คำนวณภาษี 2 ประเภท ภาษีเงินได้ และภาษีที่ดิน ให้เป็นก่อนให้เช่า

DDproperty Editorial Team
คำนวณภาษี 2 ประเภท ภาษีเงินได้ และภาษีที่ดิน ให้เป็นก่อนให้เช่า
ก่อนจะฝันหวานถึงรายได้ก้อนงามจากการลงทุนซื้อคอนโดมิเนียมเพื่อปล่อยเช่า อย่าลืมนึกถึงรายจ่ายระหว่างทางที่ต้องนำมาหักลบกับรายรับ โดยเฉพาะภาษีที่ต้องจ่ายให้ถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งเจ้าของคอนโดให้เช่าต้องเสียภาษีหลัก 2 ประเภท ได้แก่ ภาษีเงินได้ และภาษีโรงเรือน
แม้เราจะไม่ได้ทำสัญญาเช่า หรือรับเงินแบบนอกระบบ โดยไม่มีหลักฐานหรือใบเสร็จใด ๆ ที่เป็นหลักฐานให้ตรวจสอบได้ แต่เราก็ไม่อาจจะวางใจได้ว่าจะรอดปลอดภัยจากการตรวจสอบได้
เนื่องจากเคยมีกรณีที่กรมสรรพากรติดต่อสอบถามผู้เช่าจากเบอร์โทรที่แจ้งประกาศให้เช่าคอนโดไว้ ทำให้ผู้เช่าที่ตั้งใจหลบเลี่ยงภาษีต้องจ่ายเงินเสียภาษีย้อนหลังจำนวนมาก

5 วิธีปล่อยเช่าบ้าน คอนโดฯ แบบมืออาชีพ

ดังนั้น ทางที่ดีเราจึงควรดำเนินการต่าง ๆ ให้ถูกต้องตั้งแต่เริ่มแรก ไม่ว่าจะเป็นการทำสัญญาเช่า การออกหลักฐานหรือใบเสร็จรับเงิน การยื่นแจ้งอสังหาริมทรัพย์ให้เช่า รวมถึงการเสียภาษีตามกฎหมาย
ลองทำความเข้าใจวิธีการคำนวณภาษีเงินได้และภาษีโรงเรือน เพื่อคาดการณ์รายได้สุทธิหลังหักภาษีในแต่ละปีด้วยตัวเอง

ภาษีเงินได้

ภาษีเงินได้จากการให้เช่าทรัพย์สินถือเป็นภาษีเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(5) เช่น (ก)การให้เช่าบ้าน โรงเรือน สิ่งปลูกสร้างอย่างอื่นหรือแพ เป็นต้น
เมื่อมีรายได้ดังที่กล่าวมาผู้มีเงินได้ต้องนำไปรวมกับเงินได้อื่น ๆ (ถ้ามี) และนำไปยื่นเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ได้แก่ ภาษีช่วงกลางปี (มกราคม-มิถุนายน) ซึ่งเรียกว่า ภ.ง.ด.94 ชำระภายในเดือนกันยายน และยื่นภาษีสิ้นปีหรือแบบ ภ.ง.ด.90 ภายในเดือนมีนาคมของปีต่อไป

วิธีการคำนวณแบ่งเป็น 2 ลักษณะ ได้แก่ วิธีเงินได้สุทธิ และวิธีเงินได้พึงประเมิน

1. วิธีเงินได้สุทธิ
วิธีการคำนวณเงินได้สุทธิจะคำนวณจากเงินทั้งหมดที่ได้รับ ประกอบด้วย รายได้ค่าเช่า และค่าเฟอร์นิเจอร์รวมกัน โดยนำมาหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อน ตามสูตรดังนี้

(รายได้ – ค่าใช้จ่าย – ค่าลดหย่อน) x อัตราภาษี

สำหรับการปล่อยเช่าคอนโด ในปัจจุบันสามารถเลือกหักค่าใช้จ่ายได้ 2 วิธี โดยสามารถเลือกวิธีการหักที่ต่างกันได้ในแต่ละปี
วิธีหักค่าใช้จ่ายหักค่าใช้จ่าย
หักค่าใช้จ่ายเหมาในอัตรา 30% สำหรับผู้ที่เป็นเจ้าของคอนโดให้เช่าสามารถหักค่าใช้จ่าย 30% ของยอดรายได้
หักค่าใช้จ่ายจริงตามความจำเป็นและสมควร สำหรับผู้ที่เตรียมเอกสารไว้เรียบร้อยและประเมินค่าใช้จ่ายของตัวเองไว้ว่าน่าจะสูงกว่า 30% ของรายได้ โดยวิธีนี้สามารถนำภาษีโรงเรือนมาหักเป็นค่าใช้จ่ายได้
2. วิธีเงินได้พึงประเมิน
ในกรณีที่รายได้จากการให้เช่าคอนโด และรายได้อื่นที่ไม่ใช่เงินเดือนรวมกันมีรายได้มากกว่า 1 ล้านบาทต่อปี เราสามารถใช้วิธีเงินได้พึงประเมิน ตามสูตรดังนี้

รายได้ค่าเช่าทั้งหมด x 0.5%

หลังจากนั้นลองเปรียบเทียบผลลัพธ์ที่ได้จากการคำนวณทั้ง 2 แบบ โดยสามารถใช้วิธีการคำนวณผ่านโปรแกรมการคำนวณภาษีต่าง ๆ ได้ก่อนยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่สำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขา หรือผ่านอินเทอร์เน็ต
คำนวณภาษี 2 ประเภท ภาษีเงินได้ และภาษีที่ดิน ให้เป็นก่อนให้เช่า

ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง

เจ้าของคอนโดไม่ว่าจะครอบครองเพื่ออยู่อาศัยหรือปล่อยเช่า มีหน้าที่ต้องเสียภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างด้วยเช่นกัน โดยแต่ละปีจะต้องเสียตามอัตราดังต่อไปนี้
กรณีคอนโดมิเนียมแห่งที่ 2 เป็นต้นไป
  • ราคาประเมินไม่เกิน 50 ล้านบาท เสียภาษี 0.02% หรือจ่ายล้านละ 200 บาท
  • ราคาประเมิน 50-75 ล้านบาท เสียภาษี 0.03% หรือจ่ายล้านละ 300 บาท
  • ราคาประเมิน 75-100 ล้านบาท เสียภาษี 0.05% หรือจ่ายล้านละ 500 บาท
  • ราคาประเมินเกิน 100 ล้านบาท เสียภาษี 0.10% หรือจ่ายล้านละ 1,000 บาท
กรณีเชิงพาณิชย์
หากนำมาใช้ประโยชน์ในด้านอื่น ๆ เช่น ออฟฟิศ, สำนักงาน, โรงแรม หรือธุรกิจร้านอาหาร
  • ราคาประเมินไม่เกิน 50 ล้านบาท เสียภาษี 0.3% หรือจ่ายล้านละ 1,000 บาท
  • ราคาประเมิน 50-200 ล้านบาท เสียภาษี 0.4% หรือจ่ายล้านละ 4,000 บาท
  • ราคาประเมิน 200-1,000 ล้านบาท เสียภาษี 0.5% หรือจ่ายล้านละ 5,000 บาท
  • ราคาประเมิน 1,000-5,000 ล้านบาท เสียภาษี 0.6% หรือจ่ายล้านละ 6,000 บาท
  • ราคาประเมินเกิน 5,000 ล้านบาท เสียภาษี 0.7% หรือจ่ายล้านละ 7,000 บาท
ทั้งนี้ ผู้ให้เช่ายังสามารถขอผ่อนชำระค่าภาษีแบ่งเป็น 3 งวดได้ โดยสามารถยื่นหนังสือแจ้งความจำนงขอผ่อนชำระค่าภาษีต่อพนักงานเก็บภาษีภายใน 30 วันนับตั้งแต่วันถัดจากวันที่ได้รับแจ้งการประเมิน ในกรณีที่วงเงินค่าภาษีที่จะขอผ่อนชำระมีจำนวนเงินค่าภาษีตั้งแต่ 9,000 บาทขึ้นไป

อ่านบทความเพิ่มเติมที่เกี่ยวข้อง

เรื่องข้างต้นนี้เขียนโดย กิตติคม พจนี Content Writer ประจำ DDproperty.com หากมีคำถามเพิ่มเติมสามารถติดต่อได้ที่ kittikom@ddproperty.com
ข้อจำกัดความรับผิดชอบ: ข้อมูลนี้จัดทำขึ้นเพื่อเป็นข้อมูลทั่วไปเท่านั้น DDproperty by PropertyGuru ซึ่งอยู่ภายใต้การดูแลของบริษัท ออลพร็อพเพอร์ตี้ มีเดีย จำกัด ไม่สามารถรับรองหรือรับประกันเกี่ยวกับข้อมูล รวมทั้งไม่สามารถรับรองหรือรับประกันใด ๆ เกี่ยวกับความเหมาะสม สำหรับวัตถุประสงค์เฉพาะใด ๆ ของข้อมูล ตามขอบเขตสูงสุดที่กฎหมายอนุญาต แม้ว่าเราได้พยายามอย่างเต็มที่ เพื่อให้แน่ใจว่าข้อมูลที่ให้ไว้ในบทความนี้ถูกต้อง เชื่อถือได้ และครบถ้วน ณ เวลาที่เขียน แต่ข้อมูลที่ให้ไว้ในบทความนี้ไม่ควรนำไปใช้ในการตัดสินใจทางการเงิน, การลงทุนอสังหาริมทรัพย์ หรือทางกฎหมายทันที ผู้อ่านไม่ควรใช้ข้อมูลในบทความ แทนคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญที่ผ่านการฝึกอบรมซึ่งสามารถพิจารณาข้อเท็จจริงและสถานการณ์ส่วนตัวของคุณได้ ทั้งนี้ เราไม่สามารถรับผิดชอบใด ๆ หากคุณเลือกที่จะนำข้อมูลไปใช้เพื่อประกอบการตัดสินใจ

คำถามยอดนิยม

เจ้าของคอนโดให้เช่าต้องเสียภาษีหลัก 2 ประเภท ได้แก่ ภาษีเงินได้ และภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง

วิธีการคำนวณแบ่งเป็น 2 แบบ ได้แก่ วิธีเงินได้สุทธิ และวิธีเงินได้พึงประเมิน