การเอาบ้านเข้าธนาคารหรือขอสินเชื่อบ้านแลกเงินนั้นเป็นทางเลือกหนึ่งสำหรับเจ้าของบ้านที่มีความจำเป็นต้องนำเงินก้อนไปใช้ประโยชน์หรือใช้จ่ายในยามฉุกเฉิน ซึ่งเงินก้อนนี้ต้องแลกมากับค่าจดจำนองบ้านและอัตราดอกเบี้ยที่ค่อนข้างสูง แต่ก็ยังถือว่าถูกกว่าดอกเบี้ยเงินกู้ประเภทอื่น จึงนับว่าเป็นตัวช่วยทางการเงินที่น่าพิจารณา ไม่ว่าตอนนี้จะมีความจำเป็นต้องกู้ยืมเงินหรือไม่ เจ้าของบ้านก็ควรทราบขั้นตอนการขอสินเชื่อบ้านแลกเงินพร้อมข้อควรระวัง เพราะหากมีความจำเป็นต้องใช้เงินเมื่อใด ก็สามารถตัดสินใจและขอสินเชื่อได้อย่างทันท่วงทีและไม่ผิดพลาดจนรับเงินไม่ทันเวลา
เตรียมเอกสารก่อนเอาบ้านเข้าธนาคาร
การเอาบ้านเข้าธนาคารจะต้องเตรียมเอกสารประกอบการพิจารณา ซึ่งคล้ายกับสินเชื่อบ้านประเภทอื่น ๆ โดยทั่วไปจะใช้เอกสารดังต่อไปนี้
เอกสารยืนยันตัวตน
- สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน
- สำเนาทะเบียนบ้าน
- สำเนาทะเบียนสมรส (ถ้ามี)
- สำเนาใบเปลี่ยนชื่อ-นามสกุล (ถ้ามี)
เอกสารยืนยันหลักประกัน
- สำเนาโฉนดที่ดินด้านหน้าและหลัง
- ภาพถ่ายบ้านที่เป็นหลักประกัน
เอกสารยืนยันรายได้ (กรณีพนักงานประจำ)
- รายการเดินบัญชีเงินฝากย้อนหลัง 6 เดือน
- หนังสือรับรองเงินเดือนหรือสลิปเงินเดือน
- ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ (ถ้ามี)
เอกสารยืนยันรายได้ (กรณีเจ้าของกิจการ)
- รายการเดินบัญชีเงินฝากส่วนตัวหรือบัญชีกิจการย้อนหลัง 6 เดือน
- สำเนาทะเบียนการค้าหรือหนังสือรับรองการจดทะเบียนนิติบุคคล
- ภาพถ่ายและแผนที่ตั้งกิจการ
- สำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น (ถ้ามี)
ทั้งนี้ แต่ละธนาคารอาจมีรายการเอกสารที่แตกต่างกันอีกเล็กน้อย เช่น บางธนาคารจะขอสำเนาใบแจ้งหนี้ค่าสาธารณูปโภค หลักฐานการนำส่งภาษีย้อนหลัง ใบเสร็จซื้อขายสินค้าในกรณีเป็นเจ้าของกิจการ หรือเอกสารอื่น ๆ เพื่อประกอบการพิจารณา เจ้าของบ้านจึงต้องจัดเตรียมเอกสารให้พร้อม ก่อนแนบเอกสารกับแบบฟอร์มการขอสินเชื่อเพื่อยื่นให้ธนาคารที่รับจำนองบ้าน

วิธีเอาบ้านเข้าธนาคาร
1. เลือกธนาคารที่น่าสนใจ
ก่อนจะตัดสินใจเอาบ้านเข้าธนาคาร ผู้ขอสินเชื่อจำเป็นต้องเฟ้นหาธนาคารอย่างน้อย 2 แห่งที่ให้ดอกเบี้ยถูกและเสนอเงื่อนไขที่เหมาะสมกับตนเองไว้เป็นตัวเลือก เพราะแต่ละธนาคารจะมีอัตราดอกเบี้ย วงเงินอนุมัติ ระยะเวลาผ่อน และเงื่อนไขต่าง ๆ ที่ไม่เหมือนกัน ในกรณีที่ผู้ขอสินเชื่อต้องการผ่อนในระยะสั้น ก็ต้องดูเงื่อนไขการยกเลิกสัญญาที่สอดคล้องกับระยะเวลาผ่อนของตนเองด้วย เนื่องจากบางธนาคารจะมีค่าปรับหากยกเลิกสัญญาก่อนระยะเวลาที่กำหนดไว้
2. ยื่นเอกสารให้ธนาคาร
เมื่อคัดเลือกธนาคารที่น่าสนใจได้แล้ว ผู้ขอสินเชื่อก็สามารถดำเนินการกรอกแบบฟอร์มขอสินเชื่อพร้อมกับยื่นเอกสารที่จัดเตรียมไว้ให้ธนาคารที่ต้องการได้ทันที โดยสิ่งที่สำคัญที่สุดในขั้นตอนนี้คือ สำเนาโฉนดที่ดินของบ้านที่จะขอแลกเงินนั้นต้องปลอดภาระและไม่ติดจำนองกับที่อื่น หากเอาบ้านเข้าธนาคารแล้วติดปัญหานี้ ผู้ขอสินเชื่อก็ต้องปิดสัญญาเก่าก่อน หรือจะใช้วิธีการรีไฟแนนซ์บ้านแทนก็ได้
3. ธนาคารประเมินหลักประกัน
เมื่อธนาคารได้รับเอกสารจากเจ้าของบ้านและพิจารณาความพร้อมของผู้ขอสินเชื่อในเบื้องต้นแล้ว ธนาคารจะส่งเจ้าหน้าที่เข้าประเมินบ้านที่ขอสินเชื่อเพื่อตรวจสอบสภาพความเป็นจริงของบ้าน แล้วนำไปตั้งเป็นราคาประเมินเพื่อพิจารณาวงเงินที่จะอนุมัติให้ผู้ขอสินเชื่อ โดยในขั้นตอนนี้อาจมีค่าใช้จ่ายประมาณ 1,500-3,000 บาทหรือไม่มีก็ได้ขึ้นอยู่กับโปรโมชั่นของแต่ละธนาคาร
4. รับฟังผลการอนุมัติสินเชื่อ
หลังจากเสร็จสิ้นการพิจารณาสินเชื่อ ธนาคารจะแจ้งผลการอนุมัติและวงเงินที่จะได้รับให้ผู้ขอสินเชื่อทราบ หากก่อนหน้านี้ผู้ขอสินเชื่อมีการยื่นเอกสารและได้รับการอนุมัติจากหลายธนาคาร ผู้ขอสินเชื่อก็จะเป็นฝ่ายที่เลือกได้ว่าต้องการเอาบ้านเข้าธนาคารไหน โดยขอให้ตัดสินใจจากอัตราดอกเบี้ย วงเงินที่อนุมัติ เงื่อนไขสัญญาที่เหมาะสม และยังขึ้นอยู่กับความพึงพอใจของผู้ขอสินเชื่อด้วยว่าต้องการเป็นลูกค้าของธนาคารใด
5. ทำสัญญาเงินกู้และสัญญาจดจำนอง
เมื่อตกลงรับวงเงินและอัตราดอกเบี้ยที่ธนาคารเสนอแล้ว ก็ถึงเวลาของการลงนามในสัญญาเงินกู้และจดจำนองบ้าน ณ สำนักงานที่ดินในเขตที่บ้านของผู้ขอสินเชื่อตั้งอยู่ ซึ่งผู้ขอสินเชื่ออาจมีค่าใช้จ่ายที่ต้องเสียให้ทั้งธนาคารและกรมที่ดินในวันทำสัญญาดังนี้
- ค่าอากรแสตมป์ร้อยละ 0.05 ของวงเงินสินเชื่อ สูงสุดไม่เกิน 10,000 บาท
- ค่าจดจำนองร้อยละ 1 ของวงเงินสินเชื่อ (ธนาคารอาจชำระให้ตามโปรโมชั่นที่ตกลงไว้)
- ค่าธรรมเนียมการจัดสินเชื่อ (ธนาคารอาจยกเว้นให้ตามโปรโมชั่นที่ตกลงไว้)
- ค่าประเมินหลักทรัพย์ (ธนาคารอาจยกเว้นให้ตามโปรโมชั่นที่ตกลงไว้)
- ค่าเบี้ยประกันอัคคีภัยตามกฎหมาย (ค่าเบี้ยตามทุนประกันที่ครอบคลุมวงเงินสินเชื่อ)
- ค่าเบี้ยประกันชีวิตคุ้มครองสินเชื่อ (ถ้าผู้ขอสินเชื่อยินยอมทำประกันกับธนาคาร)
ตามปกติแล้ว หากธนาคารไม่มีโปรโมชั่นฟรีค่าใช้จ่ายให้ผู้ขอสินเชื่อ ธนาคารก็มักจะหักค่าใช้จ่ายเหล่านี้จากวงเงินที่ได้รับอนุมัติก่อนมอบเงินส่วนที่เหลือให้ผู้ขอสินเชื่อ เมื่อผู้ขอสินเชื่อได้รับเงินแล้ว จึงเสร็จสิ้นขั้นตอนการเอาบ้านเข้าธนาคาร
ข้อควรระวังก่อนเอาบ้านเข้าธนาคาร
ก่อนคิดจะเอาบ้านเข้าธนาคาร เจ้าของบ้านควรทราบก่อนว่าสินเชื่อบ้านแลกเงินนั้นมักจะมีอัตราดอกเบี้ยสูงกว่า วงเงินอนุมัติน้อยกว่า มีระยะเวลาผ่อนที่สั้นกว่าการขอสินเชื่อบ้านใหม่หรือการรีไฟแนนซ์ และอาจมีค่าใช้จ่ายก่อนรับเงินก้อนอีกหลายหมื่นบาทจากค่าจดจำนอง แต่สินเชื่อบ้านและเงินก็ยังเป็นตัวเลือกที่ดีกว่าการขอสินเชื่อบุคคลที่มีอัตราดอกเบี้ยแพงกว่าเป็นอย่างมาก ดังนั้น ผู้ขอสินเชื่อต้องพิจารณาถึงความจำเป็นก่อนเอาบ้านเข้าธนาคารให้ดีว่าเงินที่ได้กับดอกเบี้ยและค่าใช้จ่ายที่เสียไปนั้นคุ้มค่าหรือไม่ เพื่อให้การขอสินเชื่อเป็นประโยชน์และเหมาะสมกับภาระทางการเงินของตนเองมากที่สุด
อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับข้อสงสัยในการใช้บ้านกู้เงิน
อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับข้อสงสัยในการใช้บ้านกู้เงิน
หากคุณมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการซื้อบ้าน อ่าน คู่มือซื้อขาย ที่สามารถเป็นตัวช่วยตอบได้ทุกคำถาม พร้อมบอกรายละเอียดการคำนวณสินเชื่อบ้าน ที่เหมาะสมกับคุณโดยเฉพาะมนุษย์เงินเดือน เพื่อให้ตัดสินใจซื้อได้ง่ายขึ้น