“ ตกลงเรื่องค่าใช้จ่ายต่าง ๆ รวมทั้งค่าธรรมเนียมการขายดาวน์บ้าน หรือขายดาวน์คอนโด กับโครงการให้ชัดเจน ก่อนทำสัญญาจอง ” – K-Expert
การขายดาวน์บ้านหรือขายดาวน์คอนโดมักเกิดขึ้นด้วยหลาย ๆ สาเหตุ ไม่ว่าจะเป็นเพราะผ่อนดาวน์ต่อไม่ไหว เปลี่ยนใจอยากได้บ้านหลังอื่น หรือยื่นกู้ซื้อบ้านกับธนาคารแล้วกู้ไม่ผ่าน แต่ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม หลายคนที่ตัดสินใจขายดาวน์บ้าน ขายดาวน์คอนโด ก็มักมีข้อสงสัยต่าง ๆ เกิดขึ้น ซึ่ง K-Expert ได้ไปหาคำตอบสำหรับข้อสงสัยต่าง ๆ เหล่านี้มาให้แล้ว
1.กู้ไม่ผ่าน เงินดาวน์จะได้คืนมาครบไหม
ในกรณีที่ผ่อนดาวน์จนครบกำหนด พอทำเรื่องยื่นกู้ซื้อกับธนาคารไปแล้ว ปรากฏว่าผลการยื่นกู้ไม่ผ่าน กรณีนี้เราอาจจะได้เงินดาวน์คืนทั้งหมด หรือโดนหักเงินบางส่วน ก็ขึ้นอยู่กับข้อตกลงของโครงการตั้งแต่ตอนแรก ๆ ที่ทำสัญญากัน และเมื่อกู้ไม่ผ่านแต่อยากจะขายดาวน์บ้าน ขายดาวน์คอนโด เราอาจจะได้เงินเพิ่มขึ้นหรือลดลงก็ได้
หากโครงการอยู่ในทำเลดี และเป็นที่ต้องการของตลาด ทำให้มีผู้สนใจซื้อเป็นจำนวนมาก ในกรณีนี้นอกจากจะได้เงินดาวน์ครบแล้วยังสามารถบวกกำไรเข้าไปกับราคาขายดาวน์ทำให้ได้เงินเพิ่มขึ้น แต่ในทางตรงกันข้ามหากโครงการอยู่ในทำเลที่ไม่ดี หรือโครงการไม่เป็นที่ต้องการของผู้ซื้อก็อาจส่งผลให้ต้องขายดาวน์ในราคาขาดทุนได้เช่นกัน
2.ทำเรื่องโอนสิทธิหรือเปลี่ยนสัญญากันที่ไหน
เมื่อมีผู้สนใจต้องการซื้อดาวน์ต่อจากเรา ก็ควรพาผู้ซื้อไปดูสภาพและสถานที่จริงหากผู้ซื้อพึงพอใจและตัดสินใจที่จะซื้อดาวน์ สิ่งที่ผู้ขายต้องดำเนินการก็คือ การทำเรื่องโอนสิทธิหรือเปลี่ยนสัญญา โดยผู้ขายจะต้องนัดผู้ซื้อไปทำเรื่องโอนสิทธิหรือเปลี่ยนสัญญากันที่โครงการ เพื่อให้โครงการรับรู้ และผู้ซื้อเองก็จะได้รับทราบรายละเอียดการผ่อนดาวน์ต่อหรือต้องจ่ายเงินให้กับโครงการและผู้ขายดาวน์เท่าไร
รายละเอียดที่ผู้ซื้อดาวน์ต้องรู้
รายละเอียดห้อง
|
รายละเอียดการชำระเงิน
|
ตำแหน่งห้อง
|
ราคาขาย
|
หมายเลขห้อง
|
ค่าส่วนกลาง
|
ขนาดพื้นที่ใช้สอย
|
ผ่อนดาวน์แล้วกี่งวด เหลือกี่งวด
|
ทิศห้อง
|
ผ่อนดาวน์เดือนละเท่าไหร่
|
วัสดุของห้อง
|
ยอดโอนเท่าไหร่
|
เฟอร์นิเจอร์ที่จะได้รับ
|
กำหนดโอนภายในวันไหน
|
ของแถม (ถ้ามี)
|
ค่าใช้จ่ายวันโอน
|
โดยโครงการจะออกเอกสารการโอนสิทธิให้กับผู้ซื้อคนใหม่ ที่ระบุรายละเอียดการจ่ายเงินที่ผู้ขายได้จ่ายให้กับโครงการไปแล้ว ไม่ว่าจะเป็น เงินจอง เงินผ่อนดาวน์ และเงินส่วนที่เหลือที่ผู้ซื้อคนใหม่จะต้องจ่ายให้กับโครงการต่อไป
นอกจากนี้ หากผู้ขายหรือผู้ซื้อเดิมได้มีการทำหนังสือสัญญาจะซื้อจะขายกับโครงการไว้แล้ว ก็จะต้องส่งมอบให้กับผู้ซื้อคนใหม่ด้วย เพื่อให้ผู้ซื้อคนใหม่ตรวจสอบรายละเอียดการจ่ายเงินของผู้ซื้อเดิม รวมทั้งเงื่อนไขต่าง ๆ ที่ได้ทำไว้กับโครงการ ซึ่งช่วยเป็นการลดข้อโต้แย้งกันภายหลังจากการโอนสิทธิไปแล้ว
3.ค่าธรรมเนียมโอนสิทธิหรือเปลี่ยนสัญญาต้องเสียหรือไม่
การโอนสิทธิจากผู้ซื้อเดิมเปลี่ยนเป็นผู้ซื้อคนใหม่ ปกติแล้วโครงการจะเก็บค่าธรรมเนียมในกรณีที่ผู้ซื้อยังถือเอกสารเป็นสัญญาจองสิทธิ โดยยังไม่ได้มีการทำสัญญาจะซื้อจะขาย ซึ่งในใบจองจะระบุว่าหากผู้ซื้อมีการโอนสิทธิจะต้องเสียค่าธรรมเนียมเท่าไร
สำหรับค่าใช้จ่ายส่วนนี้ต้องบอกว่า แต่ละโครงการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมไม่เท่ากัน แต่หากผู้ซื้อเดิมได้มีการทำหนังสือสัญญาจะซื้อจะขายกับโครงการแล้ว ต่อมาต้องการขายดาวน์ในกรณีนี้ปกติแล้วจะไม่เสียค่าธรรมเนียมในการโอนสิทธิ เนื่องจากในสัญญาจะซื้อจะขายได้มีการระบุไว้
ข้อตกลงหรือเงื่อนไขต่าง ๆ ของโครงการควรศึกษาให้เข้าใจตั้งแต่ตอนแรก รวมทั้งประเมินความสามารถในการผ่อนของตนเอง ก่อนที่จะตัดสินใจทำสัญญาจอง เพื่อไม่ให้เกิดความเสียเปรียบ หรือความเข้าใจผิดกันในภายหลัง โดยเงื่อนไขหรือข้อกำหนดของแต่ละโครงการมีความแตกต่างกันไป ควรศึกษารายละเอียดต่าง ๆ ทำความเข้าใจ และตกลงกันให้ชัดเจน ระหว่างผู้ขายดาวน์ ผู้ซื้อดาวน์ และทางโครงการ ติดตามบทความที่เกี่ยวข้องกับการซื้อบ้าน ได้ที่ K-Expert
K-Expert Action
- พาผู้ซื้อคนใหม่ดูสถานที่จริง ก่อนขายดาวน์บ้าน ขายดาวน์คอนโด เพื่อให้ผู้ซื้อพึงพอใจและลดข้อโต้แย้งในภายหลัง
- ควรรับเงินค่าขายดาวน์บ้าน ขายดาวน์คอนโด ให้ครบถ้วนก่อนโอนสิทธิให้กับผู้ซื้อคนใหม่
เรื่องข้างต้นนี้เขียนโดย นารีรัตน์ กำเลิศทอง, AFPT™ K-Expert ฝ่ายวางแผนและให้คำปรึกษาลูกค้าบุคคล ธนาคารกสิกรไทย หากมีคำถามเพิ่มเติมสามารถติดต่อได้ที่ K-Expert@kasikornbank.com
หากคุณมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการซื้อบ้าน อ่าน คู่มือซื้อขาย ที่สามารถเป็นตัวช่วยตอบได้ทุกคำถาม พร้อมบอกรายละเอียดการคำนวณสินเชื่อบ้าน ที่เหมาะสมกับคุณโดยเฉพาะมนุษย์เงินเดือน เพื่อให้ตัดสินใจซื้อได้ง่ายขึ้น
ข้อจำกัดความรับผิดชอบ: ข้อมูลนี้จัดทำขึ้นเพื่อเป็นข้อมูลทั่วไปเท่านั้น DDproperty by PropertyGuru ซึ่งอยู่ภายใต้การดูแลของบริษัท ออลพร็อพเพอร์ตี้ มีเดีย จำกัด ไม่สามารถรับรองหรือรับประกันเกี่ยวกับข้อมูล รวมทั้งไม่สามารถรับรองหรือรับประกันใด ๆ เกี่ยวกับความเหมาะสม สำหรับวัตถุประสงค์เฉพาะใด ๆ ของข้อมูล ตามขอบเขตสูงสุดที่กฎหมายอนุญาต แม้ว่าเราได้พยายามอย่างเต็มที่ เพื่อให้แน่ใจว่าข้อมูลที่ให้ไว้ในบทความนี้ถูกต้อง เชื่อถือได้ และครบถ้วน ณ เวลาที่เขียน แต่ข้อมูลที่ให้ไว้ในบทความนี้ไม่ควรนำไปใช้ในการตัดสินใจทางการเงิน, การลงทุนอสังหาริมทรัพย์ หรือทางกฎหมายทันที ผู้อ่านไม่ควรใช้ข้อมูลในบทความ แทนคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญที่ผ่านการฝึกอบรมซึ่งสามารถพิจารณาข้อเท็จจริงและสถานการณ์ส่วนตัวของคุณได้ ทั้งนี้ เราไม่สามารถรับผิดชอบใด ๆ หากคุณเลือกที่จะนำข้อมูลไปใช้เพื่อประกอบการตัดสินใจ