รถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ หรือรถไฟฟ้าสายสีม่วง ส่วนต่อขยายช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก) รถไฟฟ้าสายอนาคตที่ผ่านสถานที่สำคัญมากมาย รวมทั้งยังมีแนวโน้มเติบโตพร้อมกับการก่อสร้างรถไฟฟ้า ซึ่งจะส่งผลให้ราคาอสังหาฯ เพิ่มสูงขึ้นเมื่อสร้างเสร็จ ลองมารู้จักกับรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ได้ที่นี่
รถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้มีความสำคัญอย่างไร
1. สะดวกในการเดินทางระหว่างกรุงเทพฯ สมุทรปราการ และนนทบุรี
รถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ หรือรถไฟฟ้าสายสีม่วง ส่วนต่อขยาย จากสถานีเตาปูน ช่วยเชื่อมกรุงเทพฯ ทั้งฝั่งธนบุรีและฝั่งพระนคร รวมถึงสมุทรปราการเข้าด้วยกัน จึงเป็นระบบขนส่งมวลชนที่นำคนจากปริมณฑลและชานเมืองเข้าสู่ใจกลางเมืองในย่านเมืองเก่า เช่น สะพานพุทธ วังบุรพา ผ่านฟ้า และบางขุนพรหม ได้อย่างสะดวกรวดเร็ว
และช่วยบรรเทาการจราจรติดขัดบริเวณพระราม 2 ที่ประชาชนยังไม่มีทางเลือกอื่นในการเดินทาง โดยการเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีม่วงเหนือช่วยอำนวยความสะดวกในการเดินทางไปมาจากนนทบุรี และการเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีส้มและสายสีน้ำเงินช่วยพาไปสู่เขตเศรษฐกิจใหม่
2. รถไฟฟ้าสายสีม่วงส่งเสริมย่านเมืองเก่าให้บูมขึ้น
การที่รถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ผ่านย่านเมืองเก่านั้นน่าจะเป็นการสนับสนุนให้เป็นแหล่งเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว เนื่องจากมีสถานที่สำคัญทางราชการอย่างธนาคารแห่งประเทศไทย แหล่งของอร่อยอย่างย่านบางลำพู และสถานที่ท่องเที่ยวอย่างหอศิลป์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ ป้อมมหากาฬ วัดราชนัดดา วัดเทพธิดา และวัดสระเกศ เป็นต้น
รถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้มีความคืบหน้าอย่างไร
รถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ได้ผ่านการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) และผ่านความเห็นชอบจากมติที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) แล้ว ปัจจุบันโครงการอยู่ในขั้นตอนการลงพื้นที่สำรวจอสังหาริมทรัพย์ตามแนวสายทางโครงการ ตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืนใน 11 ท้องที่ ได้แก่ เขตบางซื่อ เขตดุสิต เขตพระนคร เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย เขตสัมพันธวงศ์ เขตธนบุรี เขตคลองสาน เขตจอมทอง เขตราษฎร์บูรณะ เขตทุ่งครุ กรุงเทพฯ และอำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ
โดยจะนำมาดำเนินกิจการรถไฟฟ้าในส่วนที่เกี่ยวกับการจัดสร้างโครงการขนส่งด้วยระบบรถไฟฟ้า สถานที่จอดรถสำหรับผู้โดยสาร และกิจการอื่นที่เกี่ยวเนื่องกับกิจการรถไฟฟ้าตามโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้
รวมถึงอยู่ระหว่างการจัดเตรียมเอกสารประกวดราคาก่อสร้างงานโยธา เพื่อให้สามารถเริ่มงานก่อสร้างได้ภายในเดือนธันวาคม 2564 และมีแผนจะเปิดให้บริการแก่ประชาชนภายในเดือนมีนาคม 2570

เปิดตำแหน่ง 17 สถานีของรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้
โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก) มีระยะทางรวม 23.6 กิโลเมตร เป็นโครงสร้างทางวิ่งใต้ดิน ระยะทาง 13.6 กิโลเมตร จำนวน 10 สถานี และทางวิ่งยกระดับ ระยะทาง 10 กิโลเมตร จำนวน 7 สถานี
แนวเส้นทางจากสถานีเตาปูน (สถานียกระดับ) ซึ่งเป็นสถานีร่วมของรถไฟฟ้ามหานคร สายฉลองรัชธรรม และรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล วิ่งไปตามถนนสาย ง 8 เป็นโครงสร้างยกระดับข้ามคลองบางซื่อ
จากนั้นลดระดับลงเป็นโครงสร้างใต้ดินลอดใต้กรมสรรพาวุธทหารบก เลี้ยวขวาเข้าสู่ถนนทหาร ผ่านแยกเกียกกาย เข้าสู่ถนนสามเสน ผ่านรัฐสภาแห่งใหม่ โรงเรียนราชินีบน โรงพยาบาลวชิรพยาบาล หอสมุดแห่งชาติ เลี้ยวซ้ายเข้าสู่ถนนพระสุเมรุ ผ่านวัดบวรนิเวศฯ ผ่านแยกผ่านฟ้าลีลาศ ถนนราชดำเนินกลาง เข้าสู่ถนนมหาไชย ผ่านวัดราชนัดดาฯ เข้าสู่ถนนจักรเพชร
ลอดใต้แม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณสะพานพระปกเกล้า เข้าสู่ถนนประชาธิปก ผ่านสี่แยกบ้านแขก ลอดใต้วงเวียนใหญ่ เข้าสู่ถนนสมเด็จพระเจ้าตากสิน ลอดใต้แยกมไหสวรรย์ และเปลี่ยนเป็นทางยกระดับวิ่งไปตามถนนสุขสวัสดิ์ ผ่านแยกประชาอุทิศ สะพานภูมิพล 1 ผ่านสามแยกพระประแดง และสิ้นสุดที่ครุใน จ.สมุทรปราการ
รถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ มีทั้งหมด 17 สถานี ได้แก่
1. สถานีรัฐสภา เชื่อมกับอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ อยู่ระหว่างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ และ ม.พัน 4 รอ.
2. สถานีศรีย่าน อยู่หน้ากรมชลประทาน
3. สถานีสามเสน อยู่หน้าโรงพยาบาลวชิรพยาบาล
4. สถานีหอสมุดแห่งชาติ อยู่หน้าหอสมุดแห่งชาติ และสมาคมศิษย์เก่าสวนกุหลาบวิทยาลัย
5. สถานีบางขุนพรหม อยู่หน้าวัดเอี่ยมวรนุช
6.สถานีผ่านฟ้า อยู่ก่อนถึงถนนราชดำเนินนอก หน้าร้านอาหารนิวออร์ลีนส์เชื่อมสถานีอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยของสายสีส้มศูนย์วัฒนธรรม-บางขุนนนท์
7. สถานีวังบูรพา อยู่หน้าสวนรมณีนาถ ใกล้แยกสามยอด เป็นสถานีร่วมของสายสีน้ำเงินช่วงหัวลำโพง-บางแค
8. สถานีสะพานพุทธ อยู่ก่อนถึงสี่แยกบ้านแขก
9. สถานีวงเวียนใหญ่ อยู่ใกล้วงเวียนใหญ่เชื่อมกับสายสีเขียวช่วงยศเส-บางหว้า และรถไฟฟ้าสายสีแดงหัวลำโพง-มหาชัย
10. สถานีสำเหร่ อยู่ใกล้ตลาดสำเหร่ และโรงพยาบาลสมเด็จพระปิ่นเกล้า
11. สถานีจอมทอง อยู่ระหว่างซอยสมเด็จพระเจ้าตากสิน 44 และคลองบางสะแก
12. สถานีดาวคะนอง อยู่ระหว่างซอยสุขสวัสดิ์ 12 กับซอย 14
13. สถานีบางปะกอก อยู่ระหว่างซอยสุขสวัสดิ์ 23 และซอย 25 มีอาคารจอดรถ 1,700 คัน
14. สถานีประชาอุทิศ อยู่หน้าซอยสุขสวัสดิ์ 44
15. สถานีราษฎร์บูรณะ อยู่กลางถนนสุขสวัสดิ์ คร่อมคลองแจงร้อน มีอาคารจอดรถ 2 แห่ง รวม 1,700 คัน
16. สถานีพระประแดง อยู่ใกล้กับถนนวงแหวนอุตสาหกรรมสามแยกพระประแดง
17. สถานีครุใน อยู่ปากซอยสุขสวัสดิ์ 70
สถานีสำคัญของรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ | รายละเอียดสถานี |
1. สถานีรัฐสภา | อยู่ในย่านเกียกกาย ซึ่งเป็นที่ตั้งแลนด์มาร์คใหม่ที่สำคัญของประเทศ คือ สัปปายะสภาสถานหรือรัฐสภาแห่งใหม่ ที่จะเพิ่งเริ่มเปิดใช้เป็นที่ประชุมรัฐสภาอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2564 ด้วยสถาปัตยกรรมที่สวยงามและการประดิษฐานพระสยามเทวาธิราช พระคู่บ้านคู่เมืองไทย ที่บนยอดเจดีย์ของรัฐสภานี้ เชื่อว่า ที่นี่จะกลายเป็นจุดท่องเที่ยวที่สำคัญอย่างแน่นอน |
2. สถานีผ่านฟ้า | เชื่อมต่อกับสถานีอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยของรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงตลิ่งชัน-มีนบุรี ซึ่งจะพาไปยังเขตเศรษฐกิจใหม่ เช่น ย่านราชเทวี ประตูน้ำ และศูนย์วัฒนธรรม (ถนนรัชดาภิเษก) |
3. สถานีสามยอด | เชื่อมต่อกับสถานีสามยอดของรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ซึ่งอำนวยความสะดวกในการเดินทางไปเขตเศรษฐกิจใหม่ เช่น ย่านเยาวราช หัวลำโพง สามย่าน ไปจนถึงพหลโยธิน และไปยังชานเมืองของกรุงเทพฯ และนครปฐมด้วย |
4. สถานีวงเวียนใหญ่ | เป็นย่านการค้าเก่าแก่ของฝั่งธนบุรีและอยู่ใกล้ใจกลางเมือง อีกทั้งยังมีรถไฟฟ้า BTS วงเวียนใหญ่อยู่ไม่ไกล จึงช่วยให้สามารถเดินทางไปย่านศูนย์กลางธุรกิจอย่างสีลมหรือสาทรได้สะดวกในอนาคต หากรถไฟฟ้าสายสีแดงได้รับอนุมัติและก่อสร้างเสร็จ สถานีวงเวียนใหญ่ของสายสีม่วงใต้ก็จะถูกเชื่อมต่อกับสายสีแดง ซึ่งจะทำให้การเดินทางไปสถานที่อื่น ๆ ในใจกลางเมือง เช่น คลองสาน หัวลำโพง และราชวิถี ได้สะดวกยิ่งขึ้น |
5. สถานีบางปะกอก | มีอาคารจอดแล้วจรสูง 10 ชั้น ซึ่งสามารถรองรับการจอดรถยนต์ได้ประมาณ 1,700 คัน ผู้อาศัยแถบชาญเมืองและสมุทรสาครจึงสามารถเลี่ยงการจราจรติดขัดเพื่อเดินทางเข้าเมืองได้อย่างสะดวกรวดเร็ว |
6. สถานีราษฎร์บูรณะ | เป็นอีกหนึ่งสถานีที่มีอาคารจอดแล้วจร 2 อาคาร เพื่ออำนวยความสะดวกในการเข้าเมืองสำหรับผู้อาศัยแถบชาญเมืองและสมุทรสาคร โดยรองรับการจอดรถได้ประมาณ 1,700 คัน |
ทำเลเด่นในแนวรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้
บ้านเดี่ยว ทาวน์เฮ้าส์ และอพาร์ทเมนต์/คอนโดสูงประมาณไม่เกิน 8 ชั้น
มีกฎหมายผังเมืองห้ามก่อสร้างอาคารสูงในเส้นทางแนวรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ช่วงสถานีเตาปูนลงไปทางทิศใต้บริเวณเมืองเก่า การพัฒนาอสังหาฯ จึงต้องเน้นไปที่อสังหาแนวราบเป็นหลัก โดยทำเลที่น่าสนใจ ได้แก่ บริเวณโดยรอบสถานีเตาปูน ซึ่งเป็นต้นสายและจุดเชื่อมต่อ รวมทั้งสถานีผ่านฟ้าและสถานีสามยอด
ซึ่งเป็นจุดเชื่อมต่อไปยังสายสีน้ำเงิน หากมองหาบ้านนอกเมือง สถานีบางปะกอกและสถานีราษฎร์บูรณะเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจ เนื่องจากมีอาคารจอดแล้วจรที่ช่วยเพิ่มความสะดวกในการเดินทางเข้าเมืองสำหรับคนมีรถ
คอนโดมีเนียมสูง
บริเวณโดยรอบสถานีเตาปูน สถานีวงเวียนใหญ่ และช่วงถนนสุขสวัสดิ์-ราษฎร์บูรณะเป็นทำเลหลักที่น่าสนใจสำหรับคอนโดมีเนียม เพราะสามารถก่อสร้างอาคารสูงได้และราคายังไม่ปรับตัวสูงจนเกินไป
จะเห็นได้ว่า รถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้มีสถานีที่เป็นทำเลศักยภาพใหม่ที่กำลังจะมีความสำคัญ และปัจจุบันมีโครงการที่น่าสนใจหลายโครงการตามแนวรถไฟฟ้าสายสีม่วง อ่านเพิ่มเติมได้จากรีวิวโครงการใหม่ในแนวรถไฟฟ้าสายสีม่วง และนักลงทุนยังสามารถติดตามรีวิวโครงการใหม่ที่น่าสนใจในทำเลอื่นเพิ่มเติมได้ที่รีวิวโครงการใหม่
สนใจรับบทความดีดี อัปเดต ข่าวอสังหาริมทรัพย์ และ อ่านคู่มือซื้อขาย พร้อม รีวิวโครงการคอนโดฯ ใหม่ บ้านใหม่ หลากหลายทำเลและราคา รวมถึง ทำความรู้จักกับทำเลฮอตทั่วกรุง เพื่อเพิ่มความมั่นใจในการซื้อ-ขาย-เช่า