แนวโน้มดัชนีราคาที่อยู่อาศัยทุกประเภทลดลงต่อเนื่องจากไตรมาสก่อนหน้า และคาดว่าจะไม่มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นในปี 2564 นี้ ส่วนดัชนีอุปทาน (จำนวนที่อยู่อาศัย) มีจำนวนสะสมเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากไตรมาสก่อน เป็นผลมาจากผู้ซื้อใช้เวลาตัดสินใจนานขึ้น ประกอบกับสถานการณ์การแพร่ระบาดที่ยาวนานส่งผลต่อรายได้และกำลังซื้อของผู้บริโภค ทำให้จำนวนที่อยู่อาศัยเหลือขายเป็นจำนวนมาก
ไฮไลต์
อ่านรายงานฉบับออนไลน์ได้ที่นี่:
Get The Guru View: มุมมองที่น่าสนใจจากรายงาน PMI Q3 2564
ดัชนีราคา
ราคาอสังหาฯ ในช่วง Q3 2564 มีแนวโน้มลดลงต่อเนื่องจากช่วงต้นปี ซึ่งเป็นผลกระทบมาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ยังไม่สามารถควบคุมได้ ส่งผลให้เศรษฐกิจชะลอตัว หนี้ครัวเรือนอยู่ในระดับสูงถึง 90.5% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ ทำให้กำลังซื้อปรับตัวลดลง ผู้บริโภคชะลอการซื้อบ้าน หรือใช้เวลาในการตัดสินใจนานขึ้น ในขณะที่ผู้ประกอบการยังคงต้องกระตุ้นกำลังซื้อด้วยการลดราคา และออกโปรโมชันต่าง ๆ เพื่อดึงดูดความสนใจจากผู้ซื้อ
จากรายงาน DDproperty Thailand Property Market Index ล่าสุด พบว่า ดัชนีราคาที่อยู่อาศัยในกรุงเทพฯ ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ 183 จุด จาก 190 จุด หรือลดลง 4% จากไตรมาสก่อน (-4% QoQ) ถือเป็นดัชนีราคาที่ต่ำที่สุดนับตั้งแต่ Q2 2560
ทำเลน่าจับตา
ทำเลที่มีดัชนีราคาเพิ่มขึ้นสูงสุด พบว่า ส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่นอกเขต CBD และพื้นที่รอบนอกกรุงเทพฯ ที่มีรถไฟฟ้าพาดผ่านทั้งปัจจุบันและอนาคต ได้แก่ เขตสัมพันธวงศ์ มีดัชนีราคาเพิ่มขึ้น 22% QoQ ส่วนเขตป้อมปราบศัตรูพ่าย มีดัชนีราคาเพิ่มขึ้น 7% QoQ โดยทั้งสองทำเลเป็นทำเลนอกเขต CBD ที่มีรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ช่วงหัวลำโพง-หลักสอง พาดผ่าน รวมทั้งยังเป็นย่านค้าขายขนาดใหญ่แห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ ที่แม้ว่าปัจจุบันจะซบเซาไปจากสถานการณ์โควิด-19 แต่ก็ยังมีแนวโน้มเติบโตจากศักยภาพทำเลดังกล่าว
สำหรับเขตทวีวัฒนา ติดอันดับทำเลที่มีดัชนีราคาสูงสุดมาตั้งแต่ไตรมาสก่อน ดัชนีราคาเพิ่มขึ้น 9% QoQ ส่วนหนึ่งมาจากอานิสงส์ของรถไฟฟ้าสายสีแดงอ่อน บางซื่อ-ตลิ่งชัน ที่จะเปิดให้ทดลองใช้ฟรีในเดือนสิงหาคม 2564 และเปิดใช้บริการจริงปลายปี 2564 และทางพิเศษศรีรัช-วงหวนรอบนอกกรุงเทพฯ ที่อยู่ใกล้ทำเลนี้ ซึ่งเอื้อต่อการอยู่อาศัย
ดัชนีอุปทาน
อุปทานหรือจำนวนที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วง Q2 2564 ส่วนหนึ่งสะท้อนให้เห็นว่าอัตราดูดซับยังคงต่ำ จากกำลังซื้อของผู้บริโภคที่มีอยู่ค่อนข้างจำกัดและเริ่มอ่อนตัวลงจากเศรษฐกิจที่ชะลอตัวแบบลากยาว โดยดัชนีอุปทานปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 428 จุด จาก 399 จุด หรือเพิ่มขึ้นถึง 7% QoQ และเพิ่มขึ้นถึง 37% YoY ถือเป็นดัชนีอุปทานที่สูงที่สุดนับตั้งแต่ Q1 2558 คาดว่าจำนวนที่อยู่อาศัยในช่วงที่เหลือของปี 2564 จะไม่สูงไปกว่านี้ จากการที่ผู้ประกอบการชะลอการเปิดโครงการและผู้บริโภคที่มีสินค้าอยู่ในมือชะลอการนำออกมาขาย
คอนโดมิเนียมมีสัดส่วนมากที่สุดอยู่ที่ 87% ของจำนวนอุปทานทั้งหมดในกรุงเทพฯ มีจำนวนเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อน 7% บ้านเดี่ยวมีสัดส่วน 7% ของจำนวนอุปทานทั้งหมดในกรุงเทพฯ (+7% QoQ) และทาวน์เฮ้าส์มีสัดส่วน 5% ของจำนวนอุปทานทั้งหมดในกรุงเทพฯ (+12% QoQ)
ทำเลที่มีซัพพลายลดลงมากที่สุดในรอบไตรมาส
ทำเลในกรุงเทพฯ ที่มีจำนวนที่อยู่อาศัยลดลงมากที่สุดในรอบไตรมาส ได้แก่ แขวงบางมด เขตทุ่งครุ ลดลง 15% แขวงลำปลาทิว เขตลาดกระบัง ลดลง 13% แขวงสุริยวงศ์ เขตบางรัก ลดลง 13% แขวงวังใหม่ เขตปทุมวัน ลดลง 5% และแขวงทุ่งครุ เขตทุ่งครุ ลดลง 4%
หากพิจารณาร่วมกับความสนใจซื้อ-เช่าที่เพิ่มขึ้นในรอบไตรมาส พบว่า เขตบางรักมีความสนใจซื้อเพิ่มขึ้นถึง 34% QoQ เขตลาดกระบัง เพิ่มขึ้น 13% QoQ ส่วนเขตทุ่งครุ มีความสนใจเช่า เพิ่มขึ้นถึง 122%
ที่อยู่อาศัยราคา 1-3 ล้านบาท มีจำนวนมากที่สุด
หากแบ่งตามระดับราคาที่อยู่อาศัย พบว่า จำนวนที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้นทุกระดับราคา โดยเฉพาะระดับราคา 1-3 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10% QoQ รองลงมาคือ ระดับราคา 3-5 ล้านบาท, 10-15 ล้านบาท และมากกว่า 15 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเท่ากันที่ 7% QoQ
จำนวนคอนโดมิเนียมส่วนใหญ่มีระดับราคา 5-10 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5% QoQ แต่คอนโดมิเนียมระดับราคา 1-3 ล้านบาท มีจำนวนเพิ่มขึ้นมากที่สุด โดยเพิ่มขึ้นถึง 10% QoQ จำนวนบ้านเดี่ยวส่วนใหญ่มีระดับราคา 15 ล้านบาทขึ้นไป จำนวนทาวน์เฮ้าส์ส่วนใหญ่มีระดับราคา 1-3 ล้านบาท
หากพิจารณาจากความสนใจของผู้บริโภค แม้ว่าระดับราคาที่ได้รับความสนใจมากที่สุดในรอบไตรมาส คือ 1-3 ล้านบาท (24%) แต่หากพิจารณาถึงระดับราคาที่ผู้บริโภคให้ความสนใจเพิ่มมากขึ้นในรอบไตรมาส คือ ระดับราคา 10 ล้านบาทขึ้นไป โดยเพิ่มขึ้น 9% รองลงมา คือ ระดับราคา 5-10 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4% และระดับราคา 3-5 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1%
แนวโน้มตลาดอสังหาฯ
สำหรับผู้ที่มีความพร้อมในการซื้อทั้งเพื่ออยู่อาศัยและลงทุน ปี 2564 ยังคงเป็นโอกาสที่ดี ในการที่จะได้ที่อยู่อาศัยในราคาที่ค่อนข้างถูกกว่าสถานการณ์ปกติ
ส่วนผู้ขาย ควรทำความเข้าใจพฤติกรรมและความต้องการของผู้ซื้อที่เปลี่ยนแปลงไปในยุคโควิด-19 แต่หากหวังผลตอบแทนที่ดี ควรชะลอการขายออกไปก่อน เนื่องจากแนวโน้มราคาอสังหาฯ ในปัจจุบันอยู่ในช่วงลดลง
สรุป
ราคาอสังหาฯ มีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง จากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ระลอกปัจจุบัน และสภาพเศรษฐกิจที่ยังชะลอตัว ส่งผลโดยตรงต่อกำลังซื้อของผู้บริโภค
แม้ว่าผู้ประกอบการจะใช้กลยุทธ์ส่งเสริมการขายที่หลากหลาย เพื่อกระตุ้นการตัดสินใจ แต่กำลังซื้อที่เป็นทั้งผู้ซื้อและนักลงทุนชาวไทยที่มีความพร้อมถูกดูดซับไปแล้วจำนวนมากในปีที่ผ่านมาส่งผลให้อัตราการดูดซับอุปทานที่อยู่อาศัยในช่วงที่เหลือของปี 2564 นี้จะยังคงอยู่ในระดับที่ต่ำต่อไป
มาตรการรัฐที่ออกมา ไม่ว่าจะเป็นการลดหย่อนภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ลดค่าธรรมเนียมการโอนและจดจำนอง ดูเหมือนว่าจะไม่สามารถช่วยกระตุ้นให้เกิดการซื้อ-ขายอสังหาฯ มากนัก ผู้บริโภคส่วนใหญ่ยังคงชะลอการซื้อออกไป จากภาวะที่ไม่แน่นอนทั้งเรื่องการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 สภาพเศรษฐกิจที่ส่งผลต่อความมั่นคงของรายได้ครัวเรือน และสถานการณ์ทางการเมือง
ปัจจัยสำคัญที่จะช่วยกระตุ้นให้สภาพเศรษฐกิจ และภาคอสังหาฯ ฟื้นตัวได้เร็วที่สุด คือ การควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในประเทศอย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยการเร่งจัดหาและการกระจายวัคซีนที่เหมาะสมต่อสถานการณ์การกลายพันธุ์ของไวรัสให้เพียงพอ และเข้าถึงประชาชนให้ได้มากที่สุด เพื่อที่จะได้ไม่ต้องมีการล็อกดาวน์ และสามารถเดินหน้าการเปิดประเทศได้
บทความที่เกี่ยวข้อง
THAILAND PROPERTY MARKET INDEX Q3 2564
สำหรับข้อมูลเชิงลึกและการวิเคราะห์เพิ่มเติม ดาวน์โหลดรายงานฉบับเต็มได้ที่นี่
บทรายงาน DDproperty Thailand Property Market Index ที่ผ่านมา
แนวโน้มตลาดอสังหาในช่วงไตรมาส 2 ปี 2564 อัปเดตได้ที่นี่
แนวโน้มตลาดอสังหาในช่วงไตรมาส 1 ปี 2564 อัปเดตได้ที่นี่
แนวโน้มตลาดอสังหาในช่วงไตรมาส 4 ปี 2563 อัปเดตได้ที่นี่
แนวโน้มตลาดอสังหาในช่วงไตรมาส 3 ปี 2563 อัปเดตได้ที่นี่
แนวโน้มตลาดอสังหาในช่วงไตรมาส 2 ปี 2563 อัปเดตได้ที่นี่
แนวโน้มตลาดอสังหาในช่วงไตรมาส 1 ปี 2563 อัปเดตได้ที่นี่
แนวโน้มตลาดอสังหาในช่วงไตรมาส 3 ปี 2562 อัปเดตได้ที่นี่
แนวโน้มตลาดอสังหาในช่วงไตรมาส 2 ปี 2562 อัปเดตได้ที่นี่
แนวโน้มตลาดอสังหาในช่วงไตรมาส 1 ปี 2562 อัปเดตได้ที่นี่
แนวโน้มตลาดอสังหาในช่วงไตรมาส 4 ปี 2561 อัปเดตได้ที่นี่
แนวโน้มตลาดอสังหาในช่วงไตรมาส 3 ปี 2561 อัปเดตได้ที่นี่
แนวโน้มตลาดอสังหาในช่วงไตรมาส 2 ปี 2561 อัปเดตได้ที่นี่
แนวโน้มตลาดอสังหาในช่วงไตรมาส 1 ปี 2561 อัปเดตได้ที่นี่
แนวโน้มตลาดอสังหาในช่วงไตรมาส 4 ปี 2560 อัปเดตได้ที่นี่
แนวโน้มตลาดอสังหาในช่วงไตรมาส 3 ปี 2560 อัปเดตได้ที่นี่
ข้อจำกัดความรับผิดชอบ: ข้อมูลนี้จัดทำขึ้นเพื่อเป็นข้อมูลทั่วไปเท่านั้น DDproperty by PropertyGuru ซึ่งอยู่ภายใต้การดูแลของบริษัท ออลพร็อพเพอร์ตี้ มีเดีย จำกัด ไม่สามารถรับรองหรือรับประกันเกี่ยวกับข้อมูล รวมทั้งไม่สามารถรับรองหรือรับประกันใด ๆ เกี่ยวกับความเหมาะสม สำหรับวัตถุประสงค์เฉพาะใด ๆ ของข้อมูล ตามขอบเขตสูงสุดที่กฎหมายอนุญาต แม้ว่าเราได้พยายามอย่างเต็มที่ เพื่อให้แน่ใจว่าข้อมูลที่ให้ไว้ในบทความนี้ถูกต้อง เชื่อถือได้ และครบถ้วน ณ เวลาที่เขียน แต่ข้อมูลที่ให้ไว้ในบทความนี้ไม่ควรนำไปใช้ในการตัดสินใจทางการเงิน, การลงทุนอสังหาริมทรัพย์ หรือทางกฎหมายทันที ผู้อ่านไม่ควรใช้ข้อมูลในบทความ แทนคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญที่ผ่านการฝึกอบรมซึ่งสามารถพิจารณาข้อเท็จจริงและสถานการณ์ส่วนตัวของคุณได้ ทั้งนี้ เราไม่สามารถรับผิดชอบใด ๆ หากคุณเลือกที่จะนำข้อมูลไปใช้เพื่อประกอบการตัดสินใจ