด และแรงดึง โดยปกติคอนกรีตจะรับแรงอัด ส่วนเหล็กจะรับแรงดัด และแรงดึง
เสาคอนกรีตเสริมเหล็ก จะแบ่งออกเป็นอีก 2 ประเภท คือ 1) เสาคอนกรีตหล่อในที่ และ 2) เสาคอนกรีตเสริมเหล็กสำเร็จรูป จะมีความแตกต่างในเรื่องวิธีการก่อสร้าง การรับน้ำหนัก ตามโครงสร้างของแต่ละประเภท
นอกจากนั้น ยังมีเสาเหล็กผสมคอนกรีต โดยจะเป็นเสาที่ใช้เหล็กรูปพรรณ แล้วเทคอนกรีตหุ้มทับ ซึ่งมีหลายรูปแบบ แบ่งได้เป็นเสาปลอกเกลียวเสริมแกนเหล็ก, เสาเหล็กหุ้มด้วยคอนกรีต, เสาคอนกรีตหุ้มด้วยท่อเหล็ก เสาประเภทเหล็กผสมคอนกรีตนั้น ช่วยทำให้ตัวเสารับน้ำหนักได้มากขึ้น รวมทั้งทนไฟได้มากขึ้นด้วย
ลักษณะของเสาคอนกรีตเสริมเหล็ก
แบ่งตามลักษณะของแรงที่มากระทำ สามารถแบ่งได้เป็น 2 ลักษณะ ดังนี้
  • เสาคอนกรีตเสริมเหล็กที่รับแรงตามแนวศูนย์กลางแกนเสา
  • เสาคอนกรีตเสริมเหล็กที่รับแรงเยื้องศูนย์
แบ่งตามขนาดเสา ขนาดความสูงของเสา สามารถแบ่งได้เป็น 2 ลักษณะ ดังนี้
  • เสาสั้น คือ เสาที่มีอัตราส่วนความสูงต่อด้านแคบของเสา (เสาสี่เหลี่ยม) หรืออัตราส่วนความสูงต่อเส้นผ่านศูนย์กลางเสา (เสากลม) น้อยกว่า 15
  • เสายาว คือ เสาที่มีอัตราส่วนความสูงต่อด้านแคบของเสา (เสาสี่เหลี่ยม) หรือ อัตราส่วนความสูงต่อเส้นผ่าศูนย์กลางเสา (เสากลม) มากกว่า 15 ซึ่งความสามารถในการรับน้ำหนักของเสาจะลดลง
ประเภท เสาคอนกรีตเสริมเหล็ก
1) เสาปลอกเดี่ยว เป็นเสาคอนกรีตที่เสริมเหล็ก โดยมีเหล็กยืน (ตั้งในแนวดิ่ง) รัดด้วยเหล็กปลอกเป็นวง ๆ ซึ่งเหล็กปลอกที่รัดอาจจะมีวงเดียว หรือหลายวงก็ได้ และการงอเหล็กปลอกจะงอเป็นฉาก
2) เสาปลอกเกลียว เป็นเสาคอนกรีตที่เสริมเหล็ก โดยมีเหล็กยืน (ตั้งในแนวดิ่ง) รัดด้วยเหล็กปลอกที่เป็นเกลียวรัดต่อเนื่อง เสาประเภทนี้ จะรับแรงได้ดีกว่าเสาปลอกเดี่ยวประมาณ 15% โดยปกติจะใช้กับเสากลม หรือเสาหลายเหลี่ยม
3) เสาปลอกเกลียวเสริมแกนเหล็ก จะมีลักษณะเหมือนกับเสาปลอกเกลียวธรรมดา แต่จะมีเหล็กรูปพรรณเสริมอยู่ตรงแกนกลาง ส่วนใหญ่ใช้เหล็กรูปตัวไอ (I) หรือเหล็กรูปตัวเฮช (H) พื้นที่หน้าตัดของแกนเหล็ก เมื่อเทียบกับพื้นที่หน้าตัดคอนกรีตจะไม่มากนัก โดยทั่วไปนิยมใช้กับเสาที่มีแป้นหูช้าง หรือใช้เมื่อต้องการลดขนาดเสาให้เข้ากับแบบสถาปัตยกรรม
4) เสาเหล็กหุ้มด้วยคอนกรีต คล้ายกับเสาปลอกเกลียวเสริมแกนเหล็ก แต่เหล็กที่ใช้ตรงแกน นิยมใช้เหล็กแผ่นหนา ๆ นำมาตัดเชื่อม หรือย้ำหมุดให้ได้รูปหน้าตัดเป็นตัว H ขนาดใหญ่ และหุ้มด้วยตะแกรงเหล็กเบอร์ 10 AS&W Gage และมีคอนกรีตหุ้มไม่น้อยกว่า 6 ซม. เสาชนิดนี้นิยมใช้ในกรณีที่ต้องการให้เสามีขนาดเล็ก แต่รับน้ำหนักได้มาก
5) เสาคอนกรีตหุ้มด้วยท่อเหล็ก เป็นเสาที่มีเปลือกนอกเป็นเหล็ก ภายในเป็นคอนกรีต จะไม่มีการเสริมเหล็กเพิ่มภายใน เสาประเภทนี้จะรับน้ำหนักไม่มาก และตรงปลายเสาต้องใช้แผ่นเหล็กหนา 3/8 นิ้ว หรือประมาณ 10 มม. เชื่อมติดท่อเหล็ก เพื่อช่วยในการกระจายน้ำหนัก

3. เสาเหล็ก

จะมีด้วยกันทั้งหมด 2 ประเภท คือ เสาเหล็กรูปพรรณ และเสาเหล็กโครงข้อแข็ง หากนำมาสร้างบ้าน มักจะนิยมเสาเหล็กรูปพรรณที่เป็นเหล็กรูปตัวไป (I) ตัวเฮช (H) หรือกล่อง (Tube) ข้อดีของเสาเหล็ก คือ สามารถสร้างเสร็จในระยะที่ค่อนข้างจะเร็ว ส่วนข้อเสียของเสาเหล็ก คือ ทนความร้อนได้ไม่ค่อยดี
ขนาดเสาบ้าน ควรเลือกใช้ให้เหมาะสมกับตัวบ้าน

ขนาดเสาบ้าน ควรเลือกใช้แบบไหนดี

ขนาดเสาบ้าน มีให้เลือกหลากหลายรูปแบบ และหลายขนาด โดยขนาดเสาคอนกรีตสำเร็จรูปส่วนใหญ่จะมีขนาดหน้าตัดตั้งแต่ 4, 5, 6, 7 และ 8 นิ้ว ซึ่งเสาบ้านขนาดหน้าตัด 6 นิ้ว ถือว่าได้รับความนิยมอย่างมากในการนำมาสร้างบ้าน หรือเลือกหน้าตัดขนาด 4 หรือ 5 นิ้วก็ได้เช่นกัน โดยความสูงมาตรฐานจะอยู่ที่ 2.5-2.8 เมตร ซึ่งหากชอบความโปร่ง ก็อาจจะเลือกความสูงที่ขนาด 2.8-3.2 เมตร
ดังนั้น หากจะพิจารณาเลือกขนาดเสาบ้านชั้นเดียว ควรเลือกพื้นที่หน้าตัดตั้งแต่ 4-6 นิ้ว และความสูงในช่วงประมาณ 2.5-3.2 เมตร โดยพิจารณาตามความต้องการของผู้ใช้งานเป็นหลัก และการรับน้ำหนัก และเเรงต่าง ๆ ได้อย่างเหมาะสม

สัญญาณบ่งบอกอันตรายว่าเสาบ้านกำลังแย่

เสาบ้านเป็นจุดที่สำคัญไม่แพ้ส่วนอื่น ๆ ของตัวบ้าน โดยมีสัญญาณอันตรายที่ควรระวังหากเสาบ้านเกิดรอยร้าว ซึ่งลักษณะของรอยร้าวที่พบจะมีอยู่ด้วยกันหลากหลายรูปแบบ ดังนี้
1. รอยร้าวแนวดิ่งที่เกิดขึ้นบริเวณโคนเสา เกิดจากการที่เสาไม่สามารถรับน้ำหนักได้ดีพอ หรือรับน้ำหนักมากเกินไป
2. รอยร้าวแนวเฉียง 45 องศา เกิดจากการรับแรงเฉือนตอนที่อาคารมีการทรุดตัวได้ไม่เท่ากัน
3. รอยร้าวบริเวณต้นเสาและโคนเสา เกิดจากการรับแรงบิดแรงเฉือน เนื่องมาจากคานยื่นออกจากเสามากเกินไป
4. รอยร้าวในเสา เกิดจากการที่เหล็กข้างในเสาเป็นสนิม เสามีเนื้อพรุนเป็นโพรง และเสามีความหนาหุ้มเหล็กน้อยเกินไป
รอยร้าว
สาเหตุ
แนวดิ่งบริเวณโคนเสา
เสารับน้ำหนักมากเกินไป
แนวเฉียง 45 องศา
เสารับแรงเฉือนขณะอาคารทรุดตัวได้ไม่เท่ากัน
ต้นเสาและโคนเสา
เสารับแรงบิดแรงเฉือนจากคานที่ยื่นออกจากเสามากเกินไป
ในเสา
เสาเป็นสนิม เสามีเนื้อพรุนเป็นโพรง เสามีความหนาหุ้มเหล็กน้อยเกินไป
ทั้งนี้ หากรอยร้าวบนเสาเกิดจากการเสื่อมสภาพตามเวลา ให้กะเทาะปูนด้านนอกและขัดเอาสนิมออก จากนั้นค่อยใช้ปูนเกราต์กำลังสูงฉาบปิดผิวเสีย แต่ถ้าเสาไม่สามารถรับน้ำหนักได้ไหวการเพิ่มเหล็กเสาขึ้นน่าจะช่วยได้อีกแรง
จะเห็นได้ว่าเสาบ้านนั้นมีหลากหลายประเภท มีข้อดี ข้อเสียแตกต่างกันออกไป เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาตามมาภายหลัง รุนแรงถึงขั้นเกิดรอยร้าว บ้านพัง บ้านทรุด จึงควรเลือกประเภทเสา ขนาเสาให้เหมาะกับการใข้งาน สามารถปรึกษาผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบก่อสร้าง เช่น วิศวกร
เนื่องจากการเลือกวัสดุที่ต้องรับน้ำหนักนั้น ต้องผ่านการคำนวณมาอย่างถูกต้อง และถูกวัตถุประสงค์ของการใช้งาน จึงจะมั่นใจได้ว่ามีความแข็งแรง รองรับน้ำหนักได้ดี และปลอดภัยต่อเจ้าของบ้านและผู้อยู่อาศัย
สนใจรับบทความดีดี อัปเดต ข่าวอสังหาริมทรัพย์ และ อ่านคู่มือซื้อขาย พร้อม รีวิวโครงการคอนโดฯ ใหม่ บ้านใหม่ หลากหลายทำเลและราคา รวมถึง ทำความรู้จักกับทำเลฮอตทั่วกรุง เพื่อเพิ่มความมั่นใจในการซื้อ-ขาย-เช่า
ข้อจำกัดความรับผิดชอบ: ข้อมูลนี้จัดทำขึ้นเพื่อเป็นข้อมูลทั่วไปเท่านั้น DDproperty by PropertyGuru ซึ่งอยู่ภายใต้การดูแลของบริษัท ออลพร็อพเพอร์ตี้ มีเดีย จำกัด ไม่สามารถรับรองหรือรับประกันเกี่ยวกับข้อมูล รวมทั้งไม่สามารถรับรองหรือรับประกันใด ๆ เกี่ยวกับความเหมาะสม สำหรับวัตถุประสงค์เฉพาะใด ๆ ของข้อมูล ตามขอบเขตสูงสุดที่กฎหมายอนุญาต แม้ว่าเราได้พยายามอย่างเต็มที่ เพื่อให้แน่ใจว่าข้อมูลที่ให้ไว้ในบทความนี้ถูกต้อง เชื่อถือได้ และครบถ้วน ณ เวลาที่เขียน แต่ข้อมูลที่ให้ไว้ในบทความนี้ไม่ควรนำไปใช้ในการตัดสินใจทางการเงิน, การลงทุนอสังหาริมทรัพย์ หรือทางกฎหมายทันที ผู้อ่านไม่ควรใช้ข้อมูลในบทความ แทนคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญที่ผ่านการฝึกอบรมซึ่งสามารถพิจารณาข้อเท็จจริงและสถานการณ์ส่วนตัวของคุณได้ ทั้งนี้ เราไม่สามารถรับผิดชอบใด ๆ หากคุณเลือกที่จะนำข้อมูลไปใช้เพื่อประกอบการตัดสินใจ

คำนวณยอดผ่อนต่อเดือนตามระยะเวลากู้

เพียงใส่ยอดเงินกู้ที่คุณต้องการ เราจะคำนวณให้คุณเห็นถึงยอดผ่อนชำระต่อเดือนตามระยะเวลาผ่อนและอัตราดอกเบี้ยที่แตกต่างกัน

คำนวณยอดผ่อนต่อเดือน

คำนวณยอดผ่อนชำระต่อเดือนตามอัตราดอกเบี้ยของคุณด้วยเครื่องมือคำนวณสินเชื่อนี้

คำนวณวงเงินกู้สูงสุด

คำนวณสินเชื่อบ้าน ยอดวงเงินกู้บ้านใหม่ที่คาดว่าจะได้รับจากแบงก์และยอดผ่อนชำระในแต่ละเดือน