ในช่วงปลายปีที่ผ่านมา หลายคนน่าจะได้รับจดหมายแจ้งภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างกันไปบ้างแล้ว แต่นื่องจากนี่เป็นการดำเนินงานครั้งแรกที่ระบบต่าง ๆ อาจจะยังไม่สมบูรณ์พร้อม 100% ทำให้บางคนได้รับจดหมายแจ้งไม่ครบตามจำนวนที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่ตนเองถือครองไว้
แต่ก็ไม่ต้องเป็นกังวลเพราะสุดท้ายก็จะมีการจัดการให้เสร็จสิ้นทั้งหมดอยู่ดี สิ่งที่ต้องให้ความสนใจมีแค่ว่าทำอย่างไรหลังจากได้รับจดหมายไปแล้วมากกว่า
หลักการคำนวณภาษีบ้านและคอนโดมิเนียมต่างกันอย่างไร
อันดับแรกจะมาดูหลักการคำนวณภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เพื่อใช้ประเมินว่าจะต้องเสียภาษีหรือไม่ และเป็นจำนวนเงินประมาณเท่าไร โดยเจาะประเด็นที่คนให้ความสนใจมากที่สุดกันก่อน นั่นคือ ภาษีของบ้านและคอนโดมิเนียม
หลักการคำนวณภาษีบ้าน
จะแบ่งการคิดเป็น 2 กรณี ได้แก่ กรณีที่บุคคลเป็นเจ้าของทั้งที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง กับกรณีที่บุคคลเป็นเจ้าของเฉพาะสิ่งปลูกสร้างเท่านั้น และเงื่อนไขของทั้ง 2 กรณีก็คือผู้ที่เป็นเจ้าของจะต้องมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านด้วย วิธีการคิดภาษีจะวัดตามการประเมินมูลค่าซึ่งมีรายละเอียดดังนี้
กรณีที่ 1
– บ้านพร้อมที่ดิน มูลค่าต่ำกว่า 50 ล้านบาท ได้รับการยกเว้น ไม่ต้องเสียภาษี
– บ้านพร้อมที่ดิน มูลค่า 50-75 ล้านบาท คิดภาษี 0.03 %
– บ้านพร้อมที่ดิน มูลค่า 75-100 ล้านบาท คิดภาษี 0.05%
– บ้านพร้อมที่ดิน มูลค่ามากกว่า 100 ล้านบาท คิดภาษี 0.1%
กรณีที่ 2
– บ้าน มูลค่าต่ำกว่า 10 ล้านบาท ได้รับการยกเว้น ไม่ต้องเสียภาษี
– บ้าน มูลค่า 10-50 ล้านบาท คิดภาษี 0.02%
– บ้าน มูลค่า 50-75 ล้านบาท คิดภาษี 0.03%
– บ้าน มูลค่า 75-100 ล้านบาท คิดภาษี 0.05%
– บ้าน มูลค่ามากกว่า 100 ล้านบาท คิดภาษี 0.1%
จะเห็นว่าการคิดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างของบ้านนั้นค่อนข้างมีตัวเลขที่แน่ชัดอยู่แล้ว แต่จะต่างกันไปหากเป็นคอนโดมิเนียม เพราะจะเปลี่ยนเป็นการคิดแบบขั้นบันไดและใช้สูตรในการคำนวณด้วย
หลักการคำนวณภาษีคอนโดมิเนียม
การคิดภาษีของคอนโดมิเนียมจะมีรายละเอียดมากกว่า จำเป็นต้องใช้ข้อมูลทั้งการประเมินมูลค่าและขนาดของพื้นที่ แล้วนำมาเข้าสูตรสมการด้านล่างนี้ จากนั้นก็หักลบกับเงื่อนไขของแต่ละประเภทคอนโดมิเนียมอีกทีหนึ่งถึงจะได้จำนวนเงินที่ต้องจ่ายจริง
สูตรสำหรับคิดภาษีคอนโดมิเนียม
(ราคาประเมินต่อตารางเมตร x ขนาดพื้นที่ห้องชุด )=(มูลค่าของคอนโดมิเนียม x อัตราภาษีขั้นบันได)
โดยมีการจำแนกประเภทของคอนโดมิเนียมออกเป็น 3 กลุ่ม ซึ่งมีเงื่อนไขในการคิดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างต่างกัน ดังนี้
– คอนโดมิเนียมหลังแรก และมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน จะได้รับการยกเว้นภาษี 50 ล้านแรก
– คอนโดมิเนียมหลังที่ 2 เป็นต้นไป ไม่มีชื่อในทะเบียนบ้าน ให้คิดภาษีทั้งหมดไม่มีส่วนยกเว้น
– คอนโดมิเนียมปล่อยเช่า จะคิดภาษีทั้งหมดและคิดในอัตราที่สูงที่สุด
ทำอย่างไรเมื่อได้รับจดหมายภาษีที่ดิน
หลังจากได้รับจดหมายแจ้งภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างแล้ว ก็อย่าพึ่งตกใจไปว่าจะต้องเสียภาษีเท่าไร รายรับยังไม่ค่อยเพิ่มแต่รายจ่ายเพิ่มอีกแล้ว ให้ใจเย็น ๆ ก่อน อย่าลืมว่าคุณอาจจะอยู่ในกลุ่มที่ไม่ต้องเสียภาษีก็ได้ หรือถ้าเสียก็อาจจะไม่ได้มากอย่างที่คิดเอาไว้ เพราะมีส่วนที่ได้รับการยกเว้นอยู่ด้วย ให้ค่อย ๆ ทำตามขั้นตอนที่แนะนำดังต่อไปนี้
1. ตรวจสอบรายละเอียดในจดหมายแจ้งให้ครบถ้วน ส่วนนี้มีผลต่อการเสียภาษีของเราอย่างมาก เพราะการระบุประเภท ขนาดและการใช้ประโยชน์นั้นเป็นสิ่งที่จะถูกนำไปคิดภาษีตามเงื่อนไขทั้งหมด หากไม่ถูกต้องตามความเป็นจริงก็ต้องยื่นคำร้องเพื่อขอแก้ไข ยิ่งถ้าข้อมูลของประเภทที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างผิดเพี้ยนไป จากเดิมที่เราไม่ต้องภาษีกลับกลายเป็นว่าต้องเสียหรือเสียในอัตราที่สูงกว่าปกติ ก็ต้องรีบแก้ไขโดยด่วน
2. ตรวจสอบแบบประเมินภาษี ว่าข้อมูลที่มีการประเมินภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างมา ตรงตามมูลค่าของการใช้ประโยชน์จริงหรือไม่ ส่วนนี้สามารถยื่นขอแก้ไขได้เหมือนกันหากเห็นว่าไม่ถูกต้อง ในเบื้องต้นจะใช้แค่เลขบัตรประชาชนและประเภทของธุรกิจเท่านั้นในการยื่นเรื่อง และที่มีคำถามกันมากก็คือประเมินยังไงถ้าใช้ประโยชน์จากพื้นที่หลายแบบ ก็ให้คำนวณตามจริงได้เลย ใช้ทำอะไรในพื้นที่เท่่าไรก็คิดตามนั้น แล้วค่อยนำมารวมกัน
3. รอการชำระภาษี เมื่อตรวจข้อมูลทุกอย่างเรียบร้อยแล้ว ก็แค่รอเวลาให้ถึงวันที่ต้องไปเสียภาษี ซึ่งจากเดิมที่ต้องจ่ายกันตั้งแต่ช่วงเดือนเมษายน 2563 มีการเลื่อนกำหนดไปไว้ช่วงเดือนสิงหาคม 2563 แล้ว แต่ยังไงก็ต้องคอยติดตามข่าวสารกันเป็นระยะ ๆ
นอกจากนี้ยังสามารถจ่ายภาษีเป็นเงินก้อนครั้งเดียว หรือจะทำเรื่องขอผ่อนชำระเป็นงวด ๆ ไปก็ได้เหมือนกัน สูงสุดได้ 3 งวด และจ่ายงวดแรกพร้อมกับคนอื่น ๆ ที่จ่ายเต็มจำนวน ถ้ามีการละเลยไม่จ่ายเงินให้ครบถ้วน จะมีหนังสือแจ้งเตือนอีกครั้ง แต่ยังไม่มีชี้แจงว่ามีบทลงโทษอย่างไร
การดำเนินการเมื่อรายละเอียดในจดหมายภาษีที่ดินมีปัญหา
ปัจจุบันสามารถพบปัญหาในจดหมายแจ้งภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างได้หลายรูปแบบ แต่หลัก ๆ ก็คือข้อมูลที่ระบุมาไม่ถูกต้องตามความเป็นจริง เช่น ขนาดพื้นที่ไม่ถูกต้อง ประเภทการใช้สอยไม่ถูกต้อง ชื่อของเจ้าของบ้านไม่ถูกต้อง เป็นต้น
สิ่งที่ต้องรู้ก็คือการยื่นเรื่องแก้ไขข้อมูลเหล่านี้ต้องทำให้เสร็จสิ้นภายใน 15 วัน ไม่เช่นนั้นจะถือว่าข้อมูลถูกต้องแล้ว จะไปแก้ไขหลังจากนั้นก็ยังไม่มีรายละเอียดว่าทำได้หรือไม่ และทำได้อย่างไร
โดยในจดหมายที่ได้รับจะมีคิวอาร์โค้ด (QR Code) สำหรับการแจ้งขอเปลี่ยนแปลงข้อมูลอยู่ ซึ่งหลังจากแก้ไขมาเรียบร้อยแล้วก็อย่าลืมตรวจสอบอย่างละเอียดอีกครั้ง หากยังมีจุดผิดก็ต้องยื่นเรื่องแก้ไขกันอีก แต่คาดว่าจะดำเนินการได้รวดเร็วกว่าการแจ้งครั้งแรก เพราะมีข้อมูลพร้อมเอกสารต่าง ๆ อยู่ก่อนแล้ว
สำหรับผู้ที่คิดจะหาช่องโหว่เพื่อลดภาษีให้ตัวเอง ด้วยการขอระบุประเภทการใช้งานไม่ตรงตามความเป็นจริง ต้องบอกว่าได้ไม่คุ้มเสีย เมื่อมีการตรวจสอบอาจจะมีค่าปรับและมีปัญหาไปถึงภาษีเงินได้ส่วนอื่น ๆ ด้วย
สนใจรับบทความดีดี อัปเดต ข่าวอสังหาริมทรัพย์ และ อ่านคู่มือซื้อขาย พร้อม รีวิวโครงการคอนโดฯ ใหม่ บ้านใหม่ หลากหลายทำเลและราคา รวมถึง ทำความรู้จักกับทำเลฮอตทั่วกรุง เพื่อเพิ่มความมั่นใจในการซื้อ-ขาย-เช่า
ข้อจำกัดความรับผิดชอบ: ข้อมูลนี้จัดทำขึ้นเพื่อเป็นข้อมูลทั่วไปเท่านั้น DDproperty by PropertyGuru ซึ่งอยู่ภายใต้การดูแลของบริษัท ออลพร็อพเพอร์ตี้ มีเดีย จำกัด ไม่สามารถรับรองหรือรับประกันเกี่ยวกับข้อมูล รวมทั้งไม่สามารถรับรองหรือรับประกันใด ๆ เกี่ยวกับความเหมาะสม สำหรับวัตถุประสงค์เฉพาะใด ๆ ของข้อมูล ตามขอบเขตสูงสุดที่กฎหมายอนุญาต แม้ว่าเราได้พยายามอย่างเต็มที่ เพื่อให้แน่ใจว่าข้อมูลที่ให้ไว้ในบทความนี้ถูกต้อง เชื่อถือได้ และครบถ้วน ณ เวลาที่เขียน แต่ข้อมูลที่ให้ไว้ในบทความนี้ไม่ควรนำไปใช้ในการตัดสินใจทางการเงิน, การลงทุนอสังหาริมทรัพย์ หรือทางกฎหมายทันที ผู้อ่านไม่ควรใช้ข้อมูลในบทความ แทนคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญที่ผ่านการฝึกอบรมซึ่งสามารถพิจารณาข้อเท็จจริงและสถานการณ์ส่วนตัวของคุณได้ ทั้งนี้ เราไม่สามารถรับผิดชอบใด ๆ หากคุณเลือกที่จะนำข้อมูลไปใช้เพื่อประกอบการตัดสินใจ