ปัญหาขยะเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้กับบ้านทุกหลัง เพราะการใช้ชีวิตของทุกคนในแทบทุกกิจกรรมของแต่ละวัน ล้วนแล้วแต่เป็นการสร้างขยะอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ไม่ว่าขยะจะมากหรือน้อย ชิ้นเล็กหรือชิ้นใหญ่ เป็นขยะของตนเองหรือเพื่อนบ้าน หากขยะเหล่านี้ไม่ได้รับการจัดการอย่างถูกต้อง แค่ขยะถุงเดียวก็อาจกลายเป็นปัญหาใหญ่ได้ ปัญหาขยะจึงเป็นเรื่องสำคัญที่ทุกบ้านต้องใส่ใจ
อ่านหัวข้อที่คุณสนใจ
ปัญหาขยะที่พบบ่อย
1. รถเก็บขยะไม่มาเก็บขยะ
ปัญหาไม่มีรถมาเก็บขยะนั้นอาจเกิดจากหน่วยงานท้องถิ่นไม่ทราบว่ามีผู้อยู่อาศัยใหม่ในพื้นที่ หรือยังกำหนดความถี่ในการส่งรถเก็บขยะไม่ได้ โดยเป็นปัญหาขยะที่มักจะเจอในหมู่บ้านเกิดใหม่ และแจ้งหน่วยงานท้องถิ่นให้แก้ไขได้ ยกเว้นหมู่บ้านที่เก็บค่าขยะรวมกับค่าส่วนกลาง หากนิติบุคคลยังไม่จ่ายค่าเก็บขยะให้ครบถ้วน ก็จะไม่มีรถเข้าไปจัดการเก็บขยะทั้งหมู่บ้าน
2. รถเก็บขยะไม่เก็บขยะบางชิ้น
สำหรับขยะชิ้นใหญ่ เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้า กิ่งไม้ เตียงนอน เฟอร์นิเจอร์ หรือกองซากวัสดุ อาจเป็นปัญหาขยะที่รถขยะไม่สามารถเก็บไปทิ้งให้ได้ เพราะยากต่อการขนย้าย หากบ้านไหนจะทิ้ง ก็ต้องช่วยให้เจ้าหน้าที่ทำงานง่ายขึ้น เช่น ย่อยกิ่งไม้ให้เป็นชิ้นเล็กก่อนใส่ถุงขยะ หรือนำขยะที่ยังพอมีประโยชน์ไปขายกับร้านรับซื้อของเก่า หรือนำไปบริจาคแทนการทิ้ง

3. ถุงขยะถูกฉีกกระจุยกระจาย
เมื่อมีถุงขยะวางทิ้งไว้ สุนัขจรจัดอาจย่องมากัดถุงจนขาด แล้วคุ้ยหาเศษอาหารจนขยะกระจายเต็มหน้าบ้าน หรือแม้จะใส่ถังขยะแล้ว สุนัขก็ยังฉลาดพอที่จะล้มถังลงได้ การแก้ปัญหาขยะ ต้องคำนึงถึงเรื่องของถังขยะหน้าบ้านด้วย โดยเจ้าของบ้านอาจเลือกใช้ถังขยะใบใหญ่ที่ล้มยาก ใช้ถังขยะขนาดใหญ่แบบมีฝาปิด หรือใช้ถังขยะที่มีขาตั้งกันล้ม หรือเก็บถังขยะไว้ในรั้วบ้านจนกว่ารถเก็บขยะจะมาก็ได้
4. มีขยะต้องทิ้งมากเกินปกติ
เนื่องจากค่าขยะที่จ่ายทุกเดือนนั้นจำกัดปริมาณขยะที่ทิ้งได้ในแต่ละวัน หากบ้านไหนมีขยะมากเกินปกติ รถเก็บขยะก็จะไม่เก็บไปทิ้ง เพราะปริมาณขยะที่เกินโควตาอาจทำให้รถเต็มก่อนจะเก็บขยะได้ครบทุกบ้าน แต่ถ้ามีเหตุที่ทำให้ขยะมีมากผิดปกติ ก็สามารถแก้ไขปัญหาขยะกองโตได้ด้วยการจ้างหน่วยงานท้องถิ่นให้จัดเก็บขยะเป็นครั้งคราว
ปัญหาขยะกับเพื่อนบ้าน
1. ปัญหาการทิ้งขยะล้ำเขตบ้าน
บ้านที่อยู่ติดกันมาก ๆ อาจพบปัญหาขยะของเพื่อนบ้านล้นมาถึงเขตรั้วบ้านตนเอง โดยปัญหานี้ต้องเริ่มแก้ไขด้วยการพูดคุยอย่างมีเหตุผล เพราะไม่มีใครอยากให้ขยะของคนอื่นมาอยู่หน้าบ้านของตนเองอย่างแน่นอน แต่ถ้าเพื่อนบ้านดื้อดึงเกินจะพูดคุย ก็สามารถแจ้งนิติบุคคลหรือหน่วยงานท้องถิ่นให้ช่วยจัดการปัญหานี้ได้
2. ปัญหาการทิ้งขยะใส่ถังบ้านอื่น
บางคนอาจพบกับปัญหาเพื่อนบ้านที่ชอบเอาขยะมาทิ้งในถังขยะหน้าบ้านตน ทั้งจากความตั้งใจ หรือเข้าใจผิดว่าเป็นถังขยะสาธารณะ หมู่บ้านใหม่ ๆ จึงมักจะมีประตูทิ้งขยะแยกต่างหาก เพื่อให้แต่ละบ้านตั้งถังขยะไว้ในรั้วบ้านตนเองโดยรถเก็บขยะยังเก็บไปทิ้งได้ ซึ่งวิธีนี้ช่วยแก้ปัญหาขยะของเพื่อนบ้านที่มักง่ายได้เป็นอย่างดี
ในกรณีที่แก้ปัญหาด้วยวิธีนี้ไม่ได้ ขอให้ลองเจรจากับเพื่อนบ้านดูก่อน หากยังคงไม่เลิกพฤติกรรมทิ้งขยะหน้าบ้านตน ให้แจ้งนิติบุคคลเพื่อเป็นคนกลางในการแก้ไขปัญหา แต่ถ้ายังไม่ได้ผลดี ก็สามารถเอาผิดทางกฎหมายได้ เพราะถือเป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลตามมาตรา 420 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และมาตรา 389 ประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ค่าเก็บขยะต้องจ่ายเท่าไหร่
ค่าเก็บขยะในปัจจุบัน
ในปัจจุบัน กรุงเทพฯ ปริมณฑล รวมทั้งต่างจังหวัด จะคิดค่าเก็บขยะในอัตราเริ่มต้น 20 บาทต่อเดือน สำหรับเก็บขยะที่มีไม่เกิน 20 ลิตรต่อวัน หากขยะมีมากกว่านั้น ค่าเก็บขยะก็จะสูงขึ้น
ค่าเก็บขยะอัตราใหม่
เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง “ค่าธรรมเนียมการให้บริการในการจัดการสิ่งปฏิกูล หรือมูลฝอยตามกฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุข พ.ศ. 2562” กรุงเทพฯ จะเป็นพื้นที่แรกที่เริ่มใช้ค่าเก็บขยะใหม่ โดยมีอัตราเริ่มต้น 80 บาทต่อเดือน ซึ่งแบ่งเป็นค่าเก็บขยะ 40 บาท และเพิ่มค่ากำจัดขยะอีก 40 บาท เนื่องจากปัญหาการแยกขยะในครัวเรือน ทำให้การกำจัดขยะทำได้ยากและมีค่าใช้จ่ายสูง
ค่าเก็บและขนขยะมูลฝอยทั่วไป รายเดือน
ปริมาณขยะต่อวัน | ค่าเก็บขยะต่อเดือน |
ไม่เกิน 20 ลิตร | 40 บาท |
เกิน 20 ลิตร แต่ไม่เกิน 500 ลิตร | ให้คิดเป็นหน่วยทุก ๆ 20 ลิตรในอัตราต่อหน่วย หน่วยละ 65 บาท (เศษไม่เกิน 10 ลิตร ให้คิดเป็นครึ่งหน่วย เศษเกิน 10 ลิตร ให้คิดเป็นหนึ่งหน่วย) |
เกิน 500 ลิตร แต่ไม่เกิน 1 ลูกบาศก์เมตร | 2,450 บาท |
เกิน 1 ลูกบาศก์เมตร | ให้คิดเป็นหน่วยทุก ๆ 1 ลูกบาศก์เมตร ในอัตราต่อหน่วย หน่วยละ 3,250 บาท (เศษไม่เกินครึ่งลูกบาศก์เมตร ให้คิดเป็นครึ่งหน่วย เศษเกินครึ่งลูกบาศก์เมตรให้คิดเป็นหนึ่งหน่วย) |
ค่ากำจัดมูลฝอยทั่วไป รายเดือน
ปริมาณขยะต่อวัน | ค่ากำจัดขยะต่อเดือน |
ไม่เกิน 20 ลิตร | 40 บาท |
เกิน 20 ลิตร แต่ไม่เกิน 500 ลิตร | ให้คิดเป็นหน่วยทุก ๆ 20 ลิตรในอัตราต่อหน่วย หน่วยละ 70 บาท (เศษไม่เกิน 10 ลิตร ให้คิดเป็นครึ่งหน่วย เศษเกิน 10 ลิตร ให้คิดเป็นหนึ่งหน่วย) |
เกิน 500 ลิตร แต่ไม่เกิน 1 ลูกบาศก์เมตร | 2,650 บาท |
เกิน 1 ลูกบาศก์เมตร | ให้คิดเป็นหน่วยทุก ๆ 1 ลูกบาศก์เมตร ในอัตราต่อหน่วย หน่วยละ 3,500 บาท (เศษไม่เกินครึ่งลูกบาศก์เมตร ให้คิดเป็นครึ่งหน่วย เศษเกินครึ่งลูกบาศก์เมตรให้คิดเป็นหนึ่งหน่วย) |
ทั้งนี้ เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) มาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นมา กรุงเทพมหานคร (กทม.) ได้ชะลอลดภาระค่าใช้จ่ายประชาชน เลื่อนเก็บค่ากำจัดสิ่งปฏิกูลหรือมูลฝอยอัตราใหม่ หรือค่าขยะใหม่ออกไปก่อน เพื่อเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนและลดภาระค่าใช้จ่ายของประชาชน
ไขข้อข้องใจค่าขยะ ไม่รวมในค่าส่วนกลาง
ไขข้อข้องใจค่าขยะ ไม่รวมในค่าส่วนกลาง พร้อมอัปเดตค่าขยะใหม่
จ่ายค่าเก็บขยะที่ไหน
โดยปกติแล้ว หน่วยงานท้องถิ่นจะส่งเจ้าหน้าที่ไปเรียกเก็บค่าเก็บขยะถึงบ้าน โดยจะมีใบเสร็จรับเงินให้หลักฐาน หรือจ่ายได้ที่สำนักงานเขตหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่อยู่อาศัยของตนเอง ยกเว้นหมู่บ้านที่รวมค่าเก็บขยะไว้กับค่าส่วนกลางแล้ว นิติบุคคลจะเป็นผู้ดำเนินการให้
เนื่องจากปัญหาขยะมีปริมาณเพิ่มขึ้นทุกปี ค่าใช้จ่ายในการกำจัดขยะจึงสูงขึ้น และกำจัดยากยิ่งขึ้น หากทุกบ้านยังไม่รู้จักแยกขยะให้ถูกต้อง ปัญหาขยะก็จะยังวนเวียนอยู่กับชุมชนต่อไป ดังนั้น หากทุกคนช่วยกันลดการสร้างขยะ จัดเก็บขยะให้เรียบร้อย และแยกขยะอย่างถูกวิธี ก็จะช่วยแก้ปัญหาขยะได้อย่างยั่งยืน
สนใจรับบทความดีดี อัปเดต ข่าวอสังหาริมทรัพย์ และ อ่านคู่มือซื้อขาย พร้อม รีวิวโครงการคอนโดฯ ใหม่ บ้านใหม่ หลากหลายทำเลและราคา รวมถึง ทำความรู้จักกับทำเลฮอตทั่วกรุง เพื่อเพิ่มความมั่นใจในการซื้อ-ขาย-เช่า