เชื่อว่าหลายคนกังวลเรื่องเศรษฐกิจกันอยู่ไม่น้อย เพราะจริง ๆ แล้วเป็นเรื่องที่ใกล้ตัว และเป็นเรื่องปากท้องของทุกคน โดยภาวะ "เงินเฟ้อ" ก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ส่งผลโดยตรงกับเงินในกระเป๋าของเราทุกคน ดังนั้นรู้ทันเรื่องการเงินสักนิดก็อาจช่วยชีวิต และเพิ่มมูลค่าของเงินในกระเป๋าของมนุษย์เงินเดือนอย่างเราได้ไม่มากก็น้อย ลองมารู้จักกับภาวะเงินเฟ้อ ส่งผลอย่างไรต่อเงินในกระเป๋า รวมถึงตลาดอสังหาริมทรัพย์
อ่านหัวข้อที่คุณสนใจ
เงินเฟ้อคืออะไร
ภาวะเงินเฟ้อ หมายถึง ภาวะที่ราคาสินค้าและบริการโดยทั่วไปเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งหากเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นมากจะกระทบต่อฐานะและความเป็นอยู่ของประชาชน
โดยหน่วยงานที่มีหน้าที่ควบคุมดูแลเรื่องเงินเฟ้อ คือ กระทรวงพาณิชย์ และธนาคารแห่งประเทศไทย โดยสาเหตุการเกิดเงินเฟ้อแบ่งได้เป็น 2 สาเหตุหลัก ๆ คือ
1. ประชาชนต้องการซื้อสินค้าและบริการเพิ่มขึ้น (เรียกว่า Demand-Pull Inflation)
ประกอบกับสินค้าและบริการนั้น ๆ ในตลาดมีไม่เพียงพอ ทำให้ผู้ขายปรับราคาสินค้าและบริการสูงขึ้น
การเพิ่มขึ้นของความต้องการสินค้าและบริการอาจมาจากหลายสาเหตุ เช่น การเปลี่ยนแปลงของปริมาณเงิน การดำเนินนโยบายการคลังของภาครัฐบาลที่เห็นได้ชัดเจนคือ โครงการพัฒนาศักยภาพของหมู่บ้านและชุมชน (SML) ที่จะจัดสรรงบประมาณให้ประชาชนโดยตรง หรือกองทุนหมู่บ้าน ที่อัดฉีดเม็ดเงินลงสู่ระบบเศรษฐกิจ ทำให้ชาวบ้านมีเงิน ทำให้เกิดการใช้จ่ายในการบริโภคมากขึ้น ทำให้ความต้องการสินค้าเพิ่มมากขึ้น
2. ต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้น (เรียกว่า Cost-Push Inflation)
กล่าวคือ หากผู้ผลิตไม่สามารถแบกรับภาระต้นทุนที่สูงขึ้นได้จะทำให้ผู้ผลิตต้องปรับราคาสินค้าและบริการให้สูงขึ้นด้วย
สาเหตุที่ทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น อาทิ การเพิ่มขึ้นของค่าจ้างแรงงาน (เมื่อสินค้ามีความต้องการมากขึ้น ผู้ประกอบการต้องเพิ่มกำลังการผลิต หรือจ้างงานมากขึ้น ทำให้ต้องเสียค่าจ้างแรงงานสูงขึ้น) การเกิดวิกฤตการณ์ทางธรรมชาติ หรือการเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันในขณะนี้
ต้นทุนการผลิตคือสิ่งที่ใช้พิจารณานโยบายกำหนดราคาสินค้าและบริการ ถ้าต้นทุนเพิ่มขึ้นไม่ว่าจากค่าแรงที่เพิ่มขึ้น หรือราคาวัตถุดิบเพิ่มสูงขึ้น ทำให้ราคาสินค้าต้องเพิ่มขึ้นด้วย ราคาสินค้าสูงขึ้นผู้บริโภคต้องใช้เงินมากกว่าเดิมทำให้ปริมาณเงินที่ไหลเข้าสู่ตลาดมากขึ้น
เงินเฟ้อแตกต่างจากเงินฝืดอย่างไร
ภาวะเงินเฟ้อจะตรงกันข้ามกับภาวะเงินฝืด โดยภาวะเงินฝืดเกิดขึ้นเมื่อระดับราคาสินค้าและบริการลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยมีสาเหตุหลายประการ เช่น ความต้องการซื้อสินค้าและบริการของประชาชนลดลง หรือปริมาณเงินที่หมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ มีไม่เพียงพอกับความต้องการ
ภาวะเงินฝืดอาจทำให้ราคาสินค้าปรับลดลง ผู้ผลิตก็อาจไม่ต้องการผลิตสินค้าและบริการในปริมาณเท่าเดิม ทำให้ลดกำลังการผลิตลง และส่งผลให้เศรษฐกิจซบเซาในที่สุด

ผลกระทบจากสภาวะเงินเฟ้อ
โดยผลกระทบจากสภาวะเงินเฟ้อ นั้นจะมีผลกระทบต่อพวกเราทุกคนไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบทางตรงหรือทางอ้อมก็ตามอาทิเช่น ผลกระทบที่มีต่อความต้องการถือเงินส่วนบุคคล โดยภาวะเงินเฟ้อจะทำให้ค่าของเงินลดลง เพราะเมื่อราคาสินค้าแพงขึ้น เงินเท่าเดิมแต่จะซื้อของได้น้อยลง ค่าของเงินยิ่งต่ำก็จะมีต้องใช้เงินจำนวนมากในการใช้จ่ายซื้อสินค้าและบริการนั่นเอง
1. ผลต่อภาคประชาชน
รายจ่ายหรือภาระค่าครองชีพสูงขึ้นทำให้ประชาชนมีอำนาจซื้อน้อยลง มีความสามารถจับจ่ายซื้อสินค้าและบริการได้น้อยลง และอาจทำให้รายได้ที่มีหรือเงินที่หามาได้ไม่เพียงพอกับการยังชีพ
อัตราเงินเฟ้อยิ่งสูง จะส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยที่หักเงินเฟ้อออก หรือที่เรียกว่า "อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง" จะมีค่าลดลงไป เนื่องจากดอกเบี้ยที่เราได้รับเอาไปใช้ซื้อของได้น้อยลง
ยกตัวอย่าง กรณีที่อัตราดอกเบี้ยเงินฝากอยู่ที่ 1.5% ต่อปี แต่หากอัตราเงินเฟ้อหรือราคาเพิ่มขึ้นมา 1% อาจกล่าวได้ว่าอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงหรือผลตอบแทนสุทธิที่ได้รับจริง ๆ อยู่ที่ 0.5% ต่อปีเท่านั้น
แต่หากปีต่อไป อัตราดอกเบี้ยเงินฝากยังเท่าเดิม แต่อัตราเงินเฟ้อสูงขึ้นไปอยู่ที่ 2% อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงจะกลายเป็น -0.5% ต่อปี ซึ่งถือว่ากำลังซื้อของผู้ฝากเงินลดลง
การฝากเงินทำให้ได้รับผลตอบแทนจริง ๆ ติดลบ ทำให้ผู้ฝากไม่อยากออมเงิน และอาจหันไปลงทุนในสินทรัพย์ประเภทอื่นที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่า เช่น ทองคำ อสังหาริมทรัพย์ และหุ้น ทำให้ต้องเผชิญกับความเสี่ยงที่สูงขึ้นด้วย หากไม่มีความรู้เพียงพอในการบริหารจัดการ ก็อาจทำให้เกิดเป็นภาระหนี้สินได้
เช็กอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก
เช็กอัตราดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์-ฝากประจำของแต่ละธนาคาร
2. ผลต่อผู้ประกอบการ
เมื่อสินค้ามีราคาแพงขึ้น ยอดขายก็จะลดลง ในขณะเดียวกัน ต้นทุนการผลิตก็จะสูงขึ้นด้วย ส่งผลให้เจ้าของธุรกิจบางรายอาจตัดสินใจชะลอการผลิต ลดการลงทุนและการจ้างงาน ทำให้คนตกงานมากขึ้น
ความสามารถในการแข่งขันของภาคธุรกิจในประเทศลดลง เนื่องจากราคาสินค้าส่งออกของเราจะสูงขึ้นเมื่อเทียบกับราคาสินค้าออกของประเทศอื่น ๆ
3. ผลต่อประเทศ
ในภาวะที่ประชาชนซื้อของน้อยลง ธุรกิจไม่สามารถขายของได้ การลงทุนเพื่อผลิตสินค้าก็จะชะลอออกไป ทำให้การพัฒนาศักยภาพการผลิตของประเทศในระยะยาวอาจชะลอลงตามไปด้วย
ถ้าอัตราเงินเฟ้อสูงจนทำให้อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงติดลบนาน ๆ ประชาชนก็จะหันไปเก็งกำไรในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูง สะสมปัญหาฟองสบู่ในสินทรัพย์ต่าง ๆ (asset price bubble) และความไม่สมดุลในภาคการเงินของประเทศได้ เช่น หนี้ครัวเรือน
4. ผลต่ออสังหาริมทรัพย์
เนื่องจากต้นทุนในการก่อสร้างอสังหาริมทรัพย์ มีทั้งแรงงานและวัสดุก่อสร้าง ไม่ว่าจะเป็นหิน ดิน ทราย ซึ่งภาวะเงินเฟ้อทำให้ค่าจ้างแรงงาน และวัสดุก่อสร้างเพิ่มขึ้น จึงส่งผลให้ราคาขายอสังหาริมทรัพย์ขยับสูงขึ้นตามไปด้วย แต่ผู้ที่ถือครองอสังหาริมทรัพย์อยู่แล้วจะเป็นผลดีจากมูลค่าของบ้านที่จะขยับตัวสูงขึ้น
อย่างไรก็ตาม แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้น ถือเป็นจังหวะที่ดีที่สุดสำหรับการซื้อที่อยู่อาศัย เพราะมีโอกาสเพิ่มมูลค่าได้สูงขึ้นในอนาคต แต่การซื้อที่อยู่อาศัยในช่วงเงินเฟ้อ ผู้ซื้อจะต้องเลือกทำเล และราคาที่เหมาะสม เพื่อให้มูลค่าเพิ่มขึ้นได้ใกล้เคียงอัตราเงินเฟ้อ หรือให้สูงกว่า จึงจะถือว่าคุ้มค่ากับการลงทุน
โดยควรใช้วิธีการกู้เงินมากกว่าใช้เงินสด เพราะมูลค่าของเงินในปัจจุบันสูงกว่าเงินในอนาคต โดยควรใช้สินเชื่ออัตราดอกเบี้ยคงที่ระยะยาว เพราะในช่วงที่เกิดภาวะเงินเฟ้อ เป็นช่วงดอกเบี้ยขาขึ้นเช่นกัน
สำหรับทำเลที่อยู่อาศัยที่มีโอกาสขยับราคารับการเพิ่มขึ้นของเงินเฟ้อ ควรเป็นทำเลที่อยู่ในโซนที่มีสิ่งอำนวยความสะดวก หรือรถไฟฟ้า ซึ่งทำเลลักษณะนี้จะไม่ได้ปรับราคาลงมากในช่วงเศรษฐกิจชะลอตัว หรือราคาสูงมากเกินไป เช่น โซนใกล้รถไฟฟ้า BTS ที่มีราคาขยับเพิ่มขึ้นไปมากแล้ว โอกาสที่จะได้ผลตอบแทนระยะสั้นจึงอาจเป็นไปได้ยาก
แนวโน้มตลาดอสังหาฯ
แนวโน้มตลาดอสังหาริมทรัพย์จากรายงาน Thailand Property Market Report
จริง ๆ แล้วสภาวะเงินเฟ้อ นั้นเกิดขึ้นเป็นตามกลไกลทางการตลาดและภาวะของสภาพคล่องทางเศรษฐกิจเป็นหลัก ดังนั้นการเพิ่มราคาของสินค้าจะต้องปรับขึ้นพร้อมกันทั้งระบบเศรษฐกิจ แต่ถ้าขึ้นเพียงอย่างเดียวหรือเพียง 2-3 อย่าง จะไม่ถือว่าเป็นเงินเฟ้อ
แต่หากเพิ่มขึ้นมากก็จะสร้างความผันผวนและก่อให้เกิดปัญหาต่อระบบเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการครองชีพของประชาชน ทำให้เกิดการขาดเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ และมีผลกระทบกับเงินในกระเป๋าของเราทุกคนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ขอบคุณข้อมูลบางส่วนจาก ธนาคารแห่งประเทศไทย
ข้อจำกัดความรับผิดชอบ: ข้อมูลนี้จัดทำขึ้นเพื่อเป็นข้อมูลทั่วไปเท่านั้น DDproperty by PropertyGuru ซึ่งอยู่ภายใต้การดูแลของบริษัท ออลพร็อพเพอร์ตี้ มีเดีย จำกัด ไม่สามารถรับรองหรือรับประกันเกี่ยวกับข้อมูล รวมทั้งไม่สามารถรับรองหรือรับประกันใด ๆ เกี่ยวกับความเหมาะสม สำหรับวัตถุประสงค์เฉพาะใด ๆ ของข้อมูล ตามขอบเขตสูงสุดที่กฎหมายอนุญาต แม้ว่าเราได้พยายามอย่างเต็มที่ เพื่อให้แน่ใจว่าข้อมูลที่ให้ไว้ในบทความนี้ถูกต้อง เชื่อถือได้ และครบถ้วน ณ เวลาที่เขียน แต่ข้อมูลที่ให้ไว้ในบทความนี้ไม่ควรนำไปใช้ในการตัดสินใจทางการเงิน, การลงทุนอสังหาริมทรัพย์ หรือทางกฎหมายทันที ผู้อ่านไม่ควรใช้ข้อมูลในบทความ แทนคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญที่ผ่านการฝึกอบรมซึ่งสามารถพิจารณาข้อเท็จจริงและสถานการณ์ส่วนตัวของคุณได้ ทั้งนี้ เราไม่สามารถรับผิดชอบใด ๆ หากคุณเลือกที่จะนำข้อมูลไปใช้เพื่อประกอบการตัดสินใจ