วิธีแก้ปัญหา หลังบ้านเป็นบ่อน้ำ คือหนึ่งในคำถามที่เจ้าของบ้านมีหลังบ้านเป็นบ่อน้ำต้องการหาคำตอบมากที่สุด เพราะนอกจากผิดหลักฮวงจุ้ยที่เชื่อกันว่าจะส่งผลไม่ดีต่อผู้อาศัยแล้ว ในทางวิทยาศาสตร์ยังอาจทำให้บ้านทรุดได้อีกด้วย ดังนั้นการแก้ปัญหา หลังบ้านเป็นบ่อน้ำ มีวิธีใดบ้าง ไปดูกันเลย
อ่านหัวข้อที่คุณสนใจ
ปัญหาหลังบ้านเป็นบ่อน้ำ ในด้านสายมูและสายวิทย์
– ด้านฮวงจุ้ย
สำหรับความเชื่อในด้านฮวงจุ้ยนั้น การที่บริเวณหลังบ้านมีบ่อหน้าหรือสระน้ำ จะส่งผลลบด้านการเงินและการงานของผู้อาศัยหรือเจ้าของบ้าน ไม่ว่าจะเป็น การเงินล้มเหลว ติดหนี้มากมาย หน้าที่การงานไม่ก้าวหน้า รวมถึงมีสุขภาพไม่ดี เจ็บไข้ได้ป่วยบ่อยๆ
– ด้านวิทยาศาสตร์
ในทางวิทยาศาสตร์ บ้านที่อยู่ใกล้สระน้ำหรือบ่อน้ำ มีโอกาสพบปัญหาดินทรุดตัวสูง เพราะถ้าหากมีการ
สูบน้ำออกจากบ่อขนาดใหญ่ มีการขุดคลองด้านข้าง หรือขุดดินออกเป็นปริมาณมาก ก็อาจจะทำให้พื้นที่ดินมีการทรุดตัวเกิดขึ้น และส่งผลกระทบกับโครงสร้างของบ้านได้นั่นเอง
วิธีแก้ปัญหา หลังบ้านเป็นบ่อน้ำ
การแก้ปัญหา หลังบ้านเป็นบ่อน้ำ มีดังนี้
1. ถมดิน
การถมดินบ่อน้ำแตกต่างจากการถมดินทั่ว ๆ ไป และแตกต่างกันตามสภาพของบ่อน้ำ เช่น บ่อน้ำตื้น ๆ การถมดินจะทำได้ง่าย เพียงสูบน้ำออก และทิ้งระยะเวลาว่ามีน้ำผุดขึ้นมาอีกหรือไม่ ถ้าไม่มีก็สามารถถมดินและบดอัดได้
แต่หากเป็นบ่อลึก หรือเป็นแอ่งน้ำ จะต้องสูบน้ำออก ก่อนจะถมดิน โดยต้องดูคุณภาพของการถมดิน หากถมดินไม่ดี หรือไม่ตากดินให้ดินมีความแน่นมากเพียงพอ จะมีปัญหาทรุดตัวภายหลัง
วิธีคำนวณปริมาณดินเบื้องต้น
วิธีการคำนวณค่าถมดินเบื้องต้นนั้น สามารถคำนวณได้ดังนี้
ขนาดที่ดิน (ตารางเมตร) x ความสูง = ปริมาณดิน (คิว)
ยกตัวอย่าง ที่ดินขนาด 100 ตารางวา คำนวณเป็นตารางเมตร 100 x 4 = 400 ตารางเมตร หากต้องการถมดินสูง 1 เมตร ก็จะเป็น
400 x 1 = 400 คิว
400 x 1 = 400 คิว
หากคำนวณเผื่อค่าบดอัดดินที่จะยุบตัวลง อาจจะต้องเพิ่มอีกประมาณ 80 คิว รวมเป็น 480 คิว
ราคาถมที่ดิน 1 คิวจะอยู่ที่ประมาณ 280 บาท หากถมที่ดิน 480 จะอยู่ที่ประมาณ 130,000-140,000 บาท
การถมดินและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
ถมดินอย่างไรไม่ให้ผิดกฎหมาย ดูข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องจากผู้เชี่ยวชาญได้ที่นี่
2. ทำกำแพงกันดิน
กำแพงกันดิน เป็นโครงสร้างเพื่อต้านทานแรงดันทางด้านข้างของมวลดิน และน้ำ หรือโคลน รวมทั้งแรงกดทับต่าง ๆ ที่มาจากด้านบน ซึ่งทำให้เกิดดินสไลด์ และเกิดการทรุดตัวของดิน
วัสดุที่นิยมใช้ในการทำกำแพงกันดิน คือ เหล็กชีทไพล์, ซีเมนต์บล็อก และคอนกรีตเสริมเหล็กอัดแรง
อย่างไรก็ตาม ควรปรึกษาวิศวกรที่ชำนาญในด้านการก่อสร้างกำแพงดินให้ดีก่อน เนื่องจากต้องมีการประเมินสภาพพื้นที่ก่อสร้าง และการคำนวณแรงดันของดินที่ถูกต้องแม่นยำ
ส่วนในทางฮวงจุ้ยนั้นแนะนำว่าในกรณีที่ไม่สามารถถมบ่อได้ ให้ปลูกต้นไม้แบบพุ่มรอบ ๆ ตัวสระ เพื่อบังตาไว้ ไม่ให้มองเห็นบ่อน้ำได้ถนัด แล้วหากระจกเงามาติดที่ตัวบ้านในมุมที่สะท้อนไปยังบ่อน้ำพอดีด้วย
สาเหตุและวิธีป้องกันบ้านทรุด
ปัญหาบ้านทรุดสามารถเกิดขึ้นได้กับบ้านทุกหลัง และมาจากหลายสาเหตุ นอกจากปัญหา หลังบ้านเป็นบ่อน้ำแล้ว ยังมีอีกหลายปัจจัยที่ทำให้บ้านทรุดด้วยเช่น
1. สภาพพื้นดิน
สภาพพื้นที่ดินที่มีความอ่อน ความแข็ง ความหนาแน่น และการยุบตัวที่แตกต่างกันตามโครงสร้างและส่วนประกอบของเนื้อดิน ส่งผลต่อการทรุดตัวของบ้านด้วย ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนคือพื้นดินในเขตกรุงเทพฯ ซึ่งมีลักษณะพื้นดินเป็นตะกอนดินเหนียวปากแม่น้ำ มีความอ่อนนุ่มและทรุดตัวง่าย จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้พื้นดินในเขตกรุงเทพฯ ทรุดตัวง่ายกว่าจังหวัดอื่น
นอกจากนี้ บ้านจัดสรรในย่านชานเมือง ก็มักจะตั้งอยู่บนที่ดินที่เคยเป็นบ่อปลา หรือพื้นที่ที่เคยขุดหน้าดินไปถมที่อื่นมาก่อน ดินถมใหม่จึงทรุดตัวง่ายกว่าพื้นดินธรรมชาติ เป็นสาเหตุที่บ้านในย่านชานเมืองมีปัญหาบ้านทรุดให้เห็นอยู่บ่อยครั้ง
2. ระบบฐานราก
ฐานรากเป็นส่วนสำคัญที่จะบ่งชี้ว่าบ้านทรุดตัวยากหรือง่าย หากเสาเข็มหยั่งลึกไม่ถึงชั้นดินดาน หรือแตกหักภายในชั้นดิน หรือตั้งไม่ตรงกับเสาบ้าน หรือเสาเข็มแต่ละด้านหยั่งอยู่บนดินที่ต่างชนิดกัน ปัญหาเหล่านี้เกิดจากการวางแผนก่อสร้างที่ไม่ได้มาตรฐาน และไม่ตรวจสอบชั้นดินให้ดีก่อนลงเสาเข็ม ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้บ้านทรุดเอียงง่ายขึ้น
3. น้ำหนักบ้าน
โครงสร้างบ้านนั้นถูกออกแบบให้รองรับน้ำหนักได้ประมาณหนึ่ง ซึ่งเพียงพอต่อการอยู่อาศัยตามปกติ แต่ถ้ามีน้ำหนักมากดทับมากเกินไป เช่น มีการต่อเติมบ้าน ทำชายคา ต่อหลังคาโรงจอดรถ หรือมีสิ่งของน้ำหนักมากเข้ามาเก็บในบ้าน น้ำหนักที่มากขึ้นก็เป็นสาเหตุบ้านทรุดตัวได้

สัญญาณที่บ่งบอกว่าบ้านทรุด
วิธีสังเกตว่าบ้านทรุดแล้วหรือยัง สามารถสังเกตจากสิ่งเหล่านี้ได้
1. รอยร้าวบนตัวบ้าน
รอยร้าวในบ้านมีทั้งแบบอันตรายและไม่อันตราย หากเป็นรอยร้าวแตกลายงาของผิวปูนฉาบและสี ก็ยังพอวางใจได้ แต่ถ้ามีรอยร้าวขนาดใหญ่บนผนังหรือเสา หรือรอยร้าวในลักษณะบ้านทรุดไม่เท่ากัน จนผนังแยกตัวออกจากกันในแนวทแยงมุม รอยร้าวเหล่านี้คือสัญญาณอันตรายที่กำลังบ่งบอกว่าโครงสร้างมีปัญหา
2. พื้นดินยุบเป็นโพรง
ลองสำรวจพื้นดินรอบ ๆ ผนังบ้าน หากมีพื้นดินที่ยุบตัวจนเห็นโพรงใต้บ้าน ก็เป็นสัญญาณที่บ่งบอกว่าพื้นดินรอบบ้านกำลังทรุดตัว แต่จะกระทบกับตัวบ้านมากหรือน้อย ก็ขึ้นอยู่กับความมั่นคงของเสาเข็ม โดยมักจะมีปัญหากับพื้นปูนที่ไม่มีเสาเข็ม เช่น พื้นที่ซักล้างหลังบ้าน พื้นปูนทางเดินข้างบ้าน หรือพื้นลานจอดรถ นอกจากนี้ ดินที่ยุบเป็นโพรงก็อาจกลายเป็นที่อยู่อาศัยของหนูหรืองูอีกด้วย
ส่วนต่าง ๆ ของบ้าน | สัญญาณบ้านทรุด |
เสา | รอยร้าวบนเสา |
ผนัง | รอยร้าวบนผนัง แยกตัวเป็นแนวทแยงมุม |
พื้นดิน | ยุบตัวเห็นโพรงใต้บ้าน |
พื้นที่ซักล้าง ทางเดินเข้าบ้าน ลานจอดรถ | ทรุดตัว |
3 วิธีป้องกันบ้านทรุด
ในกรณีที่พบโพรงใต้บ้านหรือพบรอยแตกร้าวที่ยังไม่มากนัก เราสามารถป้องกันบ้านทรุดได้ดังนี้
1. ทำแผงป้องกันดินไหล
ถ้าพบว่าโพรงใต้บ้านมีขนาดใหญ่ขึ้นและมีดินไหลลงไป สามารถป้องกันและแก้ไขได้ด้วยการอุดปิดโพรงด้วยแผ่นพื้นคอนกรีต แผ่นพื้นสำเร็จ แผ่นโฟม หรือแผ่นเหล็กผิวเรียบ โดยวิธีการปรับแก้เริ่มขุดดินโดยรอบโพรงให้ลึกกว่าดินใต้ตัวบ้าน จากนั้นนำแผ่นวัสดุมาเสียบในดินให้แน่น (ลึกประมาณ 50-80 เซนติเมตร) อาจก่ออิฐปิดทับอีกชั้น เพื่อกันดินจากด้านนอกไหลเข้าไปในโพรง
2. เติมดินและทราย
ในกรณีที่เป็นโพรงใหญ่และเพิ่งเริ่มทรุดตัว สามารถป้องกันบ้านทรุดได้ด้วยการเติมดินหรือทราย โดยขุดรอบ ๆ รอยแยกให้เห็นแนวโพรง แล้วอัดดินหรือฉีดน้ำไล่ทรายเข้าไป เสร็จแล้วถมดินรอบบ้านให้สูงขึ้นจนเลยโพรงใต้บ้าน ขณะเดียวกันตอนอัดดินก็ต้องระวังเรื่องการกระทบระบบท่อต่าง ๆ ใต้อาคารและการเพิ่มน้ำหนักให้โครงสร้างบ้านด้วย
3. การซ่อมรอยต่อระหว่างผนัง
ในกรณีที่ไม่พบโพรงใต้ดิน แต่ตัวบ้านเริ่มมีรอยแยกระหว่างผนังบ้าน วิธีป้องกันเบื้องต้นคือนำปูนทรายมาอุดฉาบบริเวณรอยร้าว แต่ถ้าต้องการป้องกันบ้านทรุดในระยะยาว แนะนำว่าควรตัดรอยต่อของผนังทั้งแนวให้แยกขาดออกจากกันทั้งด้านในและด้านนอก เพื่อป้องกันการดึงโครงสร้างหลักให้ทรุดตัว หลังจากนั้นให้อุดรอยต่อด้วยวัสดุที่มีความยืดหยุ่นสูงแทน
บ้านทรุด 3 สาเหตุและสัญญาณเตือนบ้านทรุด รุดแก้ก่อนบ้านพัง
บ้านทรุดเรื่องที่อาจเกิดขึ้นได้กับบ้านคุณ เกิดจากอะไรดูได้ที่นี่
3 วิธีแก้ไขปัญหาบ้านทรุด
ถ้าหากปัญหาบ้านทรุดยากเกินจะป้องกันด้วยตนเอง ก็ควรแจ้งผู้ที่มีหน้าที่รับผิดชอบ เช่น เจ้าของโครงการที่อยู่อาศัย เพื่อทำการแก้ไข หรือใช้บริการจากผู้เชี่ยวชาญด้านนี้โดยเฉพาะ
1. ติดต่อเจ้าของโครงการ
ในกรณีที่ซื้อบ้านใหม่ เจ้าของโครงการหรือผู้ขายจะรับประกันโครงสร้างบ้าน คือ หลักประกันความปลอดภัยและคุณภาพของสิ่งปลูกสร้างที่ได้ตกลงทำสัญญาซื้อขายกันอย่างถูกต้องตามกฎหมาย โดยทั่วไปแล้วจะมีระยะเวลาอย่างน้อย 5 ปี หรือกำหนดระยะเวลาและเงื่อนไขภายใต้กฎหมายกำหนดไว้ ซึ่งรวมอยู่ในกฎหมายแพ่งและพาณิชย์และพระราชบัญญัติที่ดินที่คุ้มครองอยู่
เมื่อทำสัญญาซื้อขายบ้าน ผู้ขายจะระบุเงื่อนไขต่าง ๆ ไว้อย่างชัดเจน เพื่อรับประกันว่ารับผิดชอบและซ่อมแซมในกรณีที่เกิดความเสียหายในส่วนต่าง ๆ ของบ้าน
หากว่าเจ้าของบ้านไม่ได้ทำการต่อเติมบ้านที่ผิดเงื่อนไขการรับประกัน ก็สามารถเรียกร้องให้ผู้ขายดำเนินการแก้ไขปัญหาบ้านทรุดได้ หากผู้ขายไม่ดำเนินการแก้ไขปัญหา เจ้าของบ้านสามารถแจ้งสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) หรือฟ้องศาลแพ่งเพื่อเรียกร้องค่าเสียหาย หรือฟ้องศาลอาญาเพื่อเอาผิดฐานฉ้อโกงได้
2. ปรึกษาวิศวกรก่อสร้าง
ในกรณีที่เป็นบ้านเก่าหรือหมดประกันแล้ว หากบ้านทรุดควรติดต่อบริษัทผู้เชี่ยวชาญหรือวิศวกรก่อสร้างให้เข้ามาวิเคราะห์สาเหตุและหาทางแก้ไขปัญหาให้ตรงจุด ซึ่งอาจต้องขุดพื้นดินเพื่อซ่อมฐานราก หรือใช้เสาดามเพื่อค้ำยันตัวบ้านด้านที่ทรุดเอียง
โดยวิธีการซ่อมบ้านทรุดนั้นมีหลายแบบ ขึ้นอยู่กับลักษณะและความรุนแรงของปัญหาที่พบ ดังนั้นจึงไม่ควรใช้บริการจากช่างรับเหมาก่อสร้างทั่วไป เพราะไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญโดยตรง อาจแก้ไขได้ไม่ตรงจุด
3. ดีดบ้านเพื่อปรับฐานราก
ในกรณีที่พื้นดินทรุดตัวหนักหรือฐานรากเสียหายจนเกินซ่อมแซม ยังมีอีกวิธีหนึ่งที่ช่วยแก้ปัญหาบ้านทรุดได้แบบไม่ต้องทุบทิ้ง นั่นก็คือ การดีดบ้าน ด้วยการตัดบ้านออกจากฐานรากเดิม แล้วยกขึ้นจนลอยตัวเพื่อรื้อฐานรากใหม่ ก่อนจะประกบตัวบ้านให้ติดกับฐานรากใหม่
อย่างไรก็ตามการดีดบ้านจะมีค่าบริการที่ค่อนข้างสูงมาก บ้านยิ่งใหญ่ ยิ่งหนัก ก็ยิ่งทำได้ยาก และต้องดำเนินการโดยบริษัทผู้เชี่ยวชาญเท่านั้นจึงจะปลอดภัย
ยกบ้าน ทำในกรณีไหนบ้าง แนะ 6 ขั้นตอนยกบ้านจากวิศวกรรมสถานฯ
ดีดบ้านหรือยกบ้านคืออะไร ช่วยแก้ปัญหาอะไรได้บ้าง หาคำตอบได้ที่นี่
การแก้ปัญหา หลังบ้านเป็นบ่อน้ำ ที่ยั่งยืนที่สุดเพื่อป้องกันปัญหาบ้านทรุดในอนาคตคือ 3 วิธีที่กล่าวไป และที่สำคัญคือเมื่อพบปัญหาก็ควรแก้อย่างเร่งด่วน เพื่อป้องกันปัญหาบ้านทรุดที่ลุกลามจนแก้ได้ยากและมีค่าใช้จ่ายสูงตามไปด้วย
สนใจรับบทความดีดี อัปเดต ข่าวอสังหาริมทรัพย์ และ อ่านคู่มือซื้อขาย พร้อม รีวิวโครงการคอนโดฯ ใหม่ บ้านใหม่ หลากหลายทำเลและราคา รวมถึง ทำความรู้จักกับทำเลฮอตทั่วกรุง เพื่อเพิ่มความมั่นใจในการซื้อ-ขาย-เช่า