รถไฟฟ้าสายสีทอง อัปเดตเส้นทางเดินรถ จุดเชื่อมต่อ และศักยภาพทำเล

DDproperty Editorial Team
รถไฟฟ้าสายสีทอง อัปเดตเส้นทางเดินรถ จุดเชื่อมต่อ และศักยภาพทำเล
รถไฟฟ้าสายสีทอง หรือรถไฟฟ้าสถานีกรุงธนบุรี-สำนักงานเขตคลองสาน-สะพานพุทธ เป็นโครงการขนส่งมวลชนบนพื้นที่ฝั่งธนบุรี แม้ว่าจะเป็นรถไฟฟ้าสายสั้น ๆ ที่มีระยะทางทั้งสิ้นเพียง 2.8 กิโลเมตร แต่ก็ช่วยให้ทำเลที่รถไฟฟ้าสายสีทองพาดผ่านมีศักยภาพเพิ่มขึ้น ลองมาทำความรู้รถไฟฟ้าสายนี้ทั้งเส้นทางเดินรถ จุดเชื่อมต่อ และศักยภาพที่รถไฟฟ้าสายนี้ทำให้เกิดขึ้น

เส้นทางรถไฟฟ้าสายสีทอง

รถไฟฟ้าสายสีทอง ถือเป็นโครงการระบบขนส่งมวลชนขนาดรอง เดิมทีสำนักการจารจรร่วมกับขนส่งกรุงเทพมหานคร ได้ริเริ่มพัฒนารถไฟฟ้าขนาดรองเมื่อปี พ.ศ. 2552 เพื่อแก้ไขปัญหาการสร้างรถไฟฟ้าสายหลัก รวมทั้งเน้นขยายเส้นทางการคมนาคมไปยังพื้นที่ชุมชนและเศรษฐกิจ โดยย่านคลองสานถือว่ามีการเติบโตในแง่ของการค้าขายและการลงทุนโครงการต่าง ๆ ที่น่าสนใจ ถือได้ว่าเป็นศูนย์รวมของศูนย์การค้า ศาสนา และการปกครองของฝั่งธนบุรี จึงได้อนุมัติและริเริ่มให้มีการก่อสร้างเส้นทางรถไฟฟ้ารอง สายสีทอง เมื่อปี พ.ศ. 2560
เส้นทางรถไฟฟ้าสายสีทอง
ระบบรถไฟฟ้าที่ใช้ในรถไฟฟ้าสายสีทองนั้นคือ รถไฟฟ้ารุ่น Bombardier Innovia APM 300 ซึ่งเป็นระบบไร้คนขับสายแรกของประเทศ ใช้รางเบานำทางไป มีความเร็วสูงสุด 80 กิโลเมตร/ชั่วโมง รถไฟฟ้ารุ่นนี้มีทั้งหมด 3 ขบวน ขบวนละ 2 ตู้ โดยหนึ่งตู้จุผู้โดยสารได้ 138 คน หนึ่งขบวนจุผู้โดยสารได้ 276 คน และรองรับผู้โดยสารได้มากถึง 4,200 คน/ชั่วโมง/ทิศทาง จะนำมาใช้รับส่งผู้โดยสารจำนวน 2 ขบวน และสำรองในระบบ 1 ขบวน แนวเส้นทางและจุดเชื่อมต่อโครงข่ายของรถไฟฟ้าสายสีทองมีรายละเอียด ดังนี้

สถานีรถไฟฟ้าสายสีทองมี 4 สถานี

สถานี
รายละเอียด
กรุงธนบุรี
อยู่บนเกาะกลาง ถ.กรุงธนบุรี (เชื่อมต่อกับ BTS กรุงธนบุรี)
เจริญนคร
ตั้งอยู่บริเวณสะพานข้ามคลองวัดทองเพลง (เชื่อมต่อไอคอนสยาม)
คลองสาน
ตั้งอยู่เยื้องโรงพยาบาลตากสิน (มี Sky Walk เข้าโรงพยาบาล)
ประชาธิปก
ตั้งอยู่ระหว่าง ซ.สมเด็จเจ้าพระยา 6 กับ 8
แนวเส้นทางของโครงการรถไฟฟ้าสายสีทองแบ่งออกเป็น 2 ระยะ 4 สถานี รวมระยะทางของสถานีรถไฟฟ้าสายสีทองทั้งสิ้น 2.8 กิโลเมตร ประกอบด้วย
ระยะที่ 1 ระยะทาง 1.8 กิโลมตร เริ่มวิ่งตั้งแต่รถไฟฟ้า BTS กรุงธนบุรี (S7) มาตามแนวถนนกรุงธนบุรี เลี้ยวเข้าถนนเจริญนคร ผ่านวัดสุวรรณ ไอคอนสยาม สำนักงานเขตคลองสาน เลี้ยวซ้ายเข้าถนนสมเด็จเจ้าพระยา ผ่านโรงพยาบาลตากสิน และสิ้นสุดที่สถานีคลองสาน รายละเอียดเส้นทางของแต่ละสถานีประกอบด้วย
– สถานีกรุงธนบุรี (G1) มุ่งไปทิศตะวันออกบนเกาะกลางถนนกรุงธนบุรี เข้าถนนเจริญนครและเข้าสู่สถานีเจริญนคร ทางขึ้นลงมี 3 จุด ได้แก่ บริเวณเยื้องโครงการ Hive Sathorn บริเวณเยื้องโครงการ Villa Sathorn และบริเวณทางออกที่ 4 ของรถไฟฟ้า BTS กรุงธนบุรี
– สถานีเจริญนคร (G2) ตั้งอยู่แถวสะพานข้ามคลองวัดทองเพลง มุ่งไปยังแยกคลองสาน เข้าถนนสมเด็จเจ้าพระยาและเข้าสู่สถานีคลองสาน ทางขึ้นลงมีทั้ง 4 จุด ได้แก่ บริเวณสะพานข้ามคลองวัดทองเพลงกับซอยเจริญนคร 6 บริเวณซอยเจริญนคร 6 กับซอยเจริญนคร 4 หน้าศูนย์การค้าไอคอนสยามใกล้ประตู SIAM Takashimaya และบริเวณหน้าไอคอนสยามเยื้องฝั่งซอยเจริญนคร 5
– สถานีคลองสาน (G3) ตั้งอยู่เยื้องโรงพยาบาลตากสิน เดินเข้าสู่โรงพยาบาลได้ด้วย Sky Walk ทางขึ้นลงมี 4 จุด ได้แก่ หน้าโรงพยาบาลตากสินเยื้องสำนักงานเขตคลองสาน Sky Walk เข้าสู่โรงพยาบาลตากสิน ลิฟต์หน้าโรงพยาบาลใกล้ป้ายรถเมล์ และบริเวณบันไดวนฝั่งถนนลาดหญ้า
ระยะที่ 2 ระยะทาง 0.9 กิโลเมตร เริ่มวิ่งตามแนวถนนสมเด็จเจ้าพระยา ผ่านนสถาบันจิตเวชศาสตร์ฯ โรงเรียนจันทรวิทยา และสิ้นสุดแถววัดอนงคารามวรวิหาร รายละเอียดของเส้นทางประกอบด้วย
– สถานีประชาธิปก (G4) ตั้งอยู่ระหว่างซอยสมเด็จเจ้าพระยา 6 กับซอยสมเด็จเจ้าพระยา 8 ทางขึ้นลงมี 3 จุด ได้แก่ บริเวณซอยสมเด็จเจ้าพระยา 3 กับ 5 บริเวณซอยสมเด็จเจ้าพระยา 6 กับ 4 และบริเวณซอยสมเด็จเจ้าพระยา 6 กับ 4 เยื้องวัดอนงคาราม

รถไฟฟ้าสายสีทองมีจุดเชื่อมต่อรถไฟฟ้า 3 สาย

นอกจากนี้ รถไฟฟ้าสายสีทองยังเชื่อมต่อกับโครงข่ายรถไฟฟ้าสายหลักอีก 3 สาย ได้แก่
– รถไฟฟ้าสายสีเขียว หรือรถไฟฟ้า BTS สายสีลม บริเวณสถานี BTS กรุงธนบุรี (G1)
รถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ เชื่อมต่อกับสถานีประชาธิปก (G4)
รถไฟฟ้าสายสีแดง ช่วงหัวลำโพง-บางบอน-มหาชัย เชื่อมต่อกับสถานีคลองสาน (G3)
รถไฟฟ้าสายสีทอง รถไฟฟ้าไร้คนขับสายแรกของไทย

ความคืบหน้าของโครงการรถไฟฟ้าสายสีทอง

โครงการรถไฟฟ้าสายสีทอง เปิดให้บริการเต็มรูปแบบวันที่ 16 ธันวาคม 2563 โดยในช่วงแรกจะให้บริการฟรี ก่อนจะเก็บอัตราค่าโดยสาร 15 บาทตลอดสาย และตั้งเป้าว่าจะให้บริการผู้โดยสารปีแรกเฉลี่ยวันละ 42,260 เที่ยว

รถไฟฟ้าสายสีทองเสริมศักยภาพทำเล

หากรถไฟฟ้าสายสีทองเปิดให้บริการเต็มรูปแบบ สภาพความเป็นอยู่และการคมนาคมในย่านที่รถไฟฟ้าพาดผ่านย่อมเปลี่ยนแปลงจากเดิมไม่น้อย แน่นอนว่าปริมาณและความหนาแน่นของการจราจรบนท้องถนนอาจกระจายตัวมากขึ้น ผู้คนทั่วไปสัญจรไปมาได้สะดวกขึ้น เพราะเข้าถึงระบบขนส่งมวลชนที่เชื่อมต่อรถไฟฟ้าสายหลัก ทำให้เดินทางสู่ย่านธุรกิจใจกลางเมือง หรือ CBD ได้รวดเร็ว ประหยัดทั้งเวลาและค่าใช้จ่ายในการเดินทาง
นอกจากนี้ ยังช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เพราะระบบเดินรถของรถไฟฟ้าสายสีทองนั้นใช้ระบบรางนำทาง ล้อและทางวิ่งเป็นยาง ทำให้เกิดเสียงขณะวิ่งรถน้อยกว่าเมื่อเทียบกับรถไฟฟ้าระบบอื่น ช่วยลดมลพิษทางเสียง และได้มาตรฐานด้านความปลอดภัย เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
แต่หากพิจารณาในมุมเศรษฐกิจ แนวเส้นทางของรถไฟฟ้าสายนี้ก็ถือว่าเป็นทำเลที่น่าลงทุนสำหรับผู้มองหาที่อยู่อาศัยและนักลงทุนอสังหาริมทรัพย์ เพราะรายล้อมไปด้วยสถานที่สำคัญที่อาจกลายมาเป็นแลนมาร์คแห่งใหม่ของฝั่งธนบุรี โดยราคาที่ดินเปล่าตามแนวเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีทองพุ่งขึ้นเฉลี่ยปีละ 24.8% ติด 1 ใน 5 ทำเลแนวรถไฟฟ้า ราคาที่ดินพุ่ง เมื่อปี 2559-2560
โดยล่าสุดพบว่า ที่ดินแนวถนนเจริญนครเพิ่มสูงขึ้นจากเดิมมาก หากเป็นที่ดินติดริมแม่น้ำเจ้าพระยา ราคาพุ่งไปกว่า 500,000 บาทต่อตารางวาแล้ว ส่วนที่ดินไม่ติดริมแม่น้ำเจ้าพระยาราคาไม่ต่ำกว่า 300,000 บาทต่อตารางวา สามารถเช็กราคาประเมินที่ดินแยกตามเขตได้บนเว็บไซต์กรมธนารักษ์
จากศักยภาพของทำเลนอกจากจะทำให้มีโครงการคอนโดมิเนียมเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องแล้ว ทางภาคเอกชนอย่างสยามพิวรรธน์เตรียมผุดโครงการสร้าง "ไอคอนสยาม เฟส 2" ขึ้นมา อยู่ตรงข้ามกับสถานีรถไฟฟ้าสายสีทอง โดยโครงการดังกล่าวมีทั้งโรงแรมในเครือฮิลตัน รูฟท็อปบาร์ ห้องประชุม ฟิตเนส Co-Working Space และร้านค้าอีกมากมาย คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2564 นี่จึงเป็นหมุดหมายแห่งใหม่ที่นักลงทุนและเจ้าของธุรกิจจะเข้ามาจับจองทำกิจการอยู่ไม่น้อยในอนาคต
จะเห็นได้ว่ารถไฟฟ้าสายสีทอง ได้ส่งผลต่อศักยภาพของทำเลที่รถไฟฟ้าพาดผ่าน เช่น คลองสาน หรือเจริญกรุง ทำให้เกิดที่อยู่อาศัยใหม่ ๆ โรงแรม ร้านค้า ร้านอาหาร และแหล่งช้อปปิ้ง และส่งผลต่อราคาที่ดินที่มีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จึงไม่มีเหตุผลที่นักลงทุนหรือผู้มองหาที่อยู่อาศัยจะลองเก็บทำเลแถบรถไฟฟ้าสายสีทองไว้ในลิสต์ของตัวเอง
สนใจรับบทความดีดี อัปเดต ข่าวอสังหาริมทรัพย์ และ อ่านคู่มือซื้อขาย พร้อม รีวิวโครงการคอนโดฯ ใหม่ บ้านใหม่ หลากหลายทำเลและราคา รวมถึง ทำความรู้จักกับทำเลฮอตทั่วกรุง เพื่อเพิ่มความมั่นใจในการซื้อ-ขาย-เช่า

คำนวณยอดผ่อนต่อเดือนตามระยะเวลากู้

เพียงใส่ยอดเงินกู้ที่คุณต้องการ เราจะคำนวณให้คุณเห็นถึงยอดผ่อนชำระต่อเดือนตามระยะเวลาผ่อนและอัตราดอกเบี้ยที่แตกต่างกัน

คำนวณยอดผ่อนต่อเดือน

คำนวณยอดผ่อนชำระต่อเดือนตามอัตราดอกเบี้ยของคุณด้วยเครื่องมือคำนวณสินเชื่อนี้

คำนวณวงเงินกู้สูงสุด

คำนวณสินเชื่อบ้าน ยอดวงเงินกู้บ้านใหม่ที่คาดว่าจะได้รับจากแบงก์และยอดผ่อนชำระในแต่ละเดือน