“สำนักงานที่ดิน” คือหน่วยงานแรก ๆ ที่คุณจะต้องนึกถึง หากคุณเป็นเจ้าของที่ดินหรือที่อยู่อาศัยสักแห่ง แล้วต้องการที่จะต่อเติม ก่อสร้าง โอนย้ายสิทธิ์ หรือขอติดต่อวัดที่ดิน เพราะหน่วยงานนี้จะช่วยคุณดูแลสารพันเรื่องเกี่ยวกับที่ดิน ไม่ว่าจะเป็นการออกหนังสือแสดงสิทธิที่ดิน การให้บริการจดทะเบียนสิทธิ และนิติกรรมเกี่ยวกับที่ดินและอสังหาริมทรัพย์อื่น ๆ สำนักงานที่ดินเกี่ยวข้องกับผู้ซื้อและผู้ขายอย่างไร และจะติดต่อสำนักงานที่ดินแบบไหนให้ราบรื่น มาดูไปพร้อม ๆ กัน
สำนักงานที่ดิน คือหน่วยงานเกี่ยวกับอะไร
สำนักงานที่ดิน ตือ หน่วยงานที่ดูแลในเรื่องการจัดการเอกสารและกรรมสิทธิ์เกี่ยวกับที่ดินและอสังหาริมทรัพย์ต่าง ๆ หรือกล่าวได้ว่าสำนักงานที่ดินจะช่วยดูแลเรื่องของการบริหารจัดการข้อมูลที่ดินทั้งของภาครัฐและประชาชน เพื่อคุ้มครองสิทธิในที่ดินด้วยความถูกต้อง จัดสรรการใช้ประโยชน์จากที่ดินให้มีประสิทธิภาพ และเกิดประโยชน์สูงสุด
โดยสำนักงานที่ดิน นับว่าเป็นหนึ่งหน่วยบริหารที่อยู่ภายใต้การดูแลของกรมที่ดิน และสำนักงานที่ดินมีที่ตั้งอยู่ในทุกจังหวัดของประเทศไทย โดยสามารถสืบค้นพื้นที่รับผิดชอบของสำนักงานที่ดินแต่ละจังหวัดได้ที่นี่

สำนักงานที่ดิน มีประวัติความเป็นมาอย่างไร
สำนักงานที่ดินเป็นหน่วยงานในสังกัดกรมที่ดิน โดยมีประวัติความเป็นมาย้อนไปเมื่อครั้งรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้า โปรดกระหม่อม ให้กระทรวงเกษตราธิการจัดการ ออกโฉนดที่ดินครั้งแรกที่เมืองกรุงเก่า (ปัจจุบันคือจังหวัดพระนครศรีอยุธยา) และได้มีพระบรมราชโองการ โปรดเกล้าฯ ให้สถาปนากรมทะเบียนที่ดิน สังกัดกระทรวงเกษตราธิราช ครั้งแรกขึ้นเมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2444 จนกระทั่งเมื่อปีพ.ศ. 2484 ได้เปลี่ยนมาใช้ชื่อว่า กรมที่ดิน กระทรวงมหาดไทย และใช้มาจนถึงปัจจุบัน
สำนักงานที่ดิน มีหน้าที่หรือภารกิจหลักอะไรบ้าง
ภารกิจและหน้าที่รับผิดชอบของสำนักงานที่ดินในแต่ละจังหวัดจะดำเนินการคล้ายกัน นั่นคือการให้บริการดังนี้
1. บริหารจัดการข้อมูลที่ดิน และแผนที่เพื่อสนับสนุนการนำไปใช้ประโยชน์ทุกภาคส่วน
2. ให้บริการเกี่ยวกับที่ดิน เพื่อคุ้มครองสิทธิในที่ดินของประชาชนด้วยความถูกต้อง และเป็นธรรม
3. บริหารจัดการที่ดินของรัฐให้มีประสิทธิภาพ และเกิดประโยชน์สูงสุด
4. ส่งเสริมและดำเนินการตามหลักเกณฑ์ และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี

การขอรังวัดที่ดิน บริการสำคัญของสำนักงานที่ดิน
บริการอย่างหนึ่งของสำนักงานที่ดินที่ผู้ซื้อและผู้ขายที่ดินน่าจะคุ้นเคยกันดีคือ การยื่นขอรังวัดที่ดิน ซึ่งเป็นบริการของสำนักงานที่ดินที่จะช่วยตรวจสอบได้ว่าขนาดที่ดินที่เราต้องการซื้อขายตรงกับขนาดที่ระบุไว้ในโฉนดหรือไม่ ซึ่งการดำเนินการติดต่อกับสำนักงานที่ดินรวมถึงค่าใช้จ่ายทั้งหมดจะต้องเป็นหน้าที่รับผิดชอบของผู้เป็นเจ้าของที่ดิน
การคิดค่ารังวัดที่ดิน
ไม่เกิน 5 ไร่
เวลาทำการ 1 วัน
ไม่เกิน 3,480 บาท
ไม่เกิน 15 ไร่
เวลาทำการ 2 วัน
ไม่เกิน 6,760 บาท
ไม่เกิน 30 ไร่
เวลาทำการ 3 วัน
ไม่เกิน 10,040 บาท
ไม่เกิน 50 ไร่
เวลาทำการ 4 วัน
ไม่เกิน 13,320 บาท
โดยการยื่นขอรังวัดที่ดิน เจ้าของที่ดินจะต้องติดต่อโดยตรงกับสำนักงานที่ดินประจำจังหวัดนั้น ๆ และจะต้องจัดเตรียมเอกสารดังต่อไปนี้ให้พร้อมก่อนที่จะยื่นคำร้องขอรังวัดที่ดินกับสำนักงานที่ดินด้วย ได้แก่
- บัตรประจำตัวประชาชน
- ทะเบียนบ้าน
- หลักฐานการเปลี่ยนชื่อ-สกุล ทะเบียนสมรส (ถ้ามี)
- โฉนดที่ดิน หรือหนังสือการรองรับทำประโยชน์ที่ดิน
โดยสามารถติดต่อและยื่นคำร้องได้ที่สำนักงานที่ดินจังหวัด สำนักงานที่ดินจังหวัดสาขา หรือสำนักงานที่ดินอำเภอที่ที่ดินนั้นตั้งอยู่ เพื่อทำการนัดวันเวลา สถานที่ และประเมินค่าใช้จ่ายก่อนที่จะทำการรังวัดที่ดินต่อไป
อยากติดต่อกรมที่ดินและสำนักงานที่ดิน ต้องรู้ 9 ข้อนี้
สำหรับใครที่อยากจะติดต่อกับสถานที่ราชการ แต่อาจจะรู้สึกทำตัวไม่ถูกเวลา ไม่รู้ว่าจะต้องเตรียมตัวอย่างไรที่จะไปติดต่องานกับสถานที่ราชการหลาย ๆ แห่ง โดยเฉพาะเรื่องใหญ่อย่างที่ดิน จะทำอย่างไรให้การติดต่อธุระของเราที่สำนักงานที่ดินเป็นไปด้วยความราบรื่นและสำเร็จในเวลาที่รวดเร็ว วันนี้เรามี 9 คำแนะนำเบื้องต้นจากกรมที่ดินที่คุณควรรู้ เพื่อให้การไปติดต่อธุระที่สำนักงานที่ดินเป็นไปได้อย่างราบรื่น
1. ก่อนไปติดต่อสำนักงานที่ดิน ต้องเตรียมเอกสารหลักฐานให้พร้อม โดยรายละเอียดเอกสารหลักฐานในการติดต่อแต่ละประเภท จะอยู่ในหัวข้อประเภทของการติดต่อ เช่น การจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม การออกโฉนดที่ดิน หรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์และ การรังวัดประเภทต่าง ๆ
2. ก่อนไปติดต่อสำนักงานที่ดิน เราต้องตรวจสอบก่อนว่าเอกสารสิทธิของเรา เช่น โฉนดที่ดิน หนังสือรับรองการทำประโยชน์ อยู่ในพื้นที่ความรับผิดชอบของสำนักงานที่ดินใด และตั้งอยู่ที่ใด เพื่อไม่ให้ไปผิดสถานที่
3. อย่าลืมเตรียมค่าใช้จ่ายสำหรับธุรกรรมที่จะต้องชำระตามกฎหมายให้พร้อมก่อนไปติดต่อธุระที่สำนักงานที่ดิน
4. ไม่ว่าจะชำระค่าใช้จ่ายทางราชการเรื่องใดก็ตามที่สำนักงานที่ดิน ตรวจสอบให้แน่ใจว่าจะต้องได้รับใบเสร็จรับเงินจากเจ้าหน้าที่ เพื่อเก็บไว้เป็นหลักฐานทุกครั้งตามจำนวนที่ได้จ่ายจริง
5. ทุกสำนักงานที่ดินส่วนใหญ่จะมีเจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์ เมื่อเราไปถึงสำนักงานที่ดิน ลำดับแรกควรไปติดต่อกับเจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์ของสำนักงานที่ดิน เพื่อขอคำแนะนำ ตรวจสอบหลักฐานเอกสารและรับบัตรคิว
6. การให้บริการที่สำนักงานที่ดินจะเป็นไปตามลำดับคิวที่ได้ ดังนั้นเราควรจะต้องเตรียมเอกสารและเตรียมตัวให้พร้อมก่อนรับคิวที่สำนักงานที่ดิน เพื่อไม่ให้เกิดความผิดพลาดและเสียเวลา
7. เมื่อติดต่อธุระที่สำนักงานที่ดินสำเร็จแล้ว ขอให้ตรวจสอบความเรียบร้อยของเอกสารสิทธิ เช่น ชื่อผู้ถือกรรมสิทธิ์ จำนวนเนื้อที่ในโฉนดที่ดิน และเอกสารหลักฐานต่าง ๆ ที่เราเตรียมมาว่าครบถ้วนถูกต้องหรือไม่ เพื่อไม่ให้มีปัญหาในภายหลัง
8. สำนักงานที่ดินจะมีการประกาศรายละเอียด ขั้นตอน และระยะเวลาในการดำเนินงานในแต่ละประเภทไว้แล้ว หากเราไปติดต่องานที่สำนักงานที่ดินแล้วเห็นว่างานล่าช้าเกินกว่าปกติ หรือไม่ได้รับความสะดวก หรือมีข้อสงสัย ขอให้สอบถามได้ที่เจ้าหน้าที่ หัวหน้างาน หัวหน้าฝ่าย หรือเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดได้ตามแต่กรณี
9. หากไปสำนักงานที่ดินแล้วพบปัญหา ไม่ได้รับความเป็นธรรมในการให้บริการ สามารถแจ้งกรมที่ดินได้ โดยส่งข้อร้องเรียนทางไปรษณียบัตร ถึงกรมที่ดิน ตู้ ปณ. 11 ปณฝ. วัดเลียบ กรุงเทพฯ 10200 หรือ โทร. 02-141-5678-80
ทั้งหมดนี่ก็เป็นเรื่องที่คุณควรรู้เกี่ยวกับสำนักงานที่ดิน หน่วยงานที่จะช่วยดูแลเรื่องการจัดการที่ดินให้ง่ายยิ่งขึ้น ครั้งต่อไปหากคุณต้องการติดต่อสำนักงานที่ดินก็อย่าลืมเตรียมตัวให้พร้อม เตรียมเอกสารให้เรียบร้อย ตามคำแนะนำ 9 ข้อที่กรมที่ดินได้เสนอแนะไว้ เพื่อให้การติดต่อราชการกับกรมที่ดินในครั้งต่อไปเป็นไปด้วยความราบรื่น สำเร็จลุล่วงทุกเรื่องนั่นเอง
สนใจรับบทความดีดี อัปเดต ข่าวอสังหาริมทรัพย์ และ อ่านคู่มือซื้อขาย พร้อม รีวิวโครงการคอนโดฯ ใหม่ บ้านใหม่ หลากหลายทำเลและราคา รวมถึง ทำความรู้จักกับทำเลฮอตทั่วกรุง เพื่อเพิ่มความมั่นใจในการซื้อ-ขาย-เช่า
ข้อจำกัดความรับผิดชอบ: ข้อมูลนี้จัดทำขึ้นเพื่อเป็นข้อมูลทั่วไปเท่านั้น DDproperty by PropertyGuru ซึ่งอยู่ภายใต้การดูแลของบริษัท ออลพร็อพเพอร์ตี้ มีเดีย จำกัด ไม่สามารถรับรองหรือรับประกันเกี่ยวกับข้อมูล รวมทั้งไม่สามารถรับรองหรือรับประกันใด ๆ เกี่ยวกับความเหมาะสม สำหรับวัตถุประสงค์เฉพาะใด ๆ ของข้อมูล ตามขอบเขตสูงสุดที่กฎหมายอนุญาต แม้ว่าเราได้พยายามอย่างเต็มที่ เพื่อให้แน่ใจว่าข้อมูลที่ให้ไว้ในบทความนี้ถูกต้อง เชื่อถือได้ และครบถ้วน ณ เวลาที่เขียน แต่ข้อมูลที่ให้ไว้ในบทความนี้ไม่ควรนำไปใช้ในการตัดสินใจทางการเงิน, การลงทุนอสังหาริมทรัพย์ หรือทางกฎหมายทันที ผู้อ่านไม่ควรใช้ข้อมูลในบทความ แทนคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญที่ผ่านการฝึกอบรมซึ่งสามารถพิจารณาข้อเท็จจริงและสถานการณ์ส่วนตัวของคุณได้ ทั้งนี้ เราไม่สามารถรับผิดชอบใด ๆ หากคุณเลือกที่จะนำข้อมูลไปใช้เพื่อประกอบการตัดสินใจ